โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

สำรวจสถานการณ์ผู้ลี้ภัยในไทยและทั่วโลกท่ามกลางวิกฤตโควิด-19

BLT BANGKOK

เผยแพร่ 03 เม.ย. 2563 เวลา 09.01 น. • BLT Bangkok
สำรวจสถานการณ์ผู้ลี้ภัยในไทยและทั่วโลกท่ามกลางวิกฤตโควิด-19

เริ่มจากในส่วนของประเทศไทยนั้น ทางสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ (UNHCR) ประจำประเทศไทย ก็ได้ประกาศคำมั่นว่าจะช่วยเหลือผู้ลี้ภัย ผู้พลัดถิ่น และบุคคลไร้สัญชาติในประเทศไทยอย่างเต็มที่ ทั้ง UNHCR ประจำประเทศไทย ยังได้มีการทำงานใกล้ชิดกับรัฐบาลไทย หน่วยงานระหว่างประเทศ องค์กรพัฒนาเอกชน และผู้บริจาคเพื่อมอบความคุ้มครอง ช่วยเหลือ และหาทางออกที่ยั่งยืนให้แก่กลุ่มคนเหล่านี้อย่างเต็มที่

แต่หากเรามองไปยังมุมอื่นๆ ทั่วโลกจะพบว่าสถานการณ์การควบคุม และช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในวิกฤตการแพร่ระบาดโควิด-19 นั้น ยังคงมีความน่าเป็นห่วง และต้องการทุนทรัพย์อีกมากเพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่เป็นกลุ่มคนที่มีแนวโน้มได้รับความเสียหายทางร่างกายจากการติดเชื้อโควิด-19 มากที่สุด

“ไวรัสยังไม่ระบาดที่นี่ แต่หากมันมาถึงค่ายฉันคิดว่า 80% ของคนที่นี่จะติดเชื้อเพราะเราอยู่กันอย่างแออัดมาก” คำพูดของผู้อพยพคนหนึ่งที่ให้สัมภาษณ์กับทางสำนักข่าวบีบีซี (BBC) ซึ่งบ่งบอกได้ชัดเจนถึงความน่าวิตกในการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในกลุ่มผู้ลี้ภัย

โดยนายฟิลิปโป กรันดี ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติได้ออกมากล่าวว่า “สิ่งสำคัญลำดับแรกของเราในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คือการทำงานเพื่อให้แน่ใจว่าบุคคลในความห่วงใยของเราทุกคนได้รวมอยู่ในแผนการตอบสนองของแต่ละประเทศ และให้พวกเขาได้รับทราบข้อมูลอย่างเหมาะสม โดยที่เราได้ให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมในการเตรียมความพร้อม และตอบสนองต่อสถานการณ์นี้”

เพราะถึงแม้รายงานการติดเชื้อ และการยืนยันการติดเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มผู้ลี้ภัยยังอยู่ในขั้นต่ำ แต่กว่า 80% ของผู้ลี้ภัย และผู้พลัดถิ่นนั้น อาศัยอยู่ในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา ซึ่งมีระบบสาธารสุข น้ำสะอาด และระบบสุขาภิบาลที่ไม่เพียงพอต่อการใช้งาน และไม่ได้มาตรฐาน ทำให้หากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มผู้ลี้ภัยเกิดสูงขึ้นมา ก็จะยากต่อการป้องกัน และควบคุมสถานการณ์ไม่ให้บานปลายอย่างยิ่ง โดยเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมาทาง UNHCR ก็ได้ทำการเปิดระดมทุนเป็นจำนวนเงินกว่า 255 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่ตกอยู่ในสถานการณ์เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มากที่สุด

ซึ่งมาตรการตอบสนองที่ทาง UNHCR จะนำทุนทรัพย์ที่ได้ไปต่อยอดก็จะมีตั้งแต่

- การเสริมสร้างระบบบริการด้านสาธารณสุข และโครงการ WASH รวมถึงการแจกจ่ายสบู่ และเพิ่มการเข้าถึงแหล่งน้ำสะอาด

- การสนับสนุนรัฐบาลในการป้องกันการติดเชื้อ และรับมือด้านสาธารณสุข รวมถึงการจัดเตรียมอุปกรณ์ และเครื่องมือทางการแพทย์

- การแจกจ่ายที่พักพิง และสิ่งของบรรเทาทุกข์

- การนำเสนอแนวทาง และข้อมูลตามจริงของมาตรการป้องกัน

- การเพิ่มเติมการสนับสนุนทางการเงินเพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ และสังคมจากโควิด-19

- การติดตามอย่างใกล้ชิด และเข้าช่วยเหลือเพื่อให้แน่ใจว่าสิทธิของผู้พลัดถิ่นจะได้รับความเคารพอย่างเท่าเทียม

ทั้งนี้ปัญหาอย่างหนึ่งในการทำงานที่ทาง UNHCR ต้องเจออยู่ตอนนี้คือเรื่องของการหาทางออกในการขนส่งทรัพยากรไปยังพื้นที่ที่ผู้ลี้ภัยอาศัยอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก อันเกิดจากการหยุดชะงักของภาคการผลิต และมาตรการปิดชายแดนของประเทศต่างๆ จึงต้องมีการจัดซื้อทรัพยากรในระดับท้องถิ่น และภูมิภาคเพื่อทำการขนส่งทางอากาศต่อไป

ซึ่งฟิลิปโป กรันดี ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ได้บอกว่า “เรากำลังขยายการเข้าช่วยเหลือในภาคสนามต่อไป แต่เราไม่สามารถทำภารกิจอันสำคัญนี้เพียงลำพัง ตอนนี้เราต้องการเงินสนับสนุนอย่างเร่งด่วนเพื่อดำเนินการต่อ ควบคู่ไปกับการทำงานด้านมนุษยธรรมที่เป็นแนวทางหลักซึ่งสำนักงานมุ่งมั่นทำกันมาตั้งแต่ก่อตั้งอยู่แล้ว โดยความร่วมมือในระดับนานาชาติอย่างเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน คือสิ่งที่เราต้องการ และสำคัญที่สุดตอนนี้”

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นทั่วโลก ได้ที่ http://unh.cr/5e79d6bf98

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0