โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

สรรพากรแจง! เก็บภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก กันธนาคารเอื้อลูกค้า ยันคนไทย 99% ไม่กระทบ

Khaosod

อัพเดต 19 เม.ย. 2562 เวลา 07.26 น. • เผยแพร่ 19 เม.ย. 2562 เวลา 07.26 น.
30.33.0320.0.00000

สรรพากรแจง! เก็บภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก กันธนาคารเอื้อลูกค้า ยันคนไทย 99% ไม่กระทบ

วันที่ 19 เม.ย. นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.การคลัง กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่ากรมสรรพากรออกประกาศการเก็บภาษีเงินฝากจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ สำหรับผู้ที่ได้รับดอกเบี้ยฝาก 2 หมื่นบาทต่อปี จากเดิมที่มีการผ่อนผันให้ แต่มีข้อยกเว้นสำหรับผู้ที่ลงทะเบียนยอมให้ธนาคารส่งข้อมูลการรับดอกเบี้ยให้กรมสรรพากร ว่า กฎหมายเรื่องการเก็บภาษีจากดอกเบี้ยที่ได้รับจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์นั้นเป็นเรื่องปกติที่มีมานานแล้ว และมองว่าสิ่งที่กรมสรรพากรดำเนินการนั้น เป็นเรื่องที่ถูกต้องอยู่แล้วเช่นกัน เพราะเป็นการแก้ไขปัญหาการหลบเลี่ยงภาษีของผู้ที่มีเงินฝากจำนวนมาก

ทั้งนี้ ประกาศดังกล่าว กำหนดให้กรมสรรพากรประสานไปยังสถาบันการเงินต่างๆ เพื่อให้เจ้าของบัญชีเงินฝากลงทะเบียนเพื่อยินยอมให้สถาบันการเงินส่งข้อมูลบัญชีเงินฝากของลูกค้าทั้งหมดผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์มายังกรมสรรพากรเพื่อให้มีการตรวจสอบ หากพบว่ารายได้มีรายรับจากดอกเบี้ยเงินฝากเกิน 2 หมื่นบาทต่อคน ก็จะให้มีการหักภาษีตามที่กฎหมายกำหนด ส่วนรายได้ที่มีรายรับจากดอกเบี้ยเงินฝากไม่เกิน 2 หมื่นบาทก็จะได้รับการยกเว้นการจัดเก็บภาษี

“ปัจจุบันมีสถาบันการเงินขนาดใหญ่หลายแห่งที่เอื้อประโยชน์ให้ลูกค้ารายใหญ่ในการหลบเลี่ยงภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% ที่เกิดจากรายได้จากดอกเบี้ยเงินฝาก โดยตามกฎหมายคนที่มีเงินฝากในบัญชีออมทรัพย์รวมกันตั้งแต่ 4 ล้านบาทขึ้นไป จะมีรายได้จากดอกเบี้ย 2 หมื่นบาทต่อปี โดยปัจจุบันพบว่า มีบางสถาบันการเงินจะบอกลูกค้าให้มีการปิดบัญชีเมื่อมีรายได้จากดอกเบี้ยใกล้ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี โดยให้ไปเปิดบัญชีใหม่ หรือกระจายบัญชีออกจากกัน เพื่อไม่ต้องเสียภาษีซึ่งกลายเป็นปัญหาในปัจจุบัน” นายอภิศักดิ์ กล่าว

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า ยืนยันว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่ต้องกังวลว่าจะถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติม เพราะกฎหมายนี้มีใช้กันมาอยู่แล้ว และมีข้อกำหนดในการยกเว้นในการคำนวณภาษี

นายปิ่นสาย สุรัสวดี โฆษกกรมสรรพากร กล่าวว่า หลังจากนี้สถาบันเงินจะต้องไปหาแนวทางเพื่อจัดส่งข้อมูลดอกเบี้ยของบัญชีออมทรัพย์ของลูกค้ามาให้กรมสรรพากรผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยจะต้องส่งข้อมูลให้กรมฯ ปีละ 2 ครั้ง คือ เดือน พ.ค.และเดือน พ.ย. ทุกปี ซึ่งจะเริ่มทันทีในเดือน พ.ค.2562 นี้ เพื่อให้กรมฯ นำมาตรวจสอบรายได้จากดอกเบี้ยที่ได้รับจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์มาคำนวณภาษี และเสียภาษีในช่วงสิ้นปี

“ระหว่างนี้กรมขอให้ประชาชนที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ มาให้ความยินยอมกับสถาบันการเงินที่มีบัญชีเงินฝากอยู่ทุกแห่ง ให้ส่งข้อมูลทางบัญชีให้กรมสรรพากร แม้ว่าข้อมูลปัจจุบันมีบัญชีที่มีเงินฝากไม่ถึง 1 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 99% จะไม่ได้รับผลกระทบก็ตาม แต่ควรมาแสดงความยินยอมไว้ เพราะหากไม่ดำเนินการ ผู้ฝากทุกรายจะต้องเสียภาษี ณ ที่จ่าย จากรายได้จากดอกเบี้ย 15% ทันทีโดยอัตโนมัติ แม้รายได้ดังกล่าวไม่เกิน 2 หมื่นบาทก็ตาม และค่อยไปยื่นขอคืนภาษีดังกล่าวในช่วงปลายปี ทำให้มีความยุ่งยากสำหรับผู้เสียภาษี” นายปิ่นสาย กล่าว

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันกรมสรรพากรสามารถจัดเก็บภาษีรายได้จากดอกเบี้ย ปีละประมาณ 1 พันล้านบาท การดำเนินการในส่วนนี้ถือเป็นการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษี ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยทำให้สามารถจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นได้อีก 1 เท่าตัว หรือเพิ่มอีกประมาณ 1 พันล้านบาท

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0