โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

สาวสกลนคร ทิ้งเงินเดือนหลักแสน ปลูก “เมล่อน”

เทคโนโลยีชาวบ้าน

อัพเดต 14 ธ.ค. 2563 เวลา 10.17 น. • เผยแพร่ 14 ธ.ค. 2563 เวลา 10.17 น.
27 เมล่อน

ช่วงไม่กี่ปีมานี้ เกษตรกรหน้าใหม่-หน้าเก่า จำนวนไม่น้อยในบ้านเราหันมาปลูกเมล่อนกัน สาเหตุส่วนหนึ่งเพราะได้ราคาดี เฉลี่ยแล้วขายกิโลกรัมละ 100 บาท บางแห่งที่ปลูกแบบอินทรีย์สามารถทำราคาได้มากกว่านั้นอีก คุณจันทร์จีรา บุญศิริ อายุ 43 ปี ก็เป็นอดีตมนุษย์เงินเดือนอีกคนที่หันมาทำอาชีพเกษตรกรรม และเลือกปลูกเมล่อนที่บ้านเกิด ในตำบลตองโขบ อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร เนื้อที่ 30 ไร่ โดยปลูกในโรงเรือน ชื่อสวนเมตตา หรือฟาร์มสดใส 2 ซึ่งได้รับเครื่องหมายมาตรฐานเกษตรปลอดภัย (GAP) ด้วย

คุณจันทร์จีรา บุญศิริ เล่าว่า หลังเรียนจบปริญญาตรี สาขาโทรคมนาคม คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ก็ทำงานเป็นวิศวกร ทำงานด้านโทรคมนาคมมานาน 20 กว่าปี ผ่านงานวางแผนงานโครงข่ายและดูแลปรับปรุงสัญญาณ 3G 4G ให้คงคุณภาพเสียง สัญญาณ และความเร็ว ให้แก่ 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคม จากเงินเดือนหลักหมื่นจนมาเป็นหลักแสน สุดท้าย ตัดสินใจมาเป็นเกษตรกรเต็มตัว เมื่อปี2562 โดยทำเป็นสวนเมล่อน พร้อมเสริมด้วยการเลี้ยงปลาดุก ปลานิล วัว แพะ เพื่อจะได้มีเวลาอยู่กับคุณแม่ที่อายุมากถึง 78 ปีแล้ว

เน้น 3 สายพันธุ์หลัก

ด้วยความที่เป็นเกษตรกรมือใหม่ ไม่มีพื้นฐานทางด้านนี้มาก่อน จึงเริ่มด้วยการปลูกองุ่น แต่ด้วยความรู้ ความสามารถ และไม่มีเวลาดูแลที่พอเพียง ทำให้เสียเวลาในการลองผิดลองถูกไป 3 ปี แต่กลับไม่ได้ผลผลิตออกมาอย่างที่คิด

ต่อมา ในปี 2561 สามีเริ่มทำโครงการปลูกเห็ดถั่งเช่า และทำสวนเมล่อน ที่ อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น (ฟาร์มสดใส) และมีโอกาสได้ไปเรียนการปลูกเมล่อนจากครูบอลแห่งเทพมงคลฟาร์ม ปรากฏว่าผลผลิตและผลประกอบการดีเกินคาด ตัดสินใจปรับแต่งสวนองุ่นมาเป็นสวนเมล่อน ที่ อำเภอโคกศรีสุพรรณ เริ่มต้นช่วยกันทำเองเป็นกิจการภายในครอบครัว และใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9

ในการลงทุนทำสวนเมล่อนนั้น คุณจันทร์จีราแจกแจงว่า ช่วงแรกค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เพราะต้องเสียค่าปลูกสร้างโรงเรือน ค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าดิน ค่าเมล็ดพันธุ์ ตกประมาณ 100,000 บาท ต่อ 1 โรงเรือน ขนาด 6.2 เมตร คูณ 15 เมตร  จำนวน 15 โรงเรือน และตอนนี้กำลังขยายโรงเรือนเพื่อปลูกให้ได้ต่อเนื่องทุกเดือน เดือนละ 4 โรงเรือน จะได้เพียงพอสำหรับออเดอร์ในปีนี้ ซึ่งที่สวนปลูกสายพันธุ์หลักๆ คือ

  • 1. ไข่มังกร
  • 2. จันทร์ฉาย
  • 3. สารคามสวีท

สายพันธุ์เหล่านี้ได้พัฒนาและปรับปรุงสายพันธุ์เพื่อให้เหมาะกับการปลูกในสภาพภูมิอากาศเขตเมืองร้อนอย่างประเทศไทยได้

สำหรับการปลูกในโรงเรือน ใช้ระบบน้ำหยด ซึ่งเมล่อนเป็นพืชที่อ่อนแอ ไวต่อโรค ต้องดูแลตั้งแต่รากจนถึงยอด จึงต้องใช้คนที่มีประสบการณ์ มีระเบียบและความรับผิดชอบในการดูแลรายละเอียดทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเตรียมเพาะปลูกถึงการเก็บเกี่ยว รวมไปถึงการแพ็กและส่งของจนถึงมือลูกค้า

คุณจันทร์จีรา เล่าถึงขั้นตอนวิธีปลูกว่า เริ่มจาก

  • 1. เตรียมเบี้ยเพาะเมล็ดพันธุ์ โดยแช่เมล็ดในน้ำอุ่น 70 องศาเซลเซียส 1 ชั่วโมง ห่อด้วยผ้าขาวเก็บไว้ในที่มิดชิด 24 ชั่วโมง และนำเมล็ดที่เตรียมเพาะลงถาดเพาะที่มีสารอาหารครบถ้วนสำหรับเมล็ดพันธุ์ เพาะไว้เป็นเวลา 12-14 วัน
  • 2. เตรียมโรงเรือน ต้องเป็นโรงเรือนแบบปิดเพื่อป้องกันเชื้อโรคและแมลงที่จะทำลายผลผลิตได้
  • 3. การเตรียมดิน ต้องตีดินให้ละเอียด ใส่ปุ๋ยหมัก สารปรับปรุงดิน เพื่อที่จะให้เมล่อนได้รับสารอาหารที่เพียงพอตั้งแต่แรก เตรียมแปลงเป็นแนว และปูพลาสติกคลุมดิน

เทคนิคผสมเกสร

ทั้งนี้ เมื่อเพาะเมล็ดพันธุ์ครบจำนวนวันแล้ว ก็นำมาลงปลูกในแปลงที่เตรียมไว้ ส่วนช่วงผสมเกสร เมื่อปลูกลงดินครบ 22-24 วัน ให้ผสมเกสรได้เลย และหลังผสมเกสรครบ 35-45 วัน สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้

อย่างที่คุณจันทร์จีราบอกไปแล้วว่า เมล่อน เป็นพืชที่อ่อนแอ ฉะนั้น ในแต่ละฤดูกาลจึงต้องดูแลเอาใจใส่ค่อนข้างเยอะ เช่น ในหน้าร้อน จะเจอปัญหาเพลี้ยไฟ โรคยืนต้นตาย เนื่องจากอากาศร้อนจัด หน้าฝน จะเป็นโรคเน่าคอดิน ลูกแตก เนื่องจากน้ำเยอะ ความชื้นเยอะ ขณะที่หน้าหนาวมักพบโรคราต่างๆ เพาะเมล็ดยาก โตช้า เนื่องจากอากาศหนาว

“เมล่อน เป็นพืชที่ต้องการความใส่ใจในการดูแลรักษา ปัญหามีตั้งแต่เรื่องดิน น้ำ โรคต่างๆ สภาพแวดล้อมโดยรอบทุกอย่างคืออุปสรรค แต่ทุกอย่างย่อมมีทางแก้ไข หากใส่ใจที่จะเรียนรู้และหาทางแก้ไขปัญหา”

เจ้าของฟาร์มสดใส 2 บอกว่า ก่อนหน้านี้ปลูกเมล่อนหลากหลายสายพันธุ์ สุดท้าย เหลือแค่ 3 สายพันธุ์ ตามที่ลูกค้าชอบ โดยแต่ละพันธุ์มีจุดเด่นดังนี้

พันธุ์ไข่มังกร ผลเป็นลูกสีเขียว รูปร่างทรงรีเหมือนไข่มังกร ลายตาข่าย ลักษณะเนื้อส้ม (สีไม่เข้มมาก) หวาน กรอบ ละมุน ฉ่ำ

พันธุ์จันทร์ฉาย ลายเกลี้ยง ทรงกลม เนื้อส้ม หวาน กรอบ หอม ผลสีทอง เหลืองอร่าม และ

พันธุ์สารคามสวีท ลายตาข่าย ทรงกลม เนื้อส้ม หวาน กรอบ ผลสีเขียว ลายตาข่าย

สำหรับการผสมเกสร คุณจันทร์จีรา ระบุว่า ควรทำในช่วงแดดอ่อนๆ เวลาที่เหมาะสม ประมาณ 07.00-10.00 น.  เริ่มต้นด้วยการเด็ดดอกตัวผู้ที่อยู่บนสุดของต้น เด็ดส่วนที่เป็นดอกออก เหลือแต่เกสร แล้วนำเกสรตัวผู้ไปผสมกับเกสรตัวเมีย ใน ข้อที่ 9 11 และ 13 โดยให้หมุนเป็นวงกลมภายในเกสรตัวเมีย ซึ่งต้องผสมไว้เผื่อคัดลูก

ปัญหาและอุปสรรคของการผสมเกสรที่พบคือ หากครบรอบที่ต้องผสมเกสรแล้วแต่ไม่มีแดดออกเลยนั้น เกสรที่ผสมจะฝ่อใช้ไม่ได้ หรือถ้าติดผล ผลที่ออกมาอาจไม่สมบูรณ์ ต้องผสมเกสรใหม่

อีสาน ปลูกเมล่อนได้ดี

หลายคนอาจสงสัยว่า ภาคอีสาน ที่ได้ชื่อว่าแห้งแล้งนั้น จะปลูกเมล่อนได้หรือไม่นั้น ประเด็นนี้ขอแจกแจงว่า เมล่อนต้องการน้ำในวันเพียง 1 ลิตร ต่อต้น และเหมือนพืชผักอื่นๆ คือต้องการน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติดีที่สุด และทางสวนก็มีบ่อปลาขนาดใหญ่อยู่ 10 บ่อ และติดแหล่งน้ำธรรมชาติอยู่แล้ว ซึ่งเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ มีน้ำตลอดทั้งปี

“คนส่วนใหญ่คิดว่า อีสานแล้ง ไม่มีน้ำ จะปลูกเมล่อนได้หรือ คำตอบคือ ภาคอีสานปลูกเมล่อนได้ดีและมีคุณภาพเพราะ

  • เมล่อน เป็นพืชที่ไม่ต้องการน้ำเยอะ
  • เมล่อนชอบแดด ทนร้อนได้ดี และจะมีรสชาติที่หวานมากหากช่วงที่เก็บเกี่ยวขาดน้ำ”

สวนแห่งนี้ขายทั้งหน้าสวนและออนไลน์ให้แก่ลูกค้าทั่วไปและลูกค้าประจำ ซึ่งส่งขายทั่วประเทศไทยและลาว ทุกสายพันธุ์ ขายราคากิโลกรัมละ 100 บาท ไม่รวมค่าส่ง ที่ผ่านมาลูกค้าตอบรับดีมาก และกรณีถ้าเมล่อนที่ส่งไปมีปัญหาทางสวนก็จะส่งสินค้าไปให้ใหม่ด้วย

คุณจันทร์จีรา ให้คำแนะนำสำหรับผู้สนใจจะปลูกว่า เมล่อน เป็นพืชล้มลุกที่ค่อนข้างอ่อนแอ ต้องการการดูแลเอาใจใส่อย่างดีและสม่ำเสมอ หากสนใจปลูกต้องประเมินเวลา ความรู้ ความสามารถ ความใส่ใจ ของผู้ที่จะทำ และควรทดลองทำเองก่อนจ้างลูกจ้าง เพื่อจะได้เรียนรู้การผลิตและโรคพืชในแต่ละพื้นที่ ที่สำคัญคือ เรื่องการตลาด ดังนั้นในช่วงเริ่มต้นควรจะลองปลูกก่อน เพียงแค่ 1 โรงเรือน เพื่อทดลองหาตลาดว่ากลุ่มลูกค้าชอบแนวไหน จากนั้นจึงค่อยขยายโรงเรือน

ในสวนของคุณจันทร์จีรา นอกจากจะปลูกเมล่อนเป็นหลักแล้ว ยังปลูกพืชผักผลไม้อื่นๆ ด้วย อาทิ ข้าวโพด และฟักทองบัตเตอร์นัทเพื่อพักโรงเรือน โดยที่พืชตระกูลฟักทองนั้นจะล้างดิน กินปุ๋ยตกค้างในดิน ให้รากชอนไชระเบิดโครงสร้างดิน ซึ่งอนาคตวางแผนจะทำเป็นไอศกรีมเมล่อน เมล่อนฟรุตสลัด และน้ำเมล่อนปั่น เพิ่มมูลค่า สนใจเมล่อนของสวนเมตตา ติดต่อสอบถามได้ที่ โทร. 095-662-5535

นับเป็นเกษตรกรหน้าใหม่อีกรายที่ประสบความสำเร็จในอาชีพนี้ แม้จะเพิ่งทำได้ไม่นาน ปัจจัยหนึ่งเพราะเลือกผลไม้ที่ได้ราคาและมีตลาดรองรับ โดยเน้นขายผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งถ้าส่งไปถึงมือลูกค้าแล้ว เมล่อนลูกนั้นๆ มีปัญหา ทางสวนจะรับผิดชอบส่งลูกใหม่ไปให้

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0