โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

สุขภาพ

อาการบ้านหมุน ใช่สัญญาณเตือนโรคร้าย หรือไม่?

MThai.com - Health

เผยแพร่ 11 ก.ค. 2561 เวลา 02.49 น.
อาการบ้านหมุน ใช่สัญญาณเตือนโรคร้าย หรือไม่?
หลายคนอาจจะเคยเจอกับ อาการบ้านหมุน ที่รู้สึกอยู่ดีๆ ก็เวียนหัว แบบนี้มันจะอันตรายไหม ใช่สัญญาณเตือนโรคร้านหรือเปล่า มาหาคำตอบ

หลายคนอาจจะเคยเจอกับ อาการบ้านหมุน ที่รู้สึกอยู่ดีๆ ก็เวียนหัว เหมือนว่าบ้านมันหมุนไปหมด แล้วแบบนี้มันจะเป็นอันตรายมากไหม หรือเป็นสัญญาณเตือนของโรคอะไรหรือเปล่านะ? ลองมาหาคำตอบกันค่ะ

อาการบ้านหมุน

อาการเวียนศีรษะ ไม่ใช่โรค เป็นเพียงกลุ่มอาการ อาจไม่ได้จำเพาะกับโรคใดโรคหนึ่ง ผู้ที่เป็นความดันโลหิตสูง เบาหวาน ก็อาจทำให้มีอาการเวียนศีรษะได้ แต่หากมีบ้านหมุนร่วมด้วย สาเหตุอาจเกิดจากระบบประสาทส่วนกลาง เช่น อัมพฤกษ์อัมพาต เส้นเลือดในสมองตีบ หรือเป็นโรคจากหู เช่น โรคมีเนียร์หรือน้ำในหูไม่เท่ากัน ตะกอนหินปูนหูชั้นในเคลื่อนหลุด หูชั้นในอักเสบ เป็นต้น

ลักษณะของอาการบ้านหมุน

ผู้ป่วยที่มีอาการเวียนศีรษะ อาจมีอาการเดินเซ โคลง ทรงตัวได้ไม่ค่อยดี แต่สำหรับอาการบ้านหมุน จะรู้สึกว่าตัวหมุนหรือสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวหมุน ในกรณีที่เป็นมากมักมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย

สาเหตุของอาการบ้านหมุน

สาเหตุส่วนใหญ่มาจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ ปัจจัยที่ 1 โรคทางระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งอันตรายและรุนแรง ผู้ป่วยจะมีอาการของระบบประสาทส่วนกลางที่ผิดปกติร่วมด้วย เช่น พูดไม่ชัด ลิ้นแข็ง ปากเบี้ยว ใบหน้าเบี้ยว หรือแขนขาอ่อนแรง 2 ข้างไม่เท่ากัน ซึ่งอาการเหล่านี้จะเป็นอาการบ่งชี้ว่าอาจจะมีปัญหาหลอดเลือดสมอง เช่น หลอดเลือดในสมองตีบ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ เป็นต้น ถ้ามีอาการดังกล่าวข้างต้น ควรรีบมาพบแพทย์ให้เร็วที่สุดภายหลังมีอาการ ส่วนปัจจัยที่ 2 โรคทางหู มักจะมีอาการทางหูร่วมด้วย เช่น หูอื้อ เสียงในหู หรือว่าการได้ยินลดลง เป็นต้น

การวินิจฉัยทำได้โดยการซักประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียด รวมไปถึงการตรวจหู การตรวจระบบประสาทและการทรงตัว ในบางครั้งก็มีความจำเป็นในการตรวจการกลอกของลูกตาและการเคลื่อนไหวของลูกตาในท่าทางต่างๆ ผู้ป่วยบางรายจำเป็นต้องส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม โดยเฉพาะกรณีที่สงสัยว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมองจำเป็นต้องได้รับการตรวจเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กหรือการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง เพื่อวินิจฉัยหาตำแหน่งรอยโรค

การรักษา

การรักษาขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรค แต่ละโรคมีวิธีการรักษาที่แตกต่างกัน เช่น การสังเกตอาการ การใช้ยา การทำกายภาพในโรคตะกอนหินปูนหลุดของหูชั้น

ดูแลตัวเองอย่างไร

ผู้ป่วยที่ยังมีอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนควรดูแลตัวเองให้ปลอดภัย เพื่อลดความเสี่ยงจากอาการที่เกิดจากโรค แนะนำให้งดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดอุบัติเหตุ หรือพลัดตก หกล้ม เช่น การขับรถ ขี่มอเตอร์ไซค์ เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการเวียนศีรษะเวลาขยับศีรษะเร็วๆ การพักผ่อนให้เพียงพอ การออกกำลังกาย การควบคุมโรคประจำตัว เช่น ความดัน เบาหวาน ให้ดี จะบรรเทาอาการ และทำให้อาการเวียนศีรษะหายเร็วขึ้น

(คลิป) เข้าใจ โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน บ้านหมุนมึนๆ คืออะไรเเละรักษายังใง ?

https://seeme.me/ch/motionnews/k5LwDq

ที่มา : www.si.mahidol.ac.th

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0