โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

หลุมดำแห่งความทรงจำสีส้มของกวีวัธน์ : ผู้เขียน ‘Tangerine’ 13 เรื่องรักใคร่ ที่มีใครเป็นส่วนเกินเสมอ

The101.world

เผยแพร่ 18 ต.ค. 2562 เวลา 13.36 น. • The 101 World
หลุมดำแห่งความทรงจำสีส้มของกวีวัธน์ : ผู้เขียน ‘Tangerine’ 13 เรื่องรักใคร่ ที่มีใครเป็นส่วนเกินเสมอ

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

กวีวัธน์ และ ธีรศานต์ วรรณมณี ภาพถ่าย

 

ว่ากันตามตรง วรรณกรรมที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างผู้ชายกับผู้ชาย น้อยยิ่งกว่าน้อย ถ้าไม่นับงานเขียนแนววาย ที่ส่วนมากเขียนโดยผู้หญิง ไม่ค่อยมีงานเขียนที่ส่งเสียงโดยผู้ชาย ที่เล่าถึงความรู้สึกของชาย-ชาย

ช่วงที่ผ่านมา รวมเรื่องสั้น Tangerine เปล่า เปลือง เชื่อง ช้ำ ปรากฏขึ้นมาในบรรณพิภพ เปิดอกชัดเจนว่าด้วยเรื่องราวของผู้ชายกับผู้ชาย ตัวหนังสือเขียนไว้ปกหลังว่า ’13 เรื่องรักใคร ที่มีใครเป็นส่วนเกินอยู่เสมอ’

เผชิญหน้ากับความทรงจำ ขุดหลุมดำที่ซ่อนอยู่บางแห่งในใจ

ที่ที่คุณเสียศูนย์ลอยเคว้งเพราะพ่ายแพ้ อ่อนแอกับการจากไป

เสียใจกับการจากมา ภาคภูมิกับความหาญกล้าที่จะไม่เกิดขึ้นอีก

และหัวเราะให้ความเชื่องเชื่อไร้เดียงสาของตัวเอง

ชื่อคนเขียนนามว่า ‘กวีวัธน์’ วางกะทัดรัดอยู่มุมขวาล่างของเล่ม เขาบอกว่าหนังสือเล่มแรกของเขาคือเรื่อง ภาวะของความเป็นเด็ก และความผิดพลาดจากความไร้เดียงสา

หวามไหว วูบหวิว และขวยเขิน คือความรู้สึกที่เกิดขึ้นตลอดการอ่านหนังสือเล่มนี้ ผ่านการบรรยายฉากที่ละเอียดในระดับปลายนิ้ว และบทสนทนาของตัวละครที่อาจเกิดขึ้นกับเราได้ทุกเมื่อ

กว่าครึ่งของเรื่องในเล่มนี้ กวีวัธน์เขียนตั้งแต่ช่วงปี 2553-2554 ใช้เวลาเกือบ 10 ปี กว่าจะได้รับการเรียบเรียง ขัดเกลา และปรับโฉมใหม่จนออกมาเป็นหนังสือเล่มเล็กแต่สะดุดตา

บทสนทนาถัดจากนี้ เก็บความจากสัมภาษณ์ในงานเปิดตัวหนังสือ เริ่มต้นจากร้านหนังสือที่กาญจนบุรี ลากยาวไปถึงแสงสีส้มที่เชียงใหม่ คุยชีวิต ถกงานเขียน และประเด็นที่ว่าด้วยหลุมดำในความทรงจำของชีวิต

 

*ก่อนที่จะมาเป็น Tangerine ก่อนหน้านี้สนใจการเขียนหนังสือได้อย่างไร *

เราชอบอ่านหนังสืออยู่แล้วตั้งแต่เด็ก พวกการ์ตูน นิยาย แต่จุดเริ่มต้นที่ทำให้ชอบอ่านงานวรรณกรรม มาจากตอนที่ที่บ้านไว้ใจให้เราใช้ชีวิตคนเดียว ทุกเสาร์อาทิตย์เราจะนั่งรถเมล์ไปเรียนพิเศษในตัวเมืองกาญจนบุรี ระหว่างทางที่เดินไปเรียนพิเศษ จะมีร้านหนังสือของจังหวัด จำได้เลยชื่อร้านหนังสือพันทาง เราก็จะเจอหนังสือที่ไม่ได้อยู่ในห้องสมุดหรือแบบเรียน มีหนังสือที่เราไม่คุ้นเยอะมาก เราก็ลองหยิบมาอ่าน ด้วยความที่ไม่ค่อยมีตังค์ เราก็เปิดอ่านที่ร้าน (หัวเราะ) อ่านศาลาคนเศร้า หรือหนังสือที่บางคนอาจจะไม่นับว่าเป็นงานวรรณกรรม เช่น หน้าปกเป็นคนขับรถชนกัน มีพาดหัวแปลกๆ ที่ดู cult แปลกดี ก็ลองอ่านดู

หลังๆ กลายเป็นหนีเรียนพิเศษ ไปยืนอ่านหนังสืออย่างเดียว พอถึงเวลาเราก็ไปห้องสมุดประชาชน ไปเจอวรรณกรรม อ่านทมยันตี อ่านนันทนา วีรชน จนสุดท้ายแม่ก็ยังเข้าใจมาตลอดว่าเป็นเด็กเรียนพิเศษ

 

มีนักเขียนคนไหนที่คุณรู้สึกว่าได้รับอิทธิพลมามากพอสมควร

ถ้าในเชิงจากการอ่านคือ อุษณา เพลิงธรรม ตอนแรกอ่านจันดารา เพราะดูหนังแล้วชอบ โป๊ดี ก็เลยตามไปอ่าน สมัยเรียนปริญญาโทที่คณะมนุษย์ฯ เชียงใหม่ ห้องสมุดมีหนังสืออุษณาครบทุกเล่ม ก็นั่งไล่อ่านจนครบ

อีกคนนึงก็คืออาจารย์อารยา (ราษฎร์จำเริญสุข) แต่รับมาในแง่วิธีคิด เพราะว่าเรียนกับเขาในวิชาการเขียน ตอนนั้นอาจารย์อารยาไปแสดงนิทรรศการที่เมืองนอกมา เขาก็เอาสไลด์มาเปิดให้ดู แล้วให้ลองเขียนวิจารณ์ศิลปิน อาจารย์บอกว่าให้เขียนแบบที่เธออยากเขียน ไม่ต้องเป็นบทความเท่านั้น อยากเขียนเป็นกลอนเปล่า เรื่องสั้นก็ได้ สนุกดี ทุกคนในคลาสก็เขียนไม่เหมือนกัน ถึงเวลาเขาก็เปิดขึ้นจอให้เพื่อนอ่าน ให้เพื่อนวิจารณ์ เป็นช่วงเวลาที่มีความสุข

 

มาถึงหนังสือเล่มแรกของคุณ Tangerine เปล่า เปลือง เชื่อง ช้ำ ที่พูดถึงความสัมพันธ์ชาย-ชาย ในขณะเดียวกันวรรณกรรมของไทยมีเรื่องชาย-ชาย ที่ไม่ใช่นิยายวาย แต่เป็นงานเขียนเรื่องชายรักชายโดยผู้ชายน้อยพอสมควร คุณคิดว่างานเขียนของตัวเองจะก้าวข้ามเส้นความเป็นส่วนตัวได้อย่างไรบ้าง คนอื่นที่ไม่ใช่ชายรักชายอ่าน จะเข้าถึงได้ไหม

ด้วยความที่บางเรื่องเขียนมานาน หรือเพิ่งจะมาได้รับการอีดิต ก็จะมีมุมที่พอมองย้อนกลับไป เราก็ไม่ได้มองตัวเองเป็นนักเขียนเต็มตัวร้อยเปอร์เซ็นต์ บางทีเราก็ตั้งคำถามกับเรื่องที่เราเขียนในมุมที่เราเป็นนักอ่านด้วย

แต่คำถามก็คือ ถ้าคนที่ไม่ได้เป็นชายรักชายอ่านจะรู้สึกกระอักกระอ่วนมั้ย อันนี้เราไม่สามารถตอบแทนนักอ่านได้ แต่ส่วนตัวรู้สึกว่า หนังสือเล่มนี้มีภาวะบางอย่างของความเป็นเด็ก ความไร้เดียงสา คนไม่ว่าเพศไหนก็ตามจะมีการตัดสินใจที่ไม่รู้หรอกว่าทำไปด้วยความรู้สึกอะไรอย่างแท้จริง แต่เราจะมารู้ตอนโตขึ้นว่าที่เราทำตอนเป็นเด็กคือสิ่งนี้นะ มันเกิดผลกระทบอะไร ทำให้เกิดภาวะอะไรตามมาหลังจากนั้น

ดังนั้นสิ่งที่นอกเหนือจากความเป็นเพศ ก็คือภาวะของช่วงเวลาไร้เดียงสาของความเป็นเยาว์วัย ที่สร้างความทรงจำให้คนคนหนึ่งได้ เพศไหนก็เกิดขึ้นได้เหมือนกัน

 

แม้คุณจะบอกว่าเป็นเรื่องความไร้เดียงสา ความสัมพันธ์ แต่ในหลายเรื่องก็มีการใส่ตัวเลข พ.ศ. ที่เกิดเหตุการณ์ทางการเมืองด้วย เช่น ปี 2535 หรือ 2553 ตั้งใจจะบอกอะไรจากตัวเลขเหล่านี้

ตอนปี 2535 ผมอายุ 5 ขวบ ในเล่มจะมีเรื่องหนึ่งชื่อ ราวเวลาไม่มีอิทธิพลพอจะพรากสิ่งนี้ไป พูดถึงเด็กอายุ 7 ขวบที่เพิ่งผ่านเหตุการณ์ปี 35 มาได้แค่ 2 ปี แล้วมีการรำลึก เราก็รู้สึกว่าตอนที่เรา 7 ขวบ เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นบ้าง เราทัน แต่ไม่เคยจดจำอย่างชัดเจน เพราะเรายังเป็นเด็ก มารู้ตอนที่โตขึ้นว่าตอน 5 ขวบเกิดเหตุการณ์แบบนี้นะ น่าจะหยิบเข้าไปใส่ในเรื่อง เพราะเป็นช่วงเวลาหนึ่งของชีวิตเรา

หรือในเรื่อง ในส่วนที่เงียบที่สุดของโลก เราร่วมรักกัน เป็นความตั้งใจแต่แรกว่าจะผสมทุกอย่างที่อยากจะเขียน ทั้งเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างชายสองคน เรื่องการเมืองปี 53 เราควรที่จะบันทึกเอาไว้ จะเป็นยังไงถ้าเหตุการณ์ทางการเมืองถูกบันทึกเอาไว้ในหนังสือที่เขียนถึงผู้ชายสองคนกำลังจะมีความสัมพันธ์กัน

แต่ถ้ามาอยู่ในยุคนี้ แอพฯ อย่างจอยลดามีนิยายที่พูดถึง 6 ตุลาฯ น่าจะเล่นไปไกลกว่าของผมด้วยซ้ำ ในทางหนึ่งเราอยากจะดึงการเมืองมาให้อยู่ในบริบทที่เชื่อมกับสิ่งที่เราสนใจ

 

*คนอ่านเห็น พ.ศ. ก็จริง แต่เรื่องการเมืองก็ไม่ได้ชัดขนาดนั้น เป็นความตั้งใจว่าจะซ่อนเอาไว้บางๆ ? *

ถูก เหมือนพยายามเจือจางมัน แต่ถ้าอ่านอย่างละเอียด จับทุกตัวอักษร ก็จะมีประเด็นที่มานั่งวิเคราะห์ได้ อย่างใน ราวเวลาไม่มีอิทธิพลพอจะพรากสิ่งนี้ไป พูดถึงช่วงหลังปี 2535 เป็นเรื่องของเด็กกับผู้ใหญ่ เป็นเรื่องของอำนาจอีกแบบที่ผู้ใหญ่ส่งผ่านมาให้เรา โดยเด็กคนนั้นไม่มีทางรู้หรอกว่าที่กำลังรับมา ไม่ใช่ความงดงามที่เด็กคนหนึ่งจะต้องโอบอุ้มเอาไว้ เป็นภาวะที่เด็กคนหนึ่งไม่น่าจะเจอด้วยซ้ำ

 

 

*สิ่งที่เด่นชัดในงานเขียนชิ้นนี้คือการเอาความทรงจำพร่าเลือนมากางให้เห็นต่อหน้า แล้วพอเราต้องเผชิญหน้ากับความทรงจำของตัวละคร ให้ความรู้สึกว่ามันเขินจังเลย อยากหลบสายตากับความทรงจำนี้มาก สิ่งนี้เป็นความตั้งใจของคุณหรือเปล่าที่จะกางหลุมดำในใจคนให้ผู้อ่านได้เห็นชัดๆ *

ไม่รู้ตัวเองตั้งใจตอนเขียนมั้ย แล้วก็ไม่รู้เทคนิคตัวเองด้วยว่าสิ่งที่เขียนเป็นสไตล์ไหน แต่ตอนที่เคยคุยกับ บ.ก. เขาก็จะบอกว่า พารากราฟนึงของเรา ตัวละครคุยกัน แล้วก็ตัดไปที่อื่น เป็นซีนของสี ต้นไม้ ทะเล ภูเขา พวกบรรยากาศรอบข้าง ถ้าใครเคยดูหนังของโรเบิร์ต อัลท์แมน เรารู้ว่าตัวละครพูดเรื่องอะไร เขาไม่ได้ถ่ายคุณกับผมคุยกัน แต่เราจะได้ยินเสียงของคนรอบข้างพูดถึงคุณกับผม ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าวิธีการนี้มาสิงตอนไหนตอนที่เขียน มาค้นพบตอนช่วงอีดิตท้ายๆ

มีเรื่อง ระหว่างเดินทางไกลครั้งสุดท้าย ที่ไม่มีพาร์ทของการบรรยายเลย เป็นตัวละครคุยกันล้วนๆ แล้วก็ได้รับคำแนะนำว่า ควรเพิ่มอะไรหน่อยมั้ย เราก็มานั่งคิดว่าจะเพิ่มยังไงดี เพราะตอนเขียน เราต้องการเน้นไปที่การคุยกัน สักพักหนึ่งเราก็รู้สึกว่า ถ้าเราใส่ฉาก บรรยายอย่างละเอียดลออ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ละเอียดถึงขั้นเห็นรายละเอียดของพื้น แต่คือสิ่งที่เพียงแค่ผ่านตา แล้วเราจะบรรยายออกมาได้ขนาดไหน

ผมเคยไปอบรมการทำหนัง ผู้กำกับหนังบอกว่า ไม่ได้สอนให้เราทำหนัง แต่เขาไล่ให้ผมไปนั่งตรงข้างจิม ทอมป์สัน ให้ไปนั่งฟังเสียงเรือแล้วเขียนออกมา แต่เราไม่ได้ยินแค่เสียงเรือแน่นอน ต้องมีคนมาคุยข้างหลัง มีคนเดินผ่านหน้าเรา เราเห็นบ้านฝั่งตรงข้ามกำลังทำนู่นทำนี่ เราก็เขียนออกมา กลายเป็นว่าเราจำแล้วเอามาใช้จนออกมาเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น คือมีความชิดใกล้มากๆ แต่เป็นความชิดใกล้ที่ไม่ได้เห็นทุกรายละเอียด

 

พอพูดถึงเรื่องเทคนิคการเขียน มีสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือเรื่อง ‘กลิ่น’ ในเล่ม เช่น กลิ่นเหงื่อผสมสบู่ตรานกแก้ว ทำไมไม่เป็นกลิ่นน้ำหอมจากฝรั่งเศส

เพราะไม่เคยดมน้ำหอมฝรั่งเศส (หัวเราะ) น่าจะเป็นประสบการณ์ตัวเองด้วยแหละ เราเติบโตมากับการใช้สบู่ตรานกแก้วสีเขียว หรือโตมากับย่าที่บอกให้เราไปซื้อแฟ้บ แต่จริงๆ แล้วเขาต้องการบรีสเอกเซล หรือเราโตมากับผู้ชายที่เอาเหรียญเหน็บหู คือเราจำได้ ไม่รู้จำทำไม ไม่ได้เป็นรายละเอียดที่สำคัญด้วยนะ จนจุดประกายเอามาเขียนในเรื่องนึง เขียนถึงผู้ชายที่เอาเหรียญเหน็บหู

 

ขยับมาที่เรื่องตัวละคร ตัวละครหลักมักจะเป็นหนุ่มน้อยหน้ามน รุ่นน้อง ใสๆ แต่ตัวละครอีกฝ่ายก็จะมีความเข้ม ตัวสูง สิ่งนี้ยิ่งเป็นการตอกย้ำภาพของชายรักชาย หรือการที่ต้องมีคนอ่อนแอกว่าหรือแข็งแรงกว่ารึเปล่า

ที่ตัวละครออกมาแบบนั้น เราอิงกับตัวเอง พูดอย่างยอมรับร้อยเปอร์เซ็นต์คือภาพจำของเรากับสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวละคร เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยตัวละครแบบนั้นจริงๆ หมายถึงตัวละคร บรรยากาศ สภาวะแวดล้อมของตัวละคร ก็คือคนที่ปิดบัง ไม่สามารถบอกใครได้ว่าฉันมีรสนิยมทางเพศแบบนี้ รูปลักษณ์เป็นชายแท้ แสดงออกถึงความเป็นชายมากๆ

พอเรารู้สึกว่าในแง่ของความเป็นคู่ตรงข้าม ในแง่ตัวละครที่จะเข้ามาทำให้เรื่องปั่นป่วน จะต้องเป็นเด็กที่จริงๆ ไม่ได้ไร้เดียงสา สุดท้ายก็จะยอมรับว่าทำทีเป็นไร้เดียงสา มันแอบร้าย มีความหยิ่งผยองในความไร้เดียงสาว่าฉันสามารถควบคุมบางอย่างได้ และถึงขั้นที่จะควบคุมอีกฝ่ายได้ แต่สุดท้าย คุณก็เป็นคนที่แพ้อย่างหมดรูปอยู่ดี เพราะสุดท้ายเขาก็จะไม่ได้ปฏิบัติกับคุณเพื่อเอาคุณออกหน้าออกตา เขาก็จะมองคุณเป็นเด็กที่ผ่านเข้ามาในชีวิตช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น

ในปัจจุบัน ถึงแม้ว่าความคิดในประเด็นชายรักชายจะหลากหลาย ไม่ได้ตีกรอบว่าคนประเภทนี้จะเป็นรุกหรือรับ ตอนที่เราโตมา เรารู้จักคำว่าเกย์ ช่วงอยู่ ม.3-4 ตอนที่เรากำลังสำรวจตัวเอง ไม่ได้มีคนมาอธิบายหรอกว่า การเป็นชายรักชายจะต้องไม่มีแบบแผนใดๆ แต่เราไปยึดติดเอาเองว่า คนที่เป็นแบบนี้เขาจะต้องเป็นรุกนะ คนที่เป็นแบบนี้เขาจะต้องเป็นรับนะ

แม่ก็เคยมาถามว่าเราอยากเป็นผู้หญิงเลยมั้ย ตอนเราเป็นเด็ก เราขโมยลิปสติกแม่มาทาจริง แต่ว่าตอนนั้นน่ะเราแค่ 6 ขวบ แต่พอโตมา เราไม่อยากเป็นแบบนั้นแล้ว ไม่ได้อยากผมยาว ไม่ได้อยากกินฮอร์โมน ไม่ได้อยากกินยาคุมเพื่อที่จะทำให้ตัวเราเล็ก แต่เราชอบที่เราเป็นอย่างนี้ แค่เราไม่สามารถจะแต่งงานกับผู้หญิงได้ เป็นครั้งแรกที่พูดกับที่บ้าน

เรามีภาพจำที่เกิดขึ้น โตมากับคำว่ากะเทย ที่สุดทางอีกแบบนึงไปเลย หรือทอมก็ต้องพูดฮะตลอดเวลา แต่เราก็มาค้นพบตอนโตขึ้นว่าก็จะมีทอม เกย์ เลสเบี้ยน อีกหลายแบบ ที่เขาก็เป็นแบบนี้ ใช้ชีวิตปกติทั่วไป

 

**ตอนนั้นรู้ด้วยตัวเอง หรือไปอ่าน ไปเห็นอะไรมา

เราเริ่มเบื่องานวรรณกรรม เลยไปซื้อหนังสือรวมดาราผู้ชายฮอลลีวู้ดที่ฮอตๆ มาดู เขาก็จะเขียนเลยว่า ที่ฮอตเพราะเล่นเรื่องไหนบ้าง เราก็จำเลยว่า ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ เคยเล่นบทเกย์ เราก็อ๋อ มันมีคำว่าเกย์ ก็ตามดูหนังพวกนั้น เกย์ก็ไม่ได้แตกต่างจากผู้ชายทั่วไป แค่เป็นรสนิยมทางเพศของเขา นี่คือสิ่งที่ทำให้เราค้นพบ

 

จากทั้งหมดที่คุยกันมา ถ้าให้คุณมองงานตัวเอง จะนิยามงานตัวเองเป็นแบบไหน

จริงๆ ถามตัวเองเยอะ ซึ่งเราก็ไม่เคยให้คำตอบตัวเองได้ขนาดนั้น เพราะเรามองว่ามันคืองานเขียนชิ้นแรก เราไม่รู้ว่าสุดท้ายแล้ว อาจจะเป็นงานเขียนชิ้นเดียวในชีวิตก็ได้ โตกว่านี้ค่อยมานั่งตอบคำถามว่าที่เราเขียนอยู่คืออะไร สุดท้ายแล้วเรายังไม่ได้ตกตะกอนในความรู้สึกว่าฉันจะเอางานตัวเองไปวางในจุดไหน ในตะกร้าใด เราแค่ต้องการบันทึกช่วงเวลาหนึ่งที่เราประสบมาในชีวิต

ในอนาคต เราก็ไม่รู้ว่าจะเขียนได้แบบนี้มั้ย พอหนังสือออกไปแล้วกลับมาอ่าน บางอันเราก็รู้สึกว่าเขียนมาได้ไง

 

หมายถึงเขียนดีมาก ?

ไม่ คือมันน่ารำคาญ ทำไม move on ไม่ได้ มีนักอ่านทักมาถามว่า move on ได้ยังครับ ผมก็บอกว่า move on ได้นานแล้ว

Tangerine คือความคิดของคนหลายคนที่รู้สึกว่ายัง move on ไม่ได้นั่นแหละ มีหลุมดำบางอย่างอยู่ ตอนนี้ก็ยังอยู่แหละ เพียงแต่เราไม่เดินเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในนั้น บางทีอาจจะแค่ชะโงกดูแล้วกลับไปใช้ชีวิต หรือบางทีเอาเท้าไปแตะๆ นิดนึงให้สนุกกับชีวิตขึ้นมา

 

คนอ่านหลายคนบอกว่าสิ่งที่โดดเด่นอย่างหนึ่งในงานชิ้นนี้ คือเรื่อง ‘ความเป็นอื่น’ คุณมองเรื่องนี้อย่างไร

ตอนยังเด็ก เราอินกับความเป็นครอบครัวในระดับหนึ่ง แต่บางอย่างก็ไม่อิน เรารู้สึกว่าไม่มีพื้นที่ใดที่เราจะแสดงความเป็นตัวเองได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ใน Tangerine ตัวละครเด็กต้องการพื้นที่บางอย่าง ไม่ใช่อาณาบริเวณด้วยซ้ำ อาจจะเป็นแค่บ้านหนึ่งหลัง ต้นไม้หนึ่งต้น รถหนึ่งคัน หรือทะเลสักที่ ที่ทำให้ตัวละครนั้นรู้สึกว่าฉันเป็นตัวเองได้

แต่ถ้าพูดในแง่คนเขียน ด้วยความที่ไม่ได้รู้สึกกับความเป็นครอบครัวมากขนาดนั้น ไม่ได้รู้สึกว่าสิ่งที่เคยอยู่คือภาพความทรงจำของเรา เรารู้สึกว่าสิ่งที่เคยอาศัยเป็นภาพของคนแปลกหน้าที่เข้ามาหาเรา ดังนั้นถ้าเราจะเขียนมันออกมา ก็ต้องมีตัวละครของความแปลกหน้าอยู่ในนั้นด้วย

 

สุดท้าย ทำไมจึงเลือกใช้สีส้มแทนความหมายของเรื่อง

เราชอบสีส้ม ชอบมองพระอาทิตย์ตกตั้งแต่เด็กๆ ไม่รู้เป็นอะไร ถ้าใครเป็นเฟรนด์ในเฟซบุ๊กยิ่งจะเห็นว่า ช่วงอยู่เชียงใหม่ ถ้าพระอาทิตย์ตกสวยๆ เราจะถ่ายตลอดเวลา ถ่ายแล้วถ่ายอีก ถ่ายอยู่นั่น ช่วงพระอาทิตย์ตกเป็นช่วงเวลาที่ก้ำกึ่งระหว่างการที่จะกลับไปสู่พื้นที่ของเรา แต่ขณะเดียวกันเราก็ไม่รู้หรอกว่าพื้นที่นั้นยังเป็นของเราอยู่มั้ย แล้วฉากในเรื่องโดยส่วนใหญ่ เป็นฉากช่วงเวลาเย็น ช่วงเวลาพระอาทิตย์ตก หรือช่วงเวลาที่แดดเป็นสีส้ม แดดผีตากผ้าอ้อม

เหมือนรอยต่อของช่วงเวลา บางคนเลิกงานเพื่อจะกลับบ้าน บางคนเลิกเรียนเพื่อจะกลับบ้าน บางคนกำลังจะออกไปข้างนอก แต่ขณะเดียวกันก็ถูกอธิบายว่าความมืดที่กำลังจะเกิดขึ้นคือความอันตราย สำหรับเรา สีส้มคือสีที่อธิบายช่วงเวลานั้นได้ดีที่สุด

 

ภาพถ่ายโดย ธีรศานต์ วรรณมณี

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0