โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

สภาเกษตรฯ ฮึ่มทวงสัญญาว่าที่รัฐบาล ห่วงสูญญากาศ-รัฐบาลผสมไม่มีเสถียรภาพ

ประชาชาติธุรกิจ

เผยแพร่ 26 มี.ค. 2562 เวลา 11.49 น.
54800032_418172342276996_7360264731937996800_n

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สภาเกษตรฯ จะติดตามผลการรวมการจัดตั้งรัฐบาลอย่างใกล้ชิด เพื่อดูว่าหากมีการจัดตั้งรัฐบาลแล้วจะดำเนินนโยบายเป็นไปตามที่หาเสียงไว้หรือไม่ ทั้งหากมีรัฐบาลผสมควรจะจัดสรรเก้าอี้ให้กับพรรคต่างๆ อย่างเหมาะสม เพื่อให้ดำเนินนโยบายที่เป็นประโยชน์กับเกษตรกร แม้ว่าจะไม่สามารถดำเนินนโยบายตามที่หาเสียงได้ครบ 100% ก็ตาม แต่ก็ควรมีการริเริ่มให้ได้ โดยยึดเอาผลประโยชน์ของประเทศมากกว่าผลประโยชน์ของพรรค แต่หากรัฐบาลไม่ดำเนินการตามที่หาเสียงทางสภาฯ ก็จะไปติดตามทวงถามเรื่องนี้

“หากพรรคพปชร.เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลก็มีหลายนโยบายที่พรรคได้กำหนดออกมาหาเสียงตามข้อเรียกร้องของสภาเกษตรฯ เช่น นโยบายเกี่ยวกับที่ดินสปก. 4-0 การให้สภาฯ มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย การส่งเสริมการใช้น้ำมันไบโอดีเซล B100 สำหรับเครื่องจักรกลการเกษตร การเพิ่มหัวจ่ายน้ำมันดีเซลเกรดพิเศษ B 20 ซึ่งทางพปชร.ควรนั่งกระทรวงเกษตร และกระทรวงพลังงานเอง ส่วนการปลูกกัญชาเสรี ซึ่งหากเป็นไปได้ควรให้พรรคภูมิใจไทยนั่งในกระทรวงสาธารณสุขเพื่อดำเนินนโยบายนี้แบบครบวงจร แต่หากเป็นอีกขั้วทางพรรคเพื่อไทยมีโอกาสเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ควรมีการดำเนินนโยบายเรื่องการลดหนี้สินให้กับเกษตรกรตามที่ได้มีการหาเสียงไว้ โดยพรรคควรนั่งในกระทรวงการคลัง”

นายประพัฒน์ กล่าวว่า ขณะนี้ห่วงช่วงสูญญากาศก่อนจะมีการจัดตั้งรัฐบาลในอีก 1-2 เดือน อาจจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินการเกี่ยวกับดูแลสินค้าเกษตรบางรายการที่กำลังออกสู่ตลาด และสินค้าเกษตรพวกพืชไร่ เช่น ข้าว ช่วงนี้จะเป็นช่วงเตรียมการปลูก หรือยางพารา ช่วงนี้จะเป็นช่วงหยุดกรีดยาง

“อาจจะทำให้งานสำคัญบางอย่างสะดุด เช่น การบริหารจัดการเรื่องน้ำ เพราะช่วงนี้เป็นช่วงแล้ง จำเป็นต้องมีการควบคุมและสั่งการ แต่บางเรื่องเหนืออำนาจการตัดสินใจของข้าราชการ อาจจะเกิดปัญหาซ้ำรอยอดีตรัฐบาลยิ่งลักษณ์เมื่อปี 2554 ที่มีการจัดตั้งรัฐบาลและช่วงนั้นเป็นฤดูฝน ทำให้เกิดการยุติการพร่องน้ำ ส่งผลให้น้ำท่วมในช่วงปีดังกล่าว “

นอกจากนี้ ส่วนตัวมองว่าเสถียรภาพรัฐบาลผสมเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่ง หากรัฐบาลผสมมีเสียงปริ่มน้ำอาจบริหารงานลำบาก เช่น หากต้องผ่าน กฎหมายสำคัญ หรืองบประมาณ รัฐบาลเสียงน้อยอาจจะโหวตไม่ผ่าน ดังนั้น ผู้จะเป็นรัฐบาลต้องรวมเสียงให้ได้อย่างน้อย 270-280 เสียง และหากใน 1 กระทรวง มีรัฐมนตรีที่มาจากต่างพรรคอาจเกิดปัญหาการบริหารสะดุด

“ผู้นำรัฐบาลจะต้องกำกับดูแลการปฏิบัติให้ได้ เพราะผู้นำรัฐบาลต้องเป็นผู้รับผิดชอบนโยบายตามที่ได้แถลงไว้ต่อสภาฯ”

ฝากรัฐบาลแก้ปัญหาราคายาง-ปาล์ม

ด้านนายทศพล ขวัญรอด ประธานภาคีเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางและปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย ได้ฝากการบ้านให้กับรัฐบาลชุดใหม่ในการแก้ปัญหาราคายางพาราและปาล์มน้ำมันว่า เรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลชุดใหม่จะต้องแก้ไขคือ เรื่องปัญหาปากท้องประชาชนจากภาวะราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ในฐานะที่ร่วมร่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในส่วนของยางมีการใช้ยางในประเทศ 13%ของผลผลิตทั้งหมดอยู่แล้ว หากใช้ยางในประเทศเพิ่มปีละ 2% เมื่อครบ 20 ปีจะมีการใช้ยางในประเทศมากกว่า 50% ซึ่งการเพิ่มการใช้ในประเทศได้แก่ การนำมาผสมสร้างถนนพาราซอยซีเมนต์อย่างจริงจังใน 84,000 หมู่บ้านๆละ 1 กม. กับแนวทางการเพิ่มมูลค่ายาง เพื่อเป็นอำนาจต่อรองของไทยได้สูงขึ้น หากทำได้จะดีกว่าการประกันราคาหรือแทรกแซงราคายางที่เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ไม่ตรงจุดและบิดเบือนกลไกตลาด

นอกจากนี้ รัฐบาลต้องผลักดันตั้งบรรษัทร่วมทุนระหว่างประเทศร่วมกับประเทศผู้ผลิตยางพารา 4-5 ประเทศ อาทิ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม ไทยฯจัดตั้งตลาดกลางยางพาราโลกขึ้นในไทยในฐานะประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุด ซื้อขายยางให้สะท้อนความเป็นจริงด้านต้นทุนการผลิต เพื่อคานตลาดซื้อขายล่วงหน้าของต่างประเทศที่ไม่สะท้อนต้นทุนจริง เพราะต้นทุนการผลิตยางของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.)ปี 2560 อยู่ที่ กก.ละ 63.65 บาทและของกรมวิชาการเกษตรอยู่ที่ 63.78 บาท ซึ่ง 4-5 ปีที่ผ่านมา ราคาขายยางของเกษตรกรต่ำกว่าต้นทุนการผลิต

ในส่วนปาล์มน้ำมัน ขณะนี้เกษตรกรขายได้กก.ละ 1.80-2 บาทเท่านั้น ต่ำกว่าต้นทุนการผลิตของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.)ปี 2560 ที่ กก.ละ 3.80 บาท ดังนั้น รัฐบาลชุดใหม่ ต้องแก้ปัญหาโดย 1.ห้ามนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบเข้ามาในประเทศ เพราะเมื่อ 4-5 ปีก่อน ราคาผลปาล์มไทย กก.ละ 7-8 บาท มีการอนุญาตนำเข้า 5 หมื่นตันโดยกระทรวงพาณิชย์ หลังจากนั้น ราคาผลปาล์มของไทยตกต่ำลงมาตลอด 2.ต้องปราบปรามการลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์มอย่างจริงจัง เพราะล่าสุดในช่วง 2ปีที่ผ่านมา มีการลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบจากอินโดนีเซีย 7-8 หมื่นตันเข้ามาในไทย กก.ละ 13 บาท ผ่านชายแดนมาเลเซียก่อนเข้าไทยเป็น กก.ละ 18 บาท แล้วนำมาขายให้โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบหลายแห่งในภาคใต้ ส่งขายให้องค์การคลังสินค้า(อคส.) กก.ละ 25 บาท อคส.ส่งขายให้โรงงานรีไฟน์ กก.ละ30 บาทแล้วโรงงานรีไฟน์ขายที่ กก.ละ 42 บาท ซึ่งทำกำไรได้ดีกว่ารับซื้อผลผลิตในไทย เนื่องจากราคาซื้อขายผลปาล์มไทยรับซื้อที่เปอร์เซนต์น้ำมัน 17-18% ตกกก.ละ 23-24 บาท(น้ำมันปาล์มดิบ)แต่ของอินโดนีเซียรับซื้อผลปาล์มที่มีเปอร์เซนต์น้ำมันต่ำที่ 13-15% จึงมีราคาถูกกว่า

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0