โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

สัญญาณหืดจับ ปม 41 ส.ส.ถือหุ้นสื่อ มรสุมถล่มซ้ำรัฐนาวาลุงตู่ 2 จมดิ่ง

ไทยรัฐออนไลน์ - Politics

เผยแพร่ 20 มิ.ย. 2562 เวลา 12.02 น.
ภาพไฮไลต์
ภาพไฮไลต์

หลายๆ ปมร้อนการเมือง ดูจะหลอกหลอนรัฐบาลชุดใหม่ "บิ๊กตู่" ทำให้สะดุ้งเฮือกเป็นระยะๆ ทั้งการจัดโผครม.เกลี่ยให้ลงตัว กินเวลาเนิ่นนานมาราธอน และประเด็น 7 พรรคฝ่ายค้าน แท็กทีมถล่ม "บิ๊กตู่" ขาดคุณสมบัตินายกรัฐมนตรี ไม่รวมสถานภาพ ส.ส.ทั้ง 41 คนในพรรครัฐบาล ถือหุ้นสื่อยังลูกผีลูกคน ว่ามีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามหรือไม่?

ไคลแมกซ์ขณะนี้ต้องพุ่งเป้าไปยังปมถือหุ้นสื่อของ 41 ส.ส.พรรครัฐบาล ภายหลังเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ส่งเรื่องไปยังส่งศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยสมาชิกภาพจะสิ้นสุดลงหรือไม่ ตามคำร้องของ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ โดยส.ส.ทั้ง 41 คน แยกเป็นพรรคพลังประชารัฐ 27 คน, พรรคประชาธิปัตย์ 10 คน, พรรคภูมิใจไทย 1 คน, พรรครวมพลังประชาชาติไทย 1 คน, พรรคชาติพัฒนา 1 คน และพรรคประชาภิวัฒน์ 1 คน

"รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย" อาจารย์ประจำสาขาวิชาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวกับ "ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐ" ว่า หากยึดตามกฎหมายก็เท่ากับว่า 41 ส.ส.พรรครัฐบาล มีลักษณะใกล้เคียงกับผู้สมัคร ส.ส.สกลนคร, ระยอง และอ่างทอง ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งได้มีคำพิพากษาไปแล้วจากใบบริคณห์สนธิ แม้ศาลคนละประเภท แต่ท้ายสุดการบังคับใช้ข้อกฎหมายก็ไม่แตกต่างกัน จึงมีโอกาสที่ 41 ส.ส. จะถูกหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ชั่วคราวเหมือนนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่

ทั้งนี้ทีมทนาย 41 ส.ส. จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญขอคุ้มครองชั่วคราวไม่ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ โดยการคุ้มครองชั่วคราวนั้นในประการแรก ต้องเป็นกรณีที่ศาลเห็นการฟ้องคดีน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรืออีกนัยหนึ่ง ต้องแสดงให้เห็นว่าข้อเท็จจริงไม่ได้ถือหุ้นสื่อ ประการที่สอง ต้องเป็นกรณีที่หากการฟ้องคดีมีผลใช้บังคับต่อไป จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีจนยากแก่การเยียวยาในภายหลัง และประการที่สาม การทุเลาหรือคุ้มครองชั่วคราว จะไม่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารงานของรัฐหรือแก่บริการสาธารณะ ซึ่งมองว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่ ส.ส.ทั้ง 41 คน จะได้รับการคุ้มครอง โดยศาลจะพิจารณาการขอคุ้มครองไม่น่าเกิน 1 สัปดาห์ จะรู้ผล ส่วนการการวินิจฉัย อาจใช้เวลายาวนาน

ส่วนผลกระทบต่อรัฐบาล ซึ่งมีเสียงปริ่มน้ำอยู่แล้วมีจำนวนรวมกัน 253 เสียง ไม่นับนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และหาก 41 ส.ส. ถูกหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ชั่วคราว จะทำให้รัฐบาลเหลือเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่ง จะมีปัญหาต่อกิจการทางการเมืองหลายอย่าง เมื่อเทียบกับ 251 เสียงจาก 7 พรรคฝ่ายค้าน ทั้งนี้อยากให้มีการตรวจสอบส.ส.ฝ่ายค้านในประเด็นถือหุ้นสื่อเช่นกัน อย่างไรก็ตามมาตรา 82 ในรัฐธรรมนูญ กำหนดไว้ว่ากรณีมี ส.ส.ถูกห้ามปฏิบัติหน้าที่ ไม่ให้ถือว่าเป็นการนับจำนวน ส.ส. แต่ให้นับจำนวนกึ่งหนึ่งของ ส.ส.ที่มีอยู่ และเมื่อรวม ส.ส.ในสภา ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน จะเหลือประมาณ 450 คน เท่ากับว่าเสียงกึ่งหนึ่งมี 220 กว่า แต่เสียงของรัฐบาลยังคงปริ่มน้ำอยู่ดี
“กรณี ส.ส.พรรครัฐบาล ไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ซึ่งตามหลักธรรมาภิบาลควรลาออกจาก ส.ส. แม้ในรัฐธรรมนูญจะไม่มีข้อห้ามก็ตาม เพราะในเชิงเทคนิคจะเกิดปัญหากับรัฐบาล เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ในการเสนอกฎหมาย หากไม่แยกฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติออกจากกัน จะกลายเป็นเรื่องอำนาจแฝง แต่อย่างไรก็ต้องลาออกจาก ส.ส. เพื่อขยับให้ผู้มีรายชื่อ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์อันดับถัดไป ขึ้นมาแทน ไม่ให้กระทบเสียงรัฐบาลในสภาอยู่แล้ว”

ขณะที่ข้อกังวลเกี่ยวกับ พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2563 ซึ่งอาจไม่ทันต้นปีงบประมาณ 1 ต.ค. สามารถใช้งบปี 2562 ไปก่อนได้ ซึ่งจะไม่เกิดการชัตดาวน์อย่างแน่นอน แต่ในแง่ของความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลเกิดขึ้นอย่างแน่นอน อีกทั้งระหว่างไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมผู้นำอาเซียน ยังไม่มี ครม.ชุดใหม่ มีการจัดตั้งล่าช้าหากเทียบกับประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเลือกตั้งหลังไทย เมื่อ 17 เม.ย.ที่ผ่านมา แต่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ก่อน

พร้อมทิ้งท้ายว่า แม้รัฐบาลจะมีกลไกต่างๆ มีคนจาก คสช.มาเป็นส.ว.และเป็นกรรมยุทธศาสตร์ชาติ หรือมีรัฐธรรมนูญมาช่วยก็ตาม แต่รัฐบาลชุดนี้จะลุ่มๆ ดอนๆ จนสุดท้ายกลไกรัฐธรรมนูญ จะเป็นกลายเป็นบ่วงมายังพรรคพลังประชารัฐ รวมถึงปมคุณสมบัตินายกรัฐมนตรี การถือหุ้นสื่อของ ส.ส. และภาพลักษณ์ของรัฐบาล ซึ่งล้วนบั่นทอนเสถียรภาพรัฐบาลทั้งสิ้น.

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง

ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : www.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0