โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

สรุปสถานการณ์ประมูล 5G ประเทศไทย

ลงทุนแมน

อัพเดต 11 ธ.ค. 2562 เวลา 09.10 น. • เผยแพร่ 11 ธ.ค. 2562 เวลา 11.40 น. • ลงทุนแมน

สรุปสถานการณ์ประมูล 5G ประเทศไทย / โดย ลงทุนแมน

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า..
เทคโนโลยี 5G หรือ ระบบการสื่อสารแบบไร้สายยุคที่ 5
กำลังจะเป็นก้าวกระโดดครั้งใหญ่ของมนุษย์ทั่วโลก

เทคโนโลยี 5G จะทำให้เราเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตเร็วขึ้นกว่าเดิม 10 เท่า
มีความหน่วงลดลง 5 เท่า และสามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ได้มากขึ้นถึงล้านชิ้น

ขีดความสามารถที่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด
จะส่งผลให้ธุรกิจและบริการมีประสิทธิภาพมากขึ้น

สำหรับประเทศไทย
การประมูล 5G กำลังจะเริ่มขึ้นต้นปีหน้า
แล้วสถานการณ์ล่าสุด เป็นอย่างไร
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
┏━━━━━━━━━━━━┓
Blockdit โซเชียลมีเดีย รูปแบบใหม่
Blockdit.com/download
┗━━━━━━━━━━━━┛

ก่อนอื่นเรามาดูประเภทการใช้งานคลื่นความถี่ของผู้ให้บริการเครือข่ายในประเทศไทย

ปัจจุบัน เรามีการจัดสรรคลื่นเป็น

ย่านคลื่นความถี่สูง 1800 MHz, 2100 MHz และ 2300 MHz
ย่านคลื่นความถี่ต่ำ 700 MHz, 850 MHz และ 900 MHz

ซึ่งเราสามารถแบ่งวิธีจำได้ง่ายๆ ก็คือ

คลื่นความถี่ต่ำ สามารถกระจายสัญญาณได้กว้าง
คลื่นความถี่สูง สามารถกระจายสัญญาณได้แคบ

แต่ละคลื่นความถี่มีการนำมาใช้งานแตกต่างกัน ด้วยคุณสมบัติที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับการได้รับจัดสรรคลื่น อุปกรณ์รองรับ และบริการที่จะให้แก่ผู้ใช้งาน

อย่างไรก็ตาม วิวัฒนาการของเทคโนโลยีการสื่อสารที่ผ่านมา ทำให้เราเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากขึ้นซึ่งความสำคัญของคลื่นย่านความถี่ก็ยิ่งมากขึ้นตามไปด้วย

แน่นอนว่า 5G ที่กำลังจะเกิดขึ้น จะมีประสิทธิภาพก้าวกระโดดไปอีกขั้น..
และต้องการคลื่นความถี่มาเปิดให้บริการจำนวนมากกว่าเดิม และแตกต่างจากเดิม

เพราะอินเทอร์เน็ตจะไม่ได้ถูกใช้บนสมาร์ตโฟน แต่จะกลายเป็นการเชื่อมต่ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ รวมถึงเครื่องจักรอุตสาหกรรม ได้นับล้านชิ้น

นิคมอุตสาหกรรมของเราจะมีกำลังการผลิตจากหุ่นยนต์ที่มากขึ้น
ระบบไฟฟ้าบนท้องถนนของเราจะถูกสั่งการอัตโนมัติ
เรากำลังจะใช้โดรนเพื่อตรวจสอบผลผลิตทางการเกษตร..

ทีนี้ เรามาดูสถานการณ์ประมูล 5G ประเทศไทย

กสทช. ได้จัดสรรการประมูลหลายคลื่นความถี่พร้อมๆ กัน จำนวน 56 ใบอนุญาต ได้แก่

700 MHz จำนวน 3 ใบ ใบละ 8,792 ล้านบาท
1800 MHz จำนวน 7 ใบ ใบละ 12,486 ล้านบาท
2600 MHz จำนวน 19 ใบ ใบละ 1,862 ล้านบาท
26 GHz จำนวน 27 ใบ ใบละ 423 ล้านบาท

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ มูลค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่สำหรับการประมูล 5G ประเทศไทย
ถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับหลายประเทศชั้นนำทั่วโลก

ใบอนุญาต 700 MHz แพงสุดเป็นอันดับ 4 ของโลก
ใบอนุญาต 1800 MHz แพงสุดเป็นอันดับ 1 ของโลก
ใบอนุญาต 2600 MHz แพงสุดเป็นอันดับ 3 ของโลก
ใบอนุญาต 26 GHz แพงสุดเป็นอันดับ 2 ของโลก

มูลค่าที่สูงระดับนี้จะทำให้รัฐบาลระดมทุนได้มหาศาล
อย่างไรก็ตาม ผู้ให้บริการอย่าง AIS, TRUE และ DTAC
จะมีต้นทุนที่สูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก
ซึ่งก็อาจส่งผลกระทบโดยตรงไปยังค่าบริการ
ที่อาจมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นในอนาคต

และที่สำคัญ จะกระทบต่อความเร็วในการขยายพื้นที่ให้บริการ

นอกจากนี้ อีกหนึ่งข้อสังเกตก็คือ การพัฒนา 5G ทั่วโลก
ส่วนใหญ่จะถูกพัฒนาบนคลื่นความถี่ย่าน 3500 MHz
นั่นหมายความว่า อุปกรณ์และเครื่องมือส่วนใหญ่จะถูกพัฒนาเพื่อรองรับกับคลื่นดังกล่าว

อย่างไรก็ตามการประมูลคลื่น 5G ประเทศไทยที่กำลังจะเกิดขึ้นปีหน้า
กลับมีเพียงคลื่น 2600 MHz จำนวน 19 ใบ คิดเป็นปริมาณคลื่นความถี่ 190 MHz

ในขณะที่ปริมาณคลื่นความถี่ที่เหมาะสมต่อการพัฒนา 5G ขั้นต่ำควรอยู่ที่ 100 MHz
ปัจจุบัน ผู้ให้บริการเครือข่ายในประเทศไทยมี 3 ราย
คิดเลขแบบตรงไปตรงมา หาก AIS, TRUE และ DTAC
จะสามารถพัฒนา 5G อย่างมีประสิทธิภาพ ก็น่าจะต้องมีปริมาณคลื่นความถี่ 300 MHz

หากการประมูลเป็นไปตามร่าง กสทช. ก็อาจส่งผลให้ใบอนุญาต 2600 MHz เพียงพอต่อผู้ให้บริการเพียงแค่ 2 ราย

หมายความว่า นอกจากปริมาณคลื่นความถี่ในร่างการประมูลปัจจุบัน อาจส่งผลให้ผู้ใช้งานของผู้ให้บริการจำนวนมากไม่ได้ใช้งาน 5G

นอกจากนี้ มูลค่าการประมูลอาจมีแนวโน้มสูงขึ้นเนื่องจากปริมาณคลื่นที่มีอยู่อย่างจำกัด

สำหรับคลื่น 3500 MHz ในประเทศไทยปัจจุบันอยู่กับบริษัท ไทยคม และมีกำหนดที่กำลังครบสัญญาในปีหน้า

ซึ่งถ้าหากคลื่น 3500 MHz ถูกนำมาประมูลในรอบนี้ ผู้ให้บริการก็จะสามารถวางแผนกระจายคลื่นความถี่ และเม็ดเงินลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แต่ถ้าต้องรอจนหมดสัญญาก็ต้องแลกมาด้วย
ความล่าช้าของการพัฒนา 5G ประเทศไทย

ซึ่งเรื่องนี้ก็ถือเป็นประเด็นที่น่าจับตามองว่า ช่วงการประมูลที่ถูกกำหนดไว้ปัจจุบันสมเหตุสมผลขนาดไหน

มากไปกว่านั้น เกณฑ์การวางหลักประกันทางการเงินจากผู้เข้าประมูลที่ล่าสุด กสทช. กำหนดตามร่างไว้ 10% ซึ่งก็ถือว่าอยู่ในระดับต่ำมาก และอาจเสี่ยงต่อการทิ้งใบอนุญาตเมื่อประมูลได้สำเร็จแบบการประมูล 4G รอบที่ผ่านมา..

การเกิดขึ้นของ 5G ประเทศไทยรอบนี้
น่าจะเป็นหนึ่งในก้าวสำคัญของประเทศที่ต้องการความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ

ภาคเอกชนมีหน้าที่พัฒนาเทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ในขณะที่ภาครัฐบาลก็ต้องวางรากฐานการออกกฎหมายกำกับดูแลที่เด็ดขาดชัดเจน

ในอนาคตอันใกล้นี้ เราก็น่าจะกำลังก้าวสู่ยุคใหม่อีกครั้ง
ซึ่งแน่นอนว่ามันคงเป็นอะไรที่น่าตื่นเต้นไม่แพ้การเกิดขึ้นของ 4G เมื่อหลายปีก่อน

เรื่องราวทั้งหมดนี้ถือเป็นสถานการณ์การประมูลล่าสุด
ที่คนไทยควรให้ความสนใจอย่างใกล้ชิด

เพราะหากเราเริ่มได้ดีเท่าไร
ประเทศไทยก็จะกระโดดได้ไกลเท่านั้น..
┏━━━━━━━━━━━━┓
Blockdit โซเชียลมีเดีย รูปแบบใหม่
Blockdit.com/download
┗━━━━━━━━━━━━┛

References
-https://www.prd.go.th/ewt_dl_link.php?nid=208108&filename=expert
-https://www.macthai.com/2018/05/10/thai-mobile-operator-frequency/
-https://www.nbtc.go.th/

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0