โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ออกกำลังกายส่งผลต่อหัวใจ ควรรู้ไว้...เล่นแบบไหนอันตรายถึงชีวิต

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 17 มิ.ย. 2562 เวลา 14.00 น. • เผยแพร่ 17 มิ.ย. 2562 เวลา 14.00 น.
dlf06170662p1

การออกกำลังกายดีต่อสุขภาพ แต่ถ้าออกกำลังกายหนักหรือนานเกินพอดี จากที่จะดีต่อสุขภาพก็กลับกลายเป็นส่งผลเสียต่อสุขภาพได้มากเช่นกัน ดังนั้นก่อนจะออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา ไม่ว่าจะเป็นมือสมัครเล่นหรือนักกีฬาระดับอาชีพก็ควรตรวจเช็กร่างกาย และควรมีความรู้เกี่ยวกับการเล่นกีฬาที่มากเกินจนส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายเอาไว้ด้วย เพื่อไม่ให้กีฬากลายเป็นยาพิษที่ส่งผลเสียต่อร่างกาย และอาจจะอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต อย่างที่เห็นในข่าวอยู่บ่อย ๆ ว่ามีนักกีฬาอาชีพเสียชีวิตขณะแข่งขัน ซึ่งส่วนมากจะเป็นเหตุจากอาการเกี่ยวกับหัวใจ

ในการอบรม “Running Science : รู้ไว้ก่อนวิ่ง” จัดโดยคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล นายแพทย์อกนิษฐ์ ศรีสุขวัฒนา (หมอแอร์) แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการออกกำลังกายที่ส่งผลต่อหัวใจว่า การออกกำลังกายเป็นประจำจะทำให้หัวใจเปลี่ยนสภาพไปเป็น athlete”s heart (คือกลไกการปรับสภาพของหัวใจในนักกีฬา) พอหยุดออกกำลังกายหัวใจก็กลับมาเป็นปกติ ซึ่งในช่วง 4-5 ปีมานี้ athlete”s heart เริ่มมีผลต่อหัวใจมากขึ้น อย่างเช่น ทำให้หัวใจเต้นช้าลง หัวใจหนาขึ้น หัวใจโตขึ้น เป็นต้น

จากการทดสอบนักกีฬา 7 คน พบว่านักกีฬาที่ออกกำลังกายเยอะเกินไปจะมีพังผืดที่หัวใจห้องซ้ายล่าง ซึ่งพังผืดจะทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะได้ การทดสอบยังพบว่านักกีฬา 3 ใน 7 คนมีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะอย่างรุนแรง จึงเห็นได้ชัดว่าการออกกำลังกายมากเกินไปทำให้หัวใจมีโอกาสผิดปกติได้

นายแพทย์อกนิษฐ์อธิบายลงรายละเอียดว่า การออกกำลังกายแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ 1.ไดนามิกเอ็กเซอร์ไซส์ (dynamic exercise) คือการออกกำลังกายที่ทำให้หัวใจบีบตัวเยอะตลอดเวลา ใช้กล้ามเนื้อต่อเนื่องตลอดเวลา เช่น วิ่งไกล ๆ 2.สเตติกเอ็กเซอร์ไซส์ (static exercise) ใช้การบีบรัดของกล้ามเนื้อแบบเร็ว ๆ สั้น ๆ เช่น ยกน้ำหนัก ปั่นจักรยานเร็ว ๆ ซึ่งการออกกำลังกายแบบไดนามิกจะพบว่าหัวใจโตมากขึ้น ส่วนแบบสเตติกนั้นจะหัวใจหนาเป็นส่วนใหญ่

ลักษณะของกีฬาแบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ 1.สกิล (skill) เป็นกีฬาเฉพาะทาง เช่น ยิงธนู ตีกอล์ฟ 2.พาวเวอร์ (power) คือพวกยกน้ำหนัก เล่นเวต 3.เอนดูแรนซ์ (endurance) กีฬาที่ใช้ความทนทาน 4.มิกซ์ (mix) คือผสมทั้งพาวเวอร์และเอนดูแรนซ์

ใน 4 กลุ่มนี้ กลุ่มกีฬาเอนดูแรนซ์ทำให้หัวใจเปลี่ยนสภาพมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ เท่ากับว่าการออกกำลังกายแบบไดนามิก หรือเอนดูแรนซ์จะทำให้หัวใจโต ซึ่งส่งผลไปถึงการที่หัวใจเต้นผิดจังหวะ ส่วนพวกที่ออกกำลังกายแบบสเตติก จะทำให้หัวใจหนา แต่เป็นคนละแบบกับคนที่ออกกำลังกายแบบไดนามิก

“เวลาที่เราออกกำลังกายนาน ๆ ปัญหาของหัวใจจะเกิดที่ข้างขวา ส่วนข้างซ้ายทนต่อการบีบตัวของหัวใจได้ดี จึงไม่ค่อยมีผลอะไร ข้างขวาทนแรงบีบของหัวใจได้น้อยกว่า จึงมีอาการผิดปกติไป ทำให้การทำงานของหัวใจข้างขวาลดลง พอถึงจุดหนึ่งที่เราออกกำลังกายเยอะมาก ๆ จะทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ ทำให้หัวใจเต้นช้า แล้วเราจะทราบได้อย่างไรว่าแบบไหนคือออกกำลังกายมากเกินไป คือแต่ละสัปดาห์ออกกำลังกายเกิน 300 นาทีจึงจะมีโอกาสเกิดโรคที่เกี่ยวกับหัวใจเนื่องมาจากการออกกำลังกาย อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลด้วย บางคนอาจเป็น บางคนอาจไม่เป็น”

นายแพทย์อกนิษฐ์ให้ข้อมูลไปถึงการออกกำลังกายที่ส่งผลให้เสียชีวิตว่า หลัก ๆ แล้วกีฬาประเภทเอนดูแรนซ์มีโอกาสส่งผลให้เสียชีวิตมากกว่ากีฬาทั่ว ๆ ไป ปัญหาหลัก ๆ ของผู้ที่เสียชีวิตจากการออกกำลังกายแบ่งออกเป็น 3 อย่าง คือ 1.พวกที่ออกกำลังกายเยอะเกินไป 2.ปัญหากล้ามเนื้อหัวใจ 3.โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ ซึ่งปัญหาในคนอายุต่ำกว่า 35 ปี จะพบเรื่องกล้ามเนื้อหัวใจที่ผิดปกติตั้งแต่กำเนิด คนอายุ 35 ปีขึ้นไปส่วนใหญ่เกิดจากหลอดเลือดหัวใจตีบ ทำให้โอกาสการเสียชีวิตต่างกัน

“กีฬาที่มีโอกาสทำให้คนเสียชีวิตมากที่สุด คือ จักรยาน ฟุตบอล วิ่ง ตามลำดับ แต่คนที่เล่นฟิตเนสจะไม่ค่อยเป็นอะไร จึงเห็นได้ชัดว่ากีฬาเอนดูแรนซ์ หรือกีฬาที่ต้องอยู่กลางแจ้ง ต้องแข่งกับผู้อื่นจะมีโอกาสเสียชีวิตได้เยอะกว่าคนทั่วไป ฉะนั้นคนที่จะเริ่มวิ่ง หรือเริ่มออกกำลังกายควรตรวจสุขภาพเพื่อคัดกรองการเสียชีวิตฉับพลัน ซึ่งในการตรวจสุขภาพนักกีฬาหรือผู้เล่นหน้าใหม่มักจะมีอาการของโรคน้อยกว่านักกีฬาที่เล่นเป็นประจำ เพราะฉะนั้นควรคัดกรองนักกีฬาทุกคนก่อนลงแข่งกีฬาใด ๆ ก็ตามเพื่อลดโอกาสการเสียชีวิต”

หมอแอร์บอกอีกว่า โดยภาพรวมจากการตรวจพบว่า 68 คนจาก 30,000 คนมีโรคอันตรายแฝงอยู่ ถ้าปล่อยให้คนเหล่านั้นออกกำลังกายต่อไปโอกาสเสียชีวิตก็จะเพิ่มขึ้น ยิ่งอายุเยอะขึ้นโอกาสในการเสียชีวิตก็มีมากขึ้นตาม ดังนั้นควรหยุดแข่งหรือออกกำลังกายหนัก แต่สามารถออกกำลังกายเบา ๆ อย่างแอโรบิกได้

“กลไกที่ทำให้นักกีฬามีโอกาสเสียชีวิตฉับพลัน คือ มีคราบไขมันในหลอดเลือด และหนาขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เส้นเลือดตีบ ซึ่งคราบไขมันมีโอกาสหลุดได้ ทำให้ร่างกายต้องสร้างเกล็ดเลือดไปใส่ตรงที่คราบไขมันหลุด ทำให้เกิดอาการอุดตัน และขาดเลือดแบบฉับพลัน เป็นที่มาของโรคหัวใจขาดเลือดฉับพลัน และเสียชีวิตในที่สุด ส่วนใหญ่มักเกิดในคนที่ไขมันสูง ส่วนคนที่ไขมันไม่สูงก็มีโอกาสเกิดได้เหมือนกันจากพวกโรคเบาหวาน สูบบุหรี่มาก หรือกรรมพันธุ์ ซึ่งเกิดมากในคนที่ออกกำลังกายหนัก ๆ หรือคนที่เป็นโรคเบาหวาน ซึ่งมีโอกาสทำให้คราบไขมันหลุด

มากที่สุด สามารถตรวจได้จากการทำซีทีสแกน (CT scan) จะทำให้เห็นว่าเรามีคราบไขมันตรงไหนบ้าง แต่ไม่สามารถดูได้ว่าคราบไขมันจะหลุดออกมาตอนไหน”

หมอแอร์แนะนำปิดท้ายว่า การออกกำลังกายควรให้ชัดว่าเป็นการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ และควรบาลานซ์ให้ได้ เวลาออกกำลังกายควรต้องรู้ตัวตลอดเวลา ถ้ามีอาการใจสั่น หน้ามืด เจ็บหน้าอก เจ็บลิ้นปี่ หรือเหนื่อยกว่าปกติควรหยุดออกกำลังกายก่อนเพื่อลดโอกาสการเสียชีวิต

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0