โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ส่องทุกมุม 'ดิจิทัล สโตร์' ครั้งแรกในธุรกิจค้าส่งประเทศไทย Big Move รอบ 30 ปี ของแม็คโคร

Brandbuffet

เผยแพร่ 20 ก.ค. 2562 เวลา 02.22 น. • Brand Move !!

เปิดให้บริการสาขาล่าสุด ลำดับที่ 129 ด้วยคอนเซ็ปต์แม็คโคร ฟู้ดเซอร์วิส ที่ลาดกระบัง และถือเป็นสาขานำร่องในการเป็นดิจิทัล สโตร์ แห่งแรกของแม็คโคร รวมทั้งในธุรกิจค้าส่งและบริการด้านฟู้ดเซอร์วิสในประเทศไทย เพื่อให้เป็นต้นแบบห้างค้าส่งอัจฉริยะ ที่ใช้เวลาในการพัฒนาและก่อสร้างมากว่า 1 ปี ด้วยการนำ AI รวมทั้งอุปกรณ์ดิจิทัลและเทคโนโลยีถึง 32 ประเภท เพื่อการทำงานที่เชื่อมต่อกันทั้งพนักงาน คู่ค้า และลูกค้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทั้งการทำงาน และบริการที่ดีขึ้น ความสามารถในการประหยัดพลังงาน รวมทั้งประสิทธิภาพในการทำธุรกิจของกลุ่มลูกค้าและผู้ประกอบการได้ดีมากขึ้น

คุณศิริพร เดชสิงห์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการสื่อสารองค์กร บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การนำร่องพัฒนาดิจิทัล สโตร์แห่งแรกของแม็คโครในครั้งนี้ นับเป็นหนึ่งใน Big Move  ของแม็คโครในรอบ 30 ปี เพื่อให้สามารถตอบสนองไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงไป และพร้อมสำหรับการเป็นศูนย์ธุรกิจค้าส่งแห่งอนาคต และเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของธุรกิจค้าส่งที่ขับเคลื่อนเทคโนโลยีด้วยนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ ที่ไม่เพียงช่วยให้การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าถูกต้องและแม่นยำมากขึ้น แต่ยังช่วยให้ ลูกค้าจับจ่ายได้อย่างสะดวกและรวดเร็วมากที่สุด

“ความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของแม็คโคร ซึ่งโฟกัสที่ธุรกิจในกลุ่ม B2B ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการในธุรกิจโฮเรก้า ร้านอาหาร หรือบริการจัดเลี้ยงต่างๆ ความต้องการและความคาดหวังในการมาช้อปปิ้งแต่ละครั้ง จึงแตกต่างจากกลุ่มลูกค้า B2C ดังนั้นการพัฒนาดิจิทัลในแม็คโครจึงต่างจากศูนย์การค้าทั่วไป เนื่องจาก ลูกค้าทั่วไปอาจให้ความสำคัญกับ Shopping Experience ขณะที่กลุ่มลูกค้าแม็คโครจะคาดหวังความครบถ้วนของสินค้า การให้บริการที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เพราะการมาห้างแต่ละครั้งของลูกค้า B2B ไม่ต่างกับการมาทำงาน มาเพื่อซื้อของเข้าสต็อก เมื่อมาแต่ละครั้งจึงต้องได้ของครบ เพราะบางคนไม่ได้มาบ่อย ต้องปิดร้านหรือทิ้งธุรกิจที่ต้องดูแลอยู่ ทำให้ต้องรีบมา รีบกลับ ไม่ใช่มาเดินเที่ยวเล่น ​ดิจิทัล สโตร์ของแม็คโคร จึงถูกพัฒนาขึ้นเพื่อโฟกัส Productivity และ Efficiency ของธุรกิจเป็นหลัก รวมทั้งความพึงพอใจทั้งของลูกค้า พนักงาน รวมทั้งซัพพลายเออร์ที่ดีมากยิ่งขึ้นนั่นเอง”​

*สร้างต้นแบบห้างค้าส่งแห่งอนาคต *

สำหรับการลงทุนในสาขานี้ ใช้งบราว 200 ล้านบาท โดยงบกว่า 13% หรือ 26 ล้านบาท สำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีรวมทั้งอุปกรณ์ดิจิทัลที่เพิ่มมาจากสาขาอื่นๆ จำนวน 32 รายการ เพื่อเพิ่มศักยภาพของธุรกิจ และประสิทธภาพในการทำงานของพนักงาน รวมทั้งช่วยลดการใช้พลังงาน และลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม อาทิเช่น

เพิ่มประสิทธิภาพในการบริการลูกค้า เช่น การติดตั้งกล้อง AI อัจฉริยะ จำนวน 25 ตัว ในพื้นที่ 20% ของพื้นที่ขาย เพื่อความสามารถในการมอนิเตอร์สินค้าขาดสต๊อก และเติมสินค้าให้เพียงพอต่อการซื้อตลอดเวลา หรือ การมีระบบคิวบัสเตอร์ เสริมทีมผู้ช่วยให้ชำระเงินได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น เพราะพฤติกรรมลูกค้าแม็คโครที่การซื้อต่อครั้งค่อนข้างมาก ไม่ต่ำกว่า 10 รายการต่อครั้ง ทำให้ใช้เวลาในการชำระสินค้าแต่ละครั้งค่อนข้างนาน

ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการในสาขา เช่น การมีป้ายราคาอัจฉริยะ ที่สามารถเปลี่ยนสินค้าทั้งร้านที่มีกว่า 8 พันรายการ ได้ภายใน 40 วินาที ทุกๆ ครั้งที่มีข้อมูลใหม่ๆ หรือมีระบบทำความเย็นอัตโนมัติและตรวจจับความร้อน เพื่อรักษาอุณหภูมิและคุณภาพของสินค้าได้ดียิ่งขึ้น

การประหยัดพลังงานและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมในระยะยาว เช่น การผลิตไฟฟ้าจากการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ในสาขา ทำให้ช่วยลดพลังงานและประหยัดค่าไฟลงได้กว่า 35%, ​การมีหน้าจอแสดงความสามารถในการลดการใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสาขา, มีจุดบริการชาร์ตรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้ลูกคาที่หันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งการอบรมพนักงานทุกคนในสาขา ให้มีความเข้าใจและเชียวชาญการใช้เทคโนโลยีต่างๆ อย่างเชี่ยวชาญ เพื่อให้คำแนะนำแก่ลูกค้าเพื่อให้มีความคุ้นเคยและสามารถใช้เทคโนโลยีต่างๆ เหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ทางแม็คโคร คาดหวังศักยภาพที่เพิ่มขึ้นของสาขาลาดกระบัง ในฐานะดิจิทัล สโตร์ สาขาแรกไว้เบื้องต้นว่า ประสิทธิภาพต่างๆ ในภาพรวม ทั้งจำนวนสินค้าขาดสต็อกต้องลดลง ประสิทธิภาพที่จะให้บริการได้เร็วขึ้น ลูกค้าพึงพอใจมากขึ้น หรือยอดขายหรือจำนวนลูกค้าที่จะเข้ามาใช้บริการเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งมาบ่อยขึ้น จะขยับสูงกว่าเดิมราว 5% รวมทั้งจะดูผลตอบรับจากสาขนแรกนี้ก่อนราว 6-10 เดือน เพื่อที่จะประเมินผลและเป็นข้อมูลในการพัฒนาดิจิทัล สโตร์ ในสาขาอื่นๆ เพิ่มเติมตามาในอนาคต

“แม็คโคร มีเป้าหมายในการพัฒนาธุรกิจเพื่อให้ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าธุรกิจ B2B ที่มีความทันสมัยมากขึ้น โดยเฉพาะการทำความเข้าใจ Painpoint และอินไซต์ของกลุ่มเป้าหมายอย่างถ่องแท้ และสามารถตอบโจทย์ทุกความต้องการในฐานะ คู่คิดทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการด้วยการมีสินค้ารองรับได้ทุกความต้องการ ในคุณภาพและราคาที่สมเหตุสมผล”​

ไตรมาสแรกยังเติบโตได้กว่า*7% *

สำหรับผลประกอบการของแม็คโครในไตรมาสแรกที่ผ่านมานั้น ยังคงทำยอดขายเติบโตได้ที่ 7.5% ด้วยมูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มียอดขาย 4.7 หมื่นล้านบาท โดยปัจจัยการเติบโตมาจาก ความสามารถในการขยายสาขาใหม่ตามเป้าหมายที่วางไว้มาตั้งแต่ต้นปี โดยเฉพาะในต่างประเทศที่มีการเปิดสาขาในกัมพูชาและอินเดีย ส่วนสาขาใหม่ในไทยแม้ไม่มีการขยายเพิ่มในไตรมาสแรก แต่ในไตรมาสสองนี้จะทยอยเปิดต่อเนื่อง โดยหลังจากเปิดแม็คโคร ลาดกระบังแล้ว โลเกชั่นที่จะเปิดตามมาเป็นสาขาลำดับที่ 130 คือ สาขานาทองเจริญ ที่ อ.ลำลูกกา ปทุมธานี ซึ่งเตรียมเปิดให้บริการในเร็วๆ นี้ ส่วนในสาขาเดิมยังรักษายอดเติบโตของ Same Store ไว้ได้ที่กว่า 4% รวมทั้งจากการเติบโตของธุรกิจฟู้ดเซอร์วิสเอง

ในส่วนของพื้นที่ขายรวมของบริษัท สยามแม็คโคร ในปัจจุบันมีรวมกว่า 7.72 แสนตารางเมตร จากจำนวนสาขารวม 129 แห่งในประเทศ  ในคอนเซ็ปต์แม็คโคร คลาสสิก 79 แห่ง, แม็คโคร ฟูดเซอร์วิส 25 แห่ง, แม็คโคร อีโค พลัส 13 แห่ง แม็คโคร ฟู้ดช้อป 5 แห่ง และร้านสยามโฟรเซ่น 7 แห่ง รวมทั้งสาขาในต่างประเทศอีก 5 แห่ง และยังมีร้านค้าอย฿ในธุรกิจกลุ่มฟู้ดเซอร์วิสอีก 1 แห่ง

ขณะที่สาขาล่าสุดอย่าง แม็คโคร ฟู้ดเซอร์วิส ลาดกระบังนั้น ถือเป็นดิจิทัลสโตร์แห่งแรกของธุรกิจค้าส่งในประเทศไทย โดยเทคโนโลยีต่างๆ ​วางระบบเป็น Agile Ecosystem ที่สามารถปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมได้ตลอดเวลา เพื่อให้ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าได้อยางสูงสุด ​มีพื้นที่โดยรวม 6,700 ตารางเมตร พื้นที่เฉพาะในส่วนอาคาร 2,600 ตารางเมตร และพื้นที่ขายรวม 1,900 ตารางเมตร ส่วนความล้ำสมัยของแม็คโคร ฟู้ดเซอร์วิส สาขาลาดกระบัง ในฐานะดิจิทัล สโตร์ แห่งแรกของธุรกิจค้าส่งในประเทศไทย จะมีอะไรน่าสนใจบ้างนั้น ไปส่องกันเลย

สื่อโฆษณาดิจิทัลในสาขาเต็มรูปแบบ : ทั้งทีวีแอลอีดี ทางเข้าสาขาบอกโปรโมชั่น แม็คโครเมลล์, แอลอีดีอัพเดท แจ้งโปรโมชั่นต่างๆ แผนผังสโตร์ค้นหาตำแหน่งสินค้า, ดูการทำอาหารเมนูต่างๆ ในแผนกอาหารสด,​ป้ายโปรโมชั่นอัอจฉริยะบอกราคา สแกนได้ทั้ง QR Code, ตรวจสอบย้อนกลับ แทรกหนังโฆษณา, ดิจิทัลเช้ลฟ์ทอล์กเกอร์ เพื่อบอกโปรโมชั่นทั้งของแม็คโครและคู่ค้า รวมทั้งป้ายโฆษณาดิจิทัลจุดชำระเงิน

คิวบัสเตอร์ (Queue Buster) : หากแถวชำระเงินยาว พนักงานที่มีเครื่องหมาย Q Buster จะนำเครื่องสแกนเนอร์ประจำตัวมาช่วยสแกนบาร์โค้ดสินค้าต่างๆ พร้อมทั้งบันทึกรายการสินค้าไว้ที่หมายเลขบัตรสมาชิก เมื่อถึงคิวชำระเงินก็ยื่นบัตรพร้อมสำหรับคิดเงินได้ทันที

ป้ายราคาอัจฉริยะ (ESL- Electronic Shelf Label) : เปลี่ยนป้ายกระดาษเป็นป้าย LED หลากหลายขนาด เพื่อปฏิวัติวงการธุรกิจค้าส่งและการบริหารจัดการภายใน เชื่อมโยงข้อมูลสินค้า รายละเอียด โปรโมชั่น ตำแหน่งการจัดวาง สต็อกสินค้า แก้ปัญหาคลาสสิกเรื่องราคาไม่ตรงกับป้าย และเพิ่มประสิทธภาพในการทำงานได้มากขึ้น

กล้อง AI อัจฉริยะ : นวัตกรรมในการตรวจสต็อกชั้นวางสินค้า นำมาประยุกต์เข้ากับการจัดการความเคลื่อนไหวของสินค้าแต่ละแผนก โดยทำงานร่วมกับ ESL เพื่อระบุตำแหน่ง ตรวจจับสถานะของชั้นวางแบบเรียลไทม์ สามารถเตือนให้เติมสินค้าได้ทันความต้องการ จากการเช็คผ่านแผงตรวจสอบการปฏิบัติงาน (Operation Dashboard)

หน้าจอ Eco-Friendly : แจ้งสถานะการใช้พลังงานจากแผงโซลาร์เซลล์ พร้อมบอกจำนวนการใช้พลังงานแต่ละจุด เพื่อเฝ้าระวังและป้องกันการใช้ไฟเกินค่ามาตรฐาน (FTE) เพื่อการบริหารจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

เครื่องคิดเงินสองหน้าจอ : แสดงรายการสินค้าที่ถูกสแกนไปพร้อมๆ กับแคชเชียร์ เพื่อเช็คความถูกต้องไปพร้อมกัน พร้อมีช่องแสดง QR Code สำหรับชำระเงิน ​ที่สามารถเลือกจ่ายได้ตามที่ต้องการทั้งเงินสด บัตรเครดิต หรือ QR Payment

แอลอีดี อีคอมเมิร์ซ : สำหรับลูกค้าที่ต้องการซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์​ (makroclick) โดยมีการตั้งจอไว้ตรงทางเข้า เพื่อให้สามารถสั่งสินค้าที่ไม่มีจำหน่ายในสาขาผ่านระบบอีคอมเมิร์ซได้เลย

Picking Solution : ระบบการส่งของที่รวดเร็วขึ้น ไม่ว่าจะซื้อสินค้าที่สาขาหรือสั่งผ่าน makroclick พนักงานจะรับคำสั่งซื้อผ่าน handheld เพื่อนำส่งลูกค้าภายในวันรุ่งขึ้น โดยคิดค่าขนส่งตามระยะทาง และลูกค้าสามารถเช็คสถานะการจัดส่งได้ด้วย ซึ่งการสั่งรูปแบบนี้ช่วยลดใบสั่งซื้อที่เป็นกระดาษได้ถึง 6 แสนแผ่นต่อปี หรือลดการตัดต้นไม้ลง 300 ต้นต่อปี

ตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าแม็คโคร : ตุ๊กตุ๊กพลังงานไฟฟ้า  ส่งเสริมการขนส่งแบบประหยัดพลังงาน พร้อมติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ขนาดพอเหมาะ เพื่อนำพลังงานมาใช้ในห้องควบคุมอุณหภูมิ สำหรับใช้ในการจัดส่งสินค้าบริเวณใกล้เคียง ในรัศมี 5 กิโลเมตรโดยรอบ โดยจัดส่งได้ทั้งอาหารสด และสินค้าโกรเซอรี่ทั่วไป

จุดชาร์ตไฟสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า  : อยู่ที่บริเวณลานจอด เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้าที่ใช้รถยนต์ไฟฟ้า และช่วยประหยัดพลังงาน

ระบบทำความเย็นอัจฉริยะ (Water Loop Heat Exchange) : ลดการใช้พลังงานจากระบบทำความเย็นขนาดใหญ่ ด้วยการกระจายการทำงานเป็นชุดอิสระ ควบคุม สั่งการผ่านระบบส่วนกลางที่เข้าถึงได้ผ่านแท็บเล็ต เพื่อความสะดวกและแม่นยำในการปฏิบัติงานของพนักงานที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0