โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

แก่อย่างมีคุณค่า...ปรึกษาพี่ !!!

Wealthy Thai

อัพเดต 10 มี.ค. เวลา 01.10 น. • เผยแพร่ 06 ส.ค. 2564 เวลา 13.04 น. • สกา เวชมงคลกร

ใครเคยอยู่ในภวังค์ของความสับสนว่า “ถ้าเราจะเกษียณให้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้ ต้องเตรียมเงินก้อนหรือ ต้องวางแผนอย่างไร เพื่อให้เกษียณไปแล้วมีเงินใช้ตามเป้าหมายได้จริง”
ก่อนอื่นเลย ต้องลิสต์ “ทำบัญชีทรัพย์สิน” ของตัวเองผ่านการทำงบดุล งบกระแสเงินสด เพื่อดูว่าเรามีสถานะทางการเงินอย่างไร มีความมั่งคั่งสุทธิเท่าไหร่ ดูรายได้และค่าใช้จ่ายในปัจจุบันว่าพอมีเงินเหลือออมเพื่อการเกษียณกี่บาทต่อเดือน การทำสิ่งเหล่านี้ทำให้เราตรวจเช็คสถานะการเงิน และรู้ว่าเราจะมีแหล่งเงินเริ่มต้นสำหรับการลงทุนเพื่อการเกษียณเท่าไหร่ และจะได้ทราบว่าเงินที่ต้องเติมเพิ่มในแต่ละเดือนเพื่อให้ถึงเป้าหมายการเกษียณที่ต้องการควรเป็นเท่าไหร่
“แล้วมาเริ่ม ‘ตั้งเป้าหมายเพื่อการเกษียณ’ ที่เป็นไปได้จริง ตามคอนเซ็ปต์ ออมก่อน รวยกว่า ลงทุนถูกที่อย่างสม่ำเสมอ ให้เงินทำงานเกษียณสุขตามไลฟ์สไตล์ที่ต้องการได้แน่นอน”
เมื่อตั้งเป้าเสร็จ ก็ติดต่อ “นักวางแผนการเงิน” ที่ไว้ใจได้ เพื่อปรึกษาขอคำแนะนำเพื่อทำแผนเกษียณอายุของตัวเอง คุณจะรู้ว่าต้องเก็บเงินเท่าไหร่ต่อเดือน มีเป้าหมายชัดเจนว่าจะมีเงินใช้จ่ายต่อเดือนเท่าไหร่หลังเกษียณ จะได้รู้ว่าตอนเกษียณจะมีทรัพย์สินและหนี้สิน ณ วันที่เกษียณเท่าไหร่ และมีกระแสเงินสดสำหรับใช้หลังเกษียณเท่าไหร่ ควรต้องลงทุนให้ได้ผลตอบแทนเท่าไหร่จึงจะสามารถเกษียณสุข ตามที่ตัวเองต้องการ
“มีแผนการเกษียณที่เป็นรูปเล่ม มีแบบฉบับ และสามารถปรับเปลี่ยนข้อมูลได้ในอนาคต หากเป้าหมายเปลี่ยนหรือมีเหตุการณ์สำคัญที่มากระทบต่อแผน เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นและยังคงสามารถ ‘ปรับเปลี่ยนวิธีการ’ หรือ ‘Call-to-Action’ บางข้อทำให้ถึงเป้าหมายเกษียณสุขได้อย่างยั่งยืน”

“นักวางแผนการเงิน” จะช่วยตั้งโจทย์และกรอบเป้าหมายจากนามธรรมให้กลายเป็นรูปธรรม เพื่อให้ “ผู้รับคำปรึกษา” สามารถสร้างความมั่งคั่งและมั่นคงในระยะยาว เพื่อที่จะได้ไม่เป็นภาระใครในอนาคต หรือ ภาระลูกหลานในวันข้างหน้า เพราะโครงสร้างประชากรไทยที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นแบบพิระมิดคว่ำหัว ทำให้ประชากรสูงวัยมีจำนวนมาก กอปรกับวัยเด็กมีจำนวนลดลงและวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่ดีขึ้น ทำให้คนไทยมีอายุยืนยาวขึ้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ควรเตรียมเงินก้อนไว้สำหรับยามเกษียณ และควรวางแผนให้มีเงินได้ประจำที่เพียงพอและยาวนานมากพอ เพื่อให้แผนเกษียณสุขของเราเป็นไปอย่างเหมาะสม พอเพียง และเพียงพอในทุกช่วงอายุหลังเกษียณ และยังคงสามารถใช้ไลฟ์สไตล์ในแบบที่ตัวเองต้องการได้
“นอกจากนี้คุณควรรู้ ‘กระแสเงินสด’ ที่สามารถทำให้เราประมาณการแหล่งที่มาของรายได้ในอนาคตที่จะได้รับ หากมีน้อยเกินไป ก็เตรียมตัวสร้างรายได้อีกทางในปัจจุบันให้ยืนยาวไปจนถึงหลังเกษียณ หรือนำเงินไปลงทุนในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น อสังหาริมทรัพย์ กองทุน หุ้น เพื่อให้เงินออมที่เก็บมางอกเงยและออกดอกผลในระยะยาว”
ทั้งส่วน “การลงทุนในสินทรัพย์” เพื่อสร้างกระแสเงินสดที่มี ‘รายได้แน่นอน’ (จากค่าเช่า ประกันบำนาญ เป็นต้น)และส่วนที่อาจมี ‘รายได้ไม่แน่นอน’จากการลงทุนในหุ้น หรือ กองทุน เป็นต้น ตัวอย่างเช่น ค่าเช่าจากบ้านหรือคอนโดรายเดือน ลงทุนในกองทุนเพื่อให้ได้เงินปันผลในอนาคต หรือลงทุนในอาชีพเสริมต่างๆ ที่มีโอกาสสร้างรายได้อย่างยั่งยืน เพื่อให้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถสร้างกระแสเงินสดหลังเกษียณได้ ถือเป็นการผสมผสานระหว่างรายได้แบบ Active และรายได้แบบ Passive ในขณะที่ยังหนุ่มสาวเพื่อสร้างรากฐานในระยะยาว อย่างยั่งยืน
“ในอีกทางหนึ่ง คุณอาจจะหาจุดแข็งของตัวเองที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและสังคม เพื่ออาจจะทำเป็น Blog หรือวีดีโอ YouTube สร้างสรรค์ประโยชน์ดีๆ ให้กับผู้คน และในอนาคตก็อาจจะกลายเป็นรายได้อีกทางที่หล่อหลอมเพื่อเลี้ยงชีวิตหลังเกษียณของเราได้แบบไม่ต้องกังวลอีกต่อไป”
การสร้างคุณค่าและส่งต่อคุณค่าจากรุ่นสู่รุ่นเป็นไปได้จริง คนหนึ่งคนกว่าจะใช้ชีวิตมาจนถึง “วัยเกษียณ” ผ่านประสบการณ์ต่างๆ มากมาย และพร้อมที่จะส่งต่อสิ่งดีๆ สู่สังคม เพราะเรื่องการเกษียณเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ทุกคนควรต้องวางแผนเตรียมตัวเอาไว้เพื่อวางรากฐาน “การเกษียณสุข” ของตัวเองและครอบครัวในระยะยาว
ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand , สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0