โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

สำรวจเกาะปริศนาผุดขึ้นมาใหม่ในมหาสมุทรแปซิฟิก ยังไม่มีในแผนที่

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 18 ต.ค. 2562 เวลา 07.56 น. • เผยแพร่ 18 ต.ค. 2562 เวลา 06.03 น.
เกาะใหม่ แปซิฟิก
ภาพเกาะภูเขาไฟอายุประมาณ 3-4 ปี ถ่ายจากโดรน (โดย Woods Hole จาก blog.nasa.gov)

ทีมนักวิทยาศาสตร์จากหน่วยงานหนึ่งในเครือองค์การนาซ่า (NASA) พยายามเข้าสำรวจเกาะที่เพิ่งปรากฏในมหาสมุทรแปซิฟิกในเขตของตองก้า เมื่อปลายปี 2018 เป็นเกาะที่ยังไม่มีอยู่ในแผนที่ ก่อนหน้านี้ทีมนักวิทย์สามารถสังเกตสภาพได้จากอวกาศเท่านั้น

ข้อมูลเกี่ยวกับการค้นพบและเข้าไปสำรวจครั้งล่าสุดถูกเผยแพร่ผ่านบล็อกอย่างเป็นทางการของนาซ่าเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2019 เนื้อหาเผยข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการสำรวจเกาะแห่งหนึ่งเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2018

ทีมสำรวจนำมาโดยแดน สเลย์แบ็ก (Dan Slayback) นักวิจัยของศูนย์การบินอวกาศกอร์ดเดิร์ด (Goddard Space Flight Center) ในประเทศสหรัฐอเมริกา พร้อมกับกลุ่มนักวิทยาศาสตร์และนักศึกษาจากสมาคมศึกษาทางทะเลเข้าสำรวจเกาะหนึ่งใน 3 แห่งที่เพิ่งมีอายุไม่เกิน 5 ปี แดน เปิดเผยว่า เนื่องจากเกาะเหล่านี้เพิ่งปรากฏให้เห็น พื้นที่เหล่านี้จึงยังไม่มีอยู่ในแผนที่

สำหรับเกาะที่ปรากฏขึ้นเหล่านี้เป็นผลจากการระเบิดของหลุมภูเขาไฟใต้น้ำเมื่อปี 2015 และเป็นหนึ่งในกลุ่มเกาะซึ่งยังไม่ถูกกัดกร่อนจากคลื่นในมหาสมุทรในรอบ 150 ปี โดยยังปรากฏให้เห็นอยู่หลังเวลาผ่านไปหลายเดือน ขณะที่การสำรวจจากดาวเทียมแสดงให้เห็นว่ามีชายหาดตื้นๆ อยู่ทางตอนใต้ของเกาะซึ่งน่าจะเทียบเรือขึ้นไปสำรวจได้ แม้ดาวเทียมเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยให้สามารถตรวจสอบพื้นผิวที่อยู่บนโลกได้อย่างดี แต่การสำรวจเบื้องต้นยังไม่สามารถให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับพื้นผิวของเกาะได้มากเพียงพอ ภายหลังจึงพบว่าชายหาดลาดชัน และมีคลื่นแรงทำให้นำเรือเข้าสำรวจได้ยากพอสมควร

นับตั้งแต่เกาะที่เป็นพื้นที่ของภูเขาไฟปรากฏขึ้นเมื่อปี 2015 แดนและทีมนักวิทยาศาสตร์ก็เริ่มติดตามและศึกษาเกาะที่ปรากฏใหม่ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ซึ่งนักวิทยาศาสตร์สนใจค้นหาคำตอบว่า เกาะแห่งใหม่ก่อตัวและปรากฏขึ้นบนโลกได้อย่างไร (ซึ่งอาจเป็นข้อมูลบ่งชี้ได้ว่าภูมิประเทศลักษณะภูเขาไฟบนดาวอังคารเกี่ยวพันกับน้ำบนดาวอย่างไรบ้าง) จากนั้นก็พยายามสร้างแบบจำลอง 3 มิติเพื่อสำรวจพื้นที่ว่าเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้างเมื่อเวลาผ่านไป และหาข้อมูลว่าเกาะถูกกัดกร่อนไปมากน้อยเพียงใด ที่สำคัญคือเพื่อศึกษาองค์ประกอบของเกาะว่ามีอะไรเป็นองค์ประกอบหลักซึ่งทำให้เกาะทนทานต่อการเซาะกัดกร่อน

การลงพื้นที่ของแดนพบว่า “ชายหาด” ไม่ได้เป็นลักษณะ “ทราย” สักทีเดียว แต่แดน นิยามว่าเป็น “ก้อนกรวด” เสียมากกว่า เมื่อเขาไม่ได้เตรียมพร้อมมา และทีมนักสำรวจส่วนใหญ่สวมรองเท้าแตะจึงทำให้เจ็บปวดยามย่ำเท้า แดนและกลุ่มนักเรียนยังเก็บภาพพืชที่เพิ่งเริ่มเติบโตบริเวณคอคอดซึ่งเชื่อมต่อกับบริเวณอื่น และพบรอยแต้มบนพื้นผิวด้านข้างของพื้นที่เนินบนเกาะคาดว่าเป็นอุจจาระนก บนเกาะยังพบเห็นนกแสก (แม้เป็นเรื่องไม่น่าแปลกใจ เพราะพบเห็นทั่วไปในทั่วโลก) คาดว่าน่าจะอาศัยบนเกาะที่มีมาก่อนและมีพืชเติบโตอยู่แล้ว และยังพบนกนางนวลแกลบดำทำรังในซอกลึกเข้าไปในหน้าผาที่ล้อมรอบด้วยทะเลสาบปล่องภูเขาไฟ

แดนยังเก็บตัวอย่างหิน (ได้รับอนุญาตจากตองก้าแล้ว) เพื่อนำไปวิเคราะห์แร่ในแล็บ แดนเล่าว่า จุดประสงค์สูงสุดของการสำรวจคือเพื่อหาเหตุผลว่าเกาะยกตัวขึ้นมาได้อย่างไร แดนยังเผยว่า เกาะถูกกัดกร่อนโดยฝนเร็วกว่าที่เขาคาดไว้ พื้นที่ชายฝั่งตอนใต้เป็นจุดที่คลื่นซัดกร่อนมากขึ้นเรื่อยๆ

เกาะแห่งนี้ยังไม่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการจึงเรียกโดยนำชื่อเกาะเดิมที่อยู่ขนาบ 2 ข้างเกาะแห่งนี้มาผสมกันเป็นคำว่า Hunga Tonga-Hunga Ha’apai

บล็อกระบุว่า ทีมอยู่บนเกาะได้ไม่นานนักเนื่องจากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยและต้องล่าถอยกลับเรือ ขณะนี้ทีมงานอยู่ระหว่างวิเคราะห์ข้อมูลที่เก็บมาได้และพัฒนาโมเดล 3 มิติของเกาะนี้เพื่อประเมินองค์ประกอบต่างๆ ตอบคำถามเช่น มีเถ้าถ่านและองค์ประกอบภูเขาไฟผุดขึ้นจากช่องภูเขาไฟใต้น้ำมากน้อยแค่ไหน

รวมไปถึงคำถามสำคัญอย่าง ลักษณะก้นทะเลรอบเกาะเป็นอย่างไร และกระบวนการทางธรณีวิทยาที่สืบเนื่องมาจากความร้อนซึ่งกำลังเกิดขึ้นอยู่นี้จะสามารถหลอมรวมองค์ประกอบต่างๆ ให้เป็นของแข็งที่มีลักษณะทนทานต่อการเซาะกร่อนในอนาคตอีกหลายทศวรรษได้หรือไม่

รายงานเผยว่า แดนจะกลับมาสำรวจอีกครั้งในปีหน้าเพื่อหาคำตอบ

 

อ้างอิง:

Gray, Ellen. “Land Ho! Visiting a Young Island”. NASA. January 30 2019. <https://blogs.nasa.gov/earthexpeditions/2019/01/30/land-ho-visiting-a-young-island/>

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0