โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

อ่านชัดๆ! ตอบคำถาม "บิณฑ์" รับเงินบริจาคจะถูกส่งข้อมูลให้สรรพากรไหม

Manager Online

เผยแพร่ 17 ก.ย 2562 เวลา 05.00 น. • MGR Online

เพจ "TaxBugnoms" แจงข้อสงสัยเกี่ยวกับกรณี "บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์" เป็นตัวกลางในการรับเงินบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม จ.อุบลราชธานี ว่าจะโดนตรวจสอบจากกรมสรรพากรหรือไม่

จากกรณี “บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์” ให้เงินส่วนตัว 1 ล้านบาทเพื่อไปช่วยเหลือ และขอคนไทยร่วมบริจาคช่วยเหลือ ผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วมที่จังหวัดอุบลราชธานี จนกระทั่งล่าสุดพบว่า มียอดเงินบริจาคเข้ามาเป็นจำนวนมากถึง 200 กว่าล้านบาท จนระบบขัดข้องต้องปิดบัญชี ภายหลังจึงได้แจ้งว่า ขออนุญาตเปิดบัญชีกระแสรายวัน เพื่อรับบริจาคต่อได้ตามปกติแล้ว

ต่อมา มีชาวเน็ตจำนวนหนึ่งตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการรับบริจาคเงินช่วยเหลือผู้ประสบภับน้ำท่วมในครั้งนี้ว่า จะโดนกรมสรรพากรตรวจสอบหรือไม่ โดยเมื่อวันที่ 16 ก.ย. เพจ "TaxBugnoms" เพจที่ให้ความรู้เกี่ยวกับบัญชี ภาษี การเงิน และการลงทุน ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน ได้มาอธิบายข้อสงสัยดังกล่าว ซึ่งได้ชี้แจงเป็น 3 ข้อ

1. ถ้าถามว่า จะโดนส่งข้อมูลไหม คำตอบคือ ถ้าเข้าเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้ นั่นคือ ตั้งแต่ 3,000 ครั้ง/ปี ขึ้นไป หรือ 400 ครั้ง/ปี และมียอดเงินตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป ย่อมจะถูกส่งข้อมูลอยู่แล้วครับ

ดังนั้น ถ้าถามว่ากรณีพี่บิณฑ์ถูกธนาคารส่งข้อมูลให้สรรพากร คำตอบคือ ต้องถูกส่ง และถูกส่งภายในวันที่ 31 มีนาคม 2563 ตามเงื่อนไขของกฎหมาย

2. แต่ประเด็นต่อคือ จะถูกประเมินภาษีไหม? คำตอบตรงนี้ต้องแยกก่อนว่า กรณีที่ธนาคารส่งข้อมูลให้กับสรรพากรนั้น ทางสรรพากรเองไม่สามารถประเมินภาษีได้ทันที หรือถ้าจะประเมินจากกรณีนี้ก็ดูเหมือนว่าจะไม่ถูกต้องสักเท่าไร เพราะตัวพี่บิณฑ์เองน่าจะมีหลักฐานการบริจาคที่ชัดเจนให้เห็นอยู่แล้วว่า เงินที่เข้าบัญชีหมด ได้ถูกส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยเหลือเรื่องน้ำท่วมต่อไป

ถ้ามองในแง่ของการทำงาน และหลักฐาน โดยส่วนตัวคิดว่าไม่น่าจะมีการประเมินภาษีจากกฎหมายในส่วนนี้ได้ เพราะว่าเงินที่ได้มานั้นมันมีหลักฐานการเข้าออกบัญชีที่พิสูจน์ได้ว่า ไม่ใช่รายได้ของพี่บิณฑ์ แต่เป็นเพียงทางผ่านของเงินไปเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ประสบปัญหา

ดังนั้น กฎหมายฉบับนี้ไม่สามารถเก็บภาษีได้ครับ จากหลักฐานที่ว่ามา และมันเป็นเครื่องยืนยันอย่างนึงให้เราเข้าใจว่า ถ้าหากเรามีหลักฐานการใช้จ่ายเงิน หรือรับเงินที่พิสูจน์ได้ ต่อให้ถูกส่งข้อมูลให้สรรพากรไปจริงๆ ก็ไม่สามารถประเมินภาษีได้

3. ถ้าหากจะมองในแง่ของปัญหาด้านภาษีจริงๆ อาจจะไปดูที่เรื่องของ ภาษีการรับให้ น่าจะเป็นไปได้มากกว่า เพราะว่ากรณีนี้มีการได้รับเงินมากกว่า 10 ล้านบาทแน่ๆ และถ้ามองในแง่ของกฎหมาย การให้เงินทั้งหมดนี้ จะถูกตีความว่าเป็นการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา ให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณีจากบุคคลอื่นหรือเปล่า อันนี้ขึ้นอยู่กับว่าทางสรรพากรเองมองไปในทางไหน

(เพิ่มเติม) ถ้าให้มองจริงๆ เงินก้อนนี้ควรได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ที่ได้รับจากการให้โดยเสน่หาที่ผู้ให้แสดงเจตนาใช้เพื่อกิจการสาธารณประโยชน์มากกว่า

อย่างไรก็ดี พี่หนอมคิดว่าเรื่องใหญ่ที่คนในชาติกำลังช่วยเหลือกันแบบนี้ คงไม่มีใครจะมาคิดจัดเก็บภาษีจากเงินก้อนนี้หรอกครับ เพราะเราก็รู้กันดีว่าเงินก้อนนี้ถูกใช้เพื่อช่วยเหลือคนอื่นต่อ ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของตัวเอง

ทั้งนี้ เรื่องราวดังกล่าวได้ถูกแชร์ออกสู่โลกโซเชียลแล้วกว่า 800 ครั้ง และมีชาวเน็ตเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ ต่อกรณีศึกษาครั้งนี้เป็นจำนวนมาก

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0