โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

สมัยสามก๊ก “เมืองอู่ฮั่น” เกิดโรคระบาด? ที่ทำให้กองทัพโจโฉแพ้

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 07 ธ.ค. 2564 เวลา 03.03 น. • เผยแพร่ 06 ธ.ค. 2564 เวลา 19.01 น.
กองทัพเรือโจโฉถูกเผาทำลาย จนโจโฉต้องหนีขึ้นบก จากจิตรกรรมฝาผนังในวิหารเก๋ง วัดบวรนิเวศวิหาร (ภาพจากราชาธิราช สามก๊ก และไซ่ฮั่น โลกทัศน์ชนชั้นนำไทย, มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์)
กองทัพเรือโจโฉถูกเผาทำลาย จนโจโฉต้องหนีขึ้นบก จากจิตรกรรมฝาผนังในวิหารเก๋ง วัดบวรนิเวศวิหาร (ภาพจากราชาธิราช สามก๊ก และไซ่ฮั่น โลกทัศน์ชนชั้นนำไทย, มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์)

ในวรรณกรรมสามก๊ก มีการทำศึกของทั้ง 3 ก๊ก หลายๆครั้ง  แต่ครั้งสำคัญที่มีกล่าวถึงมาก น่าจะต้องยกให้ “ศึกผาแดง” หรือ“ศึกเซ็กเพ็ก” หรือที่คนเราไทยคุ้นเคยว่า“ตอนโจโฉแตกทัพเรือ” ศึกใหญ่ที่แสดงความรู้ ความสามารถทางตัวละครอย่าง“ขงเบ้ง” ที่กล่าวขวัญว่า“สามารถเรียกลมเรียกฝน” หากในประวัติศาสตร์ ศึกครั้งนี้ต้องยกเครคิตให้กับมันสมองอัจฉริยะของ“จิวยี่”

แต่สิ่งที่วรรณกรรม“สามก๊ก” ไม่ได้กล่าวถึงในศึกครั้งนี้คือ“โรคระบาด”**

โรคระบาดที่ว่านั้นทำให้ กองทัพเรือขนาดใหญ่ของโจโฉอ่อนแอ หมดสิ้นแสนยานุภาพ และนำมาซึ่งความพ่ายแพ้ เรื่องนี้มีการบันทึกในเอกสารทางประวัติศาสตร์ และมีข้อเสนอทางการแพทย์ในยุคปัจจุบัน นี่จึงไม่ใช่เรื่องที่ไม่มูล หนังสือ “101 คำถามสามก๊ก” (สำนักพิมพ์มติชน) เรียงเรียบเรื่องนี้ไว้เป็นคำถามหนึ่งว่า

“โจโฉพ่ายศึกเซ็กเพ็กเพราะถูกโจมตีด้วยไฟหรือ?”

เพราะผู้คนในอดีตพูดตรงกันว่า การโจมตีด้วยไฟเป็นสาเหตุใหญ่ทําให้ทัพโจโฉแตกพ่าย ตัวอย่างเช่น

กวีนิพนธ์บท “อําลาส่งที่เซ็กเพ็ก” มีข้อความว่า “เปลวไฟท่วมฟ้าส่องมหาสมุทร จิวยี่ยุทธ์ตีโจโฉพายที่นี่”

กวีนิพนธ์เพลงฉือทํานองเนียนหนูเจียว (สาวงามนามเนี่ยนหนู) บทหวนรําลึกศึกเซ็กเพ็ก ก็กล่าวว่า “ในชั่วเวลาสนทนารื่นเริง ทัพเรือโจโฉก็กลายเป็นเถ้าธุลี”

พงศาวดารสามก๊กจี่ ภาคจ๊กก๊ก บทประวัติเล่าปี่ก็บันทึกไว้ชัดเจนว่า “ซุนกวนส่งจิวยี่และเทียเภาส่งทัพเรือนับหมื่นร่วมกําลังกับเล่าปี่ รบกับโจโฉที่เซ็กเพ็ก เผาทัพเรือโจโฉจนแตกพ่ายยับเยิน” ข้อความว่า “เผาทัพเรือ” ย่อมหมายถึงโจมตีด้วยไฟ

แต่คำถามใน101 คำถามสามก๊ก เฉลยไว้ว่า “แพ้เพราะโรคระบาด”

บทความเรื่อง “สืบค้นวิเคราะห์เรื่องโรค พยาธิใบไม้ดูดเลือดกับการพ่ายศึกเซ็กเพ็กของโจโฉ” ของนายแพทย์หลีโหย่วซง ซึ่งพิมพ์เผยแพร่ใน “จงหัวอีสื่อจ๋าจื้อ-วารสารประวัติการแพทย์จีน” ฉบับที่ 2 ค.ศ. 1981 ได้แสดงความกังขาต่อทฤษฎีโจมตีด้วยไฟ เขามีความเห็นว่า โจโฉพ่ายศึกเซ็กเพ็กเพราะโรคระบาด คือโรคพยาธิใบไม้ในเลือด (Snail Fever หรือ Scistosomiasis – ผู้แปล)

พงศาวดารสามก๊กจี้ ภาควุยก๊ก บทประวัติโจโฉ ตอนที่กล่าวถึงศึกเซ็กเพ็กไม่ได้เอ่ยถึงเรื่องการโจมตีด้วยไฟ กลับยืนยันว่าเกิดโรคระบาด “โจโฉยกทัพถึงเซ็กเพ็ก รบเล่าปี่ ไม่ได้เปรียบเพราะเกิดโรคระบาด ไพร่พลตายมาก จึงยกทัพกลับ” อีกทั้งตัวโจโฉซึ่งเป็นแม่ทัพของคู่สงครามก็ไม่ยอมรับ ว่าแพ้เพราะถูกโจมตีด้วยไฟ

พงศาวดารสามก๊กจี้ ภาคง่อก๊ก บทประวัติจิวยี่ อ้างอิงข้อความจาก “เจียงเปี่ยวจ้วน” มาว่า หลังจากศึกเซ็กเพ็กแล้ว โจโฉเขียนจดหมายถึงซุนกวน มีข้อความตอนหนึ่งว่า “คราวศึกเซ็กเพ็ก เกิดโรคระบาด ข้าจึงเผาเรือถอยทัพกลับเอง ทําให้จิวยี่มีชื่อเสียงกํามะลอขึ้นมา” ดูไปแล้วโรคระบาดเป็นสาเหตุสําคัญประการหนึ่งที่ทําให้โจโฉพ่ายศึกครั้งนี้จริงๆ

ช่วงศึกเซ็กเพ็ก ทัพโจโฉแปรพลเป็นทัพเรือและซ้อมรบในฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งเป็นช่วงที่ได้รับโรคพยาธิใบไม้ในเลือดได้ง่าย ทหารโจโฉส่วนมากเป็นคนภาคเหนือ มีภูมิต้านทานโรคนี้น้อย พวกเขาทิ้งอานม้ามาลงเรือ ได้รับเชื้อ (คือไข่พยาธิ) ก็เกิดโรคทันทีและระบาดไปได้ง่าย

พยาธิฟักตัวอยู่ในร่างกายคน 1 เดือนขึ้นไปก็จะเข้าสู่ช่วงอาการรุนแรงของโรค ฉะนั้นในช่วงซ้อมรบก็จะมีทหารทยอยป่วย ถึงช่วงฤดูหนาวซึ่งรบแตกหักก็เข้าสู่ช่วงโรค กําเริบรุนแรง ทหารโจโฉจึงอ่อนล้าสูงสุด เป็นเหตุให้พ่ายแพ้

โรคพยาธิใบไม้ในเลือดมีในจีนมาแต่โบราณ โรค “ซานเฟิงกู่” ในตําราแพทย์ยุคโบราณและในหนังสือ “จูปิ้งหยวนโฮ่วลุ่น-วิเคราะห์วิจารณ์ สาเหตุของสรรพโรค” ในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 7 ล้วนมีบันทึกเรื่องโรคที่คล้ายกับโรคพยาธิใบไม้ในเลือด

ศพผู้หญิงในสุสานหม่าหวางตุยซึ่งขุดพบเมื่อ ค.ศ. 1973 นักวิจัยพบไข่ของพยาธิใบไม้ในเลือดที่ตับและผนังลําไส้ของเธอ เป็นหลักฐานว่าอย่างน้อยในยุคราชวงศ์ฮั่น ในย่านเมืองฉางซามีโรคนี้อยู่

การสอบค้นหลักฐานทางเอกสารแสดงชัดว่าพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับศึกเซ็กเพ็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งมณฑลหูเป่ย ที่ปัจจุบันมีเมืองอู่ฮั่นเป็นเมืองเอก กับมณฑลหูหนัน เป็นเขตที่โรคพยาธิใบไม้ในเลือดระบาดรุนแรง

ข้อมูลจาก

หลี่ฉวนจวินและคณะ (เขียน). ถาวร สิกขโกศล (แปล). 101 คำถามสามก๊ก. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน มีนาคม 2559

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 มกราคม 2563

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0