โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

อย. เตือน!! วางน้ำแข็งบนท้ายทอยไม่สามารถช่วยให้หายหวัดได้ พร้อมแนะนำวิธีสังเกตอาการที่ควรไปพบแพทย์

JS100 - Post&Share

อัพเดต 13 พ.ย. 2562 เวลา 10.11 น. • เผยแพร่ 13 พ.ย. 2562 เวลา 09.14 น. • JS100:จส.100
อย. เตือน!! วางน้ำแข็งบนท้ายทอยไม่สามารถช่วยให้หายหวัดได้ พร้อมแนะนำวิธีสังเกตอาการที่ควรไปพบแพทย์
อย. เตือน!! วางน้ำแข็งบนท้ายทอยไม่สามารถช่วยให้หายหวัดได้ พร้อมแนะนำวิธีสังเกตอาการที่ควรไปพบแพทย์

            เชื่อว่าหลายๆ คนที่มีอาการป่วยโดยเฉพาะโรคหวัดที่ทำลายบรรยากาศการใช้ชีวิตประจำวันไปก็คงอยากจะหายไวๆ ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ก็มีการแชร์ในโลกโซเชี่ยลและพูดกันหนาหูว่าให้เอาก้อนน้ำแข็งวางไว้ที่ท้ายทอยจะสามารถรักษาโรคหวัดได้ จนอาจมีใครบางคนหลงเชื่อและทำตาม ด้วยความห่วงใยจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงได้ออกมาเตือนถึงการวางก้อนน้ำแข็งบนท้ายทอยช่วยให้หายหวัดนั้นไม่เป็นความจริง

            “หวัด” อาการที่ทุกคนต้องทำความเข้าใจ

            “หวัด” มักพบมากในช่วงที่มีอากาศเปลี่ยนแปลง อย่าง ฤดูฝน และฤดูหนาว และพบได้บ่อยไม่ว่าจะเด็ก หรือผู้ใหญ่ ส่วนมากก็จะเกิดจากเชื้อไวรัสที่สามารถหายได้เองด้วยภูมิคุ้มกันของร่างกาย (มีเพียงส่วนน้อยประมาณร้อยละ 5-10 เท่านั้นที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย) ซึ่งอาการของหวัด ได้แก่ คัดจมูก น้ำมูกไหล และเจ็บคอ อาจมีไข้ หรือไอ (มีหรือไม่มีเสมหะก็ได้) และโดยทั่วไปอาการมักไม่รุนแรง คือ หายได้เองใน 7-10 วัน ยกเว้นอาการไอที่อาจนานได้ถึง 2-3 สัปดาห์ นอกจากนี้สำหรับในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง ร่างกายอ่อนแอ พักผ่อนน้อย มีโรคเรื้อรัง หรือมีภูมิคุ้มกันต่ำ ได้แก่ เด็กเล็ก หรือ ผู้สูงอายุ อาจพบภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ เช่น ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ และ ปอดอักเสบ เป็นต้น

            แล้วเราควรไปพบแพทย์เมื่อใด

           1. เมื่อมีอาการไข้ หรือเจ็บคอที่สงสัยว่าเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ได้แก่ ไข้สูง ไม่ไอ เจ็บคอมาก มีจุดสีขาวที่ทอนซิล หรือต่อมน้ำเหลืองที่ขากรรไกรโตกดเจ็บ ซึ่งจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาถึงจะหายจากอาการป่วยได้

           2. เมื่อมีอาการที่สงสัยว่าจะเป็นภาวะติดเชื้อแทรกซ้อน เช่น อาการไม่ดีขึ้นภายใน 7 วัน มีไข้สูงขึ้น ไอหรือเสมหะมากขึ้น เจ็บบริเวณใบหน้า หอบเหนื่อย เป็นต้น

           3. เมื่อมีอาการที่สงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก คือ

           - มีไข้สูงกว่า 40 องศาเซลเซียส

           - กินยาลดไข้ แต่ไข้ก็จะไม่ลด

           - หน้าแดง และปวดเมื่อยกล้ามเนื้อค่อนข้างมากกว่าปกติ

           - หากทำการทดสอบโดยการรัดต้นแขนด้วยสายรัดจะพบจุดเลือดออก

           - ในผู้ป่วยบางรายอาจมีเลือดออกผิดปกติ เช่น เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน หรืออาการเลือดออกผิดปกติอื่นๆ รวมถึงบางคนที่มีอาการรุนแรงมากๆ อาจพบอาการซึม เหงื่อออก มือเท้าเย็น ชีพจรเต้นเบาแต่เร็ว ปวดท้องโดยเฉพาะบริเวณใต้ชายโครงขวา ปัสสาวะลดลง อาจถึงกับช็อกได้

           สำหรับการดูแลตนเองเบื้องต้นเราสามารถทำได้โดยให้ดื่มน้ำมากๆ พักผ่อนให้เพียงพอ ส่วนการกินยาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ยาลดไข้ ยาลดน้ำมูก หรือยาบรรเทาอาการอื่นๆ ควรกินเมื่อมีอาการเท่านั้น เนื่องจากหวัดที่เกิดจากเชื้อไวรัสสามารถหายได้เอง

 

Cr. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0