โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

สูตรสำเร็จของชีวิต - บองเต่า

THINK TODAY

เผยแพร่ 16 ต.ค. 2562 เวลา 05.31 น. • บองเต่า

เรามักได้ยินคนพูดกันว่า ชีวิตคนเรามันไม่มีสูตรสำเร็จหรอก คือชีวิตมันไม่ได้ง่ายเหมือนกาแฟสำเร็จรูปทรีอินวัน แกะซองชงน้ำร้อนแล้วเราจะได้ผลเหมือนเดิมเหมือนชงกาแฟสิบแก้วก็รสชาติเดียวกันทุกครั้ง

ซึ่งผมก็ว่าจริง ชีวิตเรามีปัจจัยหลายอย่างที่ต่างกันมากจนไม่สามารถสร้างสูตรสำเร็จ ที่ใครจะเลียนแบบใครได้เป๊ะ ๆ แต่บางทีเราก็มักจะเห็นแพทเทิร์นอะไรบางอย่างในชีวิต ที่สามารถพอจับเป็นหลัก เป็นสูตรคำนวณ หรือเป็นสมการคร่าว ๆ ให้พอยึดได้ว่า ถ้าทำประมาณนี้ มันก็น่าจะได้ผลประมาณนั้น อาจจะไม่ได้เป๊ะ แต่ก็พอเดาผลได้ประมาณนึง

ครั้งแรกที่ผมได้เห็นคำว่า “สมการชีวิต” ในชีวิต คือตอนเรียน ปี 1 ที่คณะบัญชีจุฬาครับ ตอนนั้นยังเป็นเด็กน้อยมาก มันเป็นคลาสสุดท้ายของวิชา “บัญชีการเงิน” ซึ่งเป็นวิชาภาคบังคับที่นิสิตทุกคนต้องเรียน ผู้สอนเป็นอาจารย์ผู้หญิงอาวุโสท่านหนึ่งที่สอนดีมาก ทำให้วิชานี้เป็นวิชาที่ผมชอบมากทั้ง ๆ ที่ทฤษฎีบัญชีที่เราต้องเริ่มเรียนกันตั้งแต่แรกนั้นมันยากและน่าเบื่อมาก และเป็นวิชาที่การบ้านเยอะมากก็ตาม

คลาสสุดท้ายวันนั้นไม่ได้มีทฤษฎีอะไรต้องสอนอีกแล้ว แต่ก่อนจะจากลากัน อาจารย์หยิบแผ่นใส (ใช่ครับเด็ก ๆ … ยุคนั้นเรายังใช้แผ่นใสกันอยู่ ใครที่เกิดไม่ทันลองไปถามพ่อแม่ดูนะครับว่ามันคืออะไร) บนแผ่นใสนั้นมีคำเขียนไว้ว่า “สมการชีวิต” แล้วมีเครื่องหมายเท่ากับอยู่ตรงกลาง อาจารย์ถามนิสิตในห้องว่า คิดว่าสมการที่เว้นว่างไว้อยู่ เราควรใส่อะไรลงไปให้สมบูรณ์

คำตอบของสมการนั้นคือ ความสำเร็จ = ความสามารถ x ความดี

ผมจำสมการนั้นได้มาจนถึงวันนี้แม้มันจะผ่านมาเกือบยี่สิบปีแล้ว เมื่อเราเติบโตขึ้นก็พบว่าจริงๆชีวิตนั้นมันมีความซับซ้อนมากกว่านั้นเยอะ ความจริงช่างห่างไกลจากสมการสองตัวแปรในแผ่นใส ชีวิตไม่ได้มีแค่สองปัจจัยที่ทำให้เราประสบความสำเร็จได้ แต่ผมเข้าใจจุดประสงค์ของอาจารย์ที่ต้องการจะบอกนิสิตในคลาสสุดท้ายว่านอกจากจะตั้งใจเรียนแล้ว เราก็ควรเป็นคนดีด้วย ซึ่งผมประทับใจคลาสวันนั้นมาก

จนกระทั่งวันก่อน ผมได้เห็นสมการชีวิตอีกเวอร์ชั่นจากเพื่อนที่แชร์บทความในเนท จนเราเริ่มนั่งคุยกันเรื่องสมการชีวิตที่ดูเป็นรูปธรรมและจับต้องได้สำหรับคนทำงานคือ

ความสำเร็จ = (ความพยายาม + ความสามารถ) x ทัศนคติ

นั่นไง … พอชีวิตเราเติบโตผ่านร้อนผ่อนหนาวมาเยอะ เราก็เริ่มเห็นสมการซับซ้อนมากขึ้น จากเดิมมีสองตัวแปร ตอนนี้กลายมาเป็นสามตัวแปรแล้วแถมมีทั้งบวกและคูณอีกต่างหาก

ตัวแปรแรกคือ ความพยายาม อันนี้เข้าใจได้ไม่ยาก เราเห็นตรงกันว่าชีวิตไม่ง่าย จะมาคาดหวังทุกอย่างถูกจัดใส่พานทองประเคนพร้อมทุกสถานการณ์โดยไม่ต้องออกแรงอะไรเลย คงเป็นไปไม่ได้แล้วสำหรับโลกยุคนี้ที่การแข่งขันสูงขึ้นทุกวัน และเราต้องต่อสู้ทุกวันเพื่ออยู่รอด ดังนั้น การพยายามมากเพื่อความสำเร็จ ก็ฟังดูเป็นเหตุเป็นผลดี

ตัวแปรที่สองคือ ความสามารถ อันนี้ก็เข้าใจได้ คนเก่งที่มีความสามารถ ย่อมมีโอกาสประสบความสำเร็จสูง ดังนั้นเราก็ควรจะขวนขวายหาความรู้ อัพเดทตัวเองด้วยทักษะสกิลใหม่ๆ ตามให้ทันโลก ปรับตัวตามคู่แข่ง

ซึ่งจะเห็นว่า ความพยายามกับความสามารถนั้น ถูกมัดรวมไว้ในวงเล็บเดียวกัน ถ้าคนที่มีความสามารถมาก ก็อาจจะได้เปรียบไม่ต้องพยายามมาก ในขณะที่บางคนรู้ตัวว่าความสามารถอาจจะไม่ได้เก่งล้ำชนะเลิศ ก็ต้องชดเชยด้วยการออกแรงพยายามมากกว่าคนอื่น แต่ถ้าใครทั้งเก่งทั้งพยายามไปพร้อมกัน ยิ่งทำให้โอกาสสำเร็จมากขึ้นสองเท่า ตอนแรกเราคิดว่า แค่สองตัวแปรนี้ก็สามารถอธิบายสมการความสำเร็จ เป็นสูตรที่สมบูรณ์ได้แล้ว

แต่เราก็พบว่ามันมีอีกตัวแปรที่สำคัญมาก นั่นคือ “ทัศนคติ” หรือวิธีการมองโลก การเข้าใจตัวเอง และการยอมรับสิ่งรอบตัว ซึ่งความพิเศษของตัวแปรนี้คือ มันสามารถเป็นค่าติดลบได้ด้วย หมายความว่า ถึงเราจะพยายามแค่ไหน หรือเก่งแค่ไหน ถ้าทัศนคติของเราติดลบแล้วมันจะทำให้ค่าของสมการนี้กลายเป็นลบ ทุกความพยายาม ทุกความสามารถที่เราทุ่มเทลงไปกลายเป็นค่าติดลบ หรือทำให้ชีวิตเดินไปคนละทิศกับที่เราต้องการทันที

ตอนเด็กๆผมเคยเข้าใจว่า การพยายามตั้งใจเรียนให้เก่ง เกรดดีๆ จะได้มีงานดีๆทำ แค่นี้คือสูตรสำเร็จของชีวิตแล้ว แต่เมื่อเติบโตขึ้นก็พบว่ามันแต่แค่ส่วนเดียวของชีวิต เพราะหลายครั้งที่ทัศนคติของเราก็เป็นปัจจัยที่จะทำให้ทุกอย่างในชีวิตง่ายขึ้น และนำไปสู่ความสำเร็จได้

ผมยืนยันอีกครั้งครับว่า ชีวิตจริงมันไม่มีสูตรสำเร็จหรอกครับ แต่ผมก็เชื่อว่าการทำความเข้าใจชีวิตอันซับซ้อน สรุปออกมาให้เหลือเป็นสมการและเห็นความสัมพันธ์ของตัวแปรหลักๆ มันสามารถทำให้ชีวิตอันแสนยากกลายเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่ายกว่าที่เราคิดได้เหมือนกัน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0