โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : ผบ.ทบ. 2563

มติชนสุดสัปดาห์

อัพเดต 24 ม.ค. 2563 เวลา 07.45 น. • เผยแพร่ 24 ม.ค. 2563 เวลา 07.44 น.
โลกทรรศน์ 2057

ในที่สุดการเมืองไทยก็ก้าวมาสู่จุดที่น่าสนใจอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อการเมืองไทยกลับมาอยู่ที่สถาบันการเมืองหลักประเพณี คือ กองทัพ

ทั้งนี้เพราะปี 2563 เป็นอีกวาระหนึ่งที่ผู้นำเหล่าทัพได้แก่ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศและผู้บัญชาการทหารบกเกษียณอายุราชการพร้อมกัน

แน่นอนการเข้าดำรงตำแหน่งใหม่และการพ้นจากตำแหน่งของผู้บัญชาการเหล่าทัพนี้สำคัญยิ่งกว่าการเกษียณราชการของข้าราชการทั้งหลาย

สำคัญกว่าการดูแลความมั่นคงของประเทศอย่างที่ประเทศอื่นเขาเป็น

แต่ตำแหน่งผู้บัญชาการเหล่าทัพของไทยมีความหมายยิ่งทั้งต่อกองทัพเองและต่อการเมืองไทยปัจจุบันและแนวโน้มอนาคต เหนือสิ่งอื่นใด

ตำแหน่งผู้บัญชาการเหล่าทัพตกอยู่ในสมการการเมืองที่สำคัญ ซับซ้อนแต่ยุ่งเหยิงกว่าที่ใครคนใดคนหนึ่งจะกำกับ

ที่สำคัญ อาจทำให้ผู้กำกับกติกาจบสิ้นพลังและอำนาจเอาง่ายๆ

อย่างไรก็ตาม เราปฏิเสธความสำคัญที่ยิ่งกว่าความหมายของตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกไม่ได้ ตำแหน่งนี้นับวันเป็นยิ่งกว่าเกียรติยศ แต่เป็นแหล่งของอำนาจและการจัดการบริหารผลประโยชน์ของฝ่ายต่างๆ ในการเมืองไทยอย่างปฏิเสธไม่ได้เสียแล้ว

เราควรศึกษาบทเรียน ประสบการณ์และทำความเข้าใจบริบทต่างๆ ให้รอบด้านดังนี้

 

ผบ.ทบ. 2549

ถ้าเราจำกันได้สถานการณ์การเกษียณราชการของผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บัญชาการทหารเรือและผู้บัญชาการทหารบกพร้อมกันทั้ง 4 ตำแหน่ง ในช่วงเวลานั้น นายกรัฐมนตรีพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งอยู่ในโมเมนตัมที่ควบคุมกองทัพได้เกือบทั้งหมด

ทั้งนี้ ด้วยนโยบายการพัฒนาประเทศแนวประชานิยมที่ได้รับคะแนนนิยมอย่างกว้างขวาง ด้วยบุคลิกความเป็นผู้นำ ด้วยความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของครอบครัวตัวเองและเครือข่ายธุรกิจ และที่พิเศษคือ

การเข้าถึงอำนาจในกองทัพโดยนายกรัฐมนตรีพลเรือนที่มีเครือข่ายเพื่อนนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 10 (ตท.10) ซึ่งเข้าสู่สมการการเมืองอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

การรวมศูนย์เบ็ดเสร็จของนายกรัฐมนตรีพลเรือนในกองทัพ การย้ายผู้บัญชาการทหารบกคนก่อนที่เป็นตัวแทนอำนาจเก่าในกองทัพไปเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดได้ทลายประเพณีดั้งเดิม รวมทั้งการผลักดันเพื่อนร่วมรุ่น ตท.10 เพื่อเข้าสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกอันเป็นการหักด้ามพร้าด้วยเข่า ทว่าด้วยความไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ในหมากกลทางการเมืองในกองทัพ

ความประมาทและดูถูกเหยียดหยามส่วนตัว เช่น การเรียกขานบิ๊กบัง

ความประมาทต่อกองบัญชาการหน่วยรบพิเศษว่าไม่ใช่กองพลหลักในการทำรัฐประหาร พร้อมกับการเลือกประเด็นการแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนใต้ โดยเลือกนายทหารคนมุสลิมเป็นผู้บัญชาการทหารบก

พร้อมกันนั้น ละเลยกองทัพภาคที่ 1 ซึ่งยังอยู่ในมือของนายทหารสายบูรพาพยัคฆ์

ทั้งหมดนำมาสู่การรัฐประหาร 2549 อันเป็นจุดเริ่มต้นของการโค่นอำนาจนายกรัฐมนตรีพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งและเครือข่ายและนำมาสู่การถอนรากถอนโคนในทุกรูปแบบแม้ต้องทำรัฐประหารอีกครั้งในรัฐประหาร 2557

และการปกครองประเทศโดยทหารสายบูรพาพยัคฆ์ต่อไปอีก 5 ปี ซึ่งยังไม่มีสัญญาใดๆ จะบอกว่าจะมีการถอนตัวออกจากการเมืองของนายทหารสายบูรพาพยัคฆ์เลย

 

ผบ.ทบ. 2563

หากมองว่าปี 2563 การเกษียณอายุราชการของผู้นำเหล่าทัพคือ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บัญชาการทหารเรือและผู้บัญชาการทหารบก ทั้ง 4 ตำแหน่งคล้ายกับผู้บัญชาการเหล่าทัพช่วงปี 2549

นับเป็นการมองที่ผิวเผินเกินไป

ที่สำคัญตำแหน่ง ผบ.ทบ. 2563 ที่กำลังจะจากไป

น่าจะแตกต่างจากในปีแห่งอดีตอย่างเทียบกันไม่ได้เลยดังต่อไปนี้

ผบ.ทบ. คนพิเศษ?

จริงอยู่มีการอ้างถึงตลอดเวลาว่า พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เป็นผู้บัญชาการทหารบกคนพิเศษ ทว่าเมื่อเพ่งมองแล้วต้องตั้งคำถามว่า คนพิเศษตรงไหน?

ผบ.ทบ.ท่านนี้เป็น ตท.รุ่น 20 พิเศษตรงไหน จบโรงเรียนนายร้อย จปร. ผู้บัญชาทหารราบ 11 อดีตแม่ทัพภาคที่ 1 พิเศษตรงไหน? บางคนบอกว่า ผบ.ทบ.ท่านนี้ดำรงตำแหน่งนายทหารพิเศษประจำกรมมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ กองบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ เป็นความพิเศษของท่าน

หากดูความเคลื่อนไหวต่างๆ ของท่านก็ไม่ต้องสงสัยว่าท่าน ผบ.ทบ.ท่านนี้จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

ทว่านายทหารทุกท่านและคนไทยทุกคนต่างจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ลองดูความเคลื่อนไหวของท่านคือ (1)

– ไม่การันตีว่าจะไม่มีรัฐประหาร โดยระบุเพียงว่า ถ้าการเมืองไม่เป็นต้นเหตุแห่งการจลาจล ก็ไม่มีอะไร (17 ตุลาคม 2561)

– ฟ้องกลับ 2 นักกิจกรรม คือ เอกชัย หงส์กังวาน และโชคชัย ไพบูลย์รัชตะ ที่ไปยื่นเอาผิดตนฐานกบฏว่าแจ้งความเท็จ (22 ตุลาคม 2561)

– เตือนกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องไม่ให้เลื่อนเลือกตั้งว่า “อย่าล้ำเส้น” (15 มกราคม 2562)

– ปฏิเสธข่าวลือยึดอำนาจ หลังปรากฏภาพรถเกราะวิ่งบนถนน พร้อมกับพูดในที่ประชุมกำลังพลให้สนับสุนนการทำงานของรัฐบาล เพื่อไม่ให้สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ทำมาเสียของ กลับไปเริ่มนับหนึ่งใหม่ (13 กุมภาพันธ์ 2562)

– แนะนำเพลง “หนักแผ่นดิน” ตอบโต้นโยบายของพรรคการเมืองที่จะปฏิรูปกองทัพ (18 กุมภาพันธ์ 2562)

– ยื่นฟ้อง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ฐานหมิ่นประมาทตนเองจากการให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง (5 มีนาคม 2562)

– นำนายทหารระดับสูงกว่า 800 ปฏิญาณตน โดยถ้อยคำช่วงหนึ่งระบุว่า จะสนับสนุนรัฐบาลที่มีความจงรักภักดีและมีธรรมาภิบาล (7 มีนาคม 2562)

หากมองอีกด้านหนึ่ง นี่เป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองเสียด้วยซ้ำ นอกจากไม่พิเศษแล้ว ควรตั้งคำถามด้วยว่า เป็นการเคลื่อนไหวเพื่อใคร?

 

บริบทที่แตกต่าง

เป็นความจริงครับ หลังการเลือกตั้งปลายมีนาคม 2562 ที่ผ่านมา รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง ทั้งด้วยเป็นรัฐบาลผสมเสียงปริ่มน้ำและด้วยนโยบายของรัฐบาลที่อ่อนเปรี้ยและไม่ประสบความสำเร็จ

ทว่าตัวนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์กลับยืนยันว่าจะอยู่ให้ครบเทอมและจะเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 หรือ 8 ปี อีกด้วย (2)

ไม่มีใครชื่นชมนักกับการอยู่ในวาระ 2 สมัย 8 ปีของท่าน ผมก็คนหนึ่งครับ แต่ในบรรดา ผบ.เหล่าทัพที่เกษียณอายุราชการไม่มีใครแสดงแผนการทางการเมืองของตนเลย เราปฏิเสธได้หรือว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ผ่านมาของ ผบ.ทบ.คนปัจจุบันไม่สัมพันธ์เลยกับตำแหน่งของท่านหลังเกษียณอายุราชการ

ในเวลาเดียวกัน บริบทที่แตกต่างกันคือ การอยู่ยาว 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ เราไม่ควรลืมว่า พล.อ.ประยุทธ์และเครือข่ายของท่านเชื่อว่า รัฐบาลอยู่ยาวสร้างเสถียรภาพ ก่อให้เกิดความมั่นคง ก่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย ก่อให้เกิดความสุข ที่เป็นทั้งของประชาชนและของท่านและเครือข่ายด้วยก็ย่อมได้

สิ่งที่ไปด้วยกันคือ ผู้นำลงจากหลังเสือก็ไม่ได้ ลงแล้วก็ไม่รู้จะไปยืนที่ตรงไหน

จำไม่ได้หรือครับว่า พล.อ.ประยุทธ์เองให้สัมภาษณ์ว่า ท่านเองกลัวกฎหมายเหมือนกัน ท่านอยู่ในอำนาจท่ามกลางการใช้กฎหมายฟ้องร้องต่อผู้นำการเมืองทั้งสิ้น ไม่มีใครหนีพ้นรวมทั้งตัวท่านด้วย ไม่มีใครรู้ดีไปกว่าท่านอีกแล้ว

เราไม่ควรมองข้ามผู้ค้ำจุนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์อาจไม่ใช่คนเก่ง แน่ละอาจไม่ใช่คะแนนนิยมในสนามการเลือกตั้ง อาจไม่ได้มาจากชาวบ้านทั่วไปที่ทั้งเบื่อและหน่ายจากผลเสียหายจากนโยบายบางประการของรัฐบาล โดยเฉพาะการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

สิ่งค้ำจุนรัฐบาลคือ อดีตผู้บัญชาการทหารบก 3 คนคือ พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา มีหรือครับอดีต ผบ.ทบ. 3 คนจะให้ ผบ.ทบ.คนเดียวเขี่ยท่านออกจากวงจรอำนาจ

มิหนำซ้ำ ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ยังระบุด้วยว่า ผู้ดำรงตำแหน่งวุฒิสมาชิกต้องพ้นจากตำแหน่งเป็นเวลา 2 ปีแล้วจึงสมัครรับเลือกตั้งได้

ผมเห็นด้วยครับที่ใครๆ เขาเห็น ผบ.ทบ.คนพิเศษ คือ ลูกจ๊อด เพื่อนชูวิทย์ สามี ดร.อ้อ แค่นี้ก็คนพิเศษแล้วครับ นี่คือคนพิเศษอย่างที่ไม่มีใครเทียบ

ขอต้อนรับ ผบ.ทบ.คนใหม่

———————————————–
(1) Phongpiphat Banchanont, “บทบาท พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ หลังได้เป็น ผบ.ทบ.-และก่อนจะถึงวันเลือกตั้ง” The Matter 8 March 2019

(2) รายงานพิเศษ “Proxy War สงครามตัวแทน อภิรัชต์-ธนาธร-? ขุนพลอำมาตย์-ฮ่องเต้ซินโดรมกับเสียงคำราม สงครามม็อบ และปฏิบัติการ 3 ป.ยึดทำเนียบ คลี่ปม บิ๊กแดง ว่าที่นายกฯ?” มติชนสุดสัปดาห์ 27 ธันวาคม 2562-2 มกราคม 2563 : 15-16

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0