โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

สั่งฟู้ดเดลิเวอรี่ นอนดูเน็ตฟลิกซ์: ความสูงส่งทางศีลธรรมที่เติบโตจากอำนาจทางเศรษฐกิจ

The Momentum

อัพเดต 08 เม.ย. 2563 เวลา 06.40 น. • เผยแพร่ 07 เม.ย. 2563 เวลา 16.09 น. • รุ้งรวี ศิริธรรมไพบูลย์

In focus

  • ดราม่าข้อโต้เถียงนี้เกิดขึ้นจากข้อเขียนชิ้นหนึ่งที่มีคนแชร์มากมายในโซเชียลมีเดีย กับการที่เจ้าของข้อเขียนชิ้นนั้นออกมากล่าวถึงคนบางกลุ่มที่มักตำหนิการทำงานในเรื่องโควิด-19 ของรัฐบาลอยู่ตลอดเวลา พร้อมยังสำทับไปว่า ชีวิตในตอนนี้ก็ยังปกติดีอยู่ไม่ใช่หรือ ยังมีเน็ตฟลิกซ์ให้ดู ยังสั่งอาหารจากฟู้ดเดลิเวอรี่มากินได้ ให้พอใจในสิ่งที่มีบ้าง
  • โควิด-19 ทำให้มาตรฐานทางศีลธรรมส่วนบุคคลสูงขึ้นมาอย่างมาก แต่เป็นมาตรฐานทางศีลธรรมที่เอาฐานะทางเศรษฐกิจ เอาปัจจัยของตนเองเป็นที่ตั้ง ที่ละเลยข้อจำกัดของผู้คนอีกมากมายในสังคมนี้ ละเลยปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคม ปัญหาการจัดการของรัฐว่าครอบคลุม เหมาะสม ดีพอหรือยัง แต่กลับโยนบาปไปยังตัวบุคคล ที่ไม่สามารถจัดการชีวิตของตนเองได้โดยใช้มาตรฐานของตนเองเป็นเกณฑ์
  • บทความในนิวยอร์กไทม์สให้ข้อมูลว่า ภายใต้มาตรการของรัฐที่ต้องการให้ผู้คนอยู่บ้าน คนกลุ่มที่มีรายได้สูง10% ด้านบนของปิระมิด จะ‘อยู่กับที่’ มากกว่าคนที่มีรายได้ต่ำที่เป็น10% ของฐานปิระมิด การอยู่กับบ้านได้ตามมาตรการของรัฐ เป็นการบ่งบอกว่า บุคคลนั้นมี‘ความหรูหราร่ำรวย’ หรือฐานะทางเศรษฐกิจมากพอที่จะ‘อยู่บ้าน’ ได้ 
  • บทความในเดอะการ์เดียน กล่าวว่า มาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคมที่ให้ประชาชนอยู่บ้านนั้น สะท้อนให้เห็นความเหลื่อมล้ำของชนชั้นทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจน ในขณะที่คนรวยหรือชนชั้นกลางระดับบน ที่มีฐานะวางแผน‘การอยู่บ้าน’  แต่ชนชั้นแรงงานกลับต้องคิดว่า แล้วจะออกจากบ้านไปทำงานอย่างไร

แม้เราจะไม่ทราบว่าประเทศไทยมีสมาชิกเน็ตฟลิกซ์เท่าไร(เน็ตฟลิกซ์ไม่เปิดเผยยอดสมาชิกภายในประเทศ) แต่เราทราบว่ามีผู้ที่ได้รับกระทบจากโควิด-19 ที่ลงทะเบียนขอรับเงินเยียวยา5,000 บาท ผ่านเว็บไซต์‘เราไม่ทิ้งกัน’ จำนวนกว่า24.3 ล้านคน 

สำหรับใครบางคนเงิน5,000 บาท มันอาจจะเป็นแค่ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าสมาชิกเน็ตฟลิกซ์รายเดือน แต่สำหรับใครอีกหลายคน เขาอาจจะต้องคิดทุกบาททุกสตางค์ให้ดีว่า เงิน5,000 บาทเขาจะใช้อย่างไรให้มีชีวิตรอดในหนึ่งเดือน และหากพ้น3 เดือน 6 เดือนที่ได้เงินเยียวยานี้ชีวิตเขาจะทำอย่างไรต่อไป

ดราม่าข้อโต้เถียงนี้เกิดขึ้นจากข้อเขียนชิ้นหนึ่งที่มีคนแชร์มากมายในโซเชียลมีเดีย กับการที่เจ้าของข้อเขียนชิ้นนั้นออกมากล่าวว่าถึงคนบางกลุ่มที่มักตำหนิการทำงานในเรื่องโควิด-19 ของรัฐบาลอยู่ตลอดเวลา พร้อมยังสำทับไปว่า ชีวิตในตอนนี้ก็ยังปกติดีอยู่ไม่ใช่หรือ ยังมีเน็ตฟลิกซ์ให้ดู ยังสั่งอาหารจากฟู้ดเดลิเวอรี่มากินได้ ให้พอใจในสิ่งที่มีบ้าง ก่อนจะตบท้ายว่า “เพลาๆ เรื่องความเหลื่อมล้ำทางสังคมบ้างก็ได้นะ” 

ปัญหาของข้อเขียนชิ้นนั้นก็คือ ในสิ่งที่เจ้าของข้อเขียน‘มี’ เป็นสิ่งที่คนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 คนอื่นๆ เขามี หรือสามารถจะมีด้วยหรือเปล่า แล้วเหตุใดจึงเอาสิ่งที่ตนเองมีสร้างขึ้นเป็นชุดความจริง ชุดศีลธรรมหนึ่งเดียว ไปใช้ตัดสินทิ่มแทงคนอื่นที่เขาไม่ได้มีเช่นนั้น หรือไม่สามารถจัดการกับตนเองในแบบนั้นได้ด้วยปัจจัย ข้อจำกัดที่พวกเขามี 

นี่ยังมิพักต้องถามว่า ทำไม(กลุ่มคนผู้มีฐานและอำนาจทางเศรษฐกิจสูง) ถึงได้มืดบอดต่อความเป็นจริงของสังคมต่อสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนหมู่มากในสังคม ราวกับมารี อองตัวแน็ตต์ ที่บอกว่า“ไม่มีขนมปังก็กินเค้กสิ” 

ปรากฏการณ์การที่ผู้ที่มีอำนาจและฐานเศรษฐกิจสูงใช้ตนเองเป็นที่ตั้ง วิพากษ์วิจารณ์ผู้ที่ตั้งคำถามหรือก่นด่ามาตรการของรัฐในช่วงโควิด-19 มีให้เห็นมาโดยตลอด โดยเฉพาะในยามที่รัฐใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ที่มีการปิดหรือจำกัดเวลาเปิดสถานประกอบกิจการต่างๆ รวมไปถึงการออกนอกเคหสถานหลังเวลา22.00 น. ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย ยังเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก

ทำงานจากบ้านสิ อ่านหนังสือสิ เล่นTikTok เพื่อคลายเครียดสิ ทำกับข้าวสิ ดูเน็ตฟลิกซ์สิ สั่งฟู้ดเดลิเวอรี่สิ ฯลฯ มันอาจจะเป็นคำแนะนำสำหรับคนกลุ่มหนึ่ง แต่สำหรับคนที่คิดว่า ในช่วงเวลาที่เขาตกงาน(จะมีสักกี่อาชีพกันที่ทำงานจากบ้านได้) ไม่มีรายได้ หรือได้รับเงินเยียวยาเพียงน้อยนิด เขาจะต้องทำอะไรเพื่อให้มี‘รายได้’ หรือมีชีวิตรอดในสถานการณ์คับขันเช่นนี้ แน่นอนว่ามันไม่ใช่การนอนดูเน็ตฟลิกซ์ หรือเล่นTikTok เป็นแน่ 

ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ กลุ่มคนผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจสูงกลับมองไม่เห็นผู้คนที่กำลังเดือดร้อน ดิ้นรนให้มีชีวิตรอด แต่กลับนำเอาอำนาจและฐานะทางเศรษฐกิจมาเป็นที่ตั้งสร้างชุดศีลธรรมขึ้นมา แล้วใช้เป็นหอกทิ่มแทงผู้อื่น ทำไมไม่ทำงานอยู่ที่บ้าน ยังจะออกไปข้างนอกกันอีก ทำไมไม่กักตัวอยู่ที่บ้าน ที่โควิด-19 มันไม่หยุดสักทีก็เพราะคนพวกนี้ไม่ยอมอยู่บ้าน ไปจนถึงการตีตราผู้คนว่าเป็น  ‘แรด’ หรือ‘เหี้ย’ เป็นกลุ่มคนที่ไร้ศีลธรรมและความรับผิดชอบที่อยากจะออกจากบ้านหลัง22.00 น. หรือตั้งคำถามกับการประกาศเคอร์ฟิวของรัฐบาล หรือแม้กระทั่งในเหตุการณ์อื่นๆ (เช่น คนไทยในต่างแดนที่ต้องการกลับบ้าน) ที่มักถูกตีตราว่าไร้ศีลธรรม ความรับผิดชอบ โดยไม่พิจารณาถึงข้อจำกัดที่พวกเขาต้องเผชิญอยู่ หรือการถามหามาตรการความรับผิดชอบที่ดีจากรัฐ (หรือเป็นเพราะเราไม่เคยมีรัฐที่ดี เราถึงจินตนาการไม่ออกว่ารัฐที่ดีควรทำอย่างไรในวิกฤตเช่นนี้ ?) 

กลับกลายเป็นว่าทุกอย่างถูกโยนมาที่‘ตัวบุคคล’ ว่าคนคนหนึ่งนั้นรับผิดชอบต่อตัวเอง ต่อสังคมดีมากพอหรือยังผ่านการสร้างชุดศีลธรรมจรรยาขึ้นมา ใส่หน้ากากหรือยัง แต่ไม่ถามว่าราคาหน้ากากเท่าไหร่ และคนที่จนที่สุดในประเทศนี้มีปัญหาหาซื้อได้หรือไม่ แล้วใครควรจะเป็นผู้จัดการปัญหานี้ ทำไมไม่ทำงานจากที่บ้าน แต่ไม่ถามว่ามีกลุ่มอาชีพกี่อาชีพในประเทศนี้ที่ทำงานจากที่บ้านและยังได้รับเงินเดือนได้ และหากกลุ่มอาชีพที่ไม่สามารถทำงานจากที่บ้านได้ถูกบีบด้วยมาตรการของรัฐและศีลธรรมทางสังคมที่กลุ่มคนผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจสร้างขึ้น พวกเขาเหล่านั้นจะทำอย่างไร ทำไมต้องต่อต้านหรือตั้งคำถามกับมาตรการต่างๆ ของรัฐ แต่ทำตามไม่ได้หรืออย่างไร ฯลฯ 

แต่คนเหล่านี้กลับลืมไปว่า ที่พวกเขาทำตามมาตรการของรัฐได้ทุกอย่าง เพราะพวกเขามีฐานะทางเศรษฐกิจ ไม่ต้องออกไปซื้ออาหารที่ตลาดสด เพราะมีเงินจ่ายค่าฟู้ดเดลิเวอรี่และค่าขนส่งอาหาร ไม่ต้องออกไปทำงานข้างนอกเพราะด้วยงานทำที่บ้านได้ ไม่ต้องคิดว่าจะหารายได้อย่างไร แต่คิดว่าจะจะทำอะไร‘ฆ่าเวลา’ ดี ดูเน็ตฟลิกซ์ดีไหม ทำอาหารดีไหม เพราะยังมีรายได้ มีเงินเก็บ มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ไม่จำเป็นต้องตั้งคำถามกับมาตรการของรัฐ มิหนำซ้ำยังออกมาใช้มาตรฐานของคนที่มีเงินเท่านั้นถึงทำได้ สร้างเป็นชุดศีลธรรม เป็นคำตอบหนึ่งเดียว มาก่นด่า ต่อว่า ทิ่มแทงคนอื่น 

โดยเฉพาะที่ว่า“เพลาๆ เรื่องความเหลื่อมล้ำทางสังคมบ้างก็ได้นะ” — ก็แน่สิ คุณอยู่ในจุดที่มีเงินมากพอที่ยังสั่งฟู้ดเดลิเวอรี่มากินได้ หรือนอนดูเน็ตฟลิกซ์ที่บ้านได้นี่นา 

โควิด-19 ทำให้มาตรฐานทางศีลธรรมส่วนบุคคลสูงขึ้นมาอย่างมาก แต่เป็นมาตรฐานทางศีลธรรมที่เอาฐานะทางเศรษฐกิจ เอาปัจจัยของตนเองเป็นที่ตั้ง ที่ละเลยข้อจำกัดของผู้คนอีกมากมายในสังคมนี้ ที่ละเลยปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคม ปัญหาการจัดการของรัฐว่าครอบคลุม เหมาะสม ดีพอหรือยัง แต่กลับโยนบาปไปยังตัวบุคคล ที่ไม่สามารถจัดการชีวิตของตนเองได้โดยใช้มาตรฐานของตนเองเป็นเกณฑ์

โควิด-19 และการเปิดเปลือยความเหลื่อมล้ำในสังคมโลก

ถ้าหากเจ้าของข้อเขียนนั้นเปิดตาตัวเองออกจากหอคอยเน็ตฟลิกซ์และฟู้ดเดลิเวอรี่บ้าง ก็จะเป็นว่า ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่2019 นี้ ได้เปิดเผยให้เห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมทั่วโลก 

อย่างในประเทศไทยเอง นอกจากเรื่องหน้ากากอนามัยที่กลายเป็นประเด็นไปแล้ว การกักกันตัว หรือแม้กระทั่งการตรวจโควิด-19 ก็แสดงให้เห็นถึง‘ความเหลื่อมล้ำ’ ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น อย่างข้อเขียนที่มีการแชร์กันอย่างมากในโซเชียลมีเดียและทวิตเตอร์ของแอคเคานต์ที่ใช้ชื่อว่า @LinZhiping47 ที่ถ่ายทอดประสบการณ์ของผู้ที่ติดเชื้อไวรัสจากการทำงานในพื้นที่เสี่ยงคือทองหล่อและใช้บริการแอร์พอร์ตลิงก์ทุกวัน 

เขาตั้งข้อสังเกตถึงการไม่ได้ตรวจแล็บอีกครั้งของเขาว่าผลเป็นเนกาทีฟแล้วหรือยัง โดยในจุดหนึ่งเข้าใจได้ว่าต้องสำรองน้ำยาไว้ให้กับกลุ่มเสี่ยงที่ต้องตรวจ(ครั้งแรก) แต่ในจุดหนึ่งก็จะเห็นว่ามีบุคคลผู้ติดเชื้อคนอื่นๆ ที่รักษาในโรงพยาบาลเอกชนได้สิทธิในการตรวจแล็บครั้งที่สอง หรือแม้กระทั่งดาราอย่างหนูเล็ก ก่อนบ่ายฯ ที่ได้ตรวจครั้งที่สอง นั่นหมายความว่าอย่างไรกัน การจ่ายได้คือสิทธิในการเข้าถึงการตรวจใช่หรือไม่? และสิ่งเหล่านี้ไม่เรียกว่าความเหลื่อมล้ำอย่างนั้นหรือ 

สิ่งนี้ไม่ได้เกิดเพียงแค่ในเมืองไทยเท่านั้น ในอังกฤษและสหรัฐฯ เองก็มีการตั้งคำถามนี้กับคนดังหลากหลายคนที่มีโอกาสได้ตรวจแล็บ ไม่ว่าจะหนึ่งหรือสองครั้ง ในขณะที่ผู้ที่มีความเสี่ยงอีกหลายคนเข้าไม่ถึงการตรวจ 

ในสังคมโลก เราจะเห็นแรงกระแทกเรื่องความเหลื่อมล้ำเรื่อยมา โดยเฉพาะปรากฏการณ์‘คนดัง’ ของโลก ที่ถูกพายุโซเชียลมีเดียถล่มหลายระลอก เริ่มต้นจากเกล กาโดต์ นางเอกหนังเรื่อง Wonder Woman ที่ชวนดาราคนดังทั้งหลายมาร้องเพลง‘Imagine’ ของจอห์น เลนนอน โดยเฉพาะท่อนที่ร้องว่า‘Imagine no possessions’ (จินตนาการถึงโลกที่ไม่มีใครถือครองทรัพย์สิน ละทิ้งความโลภ) ซึ่งออกมาจากปากของนักแสดงที่ได้ค่าตัว10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และชักชวนผู้คนที่กำลังจะตกงานมาร้องเพลงนี้ด้วยกัน 

รวมไปถึงกรณีของมาดอนน่าที่ออกมากล่าวว่าโควิด-19 ทำให้คนเราเท่ากัน ก่อนจะโดนถล่มยับ หรือฟาเรลล์ วิลเลี่ยมส์ ที่ออกมาทวีตเชิญชวนผู้คนให้ร่วมบริจาคเงินให้กับโรงพยาบาล ก่อนจะถูกตอกกลับว่า ฟาเรลล์ วิลเลี่ยมส์ ซึ่งมีทรัพย์สินมูลค่ากว่า150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ก็บริจาคเองสิ(ซึ่งต่อมาฟาเรลล์ออกมาบอกว่าเขาได้บริจาคแล้ว) 

นี่ไม่ได้หมายความว่าในยามนี้‘คนรวย’ ทำอะไรก็ผิด ในสถานการณ์อันเปราะบางนี้ ผู้คนที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก โดยเฉพาะในเรื่องปากท้องและการดำรงชีวิตล้วนอ่อนไหว การสื่อสารที่ไม่มองรอบด้าน ลึกซึ้ง ครอบคลุมถึงคนทุกกลุ่มในสังคม หรือปัญหาเชิงโครงสร้างจึงกลายเป็นเป้าโจมตีภายใต้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมที่นับวันช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนจะถ่างออกจากกันมากขึ้นทุกที

บทความในนิวยอร์กไทม์สให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า ภายใต้มาตรการของรัฐที่ต้องการให้ผู้คนอยู่บ้านเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไวรัสนั้น เมื่อดูจากดาต้าที่เก็บมาจากสมาร์ทโฟน(ซึ่งให้ข้อมูลการเคลื่อนไหวของผู้ใช้) จะพบว่าในเขตพื้นที่เดียวกัน คนกลุ่มที่มีรายได้สูง10% ด้านบนของปิระมิด จะ‘อยู่กับที่’ มากกว่าคนที่มีรายได้ต่ำที่เป็น10% ของฐานปิระมิด 

การอยู่กับบ้านได้ตามมาตรการของรัฐ จึงไม่ใช่แค่การเป็นบุคคลที่มีศีลธรรมจรรยา มีความรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่นในสังคม แต่ยังเป็นการบ่งบอกว่า บุคคลนั้นมี‘ความหรูหราร่ำรวย’ หรือฐานะทางเศรษฐกิจมากพอที่จะ‘อยู่บ้าน’ ได้ ในขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่งพยายามที่จะดิ้นรน ออกจากบ้านเพื่อหารายได้มาประทังชีวิต(และอาจจะไม่ใช่แค่ชีวิตเดียว) แต่ในสถานการณ์เช่นนี้ พวกเขากลับต้องถูกประณามและตีตราจากสังคมว่าไม่มีความรับผิดชอบ กลายเป็นบุคคลที่ทำให้ไวรัสไม่หยุดแพร่กระจายสักที เพราะคนพวกนี้ไม่ยอม‘อยู่บ้าน’ 

เช่นเดียวกันกับบทความในเดอะการ์เดียน ซึ่งกล่าวว่า มาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคมที่ให้ประชาชนอยู่บ้านนั้น สะท้อนให้เห็นความเหลื่อมล้ำของชนชั้นทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจนและส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อชนชั้นแรงงาน(working class) ในขณะที่คนรวยหรือชนชั้นกลางระดับบน ที่มีฐานะวางแผน‘การอยู่บ้าน’ ทั้งจะทำกับข้าวอะไรดี จะดูซีรีส์เรื่องไหน หรือจะทำกิจกรรมอะไรไม่ให้เบื่อที่ต้องอยู่บ้าน หรือหลบไปอยู่ที่ไหนสักแห่งในยามการแพร่ระบาดของโควิด-19 นี้ แต่ชนชั้นแรงงานกลับต้องคิดว่า แล้วจะออกจากบ้านไปทำงานอย่างไร จะใช้รถไฟใต้ดินที่คนแออัดอย่างไรให้ปลอดภัย จะทำงานอย่างไรให้ปลอดภัย ไปจนถึงแล้วจะทำอย่างไรหากรัฐไม่ให้ออกจากบ้านเลย หรือตกงาน 

เพราะฉะนั้น ในยามคับขันและวิฤตนี้ จึงไม่ใช่การมาชี้นิ้วตีตรากันว่า ฉันทำได้ ทำไมเธอทำไม่ได้ ทำไมคนกลุ่มนี้จึงเรียกร้องมากจัง ทำไมคนกลุ่มนี้ไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ทำไมไม่จัดการที่ตัวเอง ตัวเองทำดีพอแล้วหรือยัง มัวแต่เรียกร้องจากรัฐบาล ก่นด่ารัฐบาลอยู่ได้ เลิกพูดเรื่องความเหลื่อมล้ำได้แล้ว ฯลฯ 

เพราะการทำได้หรือไม่ได้ ขึ้นกับปัจจัยทางเศรษฐกิจของคนเราที่ไม่เท่ากัน สิ่งที่เราควรจะมองให้เห็นในยามนี้ก็คือ นอกจากเราที่จะต้องทำอย่างไรในภาวะนี้แล้ว ผู้คนอื่นๆ ที่เขามีต้นทุน ปัจจัยแตกต่างจากเรา เขามีเหตุและผลอะไร เขาได้รับความช่วยเหลือที่เพียงพอ ครอบคลุม และดีพอทั้งจากสังคมและรัฐแล้วหรือยัง มองให้เห็นความเป็น ‘มนุษย์’ ทั้งในตัวเองและผู้อื่น

เพราะไม่ใช่ทุกคนในประเทศนี้หรือโลกนี้ที่สามารถจะอยู่บ้านสั่งฟู้ดเดลิเวอรี่มากินและนอนดูเน็ตฟลิกซ์ได้ในยามนี้ และพวกเขาเหล่านั้นที่ไม่สามารถทำแบบนั้นได้ ก็ไม่สมควรที่จะถูกตีตราจากจุดยืนทางศีลธรรมความรับผิดชอบของคนที่ทำได้เนื่องจากมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีกว่า 

อ้างอิง

https://www.nytimes.com/interactive/2020/04/03/us/coronavirus-stay-home-rich-poor 

https://www.theguardian.com/commentisfree/2020/mar/21/rich-famous-coronavirus-tests-covid-19-tom-hanks 

https://www.theguardian.com/commentisfree/2020/apr/01/coronavirus-covid-19-working-class 

https://www.facebook.com/1382764401788575/posts/2916193685112298/?d=n 

https://www.thairath.co.th/entertain/news/1804493 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0