โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

สว.ขอผ่า! รพ.ธรรมศาสตร์ พิสูจน์นวัตกรรมระงับปวด ‘ผ่าตัดข้อเข่า’

The Bangkok Insight

อัพเดต 23 ต.ค. 2562 เวลา 08.24 น. • เผยแพร่ 23 ต.ค. 2562 เวลา 08.24 น. • The Bangkok Insight
สว.ขอผ่า! รพ.ธรรมศาสตร์ พิสูจน์นวัตกรรมระงับปวด ‘ผ่าตัดข้อเข่า’

“ปวดเข่า” เป็นอีกหนึ่งโรคประจำตัวของผู้สูงวัย ยิ่งปล่อยนานวัน ยิ่งปวดมากขึ้น ศักยภาพในการเดินลดลง และส่งผลต่อคุณภาพชีวิต การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ถือเป็นแนวทางหนึ่งในการรักษา แต่หลายคน“กลัวเจ็บ และ กลัวต้องพักฟื้นนาน หรือผ่าแล้วเดินไม่ได้” เพราะอาจมีบางรายผ่าตัด และเกิดการผิดพลาด ได้รับประสบการณ์ไม่ดี จึงบอกต่อๆกันมา

แต่ละปีไทย จึงมีคนไข้ผ่าตัดข้อเข่าน้อยมากราว 15,000 – 20,000 ราย เทียบกับประเทศอื่น ๆ อาทิ  สหรัฐ 300,000 – 400,000 ราย เกาหลี 80,000 – 100,000 ราย และญี่ปุ่นมากกว่า 100,000 ราย

เป็นโจทย์ให้วงการแพทย์ของไทย ได้พัฒนางานผ่าตัดข้อเข่าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นมาตามลำดับ เพื่อลดข้อผิดพลาด และความเจ็บปวด จากเคยเสียเลือดกว่า 1,500 ซีซี เมื่อ 10-15 ปีก่อน ทำให้คนไข้ช็อก หลังการผ่าตัด และต้องอยู่โรงพยาบาลกว่า 2 สัปดาห์ เหลือเสียเหลือ 300 ซีซี ปัญหาช็อกในคนไข้หมดไป และอยู่โรงพยาบาลสั้นขึ้นเฉลี่ย 1 สัปดาห์หรือน้อยกว่า

และการพัฒนาการรักษาให้ดีขึ้นยังคงทำต่อเนื่องเรื่อยมา โดยเมื่อ 5-6 ปีก่อน ได้มีการคิดค้น “นวัตกรรมการระงับปวดจากการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ของแผนกกระดูกแ ละข้อ (ORTHOPAEDICS)” โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ทำให้คนไข้เปลี่ยนใจเข้าคิวผ่าตัดข้อเข่าในแผนกนี้แทบไม่ว่างเว้น จากการบอกต่อ ๆ กัน ของคนไข้ว่าผ่าแล้วสบายมาก

รศ.นพ.ณัฐพล ธรรมโชติ ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อเข่าและข้อสะโพก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนากายภาพ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ผู้คิดค้นนวัตกรรมเทคนิคระงับปวด เป็นบุคลากรที่ถูกจองตัวจากคนไข้หลายร้อยรายต่อปี เพื่อให้ทีมของแพทย์ท่านนี้ผ่าตัดให้

“หลายปีมาแล้วที่เรา ต้องเห็นผู้ป่วยเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมชนิดรุนแรง รับการผ่าตัดเอาผิวข้อเข่าที่สึกออก แล้วทดแทนด้วยผิวข้อเข่าเทียม แต่ปรากฏว่าหลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมเสร็จ คนไข้บางส่วนมีความเจ็บปวดทรมานหลังจากออกจากโรงพยาบาล และไม่ยอมบริหารเข่า ทำให้โรคหายช้ากว่าความเป็นจริง “

ถึงแม้จะมีเทคนิคการระงับความเจ็บปวดหลาย ๆ รูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการฉีดยาชาทางช่องไขสันหลัง (การบล็อกหลัง) การฉีดยาชารอบเส้นประสาท การฉีดยาชาทางช่องเหนือดูรา รวมถึงการฉีดยาผสมหลายชนิดรอบข้อเข่า ซึ่งช่วยระงับปวดได้ดี ในระยะแรก ที่ผู้ป่วยยังอยู่ในโรงพยาบาล จนสามารถย่นระยะเวลานอนโรงพยาบาลจากเดิมประมาณ 1 สัปดาห์เหลือเพียง 3 – 4 วันเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ป่วยเกินกว่า 50% ที่มีความเจ็บปวดระดับปานกลางถึงมาก หลังกลับไปพักฟื้นที่บ้าน

จนกระทั่งเราได้คิดค้นเทคนิคใหม่ เป็นวิธีการลดความเจ็บปวด โดยฉีดยาสเตียรอยด์ที่ชื่อว่า “ไตรแอมซิโนโลน อะเซโตไนด์” เข้าทางสายที่อยู่เหนือช่องดูรา ที่คาไว้หลังจากระงับความรู้สึกด้วยวิธี “บล็อกหลังแบบใส่สาย” เมื่อฉีดยาเสร็จ ก็จะนำสายนี้ออกไป พบว่าสามารถช่วยลดระดับความเจ็บปวดได้ประมาณ 30 – 40% ในช่วงเกือบ 2 เดือนหลังผ่าตัด

โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ซึ่งเน้นความเป็นแพทย์เฉพาะทาง สนับสนุนทุนวิจัย และพัฒนา เพื่อต่อยอดนวัตกรรมการรักษาต่าง ๆ รวมถึงนวัตกรรมนี้ด้วย

โดยส่งเสริมให้นำผลงานนี้ ซึ่งคิดขึ้นเป็นคนแรก ไปตีพิมพ์ในวารสารต่างประเทศ (Journal of Bone and Joint Surgery-American Volume) นอกจากนี้ยังได้รับการคัดเลือกให้ไปนำเสนอผลงานในการประชุมวิชาการข้อเข่าของสหภาพยุโรปเมื่อปี 2561 (European Knee Society 2018) เป็นการพิสูจน์นวัตกรรมดังกล่าวว่าได้ผลจริง

นอกจากนั้น ด้วยสภาพแวดล้อมการทำงานแบบสหสาขาวิชาชีพ ทั้งหมอผ่าตัด หมอวิสัญญี หมอโรคหัวใจและผู้ช่วยผ่าตัดรวม 5 – 6 คน ส่งผลให้ผู้ป่วยหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมที่ได้รับเทคนิคการระงับความเจ็บปวดแบบใหม่นี้ เดินหน้าตามเป้าหมาย

ภายหลังทีมงานผ่าตัดได้เริ่มใช้เทคนิคนี้ตั้งแต่ปี 2558 จนถึงวันนี้ ผ่านมา 5 ปีมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาและระงับปวดด้วยเทคนิคนี้ประมาณ 500 ราย ผลการรักษาเป็นไปด้วยดี และไม่มีภาวะแทรกซ้อน

รศ.นพ.ณัฐพล ย้ำว่า ผู้ป่วย 90% สามารถใช้เทคนิคระงับปวดด้วยวิธีการนี้ได้ ยกเว้นเป็นคนไข้ที่เคยผ่าตัดหลังมาก่อน จะใช้วิธีการนี้ไม่ได้ รวมไปถึงคนไข้ที่ไม่พร้อมผ่าตัด เช่น เป็นโรคหัวใจขั้นรุนแรง ดังนั้นในภาพรวมแล้วเทคนิคใหม่ ทำให้คนไข้สามารถผ่าเข่าทั้งสองข้างได้พร้อมกัน ประสิทธิภาพในการรักษาคนไข้ที่มีอาการขาโก่ง หรือขาผิดรูป จึงได้ผลดี

และเมื่อได้รับการตอบรับที่ดีในยุคสังคมผู้สูงวัย การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม จึงกลายเป็น Product Champion ของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ และกำลังมีแผนจัดตั้ง “ศูนย์ข้อเข่า และข้อสะโพก” ขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา ซึ่งจะเปิดดำเนินการเดือนตุลาคม 2563 ขณะนี้อยู่ระหว่างระดมเงิน เพื่อทำให้โครงการนี้เป็นจริง ส่งผลให้การรักษาของโรงพยาบาลเป็นระบบมากขึ้น รองรับผู้ป่วยโรคข้อเข่าข้อสะโพก รวมถึงผู้ป่วยข้อสะโพกหักได้ 3,000 รายต่อปี และรองรับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าข้อสะโพกเทียมได้ราว 800 – 900 รายต่อปี

และศูนย์นี้จะช่วยสร้างศักยภาพ ทางด้านการเรียนการสอนให้กับแพทย์รุ่นใหม่ เกิดกระบวนการรักษา ที่มีประสิทธิภาพ ตั้งแต่ตรวจก่อนรักษา ไปจนถึงหลังการรักษา ปิดข้อผิดพลาด และลดความเสี่ยงในการดูแลผู้ป่วยลงได้

“การที่ในแต่ละปี ประเทศไทยมีคนไข้ผ่าตัดข้อเข่าน้อยมาก เพราะคนไข้กลัวเจ็บ อาจมีบางรายไปผ่าตัด และเกิดการผิดพลาด ได้รับประสบการณ์ไม่ดี และบอกต่อกันมา ดังนั้น จึงมั่นใจว่านวัตกรรมนี้จะช่วยให้คนไข้เกิดความมั่นใจ ไม่กลัว และกล้าเข้ารับการรักษามากขึ้น “

นี่คือความสำเร็จของนวัตกรรมใหม่ ที่เกิดจากการนำปัญหามาเป็นโจทย์ และความใส่ใจในคนไข้ รวมถึงความปรารถนาดี ที่ไม่ต้องการเห็นคนไข้เจ็บปวด มาเป็นแรงผลักดันในการมุ่งมั่นคิดค้นวิจัย เพื่อแก้โจทย์นั้น สามารถสร้างความหวัง ให้กับผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม กลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอีกครั้ง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0