โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ส่องฟินเทคอาเซียน ตลาดที่มีแต่โต

Money2Know

เผยแพร่ 18 ก.ค. 2562 เวลา 03.10 น. • money2know - เงินทองต้องรู้
ส่องฟินเทคอาเซียน ตลาดที่มีแต่โต

กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตในเอเชียอาคเนย์ ประกอบกับแรงจูงใจจากภาครัฐ และระบบนิเวศที่เอื้อต่อสตาร์ทอัพ ดึงดูดบรรดาบริษัทฟินเทคให้เข้ามาสู่ภูมิภาค โดยบริษัทเหล่านี้เข้ามานำเสนอเงินกู้ แพลทฟอร์มชำระเงิน และบริการอื่นๆ แก่ผู้ที่ไม่มีบัญชีธนาคาร และกลุ่มที่มีบัญชีแต่ยังนิยมใช้เงินสดหรือเช็คเงินสด

รายงานของ CB Insights ระบุว่ามีประชากรวัยผู้ใหญ่เพียง 47% ในภูมิภาคนี้ ที่มีบัญชีธนาคาร และธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เพียง 1 ใน 3 สามารถเข้าถึงเงินกู้หรือสินเชื่อ ทั้งนี้เป็นข้อมูลเมื่อปี 2561

ขณะเดียวกัน การสำรวจเมื่อเร็วๆ นี้ของธนาคารกลางฟิลิปปินส์ พบว่าประชาชน 77% ไม่มีบัญชีธนาคาร ส่วนผู้ที่ไม่มีบัญชีธนาคารในเวียดนามมีจำนวน 65% และอินโดนีเซียมี 52%

ฟินเทค หรือเทคโนโลยีการเงิน เข้ามาเติมเต็มในส่วนของนวัตกรรม ความสะดวก และการเข้าถึงบริการการเงิน ด้วยการเน้นบริการที่มุ่งไปที่ผู้บริโภค,การให้ข้อมูลแบบเรียลไทม์, การลดต้นทุนให้ต่ำ และความปลอดภัย

ภูมิทัศน์ด้านการชำระเงินในภูมิภาคเปลี่ยนแปลงไปมาก ผลจากการเข้าถึง mobile banking, แอป wallet และการชำระเงินบนมือถือ สัดส่วนของผู้ที่ใช้บริการเหล่านี้เพิ่มจำนวนขึ้น โดยอัตราการเพิ่มในอินโดนีเซียและเวียดนามมีถึง 7 เท่า

บรรดายูนิคอร์นทุนหนา อย่าง Grab และ Go-Jek มีส่วนช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของฟินเทคในเอเชียอาคเนย์ ยูนิคอร์นทั้งสองขยายจากบริการเรียกรถไปเสนอบริการการเงินให้แก่ลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นการสร้างผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ การเข้าถือครองฟินเทคที่มีอยู่ หรือการเป็นพันธมิตรกับหุ้นส่วนฟินเทคใหม่ๆ โดยเมื่อปีที่แล้ว Go-Jek ได้เปิดตัว Go-Pay หรือบริการ e-wallet ด้วยการจับมือกับผู้ค้าเกือบ 400,000 แห่ง ซึ่งปลายปีที่แล้วมูลค่าธุรกรรมผ่านแอปดังกล่าวมีมากกว่า 6,000 ล้านดอลลาร์

ล่าสุด Experian ผู้นำด้านบริการข้อมูล ได้ลงทุนใน Grab เพื่อให้ผู้ไม่มีบัญชีธนาคารในภูมิภาคนี้ได้เข้าถึงบริการการเงินมากขึ้น

เมื่อปีที่แล้วเงินทุนที่ไหลเข้าสตาร์ทอัพฟินเทคทั่วเอเชียอาคเนย์ ทะยานขึ้น 143% จากปีก่อน และมีจำนวนมากเป็นประวัติการณ์ 458 ล้านดอลลาร์ นักลงทุนรายใหญ่ๆ มาจากประเทศเพื่อนบ้านในเอเชีย อย่าง Ant Financial ของจีน และ SoftBank ของญี่ปุ่น

รายของ Ant Financial กำลังสยายปีกด้วยการจับมือกับบริษัทท้องถิ่นเพื่อขยายบริการ mobile payment อย่าง Dana จากอินโดนีเซีย และ Pi Pay ในกัมพูชา นอกจากนั้น เมื่อต้นปีนี้ Ant Financial ยังลงทุน 40 ล้านดอลลาร์ใน Akulaku ซึ่งเป็นแพลทฟอร์มอีคอมเมิร์ซและชำระเงินของอินโดนีเซีย ที่ให้บริการลูกค้าในอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และมาเลเซีย

ส่วนเมื่อปีที่แล้ว Modalku ซึ่งเป็นแพลทฟอร์มปล่อยกู้ในอินโดนีเซีย สามารถระดมทุนมาได้ก้อนใหญ่ที่สุดในเอเชียอาคเนย์สำหรับแพลทฟอร์ม P2P หรือการกู้ยืมเงินระหว่างบุคคลต่อบุคคลผ่านระบบออนไลน์และไม่ผ่านตัวกลาง ด้วยเงินทุน 25 ล้านดอลลาร์จาก SoftBank Ventures Korea

อีกบริการที่บรรดาบริษัทฟินเทคนำเสนอ คือเงินกู้ระยะสั้นสำหรับเจ้าของธุรกิจ, เอสเอ็มอี และวิสาหกิจรายย่อยที่จ้างงานไม่เกิน 5 คน (micro SMEs) หลังจากเอสเอ็มอีในเอเชียอาคเนย์ 30% เข้าถึงเงินกู้หรือสินเชื่อได้อย่างจำกัด อันส่งผลต่อเนื่องถึงการขยายบริษัทภายในเวลาอันรวดเร็วและอย่างมีประสิทธิภาพ ซีอีโอบริษัท Aspire แห่งสิงคโปร์ที่นำเสนอเงินกู้โดยตรงแก่เอสเอ็มอี บอกว่ามีธุรกิจในเอเชียอาคเนย์ถึง 78 ล้านแห่ง ซึ่งมากกว่าสหรัฐถึงกว่า 3 เท่า

การลงทุนด้านฟินเทคในเอเชียอาคเนย์ที่ได้แรงขับจากศักยภาพของตลาด น่าจะมีช่องทางเติบโตอีกมาก ในช่วงที่เศรษฐกิจที่อิงกับอินเทอร์เน็ตกำลังขยายตัวในเอเชียอาคเนย์ อันจะผลักดันให้ความต้องการบริการการเงินที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว มีมากขึ้น ดังนั้น ฟินเทคที่ปรับตัวให้เข้ากับความต้องการของลูกค้าและปรับบริการให้เหมาะกับแต่ละตลาด ย่อมได้เปรียบ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0