โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

อีกด้านหนึ่งของปรากฏการณ์ภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก

Money2Know

เผยแพร่ 21 เม.ย. 2562 เวลา 23.00 น. • money2know - เงินทองต้องรู้
อีกด้านหนึ่งของปรากฏการณ์ภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก

ประกาศกรมสรรพากรเมื่อวันที่4เมษายน แต่ได้รับการเผยแพร่ทั้งทางสื่อหลักและสื่อโซเชียล เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา จริงๆ ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะการเก็บภาษีดอกเบี้ยเงินฝากที่มีจำนวนเกิน 20,000 บาทต่อปีนั้น มีมานานแล้ว แต่ใครเลี่ยงได้ก็เลี่ยง วิธีการเลี่ยงก็ง่ายๆ แค่กระจายเงินฝากไปหลายๆ บัญชี

เปิดธนาคาร A, B, C, D รวม 4แบงก์ 4บัญชี เปิดบัญชีแบงก์ละ 1,000,000 บาท รวม 4,000,000 บาท ถ้าดอกเบี้ยออมทรัพย์อยู่ที่ 0.50%ต่อปี แต่ละบัญชีจะได้รับดอกเบี้ยปีละ 5,000 บาท แยกกันแบบนี้ไม่เสียภาษี เพราะเดิมแต่ละธนาคารมีหน้าที่หักภาษี ต่างคนต่างทำ ของตัวเองดอกเบี้ยไม่ถึง 20,000 บาท ก็ไม่หักภาษีนำส่งสรรพากร ทั้งๆ ที่จริงๆ รวมกันแล้ว ต้องจ่าย

คราวนี้ สรรพากรบอกว่า ไม่เอาแบบนี้แล้ว จะเอาแบบที่ธนาคารต้องส่งข้อมูลผู้ฝากเงินไปที่สรรพากร แล้วสรรพากรใช้ข้อมูลสำหรับตรวจสอบว่า ชื่อบัญชีนี้เปิดบัญชีไว้กี่แบงก์ รวมกันแล้วดอกเบี้ยเท่าไหร่ ถ้าเกิน 20,000บาทแล้ว ผู้ฝากได้แจ้งให้แบงก์หักภาษีดอกเบี้ยเงินฝากไว้หรือไม่ ถ้าพบว่าไม่แจ้ง สรรพากรก็ดำเนินการไปตามขั้นตอน ประเด็นคือ ลูกค้าต้องลงทะเบียน “ยินยอม” ให้ธนาคารส่งข้อมูลให้สรรพากร หมายถึงคนที่ไม่ได้มีเงินฝาก 4,000,000บาท ซึ่งปกติไม่เข้าเกณฑ์เสียภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก ก็ต้อง “ยินยอม” ด้วย ไม่งั้นจะไม่ได้รับยกเว้น

กลายเป็นเรื่องวุ่นวาย ต่อว่าสรรพากรกันยกใหญ่ว่า ใจคอจะเก็บทุกบาททุกสตางค์ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว ถ้าเราไม่เข้าเกณฑ์มีดอกเบี้ยเงินฝาก 20,000บาทต่อปี เราต้องไปบ่นเรื่องทำให้ยุ่งยาก ต้องเสียเวลาลงทะเบียนยินยอมให้แบงก์ส่งข้อมูล และ ฯลฯ ส่วนคนที่เข้าเกณฑ์มานานแล้ว แต่ที่ผ่านมา “เลี่ยง” มาตลอด จริงๆ ก็ไม่ควรบ่น เพราะเราก็ทำไม่ถูกมาตั้งแต่ต้น

สรุปคือ ภาษีดอกเบี้ยเงินฝากยังเหมือนเดิม ดอกเบี้ยรวมกันทุกบัญชีเกิน 20,000 บาทต่อปี(หรือเงินต้นขั้นต่ำ 4 ล้านบาท) ต้องจ่ายภาษี15%ส่วนที่น้อยกว่านั้น ได้รับการยกเว้น แต่ที่เพิ่มเติมคือ ต้องลงทะเบียนยินยอมให้แบงก์ส่งข้อมูลให้สรรพากร (ซึ่งคงต้องรอวิธีปฏิบัติจากแบงก์ว่า จะให้ลูกค้าลงทะเบียนยังไง ผ่านช่องทางไหน)

หลังจากวันศุกร์ต่อเนื่องถึงวันเสาร์ เรา “ระส่ำ” กับปรากฏการณ์ภาษีดอกเบี้ยเงินฝากหนักมาก มีความจริงอีกด้านหนึ่งที่น่าสนใจ นั่นคือ ดิฉันได้รับข้อความขอคำปรึกษาจากเพื่อน (รวมถึงคนรู้จัก) ที่ส่งมาทั้งทางไลน์บ้าง ทางเฟซบุ๊คบ้าง ซึ่งปัญหาของทุกคนเหมือนกันนั่นคือ เป็นกลุ่มที่ได้รับดอกเบี้ยออมทรัพย์เกิน 20,000 บาทต่อปี ที่ประหลาดใจเพราะหลายคนนั้นเป็นพนักงานบริษัท ไม่ได้เป็นเจ้าของกิจการ และสารภาพว่า แวบแรกคือ ไม่คิดว่าเขาจะมีเงินเก็บในบัญชีออมทรัพย์สูงถึง 4 ล้านบาทด้วยซ้ำ !!

ส่วนแวบที่สอง คือ “เสียดาย” ค่ะ เสียดายว่า ทำไมไม่นำเงินสำหรับวัยเกษียณไปแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่าบัญชีออมทรัพย์ที่ให้ดอกเบี้ยต่ำมาก (ก.ไก่ล้านตัว) เพราะในทางทฤษฎี เรารู้ทั้งรู้ว่า ผลตอบแทนจากดอกเบี้ยเงินฝากโดยเฉพาะออมทรัพย์นั้น ไม่สามารถทำให้เราเอาชนะราคาข้าวของที่แพงขึ้นในอนาคต (หรือที่เรียกว่า เงินเฟ้อ) หรือผลตอบแทนจากดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ไม่มีทางทำให้เราไปถึงเป้าหมายในวัยเกษียณได้อย่างที่ต้องการ เพราะมันต่ำเกินไป

ไม่ว่าจะมองมุมไหน ดอกเบี้ยออมทรัพย์ก็ไม่เพียงพอที่จะเป็น “แหล่งแสวงหาผลตอบแทน” เพราะมันเป็นได้แค่ที่พักเงินสั้นๆ ก่อนจะโยกไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า ดิฉันจึงประหลาดใจ ปนเสียดายแทนว่า มีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ยอมหลุดจาก “เซฟโซน” ไม่ยอมหนีจากคำว่า “กินดอกเบี้ยเงินฝาก”  ซึ่งถ้าไม่มีเรื่องไม่มีราวนี้เกิดขึ้น ก็คงไม่เห็นความจริงอีกด้านเกี่ยวกับเรื่องนี้

พอถึงแวบที่สาม นี่แหละ ที่บอกกับตัวเองว่า เฮ้ย !นี่มันคือ “วิถี” ของแต่ละคนที่สบายใจแบบไหน ก็ทำแบบนั้น เพราะเพื่อนหรือคนรู้จักเหล่านี้ก็อายุอานามเข้าใกล้วัยเกษียณในอีก 5ปีหรือ 10ปีข้างหน้า กับเงินก้อนในชีวิตที่เกินกว่า4 ล้านบาท มัน “เพียงพอ” แล้วสำหรับชีวิตหลังเกษียณ 20ปี จากอายุ 60-80 ปี แล้วจะดิ้นรนซัดซ่ายไปหาแหล่งลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูง แต่ความเสี่ยงสูงไปเพื่ออะไร

*แน่นอนว่า ด้วยผลตอบแทนที่ต่ำกว่า พวกเขาอาจจะต้องออกแรงมากกว่า เพื่อสร้างก้อนใหญ่ให้เพียงพอกับวัยเกษียณ แต่ก็ได้ความสบายใจกว่า เป็นตัวของตัวเอง ไม่ฝืนและมีความสุขมากกว่า *

ระหว่างที่มองเห็นความจริงในเรื่องนี้ชัดเจนขึ้น ดิฉันลองเปิดเอกสารรายงานผลการดำเนินงานของกองทุนที่ดิฉันนำเงินที่หาได้จากการทำมาหากินตามปกติไปลงทุนไว้4กอง ปรากฏว่า ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ ตั้งแต่มกราคมถึงมีนาคม ผลตอบแทนเฉลี่ยของกองทุนทั้งหมดอยู่ที่ 4.7% (ต่อ 3 เดือนนะคะ) สูงกว่าดอกเบี้ยออมทรัพย์ซึ่งอยู่ที่ 0.50% ต่อปี และเป็นการลงทุนที่ได้รับการยกเว้นภาษีส่วนต่างกำไรอีกต่างหาก

นึกถึงเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่มีผู้ฟังรายการ “เงินทองต้องรู้” ถามเรื่องการลงทุนในกองทุนหุ้นจีน ซึ่ง 3เดือนแรกของปีนี้ให้ผลตอบแทนสูงถึง 40%ระหว่างที่ตอบคำถามเรื่องนี้ในคลิปรายการ “เล่าเท่าที่เหลือ” ที่เราโพสต์ไว้ในยูทูป ดิฉันบอกคุณปิยมิตร ยอดเมือง ผู้ดำเนินรายการร่วมอีกคนหนึ่งว่า ถึงกองทุนหุ้นจีนจะให้ผลตอบแทนสูงถึง 40%ในเวลาแค่ 3เดือน แต่ดิฉันก็ขอเลือกที่จะไม่ลงทุน

 ไม่ว่าจะเป็นเก็บเงินสำหรับวัยเกษียณในออมทรัพย์ดอกเบี้ย0.50%ต่อปี หรือนำเงินไปลงทุนในกองทุนหุ้นไทย ซึ่ง 3 เดือนแรกให้ผลตอบแทน4.7% หรือนำไปลงทุนกองทุนหุ้นจีนที่ให้ผลตอบแทนสูงถึง 40%ในเวลาเพียง 3 เดือนครึ่ง ทั้งหมดไม่มีถูกหรือผิดค่ะ

เพราะมันเป็นเรื่องของเรา มันเป็นโลกของการบริหารจัดการเงินที่เราแต่ละคนล้วนต้องสร้างขึ้นมาเองทั้งนั้น

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0