โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

สาวกาฬสินธุ์สู้ไม่ถอย แม้สวนเกษตรต้นแบบ พืชผลแห้งตายจากความร้อน

Thairath - ไทยรัฐออนไลน์

เผยแพร่ 23 เม.ย. 2562 เวลา 15.40 น.
ภาพไฮไลต์
ภาพไฮไลต์

สาวกาฬสินธุ์ ทิ้งอาชีพค้าขายในกทม.กลับบ้านเกิด พลิกผืนดินที่แล้งกันดาร ปลูกพืชผสมผสานสู้ความแล้ง สุดท้ายประสบภัยแล้งอากาศร้อนจัด พืชผลแห้งเฉาตาย ลั่นสู้ต่อไม่ท้อถอยหวังภาครัฐจะช่วยเหลือ…

เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2562 จากสภาพอากาศที่ร้อนจัดและแห้งแล้ง พืชสวน พืชไร่ ได้ผลรับผลกระทบเหี่ยวเฉาและแห้งตายเป็นบริเวณกว้าง เนื่องจากขาดแคลนน้ำหล่อเลี้ยง ทั้งนี้ จากการสำรวจพื้นที่ประสบภัยแล้ง ที่ จ.กาฬสินธุ์ โดยเฉพาะเครือข่ายด้านการเกษตร ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรผสมผสาน หรือไร่ภูทองใบ บ้านโคกแง้ หมู่ 5 ต.เขาพระนอน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นศูนย์เกษตรต้นแบบประจำตำบล และอยู่ในระยะผลักดันเป็นศูนย์เรียนรู้เกษตรเพื่อการท่องเที่ยวระดับอำเภอ กำลังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ พืชผลในไร่ชะงักการเจริญเติบโต และบางชนิดกำลังเหี่ยวเฉาและแห้งตาย โดยนางจิตตานันท์ สุริยะพงษ์ธร อายุ 47 ปี เจ้าของไร่ภูทองใบ และนายบุญมี ภูงามเงิน ปราชญ์ด้านเกษตรประจำ ต.เขาพระนอน พร้อมด้วยสมาชิกเครือข่ายเกษตร กำลังเดินสำรวจภายในบริเวณไร่ คอกเลี้ยงสัตว์ บ่อน้ำ เพื่อตรวจสภาพ หาแนวทางแก้ไขให้พ้นวิกฤตภัยแล้ง และพัฒนาปรับปรุงองค์ประกอบต่างๆภายในไร่ให้ดีขึ้น

นางจิตตานันท์ สุริยะพงษ์ธร เจ้าของไร่ภูทองใบ กล่าวว่า เดิมตนประกอบค้าขายที่กรุงเทพฯ เนื่องจากมีใจรักด้านเกษตร เช่น ปลูกต้นไม้และเลี้ยงสัตว์ ในปี 2558 จึงได้หันกลับมาทำสวน ทำไร่ที่บ้านเกิด โดยพลิกฟื้นผืนนาที่เป็นมรดกของครอบครัว จำนวน 72 ไร่  ทำการเกษตรผสมผสาน อาศัยน้ำจากบ่อน้ำลูกเล็กๆ ที่มีอยู่ก่อนแล้ว พอขยายพื้นที่ปลูกพืชมากขึ้น มีการเลี้ยงสัตว์เพิ่มเข้ามา น้ำจึงไม่พอใช้ และเห็นว่าทิศทางการทำเกษตรไปได้ดี จึงลงทุนขุดบ่อขนาด 3 ไร่เพิ่มอีก 2 บ่อ เพื่อกักเก็บน้ำฝนไว้สำหรับรดพืชผัก เลี้ยงปลา และแบ่งเป็นที่พื้นที่สำหรับเลี้ยงเป็ด

เจ้าของไร่ภูทองใบ กล่าวต่อว่า หลังจากขุดบ่อน้ำเพิ่ม ก็ขยายกิจกรรมในไร่เพิ่มเติม   ทั้งเลี้ยงปลาดุก ปลาหมอ ในกระชัง นอกจากนี้ยังมีโรงสีขนาดเล็ก สำหรับสีข้าวได้รำผสมอาหารเลี้ยงสัตว์เพื่อลดต้นทุน สร้างโรงเรือนเพาะพันธุ์กบ เลี้ยงเป็ด ไก่ ห่าน วัว ปลูกหน่อไม้ พืชผักสวนครัวหลายชนิด รวมทั้งไม้ผลหลายประเภท เช่น มะม่วง ส้มโอ มะนาว ฝรั่ง กล้วย ดอกกระเจียว โดยมีการจ้างแรงงานมาช่วยกันทำ 3 คน แบ่งพื้นที่รับผิดชอบ ผลผลิตจำหน่ายตามตลาดนัดในชุมชน รายได้จากการขายนำมาแบ่งเปอร์เซ็นต์ให้อีกด้วย ทั้งนี้เพื่อสร้างอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน

นางจิตตานันท์ กล่าวอีกว่า แต่ช่วงนี้สถานการณ์ภายในไร่ไม่ดีนัก เพราะได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและอากาศที่ร้อนจัด ทำให้พืชผลเสียหาย ทยอยตายทุกวัน  โดยเฉพาะผักสวนครัว และกล้วยหอมส้ม ที่ลงทุนซื้อหน่อพันธุ์มาเป็นจำนวนมาก แต่ก็ไม่ย่อท้อ หากมีหน่วยงานรัฐเข้ามาช่วยเหลือก็ดี หรือหากขอได้สิ่งแรกที่จะขอคือแหล่งน้ำ เพื่อหล่อเลี้ยงพืชผลที่กำลังต้องการน้ำอย่างเร่งด่วน

ด้าน นายบุญมี ภูงามเงิน ปราชญ์ชาวบ้านในพื้นที่ ต.เขาพระนอน กล่าวว่า บ้านโคกแง้อยู่บนที่สูง สภาพดินเสื่อมโทรม ไม่มีน้ำคลองชลประทานไหลผ่าน แหล่งน้ำใต้ดินอยู่ลึกกว่า 70-80 เมตร การประกอบอาชีพ น้ำอุปโภคบริโภคได้จากน้ำฝน และตามบ่อที่กักเก็บไว้ใช้ในฤดูแล้งเท่านั้น ตนเห็นความพยายามของนางจิตตานันท์ เจ้าของไร่ภูทองใบ ที่จะเอาชนะภัยแล้ง จึงเข้ามาเป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำด้านการบริหารจัดการ 

ในช่วง 3 ปีแรกซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้น กำลังประสบความสำเร็จ ได้รับการคัดเลือกเป็นสถานที่อบรมเกษตรกร หลักสูตรการพัฒนาการเกษตร โครงการเสริมสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรรายย่อย เป็นต้นแบบของการเกษตรผสมผสานในโซนนี้ มีเครือข่ายทั้งด้านการเกษตร การประมง การปศุสัตว์ หลายแห่งมาศึกษาดูงาน และกำลังผลักดันเป็นศูนย์เรียนรู้เกษตรเพื่อการท่องเที่ยวระดับอำเภอ แต่กำลังประสบปัญหาน้ำไม่เพียงพอต่อการหล่อเลี้ยงพืชผล

ก่อนหน้านี้ก็ได้ประสานขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐ ให้เข้ามาส่งเสริมอีกทาง เช่น วางระบบน้ำหยด หรือสปริงเกอร์ให้ทั่วถึง ติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ เพื่อนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ในการสูบน้ำบาดาลขึ้นกักเก็บบนหอสูง แต่ยังไม่มีคืบหน้า ทุกวันนี้จึงได้แต่พึ่งตนเองเท่าที่ทำได้ ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญในการทำการเกษตรคือน้ำ หากมีน้ำก็สามารถปลูกอะไรๆได้หลายอย่าง หากไม่มีน้ำก็เกิดความแห้งแล้ง เสียหาย จึงอยากเรียกร้องให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เร่งให้ความช่วยเหลือด้วย.

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0