โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

สมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ บทบาทพระราชมารดา เมื่อต้องทรงลงโทษพระราชโอรส

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 20 ต.ค. 2562 เวลา 02.08 น. • เผยแพร่ 20 ต.ค. 2562 เวลา 02.08 น.
ภาพปก-เสาวภาผ่องศรี
สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ทรงฉายกับพระราชโอรส (จากซ้ายไปขวา) สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย (ภาพจากหนังสือ “สมเด็จพระบรมราชินี ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์” จัดพิมพ์โดย กรมศิลปากร 2547)

“—เวลาที่ทรงกริ้วก็จะยิ่งทำโทษรุนแรงมากขึ้นไปอีก เวลาที่ถูกทำโทษพวกเด็กๆ จะนั่งหมอบลงกับพื้นปล่อยให้พระมารดาทรงใช้ไม้เรียวตีที่พระเพลาและพระที่นั่ง—”

เป็นข้อความตอนหนึ่งในข้อเขียนของนายแพทย์มัลคอล์ม สมิธ (Dr. Malcolm Smith) แพทย์หลวงประจำราชสำนักสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ขณะประทับเป็นการถาวร ณ พระราชวังพญาไท ได้เขียนหนังสือเรื่อง “ราชสำนักสยามในทรรศนะของหมอสมิธ” ตอนหนึ่งได้เล่าถึงการลงโทษที่สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ทรงปฏิบัติต่อพระราชโอรสที่ทรงทำความผิด

การเลี้ยงดูอบรมบ่มนิสัยลูกนั้นโดยทั่วไปส่วนใหญ่เป็นหน้าที่ของแม่ ซึ่งจะมีวิธีการเลี้ยงดูที่แตกต่างกันตามพื้นฐานของแต่ละครอบครัว บางครอบครัวเข้มงวดกวดขัน บางครอบครัวตามใจปล่อยปละละเลย ในสมัยโบราณแม่ส่วนใหญ่มักเลี้ยงดูและอบรมลูกโดยถือคติที่ว่า “รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี” เปรียบการตีลูกเหมือนการผูกวัวซึ่งไม่ต้องการให้หายหรือเตลิดไปจากคอก การตีลูกก็เพื่อให้ลูกรู้ผิดรู้ถูกและเกรงกลัวต่อความผิด ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ลูกเป็นคนดีต่อไปในอนาคตไม่เตลิดไปในทางที่ผิดที่ชั่ว เหมือนวัวเตลิดจากคอก

แต่สำหรับพระราชโอรสพระราชธิดาซึ่งเป็นลูกของพระมหากษัตริย์นั้น การอบรมเลี้ยงดูจะต่างจากเด็กสามัญชน อันเนื่องมาแต่ภาระรับผิดชอบที่ต่างกัน พระราชโอรสธิดาทุกพระองค์ทรงได้รับการปลูกฝังให้ยึดมั่นในชาติกำเนิดที่สูงส่ง และหน้าที่ ตลอดจนความรับชอบที่ยิ่งใหญ่ คือการที่จะต้องช่วยกันบริหารบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองและมั่นคง

ดังนั้นการอบรมเลี้ยงดูพระราชกุมารกุมารีเหล่านั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าจะต้องเข้มงวดกวดขันกว่าเด็กสามัญชน การฝึกฝนและอบรมในขั้นต้น ถือเป็นหน้าที่ของพระราชมารดาโดยตรง สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ เป็นพระราชมารดาที่เอาพระทัยใส่และเข้มงวดกวดขันในพระราชโอรสธิดาทุกพระองค์ ดังมีหลักฐานปรากฏถึงความเอาพระทัยใส่และเข้มงวดกวดขันอยู่ทุกขั้นตอน

นับแต่ทรงพระเยาว์พระราชกุมารกุมารีก็ทรงได้รับการปลูกฝังให้ทรงตระหนักถึงชาติกำเนิด หน้าที่ และความรับผิดชอบซึ่งจะต้องมีต่อบ้านเมือง ด้วยการปูพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับเรื่องราวของบ้านเมืองและพระราชวงศ์ซึ่งประกอบด้วยประวัติความเป็นมาของชาติบ้านเมือง พระราชกรณียกิจของบูรพมหากษัตริย์ที่ทรงทำคุณประโยชน์แก่ชาติบ้านเมือง วิธีการสอนของพระองค์นั้นเต็มไปด้วยหลักจิตวิทยา เพราะทรงสอนด้วยวิธีพูดคุยและสอดแทรกความรู้ต่างๆ ตามโอกาส โดยที่เด็กจะไม่รู้ตัวว่ากำลังถูกสอน

พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ทรงเล่าถึงวิธีการนี้ไว้ในหนังสือเกิดวังปารุสก์ ความว่า

“—เวลาที่ท่านไม่ทรงซักถามข้าพเจ้าถึงเรื่องราวต่างๆ ย่าท่านก็ทรงสั่งสอนอย่างน่าฟังเป็นที่สุด ทรงสั่งสอนถึงพุทธศาสนา ถึงพงศาวดารไทย ถึงเรื่องราวของปู่ย่าตายาย และตระกูลของเรา หรือถึงทูลหม่อมปู่ แต่ท่านสอนโดยทำนองเล่านิทาน เด็กๆ ฟังจึงไม่น่าเบื่อ ของที่ข้าพเจ้าถูกสอนให้ท่องอันแรกคือ พระพุทธยอดฟ้าเป็นพ่อพระพุทธเลิศหล้า พระพุทธเลิศหล้าเป็นพ่อพระจอมเกล้า พระจอมเกล้าเป็นพ่อพระจุลจอมเกล้า—”

นอกจากจะปลูกฝังความสำนึกในสายพระโลหิตและความรู้แล้ว ยังให้ความสนพระทัยในพระจริยวัตรการปฏิบัติพระองค์มากเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพระอิริยาบถ พระดำรัส ตลอดจนพระกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติจะทรงดูแลอย่างเข้มงวดกวดขัน ให้ประพฤติปฏิบัติพระองค์ให้สมพระเกียรติมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์

เมื่อพระราชโอรสถึงวัยที่ทรงศึกษาเบื้องต้น สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ก็ทรงเข้มงวดกวดขันให้พระราชกุมารทรงได้รับการศึกษาอย่างเต็มที่ โดยทรงเข้มงวดกับทั้งพระราชกุมารและครูผู้สอน ดังจะเห็นได้จากพระราชหัตถเลขาที่ทรงมีถึงพระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ ซึ่งไว้วางพระราชหฤทัยให้เป็นผู้ดูแลการศึกษาของพระราชโอรสทุกพระองค์

“—ขอบอกล่วงหน้าเสียก่อนว่า อย่าคิดว่ายังเป็นเด็กแลให้ครูตามใจกันเท่านั้น ขอให้ข่มขี่เขี้ยวเข็ญกันตามสมควรที่จะได้รับให้สมควรกับอายุแลเวลาที่ควรจะเป็นไป—แลขออย่าให้เกรงใจในการที่จะกดขี่ฝึกสอนประการใด จงทำตามความคิดที่เห็นสมควรทุกอย่าง เพื่อจะได้เป็นผลกับการเรียนให้เจริญตามควรแก่เวลาแลอายุของเด็กนั้น—”

เวลาก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ทรงเข้มงวดกวดขัน ไม่มีพระราชประสงค์ให้พระราชโอรสเสียเวลาในการเรียนแม้แต่น้อย เช่นคราวตามเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานก็จะโปรดให้พระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ส่งครูไปถวายการสอน ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาฉบับหนึ่ง ความว่า

“—เพราะฉะนั้นฉันอยากให้เธอจัดครูขึ้นมาสอนที่นี่ได้จะเป็นการดีกว่าปล่อยให้อยู่นิ่งกันเปล่าๆ ฉนี้ เวลาเช้าก็ไม่ได้ไปไหนกัน กว่าจะบันทมตื่นได้เฝ้าแหนอะไรกันก็บ่าย ตอนเช้าเด็กๆ ก็ไปเล่นเหลวๆ แหลกๆ อยู่ข้างหน้าตามประสาเด็กไม่เป็นเรื่องอยู่ทุกวัน ฉันเห็นว่าเปลืองเวลาเปล่า ความรู้อะไรที่จะได้รับในเวลานี้ก็ไม่มีอะไร นอกจากเหลวเพิ่มขึ้น—”

การลงโทษด้วยการเฆี่ยนตีน่าจะเป็นวิธีสุดท้ายของการลงโทษพระราชกุมาร เพราะการลงโทษเด็กๆ ในพระราชสำนักฝ่ายในนั้นมีหลากหลายวิธี สำหรับพระราชกุมารกุมารีนั้นการหักนิ้วนั้นเป็นวิธีหนึ่งที่พระราชมารดาพระมารดามักทรงใช้ ปรากฏการลงโทษวิธีนี้ในจดหมายเหตุรายวันของเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ 

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 กันยายน 2560

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0