โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

"อนาคตใหม่" เดินหน้าแก้ "รัฐธรรมนูญ" "ฉันทามติ" ร่วมกับสังคม-จิตวิญญาณปี "40 การเมืองแห่งความเป็นไปได้ของ "ปิยบุตร"

มติชนสุดสัปดาห์

อัพเดต 26 ส.ค. 2562 เวลา 06.23 น. • เผยแพร่ 26 ส.ค. 2562 เวลา 06.23 น.
เชตวัน 2036

ผ่านไป 2 เวที 2 ภูมิภาค เหนือและใต้ สำหรับการรณรงค์หา “ฉันทามติ” ร่วมกันของคนในสังคมเกี่ยวกับเรื่อง “รัฐธรรมนูญ” โดย “พรรคอนาคตใหม่” จัดขึ้นภายใต้ชื่อแคมเปญอย่างกว้างๆ ว่า “จินตนาการใหม่ ข้อตกลงใหม่ รัฐธรรมนูญใหม่ ประเทศไทยแบบไหนที่เราอยากอยู่ร่วมกัน”

เปิดพื้นที่ให้คนทุกฝ่าย ทุกสีเสื้อ ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยน

ครั้งแรกที่ จ.เชียงใหม่ วิทยากรร่วมได้แก่ กษิต ภิรมย์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.), โคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี ม.มหิดล, สุรรัตน์ ตรีมรรคา ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ และ สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

โยกลงใต้ เวที อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้, นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ แพทย์ชนบท นักกิจกรรมทางสังคมและสิ่งแวดล้อม, พริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ “ไอติม” นักการเมืองอิสระ และ เอกรินทร์ ต่วนศิริ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ร่วมพูดคุย

แผ่นพับ โปสเตอร์สีเขียว สัญลักษณ์ลายเส้นรูปมือประสานกันที่แจกในงาน สื่อชัดถึงจิตวิญญาณ “ธงเขียว” การได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 อันเป็นความร่วมไม้ร่วมมือของทุกฝ่าย “อำนาจสถาปนา (รัฐธรรมนูญ)” ที่เป็นของประชาชน

ครั้งนี้ก็เช่นกัน แม้ปลายทางจะเป็นการแก้รัฐธรรนูญทั้งฉบับ แต่กระบวนการก็สำคัญ นั่นคือเหตุผลว่าทำไมจึงต้องมี “สมาชิกสภารัฐธรรมนูญ” หรือ “สสร.” ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

“พรรคอนาคตใหม่” เชื่อว่ามีแต่หนทางนี้เท่านั้นที่จะพาประเทศออกจากวังวนความขัดแย้งตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาได้

 

ฟัง 4 เหตุผล “ปิยบุตร”

ทำไมต้องแก้รัฐธรรมนูญ “60

กล่าวสำหรับ “พรรคอนาคตใหม่” คีย์แมนซึ่งมีส่วนผลักดันให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ผ่านนโยบายซึ่งเขาเองทำหน้าที่เป็นผู้ประกาศต่อสาธารณะ อันมีชื่อว่า “ปักธงประชาธิปไตย” เป็นใครไปไม่ได้ ถ้าไม่ใช่ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค

ก่อนเริ่มมีการ “คิกออฟ” รณรงค์แคมเปญแก้รัฐธรรมนูญดังกล่าว “อ.ป๊อก” ได้เผยแพร่ “ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ออกมาชิมลางหาแนวร่วม ประเด็นสำคัญคือการยกเลิกบทบัญญัติ 2 เรื่องได้แก่ มาตรา 269-272 กรณีวุฒิสภาตามบทเฉพาะกาล 5 ปีแรก และยกเลิกมาตรา 279 กรณีรับรองให้บรรดาประกาศคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคำสั่งหัวหน้า คสช. ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

เป็นการ “แก้ไขบางมาตรา” ที่สามารถทำได้ก็ทำไปก่อน แต่ยืนยันหนักแน่นว่า อย่างไรก็ตาม การแก้ไขทั้งฉบับต้องเกิดขึ้น

เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มีปัญหาใหญ่ 4 ประการ ดังที่ปิยบุตรได้กล่าวไว้ คือ

1. รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นผลพว”ต่อเนื่องจากการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ทั้งนี้ หลังการรัฐประหาร สิ่งหนึ่งที่คณะนายทหารในนาม คสช.ท คือฉีกรัฐธรรมนูญเดิมทิ้ง ตั้งตนเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ออกประกาศคำสั่งเป็นกฎหมาย มีรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ได้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร 2560 นี่คือความต่อเนื่องของรัฐธรรมนูญที่มาจากการรัฐประหาร

2. รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นเครื่องมือในการสืบทอดอำนาจของ คสช. โดยกลไกต่างๆ ถูกออกแบบและรองรับไว้โดยรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นระบบเลือกตั้งที่ไม่ให้มีพรรคการเมืองใดพรรคหนึ่งได้จำนวนที่นั่ง ส.ส.ในสภาชนะขาด, สูตรการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่ประหลาด รวมถึงการที่ ส.ว.ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีได้ในช่วง 5 ปีแรก

ปิยบุตรระบุว่า ส.ว.ชุดนี้ได้แปลงสภาพเป็นพรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุดในรัฐสภา มีเอกภาพเป็นอย่างมาก พิสูจน์ให้เห็นแล้วผ่านการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีแบบที่ไม่มี “แตกแถว”

“ผมเรียกระบบนี้ว่าผลัดกันเกาหลัง เพราะหัวหน้า คสช.คือ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นคนเลือกกลุ่มคนเหล่านี้ 250 คนมาเป็น ส.ว. จากนั้น ส.ว.ก็เลือก พล.อ.ประยุทธ์ให้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นเครื่องมือในการสืบทอดอำนาจอย่างชัดเจน จากสวมชุดทหารยึดอำนาจเปลี่ยนมาใส่สูทผ่านการเลือกตั้ง” ปิยบุตรกล่าว

3. รัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้การทำรัฐประหารถูกต้องตามรัฐธรรมนูญทั้งหมด การใช้อำนาจของ คสช.ไม่มีวันขัดรัฐธรรมนูญ เป็นการเอาระบบรัฐประหารซึ่งเป็นของชั่วคราวฝังลงไปอย่างถาวรในรัฐธรรมนูญ

4. รัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้เกิดอำนาจที่เรียกว่า “รัฐซ้อนรัฐ” โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ชาติที่ถูกฝังอยู่ในรัฐธรรมนูญ ถูกควบคุมโดยกรรมการยุทธศาสตร์ชาติอีกทีหนึ่ง และคณะกรรมการเหล่านี้ก็ประกอบด้วยนายพล นักธุรกิจแถวต้นเป็นส่วนมาก เปรียบเสมือนมีรัฐบาลสองชุดในเวลาเดียวกัน ส่งผลให้รัฐมนตรีแต่ละกระทรวงยังต้องทำตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ไม่สามารถคิดได้เอง และไม่สามารถบริหารงานได้อย่างเต็มที่

เป็นได้เพียง “ซูเปอร์ปลัดกระทรวง” เหนือกว่าปลัดกระทรวงทั่วไปอีกขั้นหนึ่งเพียงเท่านั้น

 

จิตวิญญาณ รธน.ปี “40

การเมืองแห่งความเป็นไปได้

“แน่นอนว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ยาก เราไม่รู้ว่าจะทำได้เมื่อไหร่ แต่ถ้าหากเห็นว่าเป็นไปไม่ได้ และไม่เริ่มทำ มันก็จะเป็นไปไม่ได้แต่ถ้าเห็นว่าเป็นไปไม่ได้ แล้วลองทำ ก็อาจจะเป็นไปได้อยู่บ้าง และถ้าทำไปเรื่อยๆ มันอาจจะเป็นไปได้ในท้ายที่สุด”

ปิยบุตรกล่าวกับนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ในการบรรยายพิเศษหัวข้อ “การเมืองไทยหลังการเลือกตั้ง และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ”

หากลองพิจารณาถึงสิ่งที่ว่ายาก จะพบว่า “เส้นทางการแก้ไข” นั้น วาระแรก กำหนดให้ต้องใช้เสียงร่วมกันของ 2 สภา ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง หรือ 376 เสียง ซึ่งในจำนวนนี้ต้องเป็นเสียงของ ส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือประมาณ 84 คน, วาระที่ 2 พิจารณาเรียงมาตรา

และวาระที่ 3 การลงมติ ใช้เสียงร่วมกันของ 2 สภาไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง หรือ 376 เสียง และต้องมี ส.ส.ฝ่ายค้านอีกไม่น้อยกว่า 20% ลงมติเห็นชอบด้วย

จาก “เส้นทางการแก้ไข” ยากเป็นอย่างยิ่งที่ ส.ว.จะ “แตกแถว” มาร่วมขบวนด้วย

แต่อย่างไรก็ตาม ปิยบุตรบอกว่า ต้องเริ่มต้นและรณรงค์ไปเรื่อยๆ เพื่อให้คนเห็นพิษร้ายของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่แม้แต่ พล.อ.ประยุทธ์และพรรครัฐบาลเองก็เจอมาแล้ว อย่างกรณีการมีเสียงปริ่มน้ำและโหวตแพ้ฝ่ายค้าน

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังเปิดให้มีช่องร้องเรียนคดีต่างๆ มากมาย ซึ่งในอนาคตจะมี “นักร้อง” ยื่นเอาผิดจนมีคดีเต็มศาล นายกรัฐมนตรีอย่าง พล.อ.ประยุทธ์อาจจะแทบไม่ได้ไปทำงานในทำเนียบหรือในสภาผู้แทนราษฎร แต่ต้องไปขึ้นศาลแทน

“ผมเห็นว่ารัฐธรรมนูญ 2560 คือระเบิดเวลาที่ตั้งรอไว้แล้ว จำเป็นที่เราทุกคนจะต้องมาช่วยกันหยุดยั้ง นั่นก็คือการแสวงหาฉันทามติของสังคมร่วมกัน”

“พรรคอนาคตใหม่” เริ่มต้นรณรงค์แล้วใน 2 พื้นที่คือภาคเหนือและภาคใต้ ขณะเดียวกัน สาขาภูมิภาค ศูนย์ประสานงานของพรรค องค์กรแนวร่วม สมาชิก ประชาชนทั่วไปที่สนับสนุนก็เริ่มเตรียมเปิดเวทีลักษณะเดียวกันนี้แล้วเช่นกัน

ปิยบุตรบอกว่า วันนี้ ถ้าเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แน่นอนว่าถูกตีตกทันที ดังนั้น ต้องรณรงค์จนเกิดฉันทามติร่วมกันของสังคมเสียก่อน ดังที่เคยทำสำเร็จมาแล้วจนเกิดรัฐธรรมนูญ 2540 เพราะฉันทามตินั้น แม้คนทั้งประเทศจะเห็นแตกต่างในรายละเอียด แต่หลักใหญ่ใจความคือ เห็นพ้องว่าจะเอากติกานี้ร่วมกัน และจะอยู่ร่วมกันด้วยกติกาชุดนี้

เพราะชัดเจนว่ารัฐธรรมนูญ 4 ฉบับหลัง คือ ปี 2549, 2550, 2557 และ 2560 นั้น ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ผู้มีอำนาจออกแบบให้ตัวเองได้เปรียบเพื่อมีอำนาจต่อไป รัฐธรรมนูญแบบนี้ไม่มีทางยั่งยืนได้

ดังนั้น ไม่ว่าพรรคไหน กลุ่มไหน สีเสื้อไหน อย่างน้อยที่สุดต้องมาร่วมกัน เอาจิตวิญญาณรัฐธรรมนูญปี 2540 กลับมาอีกครั้งหนึ่ง

“ทวงคืนอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ” ที่ถูกคณะรัฐประหารยึดไปกว่า 13 ปี ให้กลับมาอยู่ที่ประชาชน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0