โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

สภาพคล่องธุรกิจ วิกฤติใหญ่กว่าไวรัส

กรุงเทพธุรกิจ

เผยแพร่ 17 ก.พ. 2563 เวลา 00.00 น.

คงไม่มีใครปฏิเสธว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือ “โควิด-19” ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย “รุนแรง” กว่าที่คาดการณ์เอาไว้ แม้แต่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังประเมินว่า หากสถานการณ์การแพร่ระบาด “ลากยาว” มีความเสี่ยงสูงที่เศรษฐกิจไทยปีนี้อาจเติบโตไม่ถึง 2% ซึ่งจะถือเป็นการเติบโตที่ “ต่ำสุด” ในรอบ 6 ปี นับจากปี 2557 ขณะที่หลายสำนักวิจัยเริ่มปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยปีนี้ลงมาต่ำกว่า 2% เช่น ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ที่ประเมินว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจไทยปีนี้อาจทำได้เพียง 1.7-2.1% เท่านั้น

การแพร่ระบาดของ “โควิด-19” ส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจการท่องเที่ยว เพราะทางการจีนมีคำสั่งห้าม “บริษัททัวร์” ขายผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตั๋วเครื่องบินหรือโรงแรม พร้อมสั่งห้ามนักท่องเที่ยวในกลุ่มเสี่ยงเดินทางออกนอกประเทศเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ขณะที่เมืองไทยแม้จะพบผู้ป่วยที่ติดเชื้อเพียงแค่ประมาณ 34 ราย และในจำนวนนี้เกือบครึ่งรักษาหายจนกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติได้แล้ว แต่บางประเทศ เช่น เกาหลีใต้และไต้หวัน ยังคงออกคำเตือนให้ระมัดระวังการเดินทางมาเที่ยวประเทศไทย

แน่นอนว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อ “ภาคการท่องเที่ยว” ของไทยโดยตรง ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ประเมินว่า ในปีนี้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาเที่ยวไทย อาจลดลงราว 5 ล้านคน คิดเป็นรายได้ที่ไทยอาจต้องสูญเสียไปประมาณ 2.5 แสนล้านบาท กลุ่มที่โดนผลกระทบหนักสุด จึงหนีไม่พ้นธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร และธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ทำให้รัฐบาลต้องทุ่มสรรพกำลัง ระดมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ช่วยกันคิด ช่วยกันหาทางออก เพื่อประคับประคองผู้ประกอบการที่อยู่ในธุรกิจดังกล่าว ให้สามารถผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปให้ได้

สถานการณ์ที่เลวร้ายเกินการคาดหมายนี้ ทำให้ ธปท. โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ตัดสินใจ “ลด” ดอกเบี้ยนโยบายลงด้วยมติ “เอกฉันท์” 7 ต่อ 0 เสียงในสัปดาห์ก่อน ซึ่ง กนง. ประเมินว่า ดอกเบี้ยที่ปรับลงในรอบนี้ แม้จะไม่สามารถช่วยอะไรได้มากนักเพราะเป็นระดับที่ต่ำมากอยู่แล้ว แต่อย่างน้อยดอกเบี้ยที่ลดลง ก็ช่วยแบ่งเบาภาระของผู้ประกอบการลงได้บ้าง และเชื่อว่าจะช่วยในเรื่องสภาพคล่องของตัวธุรกิจด้วย หาก กนง. ไม่เข้าดูแล ก็อาจทำให้เกิด “วิกฤติสภาพคล่อง” ในระบบขึ้นมาได้

เวลานี้ “สภาพคล่อง” จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากเราเชื่อว่าการแพร่ระบาดของไวรัสดังกล่าว เป็นเพียงสถานการณ์ “ชั่วคราว” การประคับประคองธุรกิจให้ผ่านพ้นช่วงเวลานี้ไปได้ จึงเป็นเรื่องสำคัญสุด ถ้าปล่อยไว้จนธุรกิจเกิดวิกฤติด้านสภาพคล่อง สถานการณ์จะยิ่งเลวร้ายลงจนถึงขั้นต้อง “ปิดกิจการ” ปัญหาดังกล่าวจะลามไปสู่“การจ้างงาน”ได้ ยิ่งเวลานี้การจ้างงานมีความเปราะบางเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว อีกทั้งการจ้างงานในภาคธุรกิจท่องเที่ยว มีสัดส่วนสูงถึง 20% ของการจ้างงานทั้งหมด หากเกิดปัญหาขึ้นมาย่อมสะเทือนไปถึง “ภาคการบริโภค” ด้วย ถึงเวลานั้น “วิกฤติสภาพคล่อง” คงเป็นปัญหาที่ “ใหญ่กว่า” ไวรัสอย่างแน่นอน ..โจทย์สำคัญจึงอยู่ที่ “ภาครัฐ” จะเข้ามาช่วยดูแลสภาพคล่องของธุรกิจกลุ่มนี้อย่างไร

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0