โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

อย่าทุ่มจนหมดใจ อย่าใส่จนหมดตัว

Money2Know

เผยแพร่ 24 มิ.ย. 2562 เวลา 01.00 น. • money2know - เงินทองต้องรู้
อย่าทุ่มจนหมดใจ อย่าใส่จนหมดตัว

ถ้อยคำหวานๆ ที่คนยุคพ่อแม่เคยใช้สมัยเป็นวัยรุ่น และยังคงนำมาใช้กันอยู่บ้างในยุคปัจจุบัน เช่นคำว่า รักจนหมดหัวใจ มีทั้งที่พูดพล่อยๆ เพราะอยากได้อีกฝ่ายหนึ่งมาครอบครอง และพูดออกมาจากหัวจิตหัวใจจริงๆ

สำหรับคนที่พูดจากใจด้วยความจริงใจ หากเราตามไปดูเส้นทางความรักของคนเหล่านี้จะพบว่า เมื่อผิดหวังในความรักมักจะเสียผู้เสียคน บางคนที่เคยเริงร่าก็กลายเป็นคนหงอยเหงาเศร้าซึม บางคนก็ดื่มสุรายาเมาจนไม่เป็นอันทำงานทำการ นั่นเพราะการทุ่มเทให้กับคนรักอย่าง “หมดใจ” โดยไม่มีพื้นที่เหลือไว้สำหรับคนใหม่ๆ เมื่อผิดหวัง

ยิ่งไปกว่านั้น บางคนใช้คำว่า “รักล้นใจ” กันเลยทีเดียว ซึ่งหากพูดด้วยความจริงใจนั่นก็หมายความว่า พื้นที่หัวใจของตัวเองไม่เพียงพอจะใส่ความรักนั้นจนมันล้นออกมา จึงต้องไปขอยืมอวัยวะในร่างกายส่วนอื่นมาช่วยบรรจุความรัก เช่น ตับ ไต ไส้ พุง ปอด ม้าม หรือถุงน้ำดี ดังนั้น เมื่อผิดหวังในความรัก คนกลุ่มนี้นอกจากจะมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปแล้ว ยังมีอาการเจ็บไข้ได้ป่วยตามมาด้วย เพราะความเจ็บปวดมันลามไปที่อวัยวะส่วนอื่น

*เห็นไหมครับว่าการทุ่มเทแบบหมดใจหรือล้นใจโดยไม่เผื่อเหลือเผื่อขาด มีโอกาสจะทำให้เสียผู้เสียคนได้ เช่นเดียวกับการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง หากเราใส่เงินทั้งหมดลงไปในหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง แล้วโชคร้ายหุ้นนั้นมีปัญหา ถูกห้ามซื้อขายหรือมีอันต้องล้มละลายกลายเป็นหุ้นเน่า เราก็แทบจะไม่มีโอกาสแก้ตัวเลย *

หรือที่แย่กว่านั้นคือไม่ได้ใช้เงินออมของเราเท่านั้นในการลงทุน แต่ไปหยิบยืมคนอื่นมาด้วย เพราะรักล้นใจในหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง เมื่อผิดพลาดขึ้นมา นอกจากจะหมดตัวแล้วยังจะมีหนี้สินเป็นภาระติดตัวไม่จบไม่สิ้นอีกด้วย

หลักสำคัญประการหนึ่งของการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงที่ต้องย้ำกันอยู่เสมอก็คือ อย่าใช้เงินกู้ยืมมาลงทุน เช่น กู้มาซื้อหุ้น ซื้อตราสารอนุพันธ์ ซื้อตราสารล่วงหน้า หรือซื้อขายสินทรัพย์ดิจิตอลต่างๆ

นอกจากนี้ อย่าใส่เงินทั้งหมดลงไปในหุ้นตัวเดียว ครั้งเดียว จนไม่เหลือไว้สำหรับการ “แก้ตัว”

แม้จะมีใครหลายคนบอกว่าการลงทุนแบบซื้อถัวเฉลี่ย (เมื่อหุ้นราคาลดลง) ไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องนัก เพราะจะยิ่งทำให้เงินจมหายไปเรื่อยๆ แต่หากเรามั่นใจว่าเลือกหุ้นโดยการพิจารณาไตร่ตรองด้วยความรอบคอบ ดูปัจจัยพื้นฐานและปัจจัยประกอบอื่นๆ เป็นอย่างดีแล้ว ผมยังคิดว่า เราต้องสำรองเงินไว้สำหรับการซื้อถัวเฉลี่ยเมื่อหุ้นนั้นราคาปรับลดลง

นอกจากการสำรองเงินไว้สำหรับหุ้นที่คัดสรรแล้ว ยังต้องกันเงินอีกส่วนหนึ่งไว้สำหรับลงทุนในหุ้นอื่นๆ ด้วย หากหุ้นที่ลงทุนไว้เดิมไม่เป็นไปตามคาด

การกระจายความเสี่ยงจึงเป็นหลักการสำคัญอีกประการหนึ่งในการลงทุน

ส่วนเทคนิคการขายตัดขาดทุนในหุ้น นั่นก็เพื่อให้มีเงินเหลือมาแก้ตัว ไม่ใช่ปล่อยให้ราคาลดลงไปเรื่อยๆ จนถึงจุดที่ไม่สามารถขายได้เพราะขาดทุนมากเกินกว่าจะทำใจขาย แต่เทคนิคนี้อาจไม่จำเป็นหากเรามั่นใจว่าเลือกหุ้นได้ถูกต้องแล้ว เพียงแต่มีปัจจัยบางอย่างที่ทำให้ราคาหุ้นปรับลดลงชั่วคราว หรือเราใส่เงินกับหุ้นนั้นในสัดส่วนที่ไม่ได้สูงนัก ยังมีเงินเหลือสำหรับการแก้ตัวในหุ้นอื่นๆ หรือการลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ ได้อีกมาก

ฝากไว้ครับ…ถ้าไม่อยากเสียผู้เสียคน รักใครก็อย่ารักจนหัวทิ่มหัวตำ ลงทุนอะไรก็อย่าทุ่มจนหมดเนื้อหมดตัว

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0