โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

อคติที่เกิดจากการเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล : เหตุผลที่ ‘ตัวกู’ ถูกต้องอยู่เสมอ

The101.world

เผยแพร่ 03 มิ.ย. 2563 เวลา 13.50 น. • The 101 World
อคติที่เกิดจากการเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล : เหตุผลที่ ‘ตัวกู’ ถูกต้องอยู่เสมอ

โตมร ศุขปรีชา เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

มนุษย์เรามีวิธีเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาลหลายวิธี

แบบหนึ่งที่หลายคนอาจคิดไม่ถึง ก็คือการคิดว่า ‘ช่วงเวลา’ ที่ตัวเองอยู่นั้น เป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุด (หรืออย่างน้อยก็สำคัญกว่าช่วงเวลาอื่นๆ) ในประวัติศาสตร์ของโลก เรียกว่า Chronocentrism

การเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางช่วงเวลาแบบนี้ ทำให้ช่วงเวลาอื่นๆ ในประวัติศาสตร์หดหายไป อะไรที่เคยยาวนานก็ถูกการรับรู้ของเราจับมาเอามาหดๆ ยับย่นยู่ยี่เหมือนแอคคอร์เดียนหรือกระดาษพับที่กองรวมๆ กันอยู่จนหดสั้นไม่น่าสนใจ แต่ช่วงเวลาที่เราต้องพบเผชิญอยู่ตรงหน้า กลับมีแนวโน้มที่เราจะแผ่มันออกจนกว้างเกินจริง ใส่รายละเอียด ให้ความสำคัญ จนคิดว่ายุคสมัยของเรานี่แหละ คือยุคสมัยที่ ‘ใหญ่’ (paramount) ที่สุด ยุคอื่นๆ จะ ‘ซีดจาง’ (pale) กว่ายุคของเรา ตัวอย่างเช่น เราอาจจะคิดว่าโควิด-19 นี่มันใหญ่โตเหลือเกิน แต่ถ้าเทียบกับโรคระบาดอื่นๆ ในอดีต ก็อาจจะไม่ได้ใหญ่ขนาดนั้นก็ได้

แต่นั่นเป็นวิธีเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาลแบบที่ช่วยไม่ได้ เพราะมันคือ perception หรือการรับรู้ร่วม ที่ใครๆ ก็อาจคิดแบบนี้ เนื่องจากยุคสมัยของเราก็ต้อง ‘ใหญ่’ ที่สุดอยู่แล้ว ที่จริงก็คล้ายๆ การเอา ‘เผ่าพันธุ์’ ของตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล หรือที่เรียกว่า Ethnocentrism นั่นเอง คือเราคลุกอยู่กับช่วงเวลาและผู้คนแบบไหน เราก็มีแนวโน้มจะเห็นว่าช่วงเวลาและผู้คนแบบนั้นสลักสำคัญและใหญ่โตเหลือเกิน

ทั้ง Chronocentrism และ Ethnocentrism ย่อมมีปัญหาของมันเอง คืออาจทำให้เราประเมินสิ่งต่างๆ ในระดับมหภาคผิดพลาดไปได้ แต่กระนั้นก็ยังไม่ได้มีปัญหามากเท่ากับการเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาลในระดับจุลภาคที่เรียกว่า Egocentrism หรือการวาง ‘อีโก้’ ของตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล

ช่วงที่ผ่านมา เราจะเห็นได้เลยว่าสังคมไทยเต็มไปด้วยการถกเถียงในแบบเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาลกันมาก เราพบข้อถกเถียงที่เกิดจากการ ‘อ่านไม่แตก’ เต็มไปหมด แต่ที่ร้ายกาจยิ่งกว่าอ่านไม่แตก ก็คือ ‘อ่านไม่จบ’ แต่ก็ต้องรีบพุ่งออกมาสำแดงอาการที่เรียกกันว่า ‘ฉอด’ โดยเร็วที่สุด เพื่อเปล่งพลังแห่งตัวตนออกมาอย่างพลุ่งพล่านรุนแรง โดยสภาวะที่ร้ายกาจยิ่งกว่าอ่านไม่แตกและอ่านไม่จบ -- ก็คือ ‘ไม่ได้อ่าน’ เลยสักตัว อาจเห็นแต่คอมเมนต์ของคนอื่นๆ ก่อนหน้า เพียงนั้นก็ร่วมผสมโรงด่ากันแล้ว โดยมักเป็นการด่าแบบไม่ดูตาม้าตาเรือ และต่อให้ด่าผิดก็ไม่อายหรือรับรู้อะไรด้วย เนื่องจากด่าเสร็จก็ไปหาประเด็นอื่นๆ มาด่าต่อในที่อื่นๆ โดยไม่ได้กลับมาดูเสียด้วยซ้ำว่าที่ด่าอยู่นั้นถูกสำรวจตรวจสอบโดยคนอื่นอย่างไรหรือไม่ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เรามักไม่ยอมเสียเวลาครุ่นคิดไตร่ตรอง หรือยอมให้เซลล์ประสาทในสมองได้บริหารการส่งกระแสประสาทบ้างเลย

เรื่องแบบนี้ ไม่ได้เป็นเฉพาะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นกันทุกฝ่าย

นั่นทำให้ผมนึกถึงการศึกษาเก่าแก่ของสแตนฟอร์ดชิ้นหนึ่ง เป็นงานที่ทำกันมาโบร่ำโบราณมาก คือเผยแพร่ในปี 1976 และจนถึงบัดนี้ก็ยังเป็นที่ยอมรับกันอยู่ว่ามันใช้การได้กับสังคมยุคใหม่ ยิ่งสังคมที่มนุษย์อพยพเข้าไปฉอดกันอยู่ในโซเชียลมีเดียยิ่งใช้ได้

การศึกษานั้นเป็นงานของ Lee Ross, David Greene และ Pamela House จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เป็นงานที่มีชื่อว่า The 'False Consensus Effect': An Egocentric Bias in Social Perception and Attribution Processes

ซึ่งถ้าแปลเป็นไทยก็ได้ประมาณว่า 'ผลลัพธ์ที่เกิดจากฉันทามติลวง' : อคติที่เกิดจากการเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางในการรับรู้ทางสังคมและกระบวนการ’ หรือพูดง่ายๆ ก็คือการ ‘คิดไปเอง’ ว่า 'ใครๆ ก็คิดแบบเดียวกันกับเรา' ซึ่งไม่ได้แปลว่าเราไม่มีตัวตน เราช่าง selfless เหลือเกิน เราจึงคิดเหมือนกันกับคนอื่นไปหมด แต่กลับเป็นตรงข้าม นั่นคือเป็นเพราะเราเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาลต่างหาก เราถึงได้คิดว่าคนทั้งโลก (หรืออย่างน้อยก็คนส่วนใหญ่) คิดเหมือนเราไปด้วย อคตินี้จึงทำให้เราเห็นว่า ความคิดในแบบของเราเป็นความคิดใหญ่ที่ครอบงำโลกอยู่

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ -- มันเป็นอคติที่ทำให้เราเห็นว่าความคิดของเรา ‘ถูก’ อยู่เสมอนั่นเอง!

นักจิตวิทยาคิดว่า เจ้า False Consensus Effect นี่แหละ คือ ‘หน้าฉาก’ ของอาการเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล

การศึกษาชิ้นนั้นมีการทดลองกับนักศึกษาสแตนฟอร์ดสี่แบบด้วยกัน ซึ่งถ้าเล่าในรายละเอียดก็จะยืดยาวเป็นอันมาก เพราะทั้งสี่แบบมีความรัดกุมและได้รับการออกแบบการทดลองมาอย่างดี มีทั้งการทดลองเพื่อดูการรับรู้จาก ‘เรื่องสมมติ’ การลองทำสิ่งที่เป็นเรื่องจริงในชีวิตประจำวันจริงๆ (เพื่อพยายามจำลองและเก็บข้อมูลให้เหมือนโลกจริงได้มากที่สุด) และอื่นๆ

ตัวอย่างการศึกษาหนึ่งก็คือ ให้นักศึกษาที่เข้าร่วมทดลองลองอยู่ในสถานการณ์บางอย่าง เช่น ถ้าคุณเป็นคนที่ไปเดินซูเปอร์มาร์เก็ต แล้วมีคนมาขอสัมภาษณ์ ปรากฏว่าคุณให้สัมภาษณ์ไปว่าซูเปอร์ฯ ที่ว่านี้ดีมากเลย บริการก็ดี ของก็สด จากนั้นคนที่สัมภาษณ์ก็เผยตัวว่าตัวเองเป็นคนทำโฆษณาให้กับซูเปอร์ฯ ดังกล่าว พร้อมกับขอนำคลิปที่ถ่ายสัมภาษณ์ไปใช้โฆษณา

คำถามก็คือ ถ้าเป็นตัวนักศึกษาเอง จะยอมให้เขานำคำให้สัมภาษณ์ไปโฆษณาไหม และถ้าเป็นคนทั่วไปเล่า คิดว่าจะมีคนมากน้อยแค่ไหนยอม

อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือการขอให้นักศึกษาสแตนฟอร์ดทำอะไรบางอย่างที่น่าอาย เช่น เดินถือป้ายบอกว่าตัวเองกำลังสำนึกผิดอยู่ไปทั่วมหาวิทยาลัย เพื่อดูว่ามีคนยอมทำกี่เปอร์เซ็นต์ ไม่ยอมทำกี่เปอร์เซ็นต์

ในทั้งสองกรณี พบว่า นักศึกษาที่ ‘ยอมทำ’ มีแนวโน้มจะคิดว่าคนทั่วไปก็จะ ‘ยอมทำ’ ด้วย ส่วนนักศึกษาที่ไม่ยอมทำ ก็มีแนวโน้มคิดว่าคนทั่วไปส่วนใหญ่ก็จะไม่ยอมทำด้วย

ในปี 1983 ไบรอัน มุลเลน (Brian Mullen) จากมหาวิทยาลัยเมอร์เรย์สเตท ได้วิเคราะห์รายการโทรทัศน์รายการหนึ่งของ NBC ซึ่งมีชื่อว่า Play the Percentages รายการนี้เป็นเกมโชว์ที่มีแนวคิดคล้ายๆ กับการทดลองของสแตนฟอร์ดที่ว่ามา นั่นคือจะเริ่มต้นด้วยการถามคำถามกับคนดูในห้องส่งก่อนด้วยเรื่องราวต่างๆ โดยมีคำตอบเป็นตัวเลือกให้คนดูเลือก เพื่อดูว่าคนดูในห้องส่งเลือกคำตอบไหนบ้างเป็นจำนวนกี่เปอร์เซ็นต์ จากนั้นจึงเปิดตัวผู้เข้าแข่งขันในเกม โดยถามคำถามเดียวกัน แล้วให้ผู้เข้าแข่งขันตอบคำถามเดียวกัน แล้วทายว่าผู้ชมในห้องส่งคนตอบคำถามนั้นๆ กี่เปอร์เซ็นต์

ผู้เข้าแข่งขันทายถูกจะได้คะแนนไป ยิ่งถ้าทายเปอร์เซ็นต์ได้ใกล้เคียงที่สุด ก็จะได้คะแนนเพิ่มไปด้วย ใครทำคะแนนได้ถึง 300 คะแนนก่อน ก็จะได้รางวัลเงินสด

สิ่งที่พบจากการวิเคราะห์รายการเกมโชว์นี้ตรงกันกับข้อสรุปในการศึกษาของสแตนฟอร์ดเลย นั่นคือผู้เข้าแข่งขันที่ตอบคำถามใดๆ ก็ตาม มักคิดว่า ‘มหาชน’ (คือคนดูในห้องส่ง) ก็จะตอบคำถามแบบเดียวกับตัวเองด้วย โดยคิดว่าคำตอบที่ตัวเองตอบ จะต้องมีคนเห็นด้วยเป็นจำนวนเปอร์เซ็นต์เยอะกว่าคำตอบอื่น -- ไม่ว่า, ตรงนี้ต้องเน้นย้ำนะครับว่า -- ไม่ว่าคำตอบนั้นจะ ‘ถูก’ หรือ ‘ผิด’ ก็ตาม

นั่นแสดงให้เห็นว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่เราคิดว่า ‘ใครๆ เขาก็คิดแบบนี้กันทั้งนั้น’ มันไม่ได้แปลว่าเราคิดว่าคนอื่นคิดแบบนั้นจริงๆ เท่านั้น แต่เรายังคิดว่าคนอื่นๆ คิดสอดคล้องกับความคิดเห็น ‘ของเรา’ ด้วย ดังนั้น สิ่งที่เรียกว่า Egocentrism จึงได้ผสานรวมเข้ากับสิ่งที่เรียกว่า False Consensus Effect อย่างสมบูรณ์เต็มที่ สองอย่างนี้เสริมส่งกันและกัน และผลักเราเข้าสู่อาณาบริเวณแห่งการเห็นพ้องคล้อยตามกันไปเป็นหมู่เป็นฝูง จาก ‘ตัวกู’ ก็กลายเป็น ‘ฝูงของกู’ โดยไม่สามารถรั้งตัวเองออกมายั้งคิดได้เลย -- ว่าสิ่งนั้นถูกหรือผิดอย่างไรบ้าง

ในบทความเรื่อง A Bias Puts Self at Center of Everything หรือ ‘อคติพาตัวกูเข้าไปเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่ง’ ของแดเนียล โกลแมน (Daniel Goleman) ที่ตีพิมพ์ในนิวยอร์กไทมส์เมื่อเนิ่นนานมาแล้ว (คือปี 1984) บอกว่า แอนโธนี กรีนวอลด์ (Anthony Greenwald) ซึ่งเป็นคนที่คิดคำว่า Egocentric Bias หรืออคติที่เกิดจากการเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางนั้น บอกว่าเรื่องสำคัญอย่างหนึ่งของการเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางก็คือ ส่วนใหญ่เราจะ ‘ระลึก’ หรือ ‘จดจำได้’ (recall) เฉพาะกับเรื่องที่เก่ียวโยงสัมพันธ์กับ ‘เรื่องเล่า’ ที่มาจากการเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางเท่านั้น คือเรื่องจริงๆ เกิดอย่างไรก็ตามแต่ แต่เราจะใช้ตัวตนและการเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางไปจับ ไปอธิบาย และไปจดจำเรื่องทั้งหมด ‘เฉพาะ’ ตามอคติของเรา อคตินี้จึงส่งผลต่อ ‘ความทรงจำ’ หรือ memory ของเราอย่างมาก

ที่จริงเรื่องนี้ไม่ได้ใหม่อะไร วอลต์ วิตแมน กวีอเมริกันก็เคยเขียนบทกวีชื่อ Song of Myself ที่มีข้อความตอนหนึ่งว่า 'สำหรับคนคนหนึ่ง ไม่มีอะไรยิ่งใหญ่ไปกว่าตัวตนของคนคนนั้น' เอาไว้เมื่อเนิ่นนานมาแล้ว

ในทางประสาทวิทยา แดเนียล แชคเตอร์ (Daniel Schacter) นักจิตวิทยาจากฮาร์วาร์ด บอกว่าอคติที่เกิดจากการเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาลนั้น คือหนึ่งใน ‘บาปเจ็ดประการ’ ของการทำร้ายความทรงจำของเรา โดยเฉพาะเวลาที่สมองของเราจะต้องถอดรหัสความทรงจำประเภทที่เรียกว่า Episodic Memory หรือ ‘ความทรงจำอาศัยเหตุการณ์’ คือจำเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยเราจะ ‘เลือก’ เฉพาะบางเรื่องที่สอดคล้องกับต้นทุนของเรามาใส่ไว้ในความทรงจำ พร้อมกับคิดว่าคนอื่นๆ ทั้งโลก -- ก็คิดแบบนั้น

ในทางสังคม อคติที่เกิดจากการเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาลจึงมีอิทธิพลต่อการ ‘เลือกฝูง’ ที่ตัวเองจะไปสังกัด เพราะส่วนใหญ่ คนเราจะเลือกสังกัดอยู่กับฝูงที่ช่วย ‘ทำนุบำรุง’ ความคิดความเชื่อดั้งเดิม (หรือ preconceptions) ของเราเอาไว้นั่นเอง

ที่จริงเรื่องอคติจากการเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางนี้ยังเกี่ยวพันโยงใยไปถึงอะไรอีกมาก รวมไปถึง Chronocentrism และ Ethnocentrism (อย่างที่ว่าไว้ตอนต้น) ด้วย ตัวอย่างเช่น มีการศึกษาพบว่า คนที่ใช้งานภาษาได้มากกว่าหนึ่งขึ้นไป มักจะมีแนวโน้มเกิดอคติจากการเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางน้อยกว่าคนที่พูดได้ภาษาเดียว ทั้งนี้ก็เพราะได้ ‘ฝึกหัด’ ที่จะ ‘รับฟัง’ หรือใส่ใจความคิดของคนอื่น ผ่านภาษาอื่นๆ ที่มีโครงสร้างวิธีคิดและวัฒนธรรมแตกต่างไปจากตัวเอง ดังนั้นก็เลยต้องไปจดจ่ออยู่กับการ ‘รับ’ สารต่างๆ มากกว่ามามัวนั่งแยกแยะว่าความคิดของอีกฝ่ายตรงหรือไม่ตรงกับตัวเองอย่างไรบ้าง

การเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาลในแบบต่างๆ มักทำให้เราไม่สามารถพิจารณาหรือมองเห็นสถานการณ์ต่างๆ จากมุมมองของคนอื่นได้ และไม่รู้เลยว่าตัวเองอยู่ในโลกแบบไหน เพราะมัวแต่หลงคิดไปว่าโลกแบบที่ตัวเองคิดนั้น คนอื่นทั้งโลกก็คิดเหมือนกันด้วย ส่วนคนที่คิดแตกต่างออกไปเป็นได้แค่คนส่วนน้อยเท่านั้น

ดังนั้น เมื่อ ‘รวมฝูง’ กันได้ในโลกโซเชียลฯ ความคิดความเห็นก็มักจะถั่งเทกันไปฟากหนึ่ง แล้วหากมีอีกกลุ่มที่ก็สามารถ ‘รวมฝูง’ ได้ในทางตรงข้าม ก็จะเกิดการแบ่งแยกออกเป็นสองฝั่ง เพื่อต่อสู้โต้เถียงกันอย่างรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ โดย False Consensus Effect ก็จะยิ่งรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับการย้อนกลับไป ‘ขุด’ อะไรก็แล้วแต่ตาม Episodic Memory โดยมีความสามารถในการมองเห็นที่เรียกว่า Reality ได้น้อยลงเรื่อยๆ

ปรากฏการณ์แบบนี้เกิดขึ้นได้กับคนทุกคนในแต่ละช่วงเวลา แต่ละสถานการณ์ สิ่งที่เราพอจะทำได้ก็คือการหมั่นสังเกตและตรวจสอบตัวเองอยู่เสมอนั่นเอง

แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะกับคนที่คุ้นเคยแต่กับการเห็น ‘ตัวกู’ อยู่ในกระจกชั่วชีวิต

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0