โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

อนาคตใหม่ลากชาวบ้านลงถนน-ตัวประกันสู้คดียุบพรรค!?

Manager Online

เผยแพร่ 16 ก.พ. 2563 เวลา 18.26 น. • MGR Online

เมืองไทย 360 องศา

ถือว่าเป็นที่น่าชื่นใจที่ผลสำรวจล่าสุดของนิด้าโพลที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการเล่นการเมืองนอกสภา รวมไปถึงการไม่สนับสนุนการชุมนุมทางการเมือง ซึ่งกล่าวโดยสรุปก็คือเป็นการแสดงความเห็นส่วนใหญ่ที่มีทั้งประเภทที่ไม่เห็นด้วยอย่างมาก และประเภทค่อนข้างไม่เห็นด้วย ทำให้รวมๆแล้วก็เป็นท่าทีที่ไม่เห็นด้วยนั่นแหละ

ทั้งนี้ท่าทีดังกล่าวก็เหมือนกับการแย้งแนวทางการเคลื่อนไหวในลักษณะที่ถูกมองว่าเป็นการ “ปลุกระดม” เพื่อกดดันศาลรัฐธรรมนูญทั้งก่อนและหลังการวินิจฉัยคดีเงินกู้ของพรรคอนาคตใหม่ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีกำหนดวันตัดสินในวันที่ 21 กุมภาพันธ์นี้

ก่อนหน้านี้ทั้ง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค และ นายปิยบุตร แสงกนกกุล ได้แสดงท่าทีในลักษณะปลุกเร้ามวลชนว่าให้ออกมาชุมนุมนอกสภาหรือการชุมนุมเพื่อคัดค้านการยุบพรรคอนาคตใหม่ โดยพวกเขาอ้างว่านี่คือการกลั่นแกล้ง หรือไปไกลถึงขั้นที่ว่านี่คือเกมการเมืองในการขัดขวางไม่ให้พวกเขาได้ทำหน้าที่ในการซักฟอกรัฐบาลในญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลที่กำหนดเอาไว้ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์

โดยพวกเขายืนยันว่าจะไม่ลาออกจากกรรมการบริหารพรรคก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยคดียุบพรรคในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ เนื่องจากมั่นใจว่าพรรคอนาคตใหม่จะไม่ถูกยุบพรรคอย่างแน่นอน อย่างไรก็ดีหากผลออกมาเป็นลบหรือถูกยุบพรรคพวกเขาก็จะออกมารณรงค์ด้านการเมืองนอกสภาต่อไป โดยอ้างว่าเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อปฏิรูปการเมือง

อย่างไรก็ดีสิ่งที่น่าจับตาก็คือการเคลื่อนไหวที่เชื่อมโยงกันของบางกลุ่มที่สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่ และพรรคแกนนำของพรรคการเมืองพรรคนี้ที่กำลังรณรงค์เพื่อคัดค้านการยุบพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งแน่นอนว่าย่อมถูกมองว่านี่คือความพยายามในการ “ดิ้นรนเอาตัวรอด” ของบางกลุ่มการเมืองเพื่อกดดันศาล ซึ่งในที่นี้ก็คือศาลรัฐธรรมนูญที่กำลังจะวินิจฉัยคดียุบพรรคในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

หลายคนมองว่าการเคลื่อนไหวแบบนี้ไม่ว่าจะเป็นการรณรงค์คัดค้านการยุบพรรค หรือการชุมนุมของผู้สนับสนุนและสมาชิกพรรคเพื่อกดดันนอกสภา หรือแม้แต่การที่ให้บรรดาสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ยื่นฟ้องคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ที่ยื่นคำร้องยุบพรรคอนาคตใหม่ก่อนหน้านี้ต่อศาลรัฐธรรมนูญและนำไปสู่กำหนดวันวินิจฉัยคดีในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ไม่ต่างจากการใช้ “กฎหมู่เหนือกฎหมาย”

การเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้กูรูทางกฎหมายบางคนเห็นว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่ไม่ถูกต้อง เพราะหากไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรคอนาคตใหม่ก็ต้องไปรณรงค์ยกเลิกกฎหมายพรรคการเมือง มากกว่า ไม่ใช่เป็นการรณรงค์เพื่อขัดขวางการบังคับใช้กฎหมายแบบนี้

ที่ผ่านมาหากพิจารณาจากจุดเริ่มต้นของคดีนี้ก็มีสาเหตุมาจากการเปิดเผยออกมาจากปากของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่เอง และต่อมาในระหว่างการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ปปช.) ก็มีเรื่องดังกล่าวปรากฏอยู่ด้วย และต่อมาบรรดาแกนนำของพรรคต่างก็ยอมรับ เพียงแต่พวกเขาอ้างในเรื่องกฎหมายพรรคการเมืองไม่ได้ห้ามในเรื่องการกู้เงินเอาไว้

ดังนั้นไม่มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในเรื่องข้อเท็จจริง มีเพียงการตัดสินในเรื่องข้อกฎหมายเท่านั้นที่ศาลจะต้องวินิจฉัย ซึ่งในที่นี้เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญว่าจะวินิจฉัยออกมาตามข้อกฎหมายที่มีอยู่ โดยไม่อาจไปกดดันให้ออกไปทางใดทางหนึ่งได้เลย

อย่างไรก็ดีแม้ว่าหากพิจารณาจากความเคลื่อนไหวของบรรดาแกนนำของพรรคอนาคตใหม่ที่พยายามกดดันศาลรัฐธรรมนูญทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้ผลการวินิจฉัยออกมาในทางลบกับตัวเอง โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวนอกสภา

แต่ล่าสุดเมื่อผลสำรวจออกมาปรากฏว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ให้การสนับสนุน มันก็ทำให้การเคลื่อนไหวที่เหมือนกับการ “ลากชาวบ้านลงสู่ท้องถนนมาเป็นตัวประกัน” เพื่อเอาตัวรอด ต้องลดน้ำหนักลงไปไม่น้อย !!

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0