โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

อวสานของสังข์ทอง และนิมิตหมายอันดีของ LGBTQ ในละครจักรๆ วงศ์ๆ

The MATTER

อัพเดต 19 มี.ค. 2562 เวลา 03.50 น. • เผยแพร่ 19 มี.ค. 2562 เวลา 03.39 น. • seX-ray

ในที่สุดละครสังข์ทองก็จบลงอย่างแฮปปี้ สิริรวมทั้งหมดทั้ง 110 ตอน (เท่ากับว่าปีกว่าๆ ตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2561 -  มีนาคม 2562) ไม่เพียงคนดูจะนั่งลุ้นว่า เจ้าชายพระสังข์จะลงเอยกับบ้านรจนาอย่างไร เจอพ่อแม่ตัวเองตอนไหน แล้วกำจัดปีศาจร้ายพยนตราและแม่เฒ่าสุเมธาได้อย่างไร หลายคนยังลุ้นอีกว่า ตอนจบของสังข์ทองเวอร์ชั่นนี้ จะเล่าเรื่องให้เจ้าชายไชยันต์ราชบุตรเขยลำดับที่ 4 ของท้าวสามล จบเช่นไร

เพราะเจ้าชายไชยยันต์เป็นเกย์ออกสาว แต่ต้องออกจากบ้านเมืองมาแต่งงานก็เพราะพ่อแม่บีบบังคับ ชีวิตนอกวังของไชยยันต์จึงปลอดโปร่งสบายใจกว่า ทว่าดันมาต้องตกล่องปล่องชิ้นกลายมาเป็นเขยคนที่ 4 ท้าวสามลก็เพราะ ตอนพิธีเสี่ยงพวงมาลัยเลือกคู่ ไชยยันต์กำลังเกี้ยวพาราสีเจ้าชายเมืองอื่นที่มาร่วมพิธี อยู่ดีๆ แล้วพวงมาลัยเจ้ากรรมก็ลอยมาตกใส่หัว เธอจึงต้องแต่งงานกับ ปัทมา ธิดาลำดับที่ 4 ของท้าวสามล แม้พยายามเก็กแมนจกตาไม่ให้ใครรู้เพศวิถีเพศสภาพของตนเอง แต่ก็เผลอสาวหลุดหลายครั้งจนทหารมหาดเล็กรับใช้ต้องคอยเตือนสติบ่อยๆ “พระสติ พระเจ้าค่ะ พระสติ”

ในตอนจบเธอก็ได้ come out เปิดเผยความจริงกับกับชายาตัวเองว่าชอบผู้ชาย และรักปัทมาแบบพี่สาวน้องสาว และขอให้ปัทมาเข้าใจ พร้อมกับจะจับคู่ให้ฝาแฝดตัวเองที่หน้าเหมือนกันให้ แต่ปัทมาก็บอกว่ามันไม่เกี่ยวกับหน้าตา มันเกี่ยวที่จิตใจ ความรู้สึก

แม้ตอนจบดูไม่แฟร์กับปัทมาเท่าไรนัก นางเอาแต่ได้ร้องห่มร้องไห้ แต่ละครก็ทำให้เป็นเรื่องตลกไป

สังข์ทองเวอร์ชั่น 2561-2562 จึงสอนให้รู้ว่า เรื่องเพศสภาพเพศวิถี และอารมณ์ความรู้สึกมันบังคับกันไม่ได้ มันเป็นเรื่องปัจเจกของแต่ละบุคคล ที่ไม่ควรไปบังคับหรือยัดเยียดให้กัน ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ คนรัก ยิ่งบังคับยิ่งขอร้องยิ่งสร้างกดดัน และผลเสียก็จะยิ่งบานปลายเป็นวงกว้างกว่าเดิม และอาจจะต้องมีคนเสียใจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เหมือนกับที่ความซวยมาตกที่ปัทมา

อย่างไรก็ตามละครก็ไม่ได้คลี่คลายว่าเขยทั้ง 6 ยอมรับและอยู่ร่วมกับความหลากหลายทางเพศได้หรือไม่ นอกเหนือจากจะสามารถอยู่ร่วมกับความหลากหลายชาติพันธุ์ในวังท้าวสามลได้แล้ว เราจึงไม่มีทางรู้ได้ว่า หากไชยยันต์ come out กับเขยและจะถูกรังเกียจเดียดฉันท์ พยายามกำจัดเหมือนที่เคยทำกับเจ้าเงาะหรือไม่

อย่างไรก็ดี ไชยยันต์ก็เป็นตัวละครที่มีเหตุมีผลมากที่สุดท่ามคนอื่นที่ขาดๆ เกินๆ และ ‘ความเป็นหญิง’ ของไชยยันต์ ก็ทำให้กลายเป็นเขยที่มีความเห็นอกเห็นใจต่อเพื่อนมนุษย์ที่สุด ท่ามกลางเขยและท้าวสามลที่ชอบ bully เจ้าเงาะเพียงเพราะบ้าใบ้รูปชั่วตัวดำ หรือแม้แต่พระสังข์ก็ถือว่าเป็นสามีห่วยๆ คนหนึ่งที่เอาแต่ใจตนเอง ไม่ค่อยจะคำนึงถึงหัวอกของรจนาที่ต้องลำบากใจและกายจากการมีผัวเป็นเจ้าเงาะ แถมยังอำมหิตกล้าเฉือนหูเฉือนจมูกคนอื่น

แม้จะเป็นปมเรื่องที่ไม่มีใน ‘ต้นฉบับ’ (เช่นเดียวกับที่มี เวที MasterChef เมืองท้าวสามล) แต่นี่ก็คือเสน่ห์และลักษณะของละครจักรๆ วงศ์ๆ ที่มักมีอะไรแปลกๆ เหนือจินตนาการผู้ชมเสมอ ตั้งแต่แทรกพล็อตรองต่างๆ ลงไป เพิ่มตัวละครใหม่ๆ โผล่ขึ้นมา ให้เรื่องราวต้องอิรุงตุงนัง และการตีความใหม่ทั้งตัวละคร บริบท เครื่องแต่งกาย อย่างเช่นการมี ราฆพ ในอุทัยเทวี (2560) หรือน้าผีในหลายๆ เรื่องที่เป็นโครงกระดูกขยับร่างกายได้แล้วมีเสียงเป็นเสียงระนาด ไปจนถึงเสื้อผ้าหน้าผม ที่บางเรื่องเป็นแนวกรีกโรมันอย่าง มิติมหัศจรรย์ (2537), มณีนพเก้า (2539) ทั้งที่เป็นภาคต่อของ เกาะเพชรเจ็ดสี (2538) ที่ยังแต่งกายแบบขนบไทยๆ หรือแนวอินเดียๆ แบบ มโหสถชาดก (2538-2539) หรือบรรดา CG ฉากสวรรค์ดาวดึงส์ special effect เหาะเหินเดินหาวเสกอาวุธปลุกอสูรกาย

อีกอย่างนิทานละครจักรๆ วงศ์ๆ ก็เป็นที่พอจะรู้กันมายาวนาน จากนิทานก่อนนอน สมุดวาดภาพระบายสี หนังสือการ์ตูน ตำราวิชาภาษาไทย จนใคร ๆ ก็รู้ว่าตอนจบมันจะต้องเป็นยังไง การตีความใหม่เพิ่มเรื่องราวจึงช่วยให้ละครจักรๆ วงศ์ ๆ สามารถนำมารีเมคกี่ทีก็ยังมีคนดู นอกเหนือจากดูนักแสดงหล่อล่ำกำยำเปลือยท่อนบนแบบพระสังข์ แม้แต่เจ้าเงาะในเรื่องสังข์ทองที่เพิ่งจบไปก็ดำขลับมัดกล้ามเป็นเงา จนเผลอคิดว่า ถ้าเป็นรจนาจะขอให้พระสังข์ถอดรูปเจ้าเงาะคืนเว้นคืน

เรื่องเล่าจักรๆ วงศ์ ๆ ด้วยตัวของมันเองก็เป็นวรรณกรรมไม่ผูกมัดตัวเองกับขนบจารีต

ยิ่งเริ่มมีการพิมพ์หนังสือแล้ว ตั้งแต่ทศวรรษ 2380 เรื่องที่เล่าปากต่อปากบางเรื่องถูกนำมาพิมพ์เป็นหนังสือเผยแพร่อย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการอ่านและสิ่งพิมพ์ และหลายเรื่องแต่งขึ้นใหม่ตามใจกระแสตลาด วรรณกรรมจักรๆ วงศ์ๆ จึงเป็นวัฒนธรรมบันเทิงที่ลื่นไหลไปกับบริบทสังคม มีพัฒนาการ ทั้งเนื้อหาเรื่องเล่าที่เป็นทั้งป๊อปคัลเจอร์และวัฒนธรรมชาวบ้านๆ มีการแต่งขึ้นใหม่เรื่อยมา และเล่าใหม่หลายครั้ง และความโด่งดังของเรื่องแนวนี้ ก็สะท้อนถึงรสนิยมการบริโภค ณ ขณะนั้นด้วย

แม้จะเป็นเรื่องที่มีเค้าโครงจากโลกทัศน์และอิทธิพลจากชาดก ไตรภูมิพระร่วง ปกรณัมเทวดา จึงให้คติสอนใจแบบไม่ซับซ้อน ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว เทวดาคุ้มครอง เกิดมาใช้เวรเกิดมาใช้กรรม แต่ในเวลาเดียวกันจักรๆ วงศ์ ๆ ก็ยังขบถต่อสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมที่เต็มไปด้วยชนชั้น เจ้าขุนมูลนาย ศักดินา ด้วยการเล่าถึงการผจญภัย ชิงรักหักสวาท ช่วงชิงบัลลังก์ ผ่านตัวละครพระราชาเจ้าชายเจ้าหญิงในรั้วในวัง ด้วยสายตาของชาวบ้านสามัญชน

หลายเรื่องจึงสะท้อนให้เห็นถึงความไม่เอาไหนของผู้ปกครอง มีเมียมากแต่หูเบา เลือกที่รักมักที่ชัง ไร้ซึ่งความยุติธรรมมนุษยธรรม เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง ใช้อำนาจตามอารมณ์อำเภอใจ เป็นจ้าชีวิตที่อ่อนแอทางปัญญา เหมือนพระราชาในเรื่องสังข์ทอง แม้แต่เจ้าชายพระเอกผู้เก่งกาจเอง ถ้าไม่มีของคาถาอาคมวิเศษหรือพระอินทร์มาช่วยก็ไม่สามารถสู้อะไรกับใครเค้าได้

เช่นพระอภัยมณี ของสุนทรภู่ ที่ถือได้ว่าเป็นจักรๆ วงศ์ ๆ ที่โด่งดังและก้าวหน้ากว่าวรรณกรรมเรื่องอื่น ๆ ในขณะนั้น ทั้งพล็อตเรื่อง เทคโนโลยี ความหลากหลายของฉากที่พูดถึงทวีปเอเชีย บุคลิก ทัศนคติของตัวละคร ที่มีทั้งอ่อนแอ เข็มแข็ง มีความเป็นมนุษย์และสมจริงกว่าเมื่อเทียบกับนิทานประเภทรามเกียรติ์ อิเหนาที่มักได้รับการยกย่องเป็นวรรณคดีคลาสสิก พระเอกหลายคนในเรื่องพระอภัยมณีจึงเจ้าชู้ กะล่อน ฉวยโอกาส นางเอกสามารถสามารถอิจฉาเกรี้ยวกราด ขึ้หึงจนเป็นลม กลายเป็นนิทานเย้ยหยันมหากาพย์และวรรณคดีราชสำนักไป[1]

มันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรหากจะมีความหลากหลายทางเพศในจักรๆ วงศ์ ๆ

เหมือนกับในเรื่องพระอภัยมณี ที่มีตัวละครประกอบเป็นกะเทย และฉากเล่นเพื่อน นี่ยังไม่รวมเรื่องอื่นๆ ที่พระเอกเกิดความรู้สึกวาบหวาม นึกรักชายหนุ่มที่อันที่จริงคือนางเอกปลอมตัวมา จนเกิดสับสนในใจเกี่ยวกับเพศวิถีเพศสภาพตนเอง เช่นเรื่อง “มณีพิไชย” ที่นางเอกยอพระกลิ่นปลอมตัวเป็นพราหมณ์เพื่อลองใจสวามีมณีพิไชย ซึ่งสวามีเองก็เคลิ้มๆ กับพราหมณ์แปลงอยู่เหมือนกัน และเรื่อง “พระลักษณวงศ์” ที่พระเอกลักษณวงศ์หลงใหลโปรดปรานทิพเกสรที่ปลอมตัวเป็นพราหมณ์หนุ่มจนเป็นที่อิจฉาของนางยี่สุ่นผู้เป็นเมียอีกคน ทั้ง 2 เรื่องถูกมาทำเป็นละครหลายครั้งหลายครา

หลังจากที่ครั้งหนึ่ง ละครจักรๆ วงศ์ ๆ เคยพยายามเฉียดๆ ประเด็นหญิงรักหญิงมาแล้วพอเป็นพิธีใน “ดิน น้ำ ลม ไฟ-สี่ยอดกุมาร” (2559-2560) ระหว่างมัลลิกานารีธิดายักษ์กับเพชรราชกุมาร (นางเอกที่แต่งตัวเป็นชาย) แต่ก็ไปไม่สุดทำเอาแฟนคลับ Y ลุ้นเก้อไปเลย การมีของเจ้าชายไชยยันต์ในสังข์ทองเวอร์ชั่น 2561-2652 จึงเป็นการขบถต่อสังคมรักต่างเพศนิยม และตอบสนองพัฒนาการทางสังคมในช่วงที่ขบวนการเคลื่อนไหว LGBT กำลังมาแรง เป็นก้าวอีกขั้นหนึ่งและนิมิตหมายที่ดีของละครจักรๆ วงศ์ๆ ที่เจาะกลุ่มผู้ชมเด็ก

 “ขวานฟ้าหน้าดำ” เวอร์ชั่น 2562 ที่เพิ่งฉายได้ 1 ตอนเมื่อวันก่อน จึงได้แอบแต่หวังในใจว่าจะมีการตีความใหม่ที่เป็นมิตรกับ LGBTQ มากขึ้นไปอีกขั้น

อ้างอิงข้อมูลจาก

[1] นิธิ เอียวศรีวงศ์. สุนทรภู่: มหากวีกระฎุมพี.; ไมเคิล ไรท์. พระอภัยมณี วรรณกรรมบ่อนทำลายเพื่อสร้างสรรค์ จาก "สุนทรภู่: มหากวีกระฎุมพี",ใน "สุนทรภู่: มหากวีกระฎุมพี". กรุงเทพฯ: มติชน, 2545.

Illustration by Sutanya Phattanasitubon

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0