โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

สภาพสยามเมื่อ 150 ปีก่อน ในบันทึก "ทูตเยอรมัน" คนแรกที่มาไทย

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 26 ต.ค. 2566 เวลา 06.54 น. • เผยแพร่ 24 ต.ค. 2566 เวลา 23.33 น.
ภาพปก-จิตรกรรม

กราฟ ฟรีดิช ซู ออยเลนบวร์ก (Graf Friedrich zu Eulenberg) ราชทูตเยอรมันคนแรกที่มาเยือน “สยาม” วันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ.1859 /พ.ศ. 2402 เขาได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้เป็นเอกอัครราชทูตพิเศษ เป็นเสนาบดีผู้มีอำนาจเต็มของปรัสเซีย นำคณะราชทูตเดินทางไปยังราชสำนักของประเทศจีน ญี่ปุ่น และสยาม เพื่อสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต และการผูกไมตรีทางการค้า พร้อมทั้งพยายามทำสนธิสัญญาพระราชไมตรีทางการค้าและการเดินเรือกับทั้ง 3 ประเทศ

การเดินทางครั้งนั้น ออยเลนบวร์ก เขียนบันทึกส่วนตัวถึงน้องชายที่เบอร์ลิน เฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับไทย สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้จัดพิมพ์ด้วยชื่อว่า “สยาม จดหมายบันทึกจากปี ค.ศ. 1862 ของ กราฟ ฟรีดิช ซู ออยเลนบวร์ก ฯ” แปลโดยศาสตราจารย์พิเศษ ดร.อำภา โอตระกูล

โดยเริ่มตั้งแต่ วันที่ 15 ธันวาคม ค.ศ. 1861(วันที่เรือของเขามาถึงสยาม) – วันที่ 18 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1862 ที่ เดินทางกลับ เรื่องราวที่เขาบันทึกนอกจากเรื่องการมาสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตและเจรจาการค้าแล้ว ก็ยังมีเรื่องอื่นๆ เช่น การรับแขกเมืองของสยาม, วิถีชีวิตและความเป็นอยู่, สภาพอากาศ ฯลฯ ของสยามเมื่อ 150 กว่าปีก่อนในสายตาต่างชาติ

เช่น วันแรกของชีวิตในบางกอก (วันอาทิตยที่ 22 ธันวาคม ค.ศ. 1861) ออยเลนบวร์กบันทึกว่า (จัดย่อหน้าใหม่ – กองบรรณาธิการ)

“คืนแรกในบางกอก มีข้อสังเกตที่เขียนไว้ดังนี้ เมืองนี้มีพลเมืองระหว่าง 400,000 และ 500,000 คน ในจำนวนนี้เป็นคนจีน 200,000 คน ตอนนี้กำลังมีงานเฉลิมฉลองกันส่วนสำคัญในการฉลองของคนจีนคือการจุดประทัด ด้วยเหตุนี้จึงได้ยินเสียงประทัดดังอึกทึกตลอดทั้งคืน ตอนตี 4 ยังมืดอยู่เลย มีการยิงปืนใหญ่จากพระราชวัง 2 ครั้ง เป็นสัญญาณให้ผู้หญิงลุกขึ้นจากที่นอน เพื่อหุงหาอาหารเตรียมให้พวกผู้ชายกิน

การยิงปืนบอกสัญญาณแบบนี้นับว่าสะดวกดี แต่ผลลัพธ์คือ มันปลุกพวกอีกาที่อาศัยอยู่ในบางกอกให้ตื่นขึ้นมาด้วย มันพากันบินมารวมกันอยู่แถวครัวของชาวยุโรป แล้วตะเบ็งเสียงร้องกาๆ ดังไปหมด สลับกันไปก็มีเสียงไก่ขัน เสียงหมาเห่าหอน หรือกัดกันเองการแจ้งอยู่เป็นระยะๆ

ในระหว่างนั้นก็มีเสียงกบร้องบ้าง จิ้งจกและที่เรียกว่าตุ๊กแกร้องบ้าง เสียงเหล่านี้นานๆ เข้าก็ค่อยๆ ชินไปเองไม่เช่นนั้นจะไม่มีวันได้หลับได้นอนกันเลยแม้ว่าเมื่อวานอากาศจะร้อนถึง 22 องศา แต่วันนี้ปรอทบอกตอนพระอาทิตย์ขึ้นว่า 17 องศา ทำให้รู้สึกว่าหนาวจัง…”

หรือสภาพบ้านเรือนของขุนนางในราชสำนักไทย ใน วันจันทร์ที่ 23 ธันวาคม ค.ศ. 1861 ที่บันทึกว่า (จัดย่อหน้าใหม่ – กองบรรณาธิการ)

“เวลา 09:00 น ฉันเดินทางไปเยี่ยมเจ้าชายอ้วน [พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงวงศาธิราชสนิท] กับพีเชล [เลขาธิการกรมการทูต] และอุปทูตผู้ช่วยของฉัน เรือที่ทางรัฐบาลส่งมาให้ให้ฉันและคณะใช้ มีลักษณะท้องแบน ยาวมาก มีคนพาย 14 คน ตรงกลางมีบ้านหลังน้อย ที่ซึ่งผู้ดีชาวสยามจะนั่งเอกเขนก…บ้านของท่านเป็นบ้าน 2 ชั้นมีห้องหักมุมมากมายประดับประดาด้วยเครื่องถมชนิดเลวของจีนและญี่ปุ่นเต็มไปหมด

หลังจากได้เดินดูและชื่นชมกันตามธรรมเนียมเสร็จแล้ว ออกมาซึ่งเธอก็คลานออกมาในไม่ช้า จะแจ้งเปิดตู้ทองคำตามคำสั่งท่านในตู้นั้นมีภาชนะต่างๆ แสดงงานฝีมือสวยงามตั้งอยู่ ท่านผู้หญิงนี้หน้าตาไม่ดีเลย บอกได้ชัดเจนคือ ปากที่เคี้ยวหมากดำเขรอะ ทุกแห่งในทุกแห่งในห้องหับต่างๆ มีกระโถนโลหะตั้งไว้สำหรับบ้วนน้ำสีแดงจากการเคี้ยวหมากลงไป

อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่ารักคือพวกหลานๆ หลายคนที่ท่านชี้ให้ดู ทั้งเด็กชาย เด็กหญิง อายุประมาณ 6-7 ขวบ ตัวล่อนจ้อน ไม่มีเสื้อผ้าปกคลุมจนถึงสะโพก รูปร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงดี…

จากบ้านเจ้าชายอ้วนเราเดินทางต่อไปพบท่านมหาเสนาบดี ตำแหน่งซึ่งทางนี้เขาเรียกว่ากลาโหม (Kalahum) เล่ากันว่ากลาโหมเป็นคนเฉลียวฉลาดและมีอำนาจสูงสุดในหมู่ผู้มีบรรดาศักดิ์ทั้งหลาย ท่านเป็นคนร่ำรวยมาก ไม่อดออมเลย จับจ่ายใช้สอยหมด บ้านที่ท่านอยู่งดงามมากทีเดียว จากโถงด้านหน้าที่มีเสาคานโปร่งโล่ง นำไปสู่ห้องโถงใหญ่ซึ่งตกแต่งด้วยเครื่องเรือนแบบยุโรปชั้นดีสวยงาม

ต่อจากนั้นเป็นห้องขนาดเล็กลงมาหน่อยได้ขนาดไร่กันต่อๆ กันไปและเห็นทะลุถึงกันได้หมด ที่ปลายสุดติดกระจกบานใหญ่ไว้ทำให้เกิดภาพซ้อนมองเห็นได้ไม่รู้จบ พื้นปูด้วยพรมงดงามมาก ที่เพดานห้องแขวนตะเกียงและโคมระย้าตระการตา ทั้งหมดจะเป็นที่ประทับใจชาวยุโรปมากที่เดียว หากตามผนังห้องจะไม่เต็มไปด้วยหิ้งที่ตั้งรูปสิ่งศักดิ์สิทธิ์เล็กๆ รวมทั้งเครื่องกระเบื้องจีน ดอกไม้ ธูป เทียน จิปาถะ…”

การไปเที่ยวชมบ้านเมืองในเวลานั้น ซึ่งแน่นอนว่าแม้คงหนีไม่พ้นวัดสำคัญต่างๆ เช่น วันอังคารที่ 24 ธันวาคม คศ. 1861

“เวลาตอนตีสาม อากาศเย็นสดชื่นดีเสมอจนต้องห่มผ้าห่ม ฉันตื่นแต่เช้าตั้งแต่ 7 โมงครึ่ง แล้วออกเดินทางพร้อมผู้ติดตามทั้งหลายข้ามไปอีกฝั่งของแม่น้ำ ไปตรงที่ตั้งพระราชวังของพระเจ้าอยู่หัวองค์หนึ่ง ที่ซึ่งมีวัดใหญ่ๆ ตั้งอยู่ 2-3 วัด เราไปชมวัดก่อน ชื่อวัดโพธิ์ (คำว่าวัดแปลว่า Temple) โดยทั่วๆ ไปวัดของที่นี่สร้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีประตูหน้าต่างเหมือนวัดตามหมู่บ้านของเรา ต่างกันตรงที่บานหน้าต่างบานประตูทาสีทองอร่าม เพดานเตี้ย มีเสาเป็นแนวรับน้ำหนักเพดาน ทั้งบนเสาและที่เพดานมีรูปวาดประดับประดาเต็ม

ในวัดโพธิ์มีพระพุทธรูปองค์หนึ่ง ที่ดูตามขนาดและลักษณะที่เห็นแล้ว กล่าวได้ว่าเป็นพระพุทธรูปที่ใหญ่โตสง่างามอลังการมากองค์หนึ่งเท่าที่ฉันเคยเห็นมา อยู่ในท่านอน แขนขวายันพระเศียรที่สวมหมวกทรงยอดแหลม จากถึงปลายหมวกวัดได้ 60 ฟุต ความยาวทั้งหมด 165 ฟุต ใหญ่โตมากทีเดียว เนื้อวัสดุของพุทธรูปเป็นปูนฉาบด้วยทองคำหลายชั้นมาก…”

ออยเลนบวร์ก ยังเล่าถึง คนสยาม ที่เขาได้พบเห็นในบันทึกวันพุธที่ 25 ธันวาคม ค.ศ. 1861 ว่า

“…ทรงผมของชาวสยามมีลักษณะดังนี้คือ เขาจะโกนผมรอบศีรษะออกหมด ทิ้งไว้แต่ผมส่วนบนที่ขึ้นหนาแน่นหนึ่งกระจุกเท่านั้น ผู้หญิงก็ไว้ผมแบบนี้เหมือนกัน ต่างกันหน่อยตรงที่ข้างๆ หูของพวกเธอจะปล่อยผมห้อยลงมาละแก้มปอยหนึ่ง เราจะเห็นความแตกต่างระหว่างหญิงกับชายตรงนี้เท่านั้นเอง เพราะถ้าดูเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายเขาก็แต่งเหมือนกัน ทุกคนสูบซิการ์กระดาษ แล้วก็เอาซิการ์ทัดหูไว้ เช่นเดียวกับที่พวกเราเวลาเขียนหนังสือเอาปากกาทัดหูไว้เวลาพักการเขียนนั่นแหละ”

หรือเกิดเพลิงไหม้ที่มีเหตุจากการอยู่ไฟ ในบันทึก วันจันทร์ที่ 6 มกราคม ค.ศ. 1862 ว่า

“เมื่อคืนนี้ตอนตี 2 ฉันถูกให้ตื่นขึ้นด้วยเสียงปืนใหญ่ยิง 4 นัด ฉันลุกขึ้น จัดแจ้งเปิดหน้าต่างมองดูว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ก็มองไม่เห็นอะไร พอตอนเช้าจึงรู้ว่าได้เกิดไฟไหม้ บ้านช่องไหม้เสียหายไปกว่า 30 หลัง ต้นไฟเกิดขึ้นจากบ้านหลังหนึ่งที่มีผู้หญิงเพิ่งคลอดลูก ที่นี่เขามีประเพณีปฏิบัติว่าจะต้องมีการจุดไฟไว้ใต้เตียงของหญิงที่เพิ่งคลอดลูกเป็นเวลา 10 วันหรือนานกว่านั้น

ฉันไม่รู้ว่ามันเป็นวิธีเกี่ยวกับการรักษาความสะอาดหรือเกี่ยวกับศาสนา ในกรณีนี้ปรากฏว่าเตียงที่หญิงผู้น่าสงสารนอนหลับอยู่นั้นเกิดไปติดไฟเข้า เลยเกิดไฟล้ามทำให้ตัวนางและลูกน้อยถูกไฟเผาไหม้ทั้งคู่”

ที่สำคัญคือบันทึกการเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อย่างเป็นทางการ ในวันศุกร์ที่ 27 ธันวาคม ค.ศ.1861 ว่า (จัดย่อหน้าใหม่ – กองบรรณาธิการ)

“วันนี้เป็นวันที่ฉันได้เข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์นตราตั้งแด่พระเจ้าอยู่หัวองค์ที่ 1 เวลา 2 โมงครึ่ง เรือหลวงที่ทำการส่งมาขบวนยาวมีฝีพายใส่แจ็คเก็ตสีแดงก็มาถึง ส่วนแรกเป็นเรือวงดุริยางค์พร้อมด้วยทหารเรือ 40 คน จากนั้นเป็นขบวนเรือของพวกเรา นำหน้าด้วยเรือที่ตรงกลางมีบุษบกยอดแหลมวิจิตรงดงาม ภายในมีพานทอง หนังสือสาส์นตราตั้งของฉันวางอยู่บนนั้น ถัดมาจะเรือสำหรับฉัน

ส่วนคณะนายทหารผู้ติดตาม ซุนเดอวัลล์และยัคมันส์ (Jachmann) จะกระจายนั่งในเรือใหญ่ของสยามบ้าง ในเรือทรงยุโรปบ้าง และแล้วในที่สุดฉัน พีเชล และล่ามประจำตัวก็ได้ลงเรือที่มาคอยรับนั้น ซึ่งตกแต่งอย่างวิจิตรพิสดารทั้งขบวนแห่ดูตื่นตาตื่นใจสวยงามมาก พอเรือแล่นมาได้ประมาณ 20 นาที เราก็มาถึงทางขึ้นบก ได้มีการยิงปืนใหญ่เป็นการต้อนรับพระราชสาส์นตราตั้งราชทูตปรัสเซียเสียงดังสนั่น เมื่อขึ้นบกแล้วได้มีการจัดขบวนการดังนี้

ขบวนนำหน้าเป็นวงดนตรีไทย มีคนถือธงทิวแห่แหน จากนั้นเป็นขบวนแห่บุษบกที่มีพระราชสาส์นอยู่ภายใน ล้อมรอบด้วยขบวนแห่ของคนไทยต่อจากนั้นเป็นขบวนของพวกเรา ประกอบด้วยวงดนตรี ขบวนทหารเรือ 40 คน จากนั้นเป็นเสลี่ยงที่ฉันนั่ง มีคนหาม 4 คน สูงมาก นั่งบนเก้าอี้ที่รู้สึกไม่ค่อยมั่นคงเลย มันแกว่งไกวไปมาทำให้รู้สึกกลัวมาก ขบวนต่อจากฉันก็เป็นคณะผู้ติดตามของฉัน บางส่วนได้รับการหามไปบนแคร่โดยนั่งในท่าขี่ม้า บางส่วนก็ขี่ม้าจริงๆ พวกเราทุกคนแต่งตัวเต็มยศ ทำให้กระบวนทั้งหมดแต่ดูมีสีสันสวยสดงดงามไม่น้อยทีเดียว…

…เมื่อฉันก้าวเข้าไปในท้องพระโรง ฉันยังมองไม่เห็นพระองค์ท่านทันทีเนื่องจากพระองค์ทรงอยู่ในฉลองพระองค์สีทอง ประทับนั่งบนพระราชอาสน์ทอง ตั้งอยู่ระหว่างเสาสีทองสงบนิ่งประดุจพระพุทธรูปทองคำ ดูละลานตาไปหมด จำพระองค์ไม่ได้ทันทีท่ามกลางความวิจิตรตระการตา พีเชลผู้เป็นคนถือพานพระราชสาส์นตราตั้ง ก็นำพานไปวางบนโต๊ะที่ตั้งอยู่หน้าพระราชบัลลังก์ที่ประทับ บรรดาเจ้าฟ้า พระบรมวงศสนุวงศ์ และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่…

ฉันก้าวไปข้างหน้า 2-3 ก้าว เริ่มอ่านราชสาส์นตราตั้งกราบบังคมทูลเป็นภาษาอังกฤษ พระเจ้าอยู่หัวเสด็จลงบันไดพระราชบัลลังก์ลงมาส่งรับพระราชสาส์นตราตั้งจากมือฉัน พร้อมกันนี้ก็พระราชทานพระราชสาส์นตอบกลับของฝ่ายสยามให้กับฉัน

จากนั้นพวกเราก็นั่งลง (ฉันมีคณะผู้ติดตามประมาณ 30 คน) บนหมอนผ้าไหมที่วางไว้อยู่เบื้องหน้าพระราชบัลลังก์ที่ประทับ แต่ไม่มีใครหยิบซิการ์ที่เตรียมไว้ต้อนรับขึ้นมาสูบ แล้วการสนทนาระหว่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับฉันก็เริ่มขึ้นโดยผ่านล่าม…

พวกเราได้รับการนำไปยังบริเวณปีกด้านหนึ่งของตัวตึกพระราชวัง ที่นั่นมีดินเนอร์จัดเตรียมไว้ต้อนรับพร้อมแล้ว โดยพระคลังได้นั่งข้างฉันร่วมรับประทานด้วย พระคลังขอให้ฉันดื่มถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฉันจึงร้องไชโยขอให้พระมหากษัตริย์สยามจงทรงพระเจริญ ครั้นแล้วก็ได้รับแจ้งว่า ทรงมีพระเมตตาโปรดเกล้าฯ ให้ฉันเข้าเฝ้าในห้องที่ประทับส่วนพระองค์ซึ่งก็เป็นห้องเดียวกันกับที่ฉันได้เฝ้าอย่างไม่เป็นทางการเมื่อวันก่อนนั่นเอง

ฉันได้เบิกตัวผู้ติดตามทั้งหมด พระเจ้าอยู่หัวทรงยื่นพระหัตถ์จับมือกับทุกคน แล้วพระราชทานแก้วเหล้าเชอรี่แก่ทุกคนด้วยพระองค์เอง พร้อมกับส่งดื่มถวายพระพรแด่พระเจ้าแผ่นดินปรัสเซีย โดยขอให้พวกเราร้องฮูร่าดื่มถวายด้วย ซึ่งพวกเราก็ทำโดยร้องฮูร่า ไชโยพร้อมๆ กันเสียงดังสนั่นก้องห้องสะเทือน

ในระหว่างนั้นมีพระราชโอรสองค์น้อยๆ และพระราชธิดาล้วนน่ารักต่างวิ่งนำซิการ์ มาแจกพวกเราคนละมวน ได้ยินเสียงเพลงบรรเลงโดยวง “อาร์โคน่า” ซึ่งได้รับพระบรมราชานุญาตให้ขึ้นมาบรรเลงจนถึงที่เชิงบันไดขึ้นพระตำหนัก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกไป ทางวงได้เล่นเพลงถวาย 2-3 เพลง ซึ่งเป็นที่พอพระราชหฤทัยมาก แล้วในที่สุดเวลาการเข้าเฝ้าก็สิ้นสุดลง…”

และ การเซ็นหนังสือสนธิสัญญาของสองประเทศ ใน วันศุกร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1862

“…ได้มีการเซ็นหนังสือสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีและการค้ากันในวันนี้ สถานที่สำหรับพิธีการเซ็นสัญญา กำหนดที่วังของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวง ด้วยเหตุนี้ตั้งแต่เวลา 9 โมงเช้า พีเชลกับผู้ช่วยอีกคนจึงต้องสลับเปลี่ยนกันไปอธิบายชี้แจงข้อความในอีกหลายจุดของสนธิสัญญาที่ในสายตาของฝ่ายสยามสำคัญมากแต่ยังไม่กระจ่างและจะต้องมีการประทับตราลงนาม นอกจากนี้ยังต้องคอยอยู่ร่วมกันเป็นสักขีพยานในการประทับตราของสยามทุกครั้งอีกถึง 180 ครั้ง

ตัวฉันเองหลังจากรับประทานอาหารเช้าแล้ว ประมาณเที่ยงได้ออกเดินทางไปวังของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวง ที่นั่นฉันได้พบกับคณะผู้สำเร็จราชการในการเจรจาอยู่พร้อมหน้า ฉันได้ใช้ช่างถ่ายภาพถ่ายรูป ทั้งรูปหมู่และรูปเดี่ยว ในการนี้ฉันได้นำเอาวงดนตรีของเราไปด้วย เพื่อที่จะได้ช่วยทำลายความน่าเบื่อหน่าย ในระหว่างที่มีการเซ็นสัญญาและประทับตราการ

ในที่สุดเมื่อถึงเวลาบ่าย 2 โมง 45 นาทีหนังสือสนธิสัญญาฉบับสุดท้ายระหว่างสยามกับปรัสเซียก็ได้มีการพระลงนามและนามเรียบร้อย ภายใต้เสียงปืนใหญ่ยิงสลุต 21 นัด และเสียงเพลงมาร์ชโฮเฮนฟริด แบร์ก (Hohenfried berges Marsch) [เพลงมาร์ชสรรเสริญชัยชนะ ของพระเจ้าฟรีดริชมหาราช เหนือออสเตรีย เมื่อค.ศ.1745 ]ดังกระหึ่ม

เป็นอันว่าภาระหน้าที่ของฉันที่เอเชียตะวันออกก็เสร็จสิ้นสมบูรณ์ ขอบคุณพระผู้เป็นเจ้าที่ส่งช่วยให้งานลุล่วงเป็นผลสำเร็จอย่างดี”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 พฤษภาคม 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0