โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ออกพรรษายิ่งใหญ่ในเมืองแห่งสายน้ำ

คมชัดลึกออนไลน์

อัพเดต 16 ต.ค. 2562 เวลา 08.28 น. • เผยแพร่ 16 ต.ค. 2562 เวลา 08.30 น.

มีโอกาสได้เดินทางมา สุราษฎร์ธานี ที่ได้ชื่อว่าเมืองแห่งสายน้ำ คลองร้อยสาย นอกจากน้ำทะเลแล้วยังมีแม่น้ำตาปีที่เป็นหัวใจสำคัญก่อนแยกออกเป็นคลองสาขาน้อยใหญ่เรียกกันว่า"คลองร้อยสาย" เชื่อมโยงพื้นที่ 6 ตำบลของอำเภอเมือง ชาวบ้านเรียกชุมชนเหล่านี้ว่า"ชุมชนในบาง" มีตั้งแต่บางใบไม้ บางไทร บางโพธิ์ บางชนะ ไปจนถึงคลองฉากและคลองน้อย วิถีชีวิตของชาวบ้านก็ยังคงวัฒนธรรมเดิมๆ ไม่ได้จางหายไปไหน สองฟากฝั่งคลองยังเต็มไปด้วยป่าจากและสวนมะพร้าว การใช้ชีวิตกับสายน้ำทำให้การท่องเที่ยวทางเรือยังคงคึกคักเหมือนได้สัมผัสชีวิตเรียบง่ายใกล้ชิดธรรมชาติของชาวคลองบางใบไม้ ปัจจุบันมีโฮมสเตย์สำหรับนักท่องเที่ยว มีเรือในกลุ่มพร้อมเสื้อชูชีพครบ เน้นเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก

อุโมงค์ต้นจากตลาดน้ำบางใบไม้ประชารัฐ

อุโมงค์ต้นจาก เป็นอีกหนึ่งสถานที่อันซีนของจังหวัดซึ่งริมแม่น้ำทั้งสองฝั่งในช่วงนี้จะเต็มไปด้วยต้นจากและวิถีธรรมชาติอุดมสมบูรณ์แจวเรือไปช้าๆ ลอดอุโมงค์ต้นจากที่โค้งมาประสานใบกัน แถมเดินตลาดน้ำแห่งแรกของสุราษฎร์และนั่นก็คือตลาดน้ำบางใบไม้ประชารัฐบริเวณวัดบางใบไม้ เป็นตลาดน้ำซึ่งทางชุมชนได้ใช้สวนมะพร้าวให้เป็นตลาด มีสินค้าตั้งแต่อาหารพื้นบ้าน ขนมไทย อาหารทะเล ผักผลไม้ รวมถึงอาหารประจำถิ่นที่เน้นใช้วัสดุธรรมชาติเป็นภาชนะในการใส่อาหาร พร้อมจัดที่ให้นั่งบริเวณเลียบๆ ลำคลองให้นักท่องเที่ยวได้นั่งรับประทานในบรรยากาศร่มรื่นผ่อนคลายท่ามกลางธรรมชาติของไม้สีเขียว นอกจากนี้ภายในตลาดน้ำยังมีจุดชมวิวอันสวยงาม จุดเลี้ยงปลาสวาย จุดถ่ายภาพไว้คอยต้อนรับนักท่องเที่ยว

ตลาดน้ำบางใบไม้ประชารัฐ

ท่องตลาดชมความงามของธรรมชาติแล้ว เช้าวันออกพรรษาในตัวเมืองจังหวัดสุราษฎร์ธานี ตามหน้าบ้านเรือนริมถนนในตัวเมืองจะเต็มไปด้วยต้นผ้าป่าที่รอพระมาชักพุ่มผ้าป่าหน้าบ้านในคืนวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ตรง มีการตั้งพุ่มผ้าป่าหน้าบ้านกว่า 2,000 พุ่ม พระสงฆ์จะชักพุ่มผ้าป่าหน้าบ้านพร้อมกันในเช้าวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 เป็นประเพณีที่ถือปฏิบัติสืบต่อกันมาจนเป็นเอกลักษณ์ของ จ.สุราษฎร์ธานี นอกจากนี้ยังมีพุ่มเมืองซึ่งเป็นต้นโพธิ์ทองขนาดใหญ่สวยงาม เป็นสัญลักษณ์ของการจัดพุ่มผ้าป่าหน้าบ้านและจะมีการสมโภชพุ่มเมืองเพื่อความเป็นสิริมงคลบริเวณศาลหลักเมือง

เรือพระประดับประดาสวยงาม

การชักพระทางบกหรือลากพระ จะจัดขึ้นในเช้าวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี ซึ่งเป็นวันออกพรรษา มีการประกวดรถพนมพระ โดยมีรถพนมพระกว่า 100 วัดเข้าร่วมงาน คือที่มาของคำว่า ไหว้พระร้อยวัด มหัศจรรย์วันเดียว ต่อด้วยการชักพระทางน้ำ และการแสดงแสง สี เสียง ยิ่งใหญ่ตระการตาในคืนเดียวกัน ทั้งนี้วัดที่อยู่ริมแม่น้ำจะตกแต่งเรือพนมพระ และมีการชักพระทางน้ำล่องมาตามลำน้ำตาปี เพื่อให้ประชาชนริมฝั่งแม่น้ำได้ร่วมชมและร่วมทำบุญ ในขบวนมีนางรำฟ้อนมาอย่างสวยงามเรือพระตกแต่งสวยงามตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

เรือพระในเวลาค่ำคืน

ได้ยิน "อีสาระพา เฮโล เฮโล ไอ้ไหรกลมกลม หัวนมสาวสาวไอ้ไหรยาวยาว สาวสาวชอบใจ" ทำให้หวนนึกถึงตอนเด็กที่ อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช พอใกล้เทศกาลออกพรรษา เหล่าบรรดาชายฉกรรจ์จะร่วมแรงร่วมใจแสดงออกถึงความสามัคคีไปร่วมทำเรือพระที่วัดใกล้บ้าน เมื่อก่อนนี้เรือพระไม่มีรูปทรงสวยงามแบบปัจจุบัน เสียงร้องที่ประสานกับเสียงตุ้ม เมง โพน ฆ้อง ระฆัง ในการลากพระ คนลากสนุกสนานประสานเสียงร้องบทลากพระเพื่อผ่อนแรง ประเพณีลากพระบางท้องถิ่นเรียกว่า "ประเพณีชักพระ" เป็นประเพณีพื้นเมืองของชาวภาคใต้ได้สืบทอดมาตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน การสร้างเรือพระอดีตที่ผ่านมาเรือพระจะมีรูปทรงธรรมดาสร้างขึ้นมาแบบง่ายๆ ทำเป็นร้านม้า มีไม้สองท่อนรองรับข้างล่าง ทำเป็นรูปพญานาคไม่มีล้อลาก ปัจจุบันได้วิวัฒนาการใส่ล้อเข้าไปเพื่อให้สะดวก ผ่อนแรงคนลากได้ ร้านม้าใช้ไม้ไผ่สานทำฝาผนัง ตกแต่งลวดลายระบายสีสวย รอบๆ ประดับด้วยผ้าแพรสี ธงริ้ว ธงสามชาย ธงราว ธงยืนห้อยระยาง ประดับต้นกล้วย ต้นอ้อย ทางมะพร้าว ดอกไม้สดทำอุบะห้อยระย้า มีต้นห่อด้วยใบพ้อแขวนหน้านมพระ ข้างๆ นมพระแขวนโพน กลอง ระฆัง ฆ้อง ด้านหลังนมพระวางเก้าอี้ เป็นที่นั่งของพระสงฆ์ ยอดนมอยู่บนสุดของนมพระ ได้รับการตกแต่งอย่างบรรจงดูแลเป็นพิเศษเพราะความสง่าได้สัดส่วนของนมพระขึ้นอยู่กับยอดนม

"พระลาก" พระพุทธรูปประทับยืนปางห้ามสมุทร หรือปางห้ามใช้สำหรับงานชักพระ

เรือพระมาจอดรวมกันริมแม่น้ำตาปี

สำหรับพระพุทธรูปที่ใช้ในการลากพระจะเป็นพระพุทธรูปประทับยืนปางห้ามสมุทร หรือปางห้ามญาติ ภาษาถิ่นเรียกว่า "พระลาก" นิยมใช้ไม่เกิน 2 องค์ การลากพระทางบกแตกต่างจากลากพระทางน้ำ คือการใช้แรงคนเดินเท้าลากจูงเรือพระ ตั้งขบวนเดินลัดตัดทุ่งนา หมู่บ้าน ผ่านคูหนองร่องลำธาร โดยใช้เชือกผูกติดกับเรือพระจับลากจูงขบวนผ่านหมู่บ้านใดประชาชนนำขนมต้มมาแขวนพระหัตถ์พระพุทธรูปหรือผูกห้อยกับร้านม้า ร่วมอนุโมทนาแล้วเสร็จ รีบก้าวไปเข้าขบวนลากพระตามประเพณี บางคนแย่งเรือพระหรือบังคับให้อ้อมโค้งออกนอกเส้นทางหวังจะให้เรือพระผ่านทุ่งนาของตน เพราะมีความเชื่อว่าเรือพระผ่านท้องทุ่งแห่งใดจะทำให้ข้าวกล้าพืชพันธุ์ธัญญาหารงอกงาม การลากพระบกมีทั้งนันทนาการ มีความสนุกสนานและความสัมพันธ์เกิดขึ้น เป็นต้นว่าขบวนผ่านลงน้ำทุกคนก็เปียกน้ำ ผ่านโคลนตมก็เปื้อนโคลนตม ขบวนลากพระต่างมุ่งหน้าไปยังสถานที่แห่งเดียวกันเพื่อทำกิจกรรมร่วมกันและจะต้องไปถึงก่อนเวลาถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์ทุกๆ ขบวน ส่วนกลางคืนมีการสมโภช อาจจะมีหนังตะลุง มโนราห์ แสดงด้วย

ยิ่งใหญ่อลังการขนาดนี้…จึงอยากเชิญชวนทุกคนเดินทางมาสัมผัสด้วยตัวเองสักครั้ง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0