โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

อะไรๆ ก็ครู คุยเรื่องภาระงานครู และความเหลื่อมล้ำของโรงเรียน กับ อรรถพล ประภาสโนบล

The MATTER

อัพเดต 13 ต.ค. 2562 เวลา 10.41 น. • เผยแพร่ 13 ต.ค. 2562 เวลา 08.50 น. • Pulse

เคยไหม? เรียนอยู่ดีๆ ครูก็หายไปจากห้อง ทิ้งใบงานไว้ให้ดูต่างหน้า

หนึ่งในประสบการณ์ร่วมกันของเด็กไทยหลายคน คงหนีไม่พ้นช่วงเวลาที่จู่ๆ วิชาเรียนก็กลายเป็นคาบว่าง คุณครูต้องรีบออกจากห้องเรียนไปปฏิบัติภารกิจอะไรซักอย่าง โดยที่นักเรียนเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่าครูหายไปไหน และไปทำอะไร

ภาระงานครู คือ หนึ่งในปัญหาที่สะสมในวงการการศึกษาไทยมายาวนาน เบื้องหลังกองงานพะเนินเทินทึก ไม่ได้มีเพียงเอกสารเท่านั้น แต่ยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างต่างๆ อีกมากมาย ที่ผลสะท้อนมาจากการเมืองไทย

The MATTER ชวน ‘อรรถพล ประภาสโนบล’ ครูผู้ช่วยวิชาสังคมศึกษาชั้นมัธยม โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ปทุมธานี ผู้ต้องการเปลี่ยนแปลงปัญหาการศึกษาไทยที่ถูกสะสมและกดทับในวังวนแห่งความไม่เท่าเทียมมายาวนาน มาคุยในประเด็นนี้กัน

จุดเริ่มต้นของการทำงาน

จบมาจาก คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตอนเรียนผมสนใจว่า ทำไมคณะที่ผลิตครูถึงไม่พยายามที่จะหลุดออกจากจารีตเดิมๆ เพราะแค่เข้าไปในคณะก็เต็มไปด้วยระบบโซตัสแล้ว เราจะผลิตครูแบบนี้ออกไปจริงๆ หรอ เลยมีการรวมตัวกันกับเพื่อนๆ เป็นกลุ่ม 'พลเรียน' ที่พูดคุยเรื่อง การศึกษา คือเรื่องของการเมือง การเมืองเป็นอย่างไร ก็มีรากมาจากการศึกษานั่นแหละ การศึกษาไม่แยกออกจากการเมือง ไม่แยกออกจากสังคม

จากนั้นก็เริ่มรู้สึกว่า สิ่งที่ทำอยู่แบบเดิม ไม่ได้ไปไหน เราต้องไปไกลมากกว่ามานั่งบ่น นั่งเยียวยากันเอง ต้องไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างให้ได้ ต้องเปลี่ยนแปลงระบบที่เป็นอยู่ให้ได้ จึงมีการรวมตัวกันของกลุ่ม 'ครูขอสอน' ที่เป็นกลุ่มกิจกรรมที่เคลื่อนไหวเพื่อสร้างความเท่าเทียมทางการศึกษา

แต่ก่อน ครู เป็นอาชีพยอดฮิตที่หลายคนใฝ่ฝัน ตอนนี้ยังเป็นแบบนั้นอยู่หรือเปล่า?

ผมไม่กล้าไปฟันธงขนาดนั้น แต่ก็เห็นเพื่อนครูหลายคน สอบเข้ามาด้วยคะแนนสูงๆ มาก และก็ยังเป็นคณะที่คะแนนอยู่อันดับต้นๆ อาจจะสรุปได้ว่า เด็กรุ่นใหม่ๆ ก็ยังอยากเป็นครูอยู่

ใน 1 วัน ครูต้องทำอะไรบ้าง?

ขอแบ่งเป็น 3 อย่าง

  1. สอนนักเรียนตามแต่ละวิชาที่เราได้รับมอบหมายมา

  2. ทำงานพัฒนา ดูแลนักเรียน คอยให้คำปรึกษา หรือจัดกิจกรรมเสริม เช่น การโฮมรูม เป็นงานเกี่ยวกับเรื่องพัฒนานักเรียน และดูแลเรื่องการศึกษา

  3. งานภาระอย่างอื่น ผมขอเรียกว่า ‘ภาระ’ ละกัน เราต้องไปทำงานประจำตามฝ่ายต่างๆ เช่น ทำงานวัดผล ทำงานวิชาการ ทำงานธุรการ ทำงานบุคคล ซึ่งแต่ละคนจะได้รับมอบหมายไม่เหมือนกัน

มันมีส่วนที่เราจำเป็นต้องทำจริงๆ ก็มี หรืองานที่ต้องพัฒนานักเรียน เช่น งานหลักสูตร งานประเมินผล งานแนะแนว แต่บางงาน เช่น งานงบประมาณ งานเอกสารต่างๆ หรืออะไรที่ไม่ได้เกี่ยวกับนักเรียนโดยตรง ผมจะเรียกว่า ภาระงานครู

ช่วยขยายความคำว่า ภาระงานครู อีกหน่อย

คือ งานที่นอกเหนือจากการพัฒนานักเรียน เช่น งานธุรการ ครูต้องมาเขียนงบประมาณ ทำเอกสาร การซื้อขาย จัดซื้อจัดจ้าง เป็นต้น หรืองานฝ่ายบุคคลที่ครูต้องมาบันทึกสถิติว่า ใครเป็นอย่างไร ขาดลามาสายอย่างไร หรือแม้กระทั่งงานอื่นๆ ที่ครูต้องเข้ามารับผิดชอบ โดยที่ครูไม่จำเป็นต้องมาทำหน้าที่นี้

ภาระงานครู มาพร้อมกับความเหลื่อมล้ำของโรงเรียน ผมคิดว่ารากฐานที่อยู่ข้างใต้ปัญหานี้คือ เราไม่ชัดเจนว่า เราจะเอาปรัชญาการศึกษาแบบไหน? หรือเราให้คุณค่ากับอะไร? ความหมายของโรงเรียนคืออะไรกันแน่? หลายๆ โรงเรียนอยากเห็นความสำเร็จ มากกว่าอยากเห็นการพัฒนา หรือการเติบโตของคนๆ นึง

นอกจากงานในโรงเรียนแล้ว ยังมีงานจากข้างนอกด้วย?

ครับ การศึกษาบ้านเรามองว่า นักเรียนขาดความรู้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เขาเลยคิดโครงการบางอย่างขึ้นมา แล้วก็หย่อนไปที่โรงเรียน จริงๆ สิ่งเหล่านี้มันมีอยู่ในหลักสูตรอยู่แล้ว พอถึงเวลาก็ยัดเข้าไป ทำให้โอเวอร์โหลดทั้งตัวนักเรียนและครูที่ต้องมารับผิดชอบมากขึ้น

ประเด็นคือ หน่วยงานต่างๆ เหล่านี้ มันไม่ได้มีแค่หน่วยงานเดียว แต่มีหลายหน่วยงานมาก เราสามารถนำกระทรวงศึกษาธิการ มาแบ่งเป็นเสาได้ 4 แท่ง ได้แก่ สํานักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ทั้ง 4 เสานี้ทำงานแยกกันออกไป แถมยังมีหน่วยงานแยกย่อยกันออกไปอีก แต่ละหน่วนงานก็คิดโครงการของตัวเองขึ้นมา ใครอยากจะทำอะไรก็ส่งผ่านไปที่โรงเรียน จนสุดท้าย โรงเรียนก็ต้องรับผิดชอบงานหนัก

ทำไมครูกับโรงเรียนถึงต้องตอบรับ?

เหตุผลแรกคือ โรงเรียนอยากมีชื่อเสียง การมีชื่อเสียงจะทำให้เด็กสมัครเข้ามาเรียน อย่างต่อมาคือ มันเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้ได้รับสถานะอะไรบางอย่างมากขึ้น เช่น โรงเรียนเข้าร่วมกิจกรรมแข่งขันมาเยอะ โรงเรียนก็มีหน้ามีตา ผอ.ก็ได้คะแนนตรงนี้ เป็นประโยชน์ในการจะย้ายไปโรงเรียนอื่น ครูก็ได้คะแนนตรงนี้ เพื่อจะไปทำอะไรต่อ

ผลที่ได้ ถามว่าเกิดขึ้นกับเด็กไหม คิดว่า คงเกิดขึ้นกับเด็กจำนวนหนึ่งที่ครูเลือกเพื่อจะเอาไปสร้างผลงาน หรือที่โรงเรียนเลือกเพื่อที่จะไปสร้างชื่อเสียงให้กับโรงเรียน แต่มีเด็กกลุ่มนี้แค่ไม่กี่เปอร์เซ็นต์ ทรัพยากรถูกกองไปใช้กับเด็กกลุ่มนั้น แต่เด็กกลุ่มอื่นๆ หรือแม้แต่กิจกรรมในด้านอื่นๆ มันไม่ได้ถูกพูดถึงเลย

เขามองหาเด็กหัวกะทิ มองว่าใครคือเด็กเก่งของโรงเรียนนั้น ทำให้เราต้องมานั่งดูเด็กจำนวนหนึ่งที่ถูกคัดเลือกมา แต่กลับมองไม่เห็นเด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นเด็กส่วนใหญ่ของสังคมด้วยซ้ำ

คำถามที่ตามมาก็คือ เรากำลังตั้งระบบการศึกษากันแบบไหน ถ้าเราตั้งต้นแค่อยากเห็นเด็กเก่ง อยากเห็นความสำเร็จของโรงเรียน โจทย์มันก็จะเป็นแบบนี้ต่อไป แต่ถ้าเราตั้งต้นว่า อยากให้เด็กทุกคนพัฒนา อยากให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีในโรงเรียน ได้เติบโตในแบบที่ตัวเองต้องการ ผมว่าโจทย์ก็จะไปอีกแบบหนึ่ง แต่ ณ ปัจจุบัน มันคือการที่ครูหรือโรงเรียนเลือกเด็กคนนึง เพื่อไปอวดความสำเร็จให้กับคนอื่นๆ

แล้วถ้าครูหยุดทำงานที่เป็น 'ภาระงานครู' แล้ว จะเป็นอย่างไร

ผมอยากจะชวนคิดอย่างนี้มากกว่า ภาระงานครู เหมือนเป็นยอดภูเขาน้ำแข็งที่เกิดขึ้น งานต่างๆ หรือภาระเอกสารที่ครูต้องทำ คือยอดภูเขาน้ำแข็งทั้งหมด ต่อให้เราบอกว่า ห้ามโรงเรียนกับครูทำงานอื่นทุกอย่าง แต่สิ่งที่อยู่ข้างใต้มันไม่ได้ถูกแก้เลย ครั้งนึง ผมเคยถูกเรียกไปคุยเรื่องภาระงานครู วิธีแก้ของเขาคือ ให้ครูไปจัดสรรเอาเองว่า ทำอย่างไรให้จบภายในหนึ่งวัน อย่าให้ภาระงานเยอะเกิน

กลายเป็นว่า เขามองความสัมพันธ์อยู่ในแนวดิ่ง คนข้างบนก็ส่งงานลงมา แล้วก็รอดูว่าข้างล่างจะทำอะไร สุดท้ายคนที่อยู่ใต้กว่าก็รู้สึกกลัว ความสัมพันธ์มันไม่ได้ตั้งอยู่บนวัฒนธรรมของการไว้เนื้อเชื่อใจกัน คนที่อยู่ข้างบน อย่าง ผอ.ต้องคิดว่า ฉันจะซัพพอร์ตคุณอย่างไรให้คุณได้ทำงานเต็มที่ แล้วครูจะซัพพอร์ตนักเรียนอย่างไร ให้เกิดการเรียนรู้จริงๆ แต่นี่มันกลับหัวกลับหาง กลายเป็นว่า ครูก็คอยจับจ้องนักเรียนว่าทำงานไหม มีงานมาส่งหรือเปล่า ผอ.ก็มาคอยจับจ้องครูว่า ไม่ทำแบบนี้ เดี๋ยวจะไม่ได้ประเมินนะ เราอยู่กับความเลื่อนลอยมากๆ เลยไม่รู้ว่าเราต้องการอะไรจากการศึกษากันแน่

แต่ความสัมพันธ์ของ ผอ. และครูจะเชื่อใจได้อย่างไร ในเมื่อ ผอ. ก็ต้องตรวจสอบครูด้วย

ความไว้ใจกับการตรวจสอบต้องแยกให้ชัดครับ ความไว้ใจ คือ เราเชื่อมั่นว่าครูสามารถทำอะไรบ้างอย่างได้ แล้วเราเปิดโอกาสให้ครูได้คิดเอง จัดการเองได้ แต่สิ่งที่เป็นอยู่มันอยู่บนฐานของการควบคุม เช่น เรากำลังสอนให้เด็กคนนึงขี่จักรยาน ถ้าอยู่บนฐานของการควบคุม ผมก็จะคอยติดตามว่า เด็กทำได้หรือไม่ได้ เราจะมีมุมมองแบบหนึ่ง แต่ถ้าอยู่บนฐานของความไว้ใจ คือ เราให้เขาลองขี่จักรยาน ล้มไม่เป็นไร เดี๋ยวเราช่วยซัพพอร์ตเอง

คำว่าตรวจสอบ แสดงให้เห็นว่า คนในสังคมไม่ได้อยู่บนฐานที่เท่ากัน มีอำนาจสูงต่ำ แล้วความสูงต่ำก็กลายเป็นการให้คุณประโยชน์ หรือให้โทษบางอย่าง เช่น ถ้าเราอยากตรวจสอบโรงเรียน แล้วผอ.มาจากส่วนกลาง เราก็ทำอะไรเขาไม่ได้ เพราะสุดท้ายก็เป็นอำนาจจากส่วนกลาง แต่ถ้าผอ.มาจากคนที่เราเลือกขึ้นมา หรือมาจากคนที่คนในพื้นที่เห็นพ้องต้องกัน หรือ ผอ.ถูกประเมินจากคนในพื้นที่ ความสัมพันธ์ในอำนาจจะเปลี่ยนไป ถ้าเปลี่ยนความสัมพันธ์ใหม่ ให้ผอ.ถูกประเมินจากคนที่อยู่รอบๆ ถูกประเมินจากครู จากผู้ปกครอง ถ้าผอ.คนนี้ไม่โอเค เราจะไม่จ้างต่อ ผอ.จะต้องทำงานเพื่อใคร? ก็ต้องทำงานเพื่อคนเหล่านี้

ภาระงานครู คือยอดภูเขาน้ำแข็ง แล้วโครงสร้างของภูเขาน้ำแข็งที่พูดถึงหมายถึงอะไร

มันคือความเหลื่อมล้ำ เราไม่มีโรงเรียนที่คุณภาพเท่าเทียมกัน คุณภาพในแง่นี้ไม่ใช่ว่า เด็กต้องไปแข่งอะไรเหมือนกันหมด ทดสอบได้ IQ สูงๆ ไม่ใช่คุณภาพในแง่นั้น แต่หมายถึงคุณภาพชีวิตของเขาที่จะเติบโตมาในบริบทสังคม ในสิ่งแวดล้อมที่ดี มันมีความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียนสูงมาก ตัวอย่างเช่น เปรียบเทียบระหว่าง 2 โรงเรียน ถ้าเด็กมีต้นทุนกับคุณภาพชีวิตที่ดี ก็เลือกโรงเรียนพร้อมกับโอกาสที่ดีในชีวิตเขาได้ แต่ขณะเดียวกัน ถ้าเด็กไม่มีต้นทุน โอกาสที่จะเข้าต่อในโรงเรียนก็น้อย เขาอาจจะเลือกที่จะเข้าโรงเรียนนี้ที่คุณภาพไม่ได้ดีมาก หรือเลือกที่จะไม่เข้าเลยก็ได้

สมัยเป็นครูฝึกสอน มีเด็กคนนึงเคยบอกว่า จบม.3 เขาอยากจะเรียนต่อ อยากเป็นนักฟุตบอล แต่ฐานะทางบ้านไม่เอื้อ สุดท้ายก็มีบริษัทนึงมาเสนอว่า ถ้าไปเรียนโรงเรียนในเครือของเขา เขาจะให้เด็กคนนั้นเรียนจบได้ แต่จบแล้วต้องมาเป็นพนักงานร้านสะดวกซื้อให้กับบริษัทนะ ทำให้ความฝันของเด็กคนนั้นไม่ได้เกิดขึ้น

กลายเป็นว่าเขาต้องเรียนเพื่อให้ตัวเองมีลมหายใจ เพื่อจะต่อชีวิต ตัวตนของเด็กถูกดัดแปลง เพื่อให้ตัวเองได้รับโอกาส

เพื่อมีชีวิตรอด และไม่ถูกทำให้ตาย

แต่ถ้าโรงเรียนมีความเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะไปโรงเรียนไหน จะเข้าโรงเรียน A B C D ก็เหมือนกันหมด ทุกคนได้รับโอกาสเท่ากัน ทุกคนไปโรงเรียน แล้วเข้าเรียนฟรีจริงๆ ไม่ต้องมาห่วงว่า จะมีค่าเทอมไหม เด็กสามารถเติบโตได้ในทุกโรงเรียนที่มันเท่าเทียมกัน

พอโรงเรียนมันไม่เท่ากัน สิ่งที่โรงเรียนทำก็คือ จัดวางให้เกิดระบบของการแข่งขันระหว่างโรงเรียน และระหว่างเด็ก โรงเรียนพยายามแข่งกันเพื่อจะดึงเด็กให้เข้ามาเรียน โยงเข้ากับเรื่องเงินรายหัว ยิ่งถ้าโรงเรียนไหน มีคนเข้ามาเรียนเยอะ ก็ได้เงินรายหัวเยอะ เหมือนลูกค้า โรงเรียนนี้โตขึ้น แต่อีกโรงเรียน ที่ไม่มีลูกค้าเข้า ก็เล็กลง สุดท้ายก็ถูกยุบโรงเรียน เพราะเขาคิดว่า หลักของการแข่งขันจะทำให้การศึกษามีคุณภาพมากขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว มันไม่ใช่ มันยิ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำแบบนี้เยอะขึ้น

ถ้าเทียบโรงเรียนเอกชน รัฐบาล และนานาชาติ สิ่งแวดล้อมของทั้งสามโรงเรียนสะท้อนให้เห็นอะไร

เรื่องความไม่เท่าเทียมกันในสังคมของเรา เพราะคนที่มีฐานะ ก็จะไปเข้าเรียนโรงเรียนดีๆ เช่น เอกชนแพงๆ หรือนานาชาติ ซึ่งโรงเรียนเหล่านี้ก็เกิดขึ้นมาเพื่อตอบสนองคนเหล่านี้ พวกเขาเข้าไปอยู่ในโรงเรียนที่ทำให้ตัวเองมีโอกาสในชีวิตมากขึ้น เรียนหลักสูตรดีๆ ได้บรรยากาศดีๆ แต่โรงเรียนรัฐถูกปล่อยทิ้งไว้ ถ้ามองง่ายๆ ก็คือ ตอนนี้เราอยู่ในระบบตลาด โรงเรียนกลายเป็นสินค้าแบบหนึ่ง

การติดป้ายหน้าโรงเรียนประกาศว่าเด็กสอบติด คือระบบตลาด เพื่อขายโปรโมทสินค้าตัวเองว่า โรงเรียนชั้นคะแนนเยอะนะ เด็กสอบติดเข้าแพทย์เยอะ ทำให้เด็กอยู่ภายใต้ความกดดัน และโรคซึมเศร้า เพราะความเป็นตัวเองของเขาไม่ได้เกิดขึ้น แต่ถูกปัจจัยรายล้อมอะไรบางอย่าง ทั้งยังเข้าใจได้ว่า ทำไมพ่อแม่ถึงอยากให้ลูกอยู่ในสายอาชีพที่มั่นคง เพราะสังคมนี้มันไม่มีความมั่นคงให้กับเด็ก ทำให้เด็กอยากจะโยนความฝันทิ้งไป เด็กถูกล่ามโซ่ด้วยเงื่อนไขของความไม่เท่าเทียม

แต่ลองคิดในทางกลับกัน ถ้าสังคมออกแบบใหม่ทำให้ทุกคนอยู่บนฐานของความเท่ากัน เสมอภาคกัน เราไม่ต้องกลัวว่าเราจะอดตาย เพราะรัฐดูแลเราทุกคน เราไม่ต้องมารอรับทุนจากใคร เพราะการศึกษาทำให้เข้าเรียนฟรีทุกคน โรงเรียนเรามีคุณภาพเท่ากันหมด

สังคมนี้มันไม่มีความมั่นคงให้กับเด็ก ทำให้เด็กอยากจะโยนความฝันทิ้งไป เด็กถูกล่ามโซ่ด้วยเงื่อนไขของความไม่เท่าเทียม

ตอนนี้ ครูมีอำนาจในการออกแบบการสอนมากน้อยแค่ไหน?

โรงเรียนรัฐก็มีความยืดหยุ่นพอสมควร พูดง่ายๆ คือ อำนาจรวบเข้าไปไม่ถึง พอสุดท้ายใครอยู่ในห้องเรียนกับใคร เราไม่รู้หรอกว่าเขาทำอะไร ถ้าเป็นครูที่เขาอยากจะเปลี่ยนแปลง ครูที่เขาอยากจะทำอะไรขึ้นมาใหม่ เขาก็ทำได้เต็มที่ ส่วนครูที่อยู่ภายใต้ความกลัว เขาก็จะรับอำนาจรัฐ

แต่ปลายทางมันมีระบบสอบ อย่าง O-NET พอมันล็อกอย่างนี้ ท้ายที่สุด การเดินทางและการเรียนของเด็ก มันเลยไม่ใช่การเรียนเพราะอยากรู้ หรือพัฒนาตัวเอง แต่กลายเป็นการเรียนเพื่อให้นักเรียนตอบข้อสอบได้ มันเลยเป็นการอยู่กันคนละฐานคิด

มีทางแก้ไขปัญหาภาระงานครูไหม?

กลับมาที่คำถามว่า การศึกษาควรเป็นไปเพื่ออะไร? โรงเรียนควรเป็นไปเพื่ออะไร? เราอยากเห็นอะไรจากนักเรียน? บทบาทครูจริงๆ ควรทำหน้าที่อะไร? แล้วใครบ้างที่จะช่วยซัพพอร์ทครูได้? เราต้องรู้ก่อนว่าอะไรจำเป็น อะไรไม่จำเป็น หรือเรามองเห็นแค่ การศึกษาที่เป็นไปเพื่อตอบสนองคนข้างบน ครูมีหน้าที่ประเมินเพื่อมาตอบคำถามคนข้างบน

แล้วด้วยความที่ระบบในบ้านเรา ถูกออกแบบให้ครูอยู่ในระบบแบบราชการ พออยู่ในระบบนี้แล้ว ด้านนึง เราทำงานเพื่อสอนนักเรียน ก็สอนนักเรียนไป แต่อีกด้านหนึ่ง เราถูกกำกับด้วยระบบราชการ พอระบบราชการมันใช้เกณฑ์คล้ายๆ กัน คือต้องมีคำสั่งมาว่าคุณจะต้องทำโน่นทำนี่ สั่งโน่นสั่งนั่น มันมีความย้อนแย้งอะไรบางอย่างที่อยู่ในตัว อาจจะต้องมาทบทวนว่า ครูควรอยู่ในระบบราชการไหม? มันมีทางออกอื่นอีกไหมว่า ออกไปแล้ว มันจะทำให้ระบบการศึกษาดีขึ้น โดยที่คุณภาพชีวิตครูก็ไม่ได้แย่ลง หรือจริงๆ เราอาจจะเป็นระบบราชการแบบเดิมก็ได้ แต่ต้องดูว่า กลไกแบบไหนที่จะพัฒนาการศึกษาให้ดีขึ้น

บางคนเข้ามาเป็นครูด้วยไฟที่แรงกล้ามากๆ แต่พออยู่ไปเรื่อยๆ ก็เริ่มมอดลง ปัญหานี้เกี่ยวข้องกับภาระงานครูด้วยหรือเปล่า?

ผมว่าเกี่ยวอย่างมากเลย ภาระงานต่างๆ โครงสร้างที่เป็นอยู่แบบนี้ มันทำให้ความคิด ความหวัง หรือจินตนาการของคนเรามันถูกบีบให้เล็กลง เพราะสุดท้ายเราถูกกฎระเบียบบางอย่างมาจำกัด เพราะฉะนั้นครูที่อยากจะเปลี่ยนแปลง พออยู่ภายใต้บรรยากาศแบบนี้ เขาก็ต้องการแก้ไข แต่ถ้าครูคนนั้นไม่มีคนที่คุยเรื่องนี้กันได้ในโรงเรียน ก็จะยิ่งดิ่งลงไปเลย หรืออาจถูกกลืนกินไป หลายคนที่ยังอยู่ได้ เพราะเขามีทีม มีคนอื่นที่อยู่รอบข้างเป็นพื้นที่ในการพูดคุยกันได้

ภาระงานครู ส่งผลกับเด็กอย่างไร?

อย่างแรก ขอเล่าเรื่องจากเพื่อนครูด้วยกัน บางทีสอนๆ อยู่ ผอ.ก็บอกให้ไปรับแขกหน่อย ก็ต้องไป หรือบางทีสอนอยู่ ผอ.บอกว่า ให้ไปทำงานนึงเดี๋ยวนี้ ก็ต้องไป เป็นภาระที่มาไม่ทันตั้งตัวก็มี อย่างที่สองคือ พวกงานแข่งขัน หรืองานอื่นๆ ครูก็จะไปมุ่งโฟกัสกับเด็กกลุ่มหนึ่งที่เข้าร่วมแข่งขัน แล้วเด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้มีส่วนร่วมก็จะถูกทิ้งไว้ ถูกเลี้ยงด้วยใบงาน อย่างที่สาม คือ ช่วงที่มีคนมาประเมินโรงเรียน ครูก็จะไปรุมทำงานตรงนั้น แล้วเด็กก็ถูกปล่อยไว้ในห้อง

เด็กเรียนผ่านใบงาน เป็นแบบ 'ใบงานเซ็นเตอร์' ไปเลย ทำให้ไม่ได้เกิดการพัฒนาต่อเด็กจริงๆ มันกลายเป็นวัฒนธรรมที่แข็งแกร่งมากๆ ในระบบการศึกษา สุดท้ายเราเทียบว่าใบงานเท่ากับการสอน ต่อให้ไม่มีภาระงานครูบางคนก็โยนใบงานเข้าไป ผมไม่ได้ห้ามให้ใช้ใบงานนะ แต่การสอนที่ถูกให้ความหมายไปแบบนั้น มันไม่ใช่การพัฒนานักเรียนจริงๆ และกลายเป็นการโยนภาระไปที่เด็กต่างหาก

หลายคนบอกว่า หลักปรัชญาการศึกษาของบ้านเรา คือหลักสารัตถนิยม มันคืออะไร เหมาะกับการสอนเด็กไหม?

สารัตถนิยม คือความเชื่อว่าความรู้ตายตัวแล้ว ถึงเวลาก็ถ่ายทอด ส่งความรู้ไปได้เลย เราต้องมาตั้งคำถามคู่กับสังคมไปว่า สังคมที่จะก้าวไปข้างหน้าได้ คือสังคมแบบไหน ถ้าเรามองว่ามันคือสังคมที่คนต้องคิด ต้องแลกเปลี่ยน ต้องคุย ต้องถกเถียง ต้องสร้างสรรค์ ถามว่าเรียนรู้แบบสารัตถะ ได้ไหม คำตอบก็คือ ไม่ได้ แต่ถ้าเรามองว่า ไม่ต้องถกเถียงกันหรอก สังคมที่ดีคือ สังคมที่อยู่กันอย่างสงบเนี่ยแหละ ใครคิดอะไรก็หยุด ไม่ต้องคิด เชื่อแบบที่เขาบอกมา ถ้าแบบนี้ สารัตถะก็จะเกิดขึ้นได้

แล้วตอนนี้การเรียนการสอนในห้องเรียน ยังเป็นแบบสารัตถนิยมอยู่ไหม?

ยังมีความสารัตถะอยู่เยอะครับ ต่อให้เราเปลี่ยนวิธีการสอน แต่ท้ายที่สุด วิธีการสอนนั้นอาจจะนำไปสู่คำตอบแบบสารัตถะก็ได้ เช่น ให้เด็กเรียนแบบทำกิจกรรมเลยนะ ครูให้ลงมือทำนู่นนี่นั่น แต่สุดท้ายนักเรียนต้องตอบให้ได้ว่า ค่านิยม 12 ประการคืออะไร และไม่ว่าเราจะเปลี่ยนวิธีการสอนไปแบบไหน แต่ถ้าเราเชื่อว่าความรู้เป็นสารัตถะ เราก็จะส่งต่อความรู้แบบนี้ต่อไปอยู่ดี

สมมติว่า ครูสอนวิชาประวัติศาตร์ จำลองการเรียนเป็นรายการแฟนพันธุ์แท้ แต่เนื้อหาข้างในเป็นเรื่องชาตินิยมหมดเลย เด็กรู้หมดเลย กษัตริย์ชื่ออะไร ไทยเสียกรุงตอนไหน พม่ามาตีกรุงตอนไหน เด็กก็แอคทีฟนะ แต่อยู่บนฐานของสารัตถะ แต่ถ้าอีกแบบ ผมอาจจะไม่ต้องทำอะไรเลย แค่เดินเข้าไปบรรยาย แล้วถามเด็กว่า คิดว่าประวัติศาสตร์ที่เขาบอก เป็นความจริงไหม? แค่คำถามข้อนี้ ก็เปลี่ยนห้องเรียนได้หมดเลย

ตอนนี้ กระทรวงฯ พยายามโปรโมทให้เรียนกันแบบ Active Learning แต่อยู่ภายใต้วิธีคิดแบบสารัตถะ เรียนแบบ Active แต่ได้ความรู้และวิธีคิดที่ Passive ต้องการให้เด็กเรียนอย่างกระตือรือร้น และซึมซับอุดมการณ์บางอย่างจากรัฐ ถ้าพูดอีกอย่างหนึ่งคือ Active (วิธีการสอน) แบบ Passive (ความรู้) ทำให้เด็กกลายเป็นพลเมืองตั้งรับ (Passive Citizen)

วัฒนธรรมองค์กรการศึกษา คืออะไร และส่งผลอย่างไรบ้าง?

มันคือมาตรฐาน หรือกรอบคิดบางอย่างที่องค์กรการศึกษายึดถือร่วมกัน คือภาพสะท้อนที่เชื่อมโยงกับภาพสังคมใหญ่นั่นแหละ พูดง่ายๆ สังคมเราอยู่บนฐานความอาวุโส อยู่บนฐานของการมองคนไม่เท่ากัน มองว่าเป็นเด็กก็อย่ามาเถียงผู้ใหญ่ ถ้าเราจะคิดต่างออกไปมันก็เป็นเรื่องที่แปลก

อีกเรื่องหนึ่งคือ วัฒนธรรมองค์กรส่วนใหญ่เห็นว่า ใครที่ต่างออกไปเป็นความผิด เป็นแกะดำ แล้วให้สิ่งเหล่านี้ยังผลิตซ้ำอยู่ในการศึกษาแบบเดิม ผมคิดว่า วัฒนธรรมที่เป็นอยู่ตอนนี้มันอยู่บนฐานของความเป็นเปลือก 'ฉันไม่รู้ว่าสิ่งที่ฉันทำอยู่ ทำไปเพื่ออะไร แต่ฉันรู้ว่า ฉันต้องทำอะไร' เราไม่ได้กลับไปตั้งคำถามกับสิ่งที่ตัวเองกำลังทำอยู่

ผมว่าครูอยู่บนวัฒนธรรมของแม่พิมพ์จริงๆ พิมพ์อย่างไงก็พิมพ์อย่างนั้น ไม่คิดว่ามันมีทางเลือกอีก ด้านหนึ่ง ข้างบนก็ทำอย่างนี้เหมือนกัน ส่งต่อกันมาแบบนี้ เชื่อว่าเป็นแบบสารัตถะดีแล้ว จริงๆ อาจจะเป็นกันทั้งสังคมไทยแหละ อยู่กันแบบสารัตถะ ไม่รู้ว่าสิ่งที่ตัวเองทำมันดีแล้วจริงๆ หรือยัง หรือไม่รู้ว่าจริงๆ แล้ว แก่นของสิ่งที่ทำอยู่คืออะไรกันแน่

คิดว่าเป็นไปได้ไหมที่จะเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษา?

ถ้าเราอยู่บนฐานของความเป็นไปไม่ได้ คิดว่า ‘เฮ้ย มันเป็นไปไม่ได้หรอก เขาเป็นกันมานาน’ ผมว่า นี่คือยาชาชั้นดีในการที่จะทำให้เราอยู่กับความสิ้นหวังและความไม่รู้จะไปอย่างไรต่อ และทำให้ระบบแบบนี้อยู่ต่อไป

แต่ถ้าเราคิดว่า ไม่รู้ว่าจะเป็นไปได้ไหม แต่เราอยากเปลี่ยนแปลง อยากทำอะไรซักอย่าง อยากท้าทายกับมัน ก็มีความเป็นไปได้ อย่างน้อยก็ทำให้สังคมมีทางออก หรือมีทางเลือกอื่นๆ มากขึ้น

Photo by Fah Sirichanthanun

Illustration by Sutanya Phattanasitubon

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0