โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

เกษตรกรลำปาง ปลูกสับปะรดนอกฤดู เกรดพรีเมี่ยม สร้างรายได้ดี

เทคโนโลยีชาวบ้าน

อัพเดต 09 ธ.ค. 2562 เวลา 10.10 น. • เผยแพร่ 09 ธ.ค. 2562 เวลา 10.09 น.
สับปะรด 01

“สับปะรด โดยทั่วไปจะเก็บเกี่ยวผลผลิตจำหน่ายปีละครั้ง แต่ผมสามารถทำสับปะรดนอกฤดู ขายผลสดคุณภาพ ออกสู่ตลาดได้ตลอดทั้งปี” เป็นความภาคภูมิใจของ คุณกฤษณะ สิทธิหาญ เกษตรกรต้นแบบ Smart Farmer ผู้ปลูกสับปะรด เจ้าของแปลงเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (สับปะรด) จังหวัดลำปาง

เคล็ดลับการทำสับปะรดนอกฤดู

เกษตรกรโดยทั่วไปที่ปลูกสับปะรด จะเริ่มปลูกลงหน่อพร้อมกันทั้งแปลง และอีกประมาณ 12-16 เดือน ก็จะเก็บเกี่ยวผลผลิตออกจำหน่ายสู่ตลาดพร้อมกัน ทำให้ผลผลิตมาก ราคาไม่ดี ถึงแม้จะนำไปแปรรูปก็ไม่ทัน เกิดการเน่าเสีย เป็นปัญหาและความเสี่ยงของเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรด ทำอย่างไร จะทำให้สับปะรดกระจายออกสู่ตลาด ผู้บริโภคสามารถรับประทานได้ตลอดทั้งปี ไม่กระจุกออกพร้อมกัน เป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับ คุณเอก หรือ คุณกฤษณะ สิทธิหาญ วัย 42 ปี และหลังจากการทดลองทดสอบอยู่ 3 ปี ก็ได้คำตอบคือ การทำสับปะรดนอกฤดู โดยทยอยปลูก ทยอยเก็บ สำหรับเคล็ดลับการทำสับปะรดนอกฤดู มีวิธีการดังนี้

การเตรียมดิน จะไถกลบ 2-3 รอบ สังเกตถ้าหญ้าหรือวัชพืชขึ้น แสดงว่าดินดี ที่ตรงไหนหญ้าหรือวัชพืชไม่ขึ้น แสดงว่าดินไม่ดี ต้องเติมปุ๋ยหรือธาตุอาหาร เพื่อปรับปรุงดินให้สมบูรณ์ จากนั้นก็ตีแปลง ขนาด 2 เมตร เว้นระยะระหว่างแปลงเป็นทางเดิน 100 เซนติเมตร (ใช้แผ่นไวนิลเก่าปูทางเดิน จะช่วยคลุมวัชพืชได้เป็นอย่างดี) และคลุมแปลงด้วยพลาสติกดำ ความหนา 70 ไมครอน เพื่อเก็บความชื้นในดินและป้องกันวัชพืชในแปลง พลาสติกสามารถใช้ได้นานถึง 5 ปี

การปลูก แปลงละ 5 แถว ระยะระหว่างแถว 40 เซนติเมตร ระยะระหว่างต้น 30 เซนติเมตร ใช้เครื่องมือที่ประยุกต์ใช้เองเจาะพลาสติกที่คลุมแปลงเป็นหลุม พร้อมกับให้น้ำ แล้วนำหน่อสับปะรดลงปลูก ลักษณะแบบหลังเต่า โดยใช้หน่อที่สูงปลูกแถวกลาง หน่อที่ต่ำกว่าปลูกไล่ลงไปทั้ง 2 ข้างของแปลง พื้นที่ 1 ไร่ จะปลูกได้ 15 แถว แถวละ 665 ต้น รวมทั้งหมดปลูกได้ 9,975 ต้น ต่อไร่

การปลูกแบบนี้จะตั้งตัวได้เร็ว เพราะได้น้ำตั้งแต่ปลูกและได้รับแสงแดดสม่ำเสมอทั่วแปลงทุกต้น ทำให้สับปะรดเจริญเติบโตรวดเร็วและต่อเนื่อง เพราะระบบสังเคราะห์แสงเพื่อปรุงอาหารของพืชมีประสิทธิภาพสูง เมื่อปลูกแบบนี้ไปแล้ว 6 เดือน สามารถใช้สารแคลเซียมคาร์ไบด์กระตุ้นการออกดอกได้ และอีก 6 เดือน ก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตจำหน่าย จากหลักการนี้เมื่อนำมาวางแผนการผลิต ทยอยปลูกแถวเว้นแถว หรือแปลงเว้นแปลง ก็สามารถกระจายผลผลิตให้ออกตลอดทั้งปี หรือทำสับปะรดนอกฤดูได้ แต่ต้องมีแหล่งน้ำที่เพียงพอ

การดูแลรักษาและทำคุณภาพ ระบบให้น้ำ จะใช้สปริงเกลอร์พร้อมกับปุ๋ยน้ำหมักนมสดที่ผสมกับเนื้อสับปะรด ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่าย เวลา และแรงงาน ในระยะที่ติดผลได้ประมาณ 2 เดือน จะใช้แผ่นไวนิล ขนาด 12×12 นิ้ว เจาะรูตรงกลาง สวมใส่เป็นหมวกให้สับปะรด โดยให้จุกโผล่รับแสงแดดเพื่อสังเคราะห์แสงเพิ่มธาตุอาหารบำรุงผลให้มีความหวานหอมนุ่มลิ้นตลอดทั้งลูก และทำให้ผิวสวยงาม ตาเต่งทุกตา ผลโตสม่ำเสมอ ตรงกับความต้องการของตลาดและผู้บริโภค ที่น้ำหนัก ขนาด 1-1.5 กิโลกรัม ต่อผล และที่สำคัญสามารถเก็บไว้ได้นานเกือบ 1 เดือน

วิธีการนี้จะแตกต่างจากเกษตรกรทั่วไป ที่นิยมรวบใบมัดห่อผลสับปะรด ทำให้ความหวานไม่สม่ำเสมอทั้งลูกเพราะระบบการสังเคราะห์แสงไม่ทั่วถึง อีกทั้งเสียเวลาและค่าแรงงาน

การตลาด ราคาผลผลิตที่จำหน่าย เฉลี่ยลูกละ 25 บาท จำหน่ายโดยตรงที่สวนและร้านค้าของตนเอง ทั้งปลีกและส่ง ทางห้างสรรพสินค้าและตลาดออนไลน์ โดยความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในรูปตลาดประชารัฐ

ว่าที่ร้อยตรี ดร. สมสวย ปัญญาสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า สับปะรดของคุณเอก “ผิวสวย ตางาม อกเต่ง เนื้อเต็ม หอมหวาน นุ่มลิ้น” ใครที่ได้ชิมลิ้มลองแล้วจะติดใจในรสชาติ ซึ่งแตกต่างจากสับปะรดทั่วไปคือ มีรสชาตินมสดและแตงโม

เกษตรกรที่สนใจทำสับปะรดนอกฤดูหรือสับปะรดคุณภาพเกรดพรีเมี่ยม สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณกฤษณะ สิทธิหาญ เกษตรกรต้นแบบ Smart Farmer ผู้ปลูกสับปะรด เจ้าของแปลงเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (สับปะรด) บ้านวังเลียบ หมู่ที่ 5 ตำบลบุญนาคพัฒนา อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง โทร. (084) 042-9847 หรือ (084) 772-9190 ทางศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) แห่งนี้ พร้อมที่จะให้ความรู้ และขยายผลไปสู่เกษตรกรรายอื่นๆ เพื่อยกระดับความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้นในยุคไทยแลนด์ 4.0

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0