โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

หายได้ จุฬาฯแนะดูแลผู้ป่วย-ป้องกันตนเองไวรัสโคโรน่า

คมชัดลึกออนไลน์

อัพเดต 28 ม.ค. 2563 เวลา 14.22 น. • เผยแพร่ 28 ม.ค. 2563 เวลา 13.21 น.

28 มกราคม 2563 ที่ห้องประชุมเฉลิม พรมมาส อาคาร อปร.โรงพยาบาลจุฬาฯ ได้จัดบรรยายให้ความรู้กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งนิสิตแพทย์ เกี่ยวกับสถานการณ์ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ต่อแนวทางการดูแลผู้ป่วยและป้องกันตนเอง

โดยมี ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ด้านคลินิก รพ.จุฬาฯ สภากาชาดไทย , ผศ.(พิเศษ) พญ.เลลานี ไพฑูรย์พงษ์ ผช.ผอ.ด้านชีวอนามัย และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ , พญ.วรรษมน จันทรเบญจกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ จะดูแลในส่วนของมาตรการโรงพยาบาลที่จะดูแลคนไข้

โดยเมื่อเริ่มการบรรยายในส่วนแรกเกี่ยวกับการอัพเดทสถานการณ์และอาการต่างๆ ของคนไข้ที่ป่วย ที่เปิดให้สื่อมวลชนและประชาชนทั่วไปรับฟังได้ "ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ" หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ด้านคลินิก รพ.จุฬาฯ สภากาชาดไทย ได้กล่าวถึงลักษณะปัจจุบันของสถานการณ์ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ว่า 1.การระบาดกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น เพราะเป็นธรรมชาติของการระบาด โดยถ้าขึ้นสูงสุดแล้วก็จะลง ดังนั้นควรติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิดว่าแนวโน้มจะลดลงเมื่อใด

2.อัตราการป่วย-ตาย ตอนนี้การตายโรคนี้อยู่ที่ประมาณ 3% โดยเราอาจจะเห็นเคสที่เป็นเยอะ แต่จำนวนที่เสียชีวิตไม่ได้เยอะเมื่อเทียบกับโรคอื่นที่เรารู้จักกันเช่นซาร์ส (SARS) ที่ระบาดเมื่อปี ค.ศ. 2002-2003 และจบไป อัตราการเสียชีวิต 10% (จากสัตว์มาสู่คน โดยค้างคาว มาที่อีเห็น มาสู่คน) ที่ไม่ระบาดแล้วเพราะรู้ว่าต้นตออยู่ที่ไหนแล้วลดการสัมผัสของคนที่จะสัมผัสสัตว์ตัวกลาง และเอาคนที่ป่วยที่จะแพร่เชื้อได้มากักกันไม่ให้แพร่กระจายเชื้อ หรือเมอร์ส (MERS) ระบาดตั้งแต่ปี 2012-ปัจจุบัน อัตราการเสียชีวิต 30% ยังมีอยู่แต่เคสไม่เยอะมาก เช่นในซาอุดิอาระเบีย และที่ระบาดอยู่เพราะยังควบคุมสัตว์นำโรคไม่ได้จึงยังต้องเฝ้าระวัง MERS อยู่

เท่าที่ข้อมูลในปัจจุบันที่ตามอยู่โคโรน่าไวรัส คือติดง่าย ตายไม่เยอะ โดยจะเหมือนหวัดที่ถ้าเราไม่ระวัง ไปจับอะไรที่มีอาการมาสัมผัสเราก็จะติดง่ายส่วนความเสี่ยงของการเสียชีวิต กลุ่มที่เสี่ยงมากคือในกลุ่มผู้สูงอายุ หรือมีโรคประจำตัว 3.การติดต่อผ่านทางระบบทางเดินหายใจและสัมผัสสารคัดหลั่งของร่างกาย ดังนั้นต้องระวังเรื่องไอ-จาม การสัมผัสสารคัดหลั่งจากร่างกายของผู้ที่มีอาการ 4.การป้องกันทำได้โดยการใส่หน้ากากอนามัยและทำความสะอาดมืออย่างสม่ำเสมอ ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก WHO ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องทำ

ขณะที่ "ผศ.นพ.โอภาส" หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ด้านคลินิก อธิบายลักษณะของการระบาดว่า จุดที่มีเรื่องขึ้นมา คือที่เมืองอู่ฮั่น ในประเทศจีน โดยมีการรายงานเข้าไป WHO ว่ามีคนไข้ที่ป่วยอาการปอดอักเสบหลายคนคล้ายๆกัน ตั้งแต่ปานกลาง ถึงรุนแรง ซึ่งช่วงเวลาคือประมาณเดือน ธ.ค.62 ที่สังเกตว่ามีผู้ป่วยอาการปอดอักเสบคล้ายๆ กันแต่ขณะนั้นยังไม่รู้ว่าเป็นเชื้ออะไร โดยทั้งหมดเกิดขึ้นภายในเวลาสั้นๆ เพียง 1 เดือน

จากนั้นมีการเก็บเคสเพื่อพยายามหาเชื้อกันกระทั่งเกิดมีผู้เสียชีวิตวันที่ 11 และมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนสุดท้ายตรวจสอบแล้วพบเป็นเชื้อโคโรน่าไวรัสจึงประกาศออกมา กระทั่งมีเคสมาที่เมืองไทยซึ่งพบว่าเป็นคนจีนที่เดินทางเข้ามาแล้วป่วยมีอาการปอดอักเสบจากอู่ฮั่นที่ยืนยันว่าเป็นโคโรน่าไวรัส จนมีเคสสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยที่เปิดเผยจากเมืองจีน โดยสัปดาห์ที่ผ่านมามีการตีพิมพ์วารสารทางการแพทย์ 2 ฉบับที่เปิดเผยเกี่ยวกับลักษณะทางเคมีของคนไข้ออกมาให้เห็นว่าโรคนี้จะมีอาการอย่างไรบ้าง และหน้าตาของตัวไวรัส ขณะที่จากข้อมูลเผยแพร่ว่าทุกเคสที่อยู่นอกประเทศจีนคนก็มาจากเมืองอู่ฮั่นที่มีการระบาด โดยขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลของ local transition ที่ผ่านมาการระบาดก็มาจากในประเทศจีน ส่วนที่กระจายไปต่างประเทศก็เพราะมีคนจีนที่มีอาการเดินทางไปยังที่ต่างๆ ขณะที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อเมื่อวานกับวันนี้กระโดดไปอีก หากจะอัพเดทข้อมูลปัจจุบันคงต้องอัพเดทเป็นชั่วโมง

สำหรับลักษณะของโคโรน่าไวรัส ทรงกลมมีหนามๆ ออกมาเหมือนเป็นมงกุฏ หากเทียบแล้วลักษณะคล้ายซาร์ส (SARS) โดยสารพันธุธรรมโคโรน่าไวรัส คล้ายกับ Bat SARS like คือไวรัสโคโรนาที่อยู่ในค้างคาว ที่ระบาดจากสัตว์ไปคน ระยะฝักตัวของโคโรน่าไวรัส 2-14 วัน จึงเป็นที่มาของการสังเกตอาการ

โดย "ผศ.นพ.โอภาส" ได้กล่าวถึงอาการทางคลินิกของโรคนี้ที่ทำให้เกิดปอดอักเสบว่า ในการรวบรวมจากเคส 41 รายที่นอนโรงพยาบาล ทุกรายมีปอดอักเสบที่มีอาการปานกลางถึงรุนแรง ที่วารสารทางการแพทย์นิวอิงแลนด์เจอร์นัลฯ เผยแพร่ลักษณะมา 1.พบใน 30% จาก 41 รายนั้น มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือโรคหัวใจ ส่วนใหญ่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป 2.ส่วนใหญ่จะมีไข้ และไอไม่มีเสมะ ปวดกล้ามเนื้อ 40% และอาการที่ไม่เหมือนซาร์ส (SARS) กับเมอร์ส (MERS) ก็คือ SARS) กับ MERS เมื่อมีปอดอักเสบจะมีน้ำมูก ไอ-จาม

โดยจะมีการปรับเปลี่ยนสารพันธุกรรมเพื่อจับกับเซลล์ที่อยู่ระบบทางเดินหายใจส่วนบนแล้วลงมาข้างล่าง แต่โคโรน่าไม่มี เหมือนเป็นเชื้อจะชอบลงไปที่ปอดเลย 4.อัตราการตาย 15% แต่จะเอามาบอกว่าเป็นอัตราการตายของโรคนี้ไม่ได้ เพราะเคสที่รายงานมาคือกลุ่มที่นอนโรงพยาบาลที่มีอาการปานกลางถึงหนัก 5.มีอาการที่ระบบอื่นๆ ได้ด้วย เช่น ปวดหัว ท้องเสีย (ไม่ค่อยมีอาการระบบทางเดินหายใจส่วนตัวเหมือน SARS) 6.โรคแทรกซ้อนที่สำคัญ คือ ระบบหายใจ ซึ่งช่วงเวลาที่มีอาการปอดอักเสบและเกิดภาวะหายใจล้มเหลว ก็ประมาณ 7-8 วันโดยเคสที่รุนแรงมากต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ

สำหรับเคสที่เสียชีวิตก็มาจากระบบหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน 30% และมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบด้วยในเคสที่รุนแรง ขณะที่เขาพยายามหาว่าเคสที่ป่วยไปสัมผัสอะไรมาถึงติดต่อกัน โดยบางส่วนก็มีที่ไปตลาดเมืองอู่ฮั่นขายสัตว์ แต่มีบางเคสที่ไม่ได้เดินทางไปที่ตลาดเมืองอู่ฮั่นเลย ก็แสดงว่าแหล่งน่าจะมีมากกว่าหนึ่ง ดังนั้นต้องติดตามต่อไปว่ามีแหล่งที่มาอื่นอย่างไรบ้าง โดยจะต้องหาต่อไปไวรัสเข้าในคนได้อย่างไรที่จะกระโดดจากสัตว์มาสู่คนได้ ตัวอย่าง SARS จากสัตว์มาสู่คนได้เพราะมีการกลายพันธุ์จนตัวไวรัสสามารถเปลี่ยนลักษณะภายนอกของตัวเองไปจับกับเซลล์ทางการหายใจของคน จนทำให้เกิดการติดเชื้อในคนได้

ทั้งนี้ภายหลังบรรยายเกี่ยวกับสถานการณ์และลักษณะอาการของโรคแล้ว "พญ.เลลานี" ผช.ผอ. ด้านชีวอนามัย และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ ได้กล่าวถึงวิธีการในการป้องกันที่เจอคนไข้ และ "พญ.วรรษมน" แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ กล่าวถึงการดูแลในส่วนของมาตรการโรงพยาบาลที่จะดูแลคนไข้ โดยเป็นบรรยายให้ความรู้เฉพาะบุคคลากรทางแพทย์-พยาบาลของ รพ.จุฬาฯ

โดย"ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ" หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ด้านคลินิก ให้สัมภาษณ์ภายหลังการบรรยายว่า สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังขณะนี้ คือ การหาเคสที่อาจจะเป็นแล้ววินิจฉัยให้ได้แล้วมากักโรคไว้เพื่อไม่ให้กระจายไปยังคนอื่นๆ โดยในมุมการแพทย์ข้อมูลขณะนี้เราทราบเพียงเคสที่มีการรายงานไม่กี่เคส ดังนั้นสิ่งที่อยากรู้ระยะฝักตัวกี่วันแน่เพื่อจะกักโรคได้ถูกโดยขณะนี้เราใช้ช่วงเวลาตรวจดูจากพื้นฐานไวรัส SARS กับ MERS คือประมาณ 14 วัน เพราะเป็นไวรัสลักษณะคล้ายกันซึ่งอย่าง SARS ระยะฝักตัว 10 วัน และที่สำคัญต้องสืบค้นให้ได้ว่าเชื้อนั้นกระโดดมาจากอะไร

ตอนนี้อาจจะมาจากสัตว์แต่สัตว์ที่เป็นตัวกลางคืออะไรซึ่งค่อนข้างซับซ้อนเพราะหากมาจากค้างคาวอาจจะใช่หรือไม่ทั้งหมดก็ได้ อาจจะจากค้างคาว สู่สัตว์ตัวกลางแล้วมาสู่คนก็ได้ โดยข้อสันนิษฐานทางการแพทย์ตอนนี้คิดว่าที่มาคือค้างคาว แต่จะมาสู่คนลำบากหากกินค้างคาวก็น่าจะแค่คนที่กิน แต่มีการฟุ้งกระจายซึ่งต้องดูมาจากสัตว์อื่นหรือไม่ อย่างไร หรือฟุ้งจากคนที่ป่วยอยู่แล้วเพราะตลาดเมืองจีนนั้นเป็นลักษณะปิดอยู่แล้วอากาศอาจไม่ถ่ายเท

อย่างไรก็ดีสำหรับการรักษา จะเป็นเหมือนไวรัสทั่วไปคือลักษณะรักษาประคับประคอง รักษาตามอาการ ถ้าภูมิคุ้มกันเราดีพอก็อาจจะไม่เป็นอะไร ส่วนที่พูดถึงการจะใช้ยาต้านเอดส์บางตัวได้หรือไม่นั้นก็ยังเป็นช่วงการทดลองศึกษา ส่วนตัวยังมองว่าจริงๆ หลายรายอาจสามารถหายได้เองถ้าภูมิคุ้มกันดี ทั้งนี้สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่ต้องระวังใกล้ชิด คือผู้สูงอายุ หรือที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันสูง และโรคหัวใจ เพราะกลุ่มผู้สูงอายุภูมิคุ้มกันตกอยู่แล้ว

ส่วนกลุ่มเบาหวานหากคุมไม่ดี โอกาสจะติดเชื้อรุนแรงได้ ส่วนโรคหัวใจหากติดเชื้อทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้นเสียชีวิตได้ง่าย ซึ่งเป็นหลักทั่วไปหากติดเชื้อ ทั้งนี้สำหรับสถานการณ์ในเมืองไทยที่พบเชื้อคือ จากคนจีนเป็นส่วนใหญ่ที่เดินทางมาจากประเทศจีนที่เป็นแหล่งระบาด โดยมีคนไทย 1 รายที่ป่วยก็เดินทางมาจากแหล่งระบาด แต่ยังไม่พบข้อมูลการระบาดภายในที่คนไทยป่วยจากในไทย ดังนั้นการระบาดนอกพื้นที่เมืองจีนก็มาจากเมืองจีนทั้งหมด

วิธีการป้องกันการเผยแพร่ที่สำคัญ คือ การใส่หน้ากากอนามัย ขณะนี้สามารถใช้เพียงหน้ากากอนามัยปกติก็ได้ตามที่ WHO แนะนำ ไม่จำเป็นต้องแบบ N 95 (ป้องกันฝุ่นขนาดเล็ก pm.2.5) อย่างไรก็ตามสำหรับมาตรการที่ควรต้องทำ คือ 1.การให้ความรู้กับประชาชนมากๆ เรื่องอัตราการตาย ที่บางคนคิดว่าติดเชื้อแล้วต้องเสียชีวิตเยอะ ซึ่งข้อมูลปัจจุบันพบว่าส่วนใหญ่เมื่อรักษาสามารถหายได้เอง ส่วนคนที่มีความเสี่ยงเท่านั้นจะมีโอกาสเสียชีวิตโดยขณะนี้อัตราการตายยังไม่เยอะ 3-5% 2.การให้สวมหน้ากากอนามัยเมื่อไปในที่ ที่แออัด

3.การล้างมือที่เป็นเรื่องสำคัญ เพราะการสัมผัสที่ต่างๆ ทั้งนี้สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ของเราก็เตรียมพร้อมในการระวังดูแลผู้ป่วยมากขึ้น ซึ่งตามเคสรายงานพบว่าบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลคนไข้ก็มีความเสี่ยงได้เพราะเคสที่จะมาถึงโรงพยาบาลมักจะเป็นเคสหนักเชื้อก็อาจจะเยอะ ดังนั้นเรายกระดับในการฝึกการใช้อุปกรณ์ในการป้องกันให้ได้ 100% โดยขณะนี้ทุกทีมทำงานหนักในการฝึกอบรมบุคลากรที่จะต้องดูแลคนไข้อย่างดีซึ่งเรามีเรื่องการสวมหน้ากาก การใส่อุปกรณ์ เรามีชุดป้องกันที่ดูดอากาศเข้าไปคล้ายชุดนักบินอวกาศ

โดยในส่วนของ รพ.จุฬาฯ มีบุคลากรนับ 100 คนในทุกระดับที่มีโอกาสจะเข้าไปสัมผัส ส่วนที่ผ่านมามีคนที่มาเดินเข้ามาตรวจอาการเอง 20-30 คนต่อวัน เราก็ทำการคัดกรองทราบผลภายในวันเดียว 24 ชม. แต่ที่ผ่านมายังไม่เคยเจอที่ติดเชื้อ อย่างไรก็ดีสำหรับห้องที่ปรับความดันภายในห้องให้เป็นลบ (Negative) รพ.จุฬาฯ มี 4 ห้อง แต่เราก็เตรียมจะเปิดเพิ่มหากมีเคสเยอะขึ้นซึ่งหากจะเพิ่มก็อาจจะอีกประมาณ 6 ห้อง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0