โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

สัญญาณแรง! คนไทย 73% พร้อมแก่ ส่วนวัยทำงานเครียดติดอันดับโลก

BLT BANGKOK

อัพเดต 19 เม.ย. 2562 เวลา 08.34 น. • เผยแพร่ 19 เม.ย. 2562 เวลา 08.27 น.
5effa0319415a6d8e5e4785f631b8194.jpg

ผลสำรวจชี้ คนไทยพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทั้งในด้านการเงิน ร่างกาย และจิตใจ ส่งผลให้ตลาด Smart Home และอุปกรณ์อัจฉริยะด้านสุขภาพเติบโต ขณะเดียวกันกลับน่าเป็นห่วงสำหรับกลุ่มมิลเลนเนียล ที่มีคะแนนสุขภาพและความเป็นอยู่ต่ำกว่าช่วงอายุอื่น ด้วยสภาวะเครียดจากการทำงานและแรงกดดันจากการที่ต้องดูแลครอบครัว
คนไทยส่งสัญญาณพร้อมที่จะ “แก่” 
ปัจจุบัน ไทยมีผู้สูงอายุจำนวน 9.5 ล้านคน แบ่งเป็นกลุ่มที่สุขภาพร่างกายแข็งแรงสามารถพึ่งพาตนเองได้อยู่ที่ 8.55 ล้านคน โดย World Bank คาดการณ์ว่าในอีก 30 ปีข้างหน้า ไทยจะมีประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น 37.1% หรือคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด
โดย บมจ. ซิกน่า ประกันภัย เผยผลสำรวจคะแนนสุขภาพและความเป็นอยู่ประจำปี 2562 ซึ่งสำรวจการรับรู้และทัศนคติของคนไทยที่มีต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ใน 5 ด้าน ได้แก่ ร่างกาย ครอบครัว สังคม การเงิน และการงาน พบว่า คนไทยส่วนใหญ่รู้สึกว่า “คนแก่” คือคนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่มองว่าคนที่มีอายุ 63 ปีขึ้นไปถึงจะถือว่าแก่ โดยหากมองในแง่บวกแสดงว่า คนไทยพร้อมเข้าสู่สังคมสูงวัย โดย 45% ระบุว่า มีความพร้อมทางการเงินเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลก 38%
นอกจากนี้ กว่า 70% ระบุว่า แม้จะแก่แต่ยังต้องการใช้ชีวิตแบบมีพลัง มีความกระฉับกระเฉง พร้อมทำประโยชน์ให้สังคม และกว่า 73% รู้สึกว่าตนเองพร้อมที่จะแก่ โดยเฉพาะความพร้อมในด้านจิตใจ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของคนทั่วโลกถึง 10% นอกจากนี้ยังระบุว่า แม้อายุมากขึ้นแต่ก็ต้องการทำงาน เหตุผลหลักไม่ใช่เรื่องเงินแต่เพื่อให้ตนเองมีพลังในการใช้ชีวิต โดย 79% เผยว่า พร้อมที่จะทำงานกับผู้สูงอายุ และมากกว่า 63% เชื่อว่านายจ้างยินดีว่าจ้างพนักงานสูงอายุอีกด้วย (ดูอินโฟกราฟิกประกอบ 1)

วัยทำงานเสี่ยงสุขภาพแย่ลง
แม้คนไทยส่วนใหญ่ตื่นตัวและพร้อมสู่สังคมสูงวัย แต่ผลสำรวจพบว่า คนวัยทำงานอายุ 35-49 ปี ยังคงเป็นกลุ่มที่มีคะแนนสุขภาพและความเป็นอยู่น้อยที่สุดแทบทุกด้านติดต่อกันทุกปี ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ต้องรับมือกับปัญหาชีวิตทุกๆ ด้าน เช่น ทำงานหนัก ใช้ชีวิตประจำวันที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ รวมถึงมีปัญหาด้านการเงินมากกว่าช่วงวัยอื่น
โดยผลวิจัยพบว่า ความเครียดของคนกลุ่มนี้เกิดจากแรงกดดันที่ต้องดูแลครอบครัว เนื่องจากการมีชีวิตที่ดีนั้นไม่เพียงแต่ต้องใช้เงินจำนวนมากแต่ยังต้องมีการจัดสรรเวลาให้เพียงพอ รวมถึงการมีสุขภาพที่แข็งแรง ซึ่งคนกลุ่มนี้มองว่าทำได้ยาก เพราะจำเป็นต้องทุ่มทำงานหนักจนไม่มีเวลาพอที่จะไปทำเรื่องอื่นๆ
อีกทั้งคนไทยมากกว่า 91% ระบุว่าตนเองมีความเครียด ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 84% และกว่า 81% ระบุว่า พวกเขาอยู่ในวัฒนธรรมการทำงานที่ต้องตื่นตัวตลอดเวลา ส่งผลให้มีความเครียดสูง โดยเกือบทั้งหมดเห็นว่าความเครียดในสถานที่ทำงานส่งผลเชิงลบต่อประสิทธิภาพการทำงานและนำไปสู่บรรยากาศการทำงานที่น่าหดหู่ (ดูอินโฟกราฟิกประกอบ 2)

คนไทยมีความรู้เกี่ยวกับสุขภาพสูงขึ้น
ที่น่าสนใจคือ คนไทยมีคะแนนดีกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกในเรื่องการเข้าใจและรับรู้ถึงตัวชี้วัดด้านสุขภาพของหัวใจ โดยมากกว่า 63% ระบุว่าทราบดัชนีมวลกาย (Body Mass Index: BMI) ของตนเอง และมากกว่า 75% ทราบระดับความดันโลหิตด้วย โดยกลุ่มผู้สูงอายุมีความรู้ในเรื่องดังกล่าวมากกว่าช่วงอายุอื่นๆ
ในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา สิ่งที่เติบโตมาพร้อมกับกระแสสังคมสูงวัยคือ Smart Wearable หรืออุปกรณ์อัจฉริยะ ซึ่งได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น สังเกตได้จากยอดขายในประเทศที่สูงขึ้นเฉลี่ย 23% ต่อปี โดยเฉพาะกลุ่มอุปกรณ์เพื่อสุขภาพ
ด้านสถาบันวิจัยด้านการตลาดของสหรัฐฯ ระบุว่า จำนวนการขายอุปกรณ์ Smart Wearable ทั่วโลกจะเติบโตเฉลี่ยสะสมถึง 11.6% ต่อปี จาก 123 ล้านชิ้นในปี 2561 เป็น 190 ล้านชิ้นในปี 2565 โดยมีปัจจัยสำคัญคือ 1. กระแสใส่ใจสุขภาพ 2. การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และ 3. การลงทุนข้ามอุตสาหกรรมของบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ
ซึ่งสังคมสูงวัยเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยขยายศักยภาพการเติบโตของตลาด Smart Wearable โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า ผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มอาศัยอยู่คนเดียวเติบโตเฉลี่ยสะสม 3% ต่อปี ตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 1.4 ล้านคนในปี 2565 คิดเป็น 11 % ของผู้สูงอายุทั้งหมด
ด้านข้อมูลจากกรมควบคุมโรคเปิดเผยว่า การเสียชีวิตของผู้สูงอายุจากการหกล้มสูงถึงปีละเกือบ 2,000 ราย ซึ่งนวัตกรรมใหม่ๆ ของ Smart Wearable เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดการพัฒนาอุปกรณ์ สอดคล้องกับความต้องการในการดูแลผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่คนเดียว ซึ่งผู้ใช้ Smart Wearable ในไทยที่มีอายุมากกว่า 45 ปีขึ้นไป คิดเป็น 16.4% ของจำนวนผู้ใช้ทั้งหมด และคาดว่าจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง (ดูอินโฟกราฟิกประกอบ 3)

สูงวัย เป้าหมายหลักของโครงการที่พักอาศัย
รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย ปี 2560 ของกรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ระบุว่า แม้ในปี 2560 จะมีผู้สูงอายุได้รับเบี้ยยังชีพเพิ่มขึ้น 8.2 ล้านคน ซึ่งมากกว่าปี 2552 กว่า 1.5 เท่า แต่ยังพบว่า 1 ใน 3 มีรายได้อยู่ใต้เส้นความยากจน ซึ่งมีรายได้หลักจากบุตรลดน้อยลงเหลือเพียง 35% รายได้จากการทำงานลดลงเหลือ 31% รายได้จากคู่สมรสเพียง 20% และรายได้จากเงินออมมีเพียง 2% เท่านั้น สะท้อนถึงจำนวนผู้สูงวัยที่เพิ่มขึ้น และรายได้ทางเศรษฐกิจของผู้สูงวัยที่ลดน้อยถอยลงไปอีกด้วย ประกอบกับแนวโน้มของครอบครัวยุคใหม่ที่มีจำนวนสมาชิกลดลง ส่งผลให้อัตราผู้สูงอายุที่อาศัยคนเดียวเพิ่มขึ้น ทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของกลุ่มสูงวัยเติบโตขึ้น
จากผลสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ของดีดีพร็อพเพอร์ตี้ ในหัวข้อความต้องการด้านที่พักอาศัยเมื่อยามสูงวัย พบว่า 50% มองหา Nursing Home และ Retirement Community มีเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น ที่ต้องการอาศัยอยู่ในบ้านเดี่ยวเมื่อถึงวัยเกษียณ (ดูอินโฟกราฟิกประกอบ  4)
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการ Retirement Community หรือโครงการที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงวัยเอง ก็มีความท้าทายไม่แพ้กัน เพราะต้องพัฒนารูปแบบที่พักให้ตอบโจทย์ความต้องการให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย โดยปัจจุบันภาครัฐและเอกชนก็เริ่มให้ความสนใจในธุรกิจนี้มากขึ้น โดยปล่อยหลายโครงการที่รองรับประชากรสูงวัยเข้าสู่ท้องตลาด
นอกจากนี้ การนำเทคโนโลยี Smart Home เข้ามาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกและมอบความปลอดภัยให้แก่ผู้สูงวัยก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยดึงดูดกลุ่มเป้าหมายได้ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ระดับบนเพราะมีกำลังซื้อสูง
ดังนั้น ในเร็ววันนี้เราคงได้เห็นตลาด Smart Home รวมถึง Smart Wearable หรือกลุ่มอุปกรณ์อัจฉริยะเพื่อการใช้ชีวิตได้สะดวกสบายขึ้นของผู้สูงวัยเติบโตมากขึ้น ขณะเดียวกัน กลุ่มมิลเลนเนียล ที่เป็นฐานสำคัญของประเทศ ก็จำเป็นต้องเพิ่มการรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพในอนาคต ซึ่งการกระตุ้นและส่งเสริมให้คนไทยหันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของตนเอง จะทำให้ความเป็นอยู่ของประชากรดีขึ้นในทุกๆ ด้าน พร้อมเปลี่ยนผ่านสู่สังคมสูงวัยได้อย่างราบรื่น


คุณจูเลียน เมงกัล - ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้จัดการประจำประเทศไทย บมจ.ซิกน่า ประกันภัย  
“การเพิ่มขึ้นของกลุ่มคนสูงอายุส่งผลธุรกิจหลายประเภทได้รับประโยชน์จากความต้องการของคนรุ่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจการบริการด้านสุขภาพไปจนถึงสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าเทคโนโลยี โดยสิ่งที่ซิกน่าต้องให้ความสำคัญในปัจจุบันคือการดูแลและส่งเสริมให้คนไทยมีความเป็นอยู่ที่ดีและมีสุขภาพที่แข็งแรงในทุกช่วงวัย”

คุณกมลภัทร แสวงกิจ - ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย DDproperty.com  
“แม้ภาครัฐและภาคเอกชนจะพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อผู้สูงอายุจนทำให้เกิด Retirement Community จำนวนมาก แต่ยังมีราคาและตำแหน่งการตลาดเจาะกลุ่มลูกค้าระดับกลางถึงบน สวนทางกับกำลังซื้อของผู้สูงอายุไทยที่ส่วนใหญ่ยังต้องพึ่งพารายได้หลักจากลูกหลาน มีเงินออมค่อนข้างน้อย และส่วนมากต้องการพักอาศัยกับครอบครัวตนเองมากกว่าสถานพักฟื้น, Home Care หรือบ้านพักพิงสำหรับผู้สุูงอายุ”

[English]
Thailand Gets Ready for Aging Society
Currently, around 9.5 million Thais are considered the elderly, with 8.55 million of them in good health.  The World Bank has projected that the number of the elderly in Thailand would rise 37.1% over the next 30 years, when they would account for over a third of the country’s population.
According to Cigna — a a global health service company, most Thais defined the elderly as people, who are 60 years old, compared with the global perception of 63 years.  This shows Thais are getting ready for the aging society.
Cigna’s survey also showed that 45% of Thais are financially ready for the aging society while the global average was at 38%.  Moreover, more than 70% said they would like to grow old healthily and some 73% said they are mentally ready for aging.
But, as many are alert and show readiness, the survey suggested that people aged between 35 and 49 remain the group with the lowest health and livelihood scores, due to stress derived from the need to take care of their families.  In addition, over 91% of Thais said they are under stress — a rate that is higher than the global average of 84%.
Nevertheless, more than 63% are aware of their BMI (Body Mass Index) and more than 75% know their blood pressure level well. 
Meanwhile, DDproperty’s survey found 50% of consumers have already started looking for nursing home and retirement community, but only a third wished to find a single house for retirement.

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0