โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

สงครามการค้าสหรัฐกับเม็กซิโกจบ แต่ยังมีนัยแฝงที่ต้องติดตาม

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 18 มิ.ย. 2562 เวลา 04.19 น. • เผยแพร่ 18 มิ.ย. 2562 เวลา 04.30 น.
dock-1277744_960_720

คอลัมน์ เลียบรั้วเลาะโลก

โดย ขวัญใจ เตชเสนสกุล EXIM BANK

ตลอดเวลากว่า 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทั่วโลกต่างจับจ้องไปที่ประเด็นสงครามการค้าครั้งใหม่ระหว่างสหรัฐกับเม็กซิโก ภายหลังประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศเส้นตายที่จะปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากเม็กซิโก 5% ในวันที่ 10 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งแม้ในท้ายที่สุดทุกอย่างจะจบลงด้วยดี เมื่อสหรัฐประกาศยุติแผนการขึ้นภาษีนำเข้าดังกล่าว 2 วันก่อนถึงเส้นตาย อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ในครั้งนี้มีประเด็นที่สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดในการดำเนินนโยบายของสหรัฐที่น่าสนใจในหลายประเด็น ได้แก่

นัยเชิงนโยบายต่างประเทศ สหรัฐพร้อมที่จะใช้สงครามการค้าในการเจรจาข้อพิพาทที่มีกับประเทศอื่น ซึ่งข้อพิพาทนั้นไม่ได้จำกัดแค่เรื่องการค้า สะท้อนได้จากการประกาศสงครามการค้ากับเม็กซิโกในรอบล่าสุดที่มีเหตุมาจากประเด็นผู้อพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย ทั้งจากเม็กซิโกและอเมริกากลางที่หลั่งไหลผ่านเม็กซิโกเข้าไปในสหรัฐจำนวนมาก ซึ่งคนเหล่านี้ได้เข้ามาแย่งงานชาวอเมริกัน สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้สหรัฐหันมาใช้การปรับขึ้นภาษีนำเข้าเพื่อให้เม็กซิโกเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งดูเหมือนว่าจะมีประสิทธิภาพและให้ผลลัพธ์ที่รวดเร็วกว่าวิธีการสร้างกำแพงกั้นพรมแดนระหว่าง 2 ประเทศที่สหรัฐต้องเสียงบประมาณของตนเอง ขณะเดียวกันยังช่วยลดความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดการปิดหน่วยงานราชการ (government shutdown) ของสหรัฐ ในระยะถัดไป หลังจากในช่วงเดือนธันวาคม 2561 ถึงมกราคม 2562 ที่ผ่านมา มีการปิดหน่วยงานราชการของสหรัฐยาวนานที่สุดเป็นประวัติการณ์ถึง 35 วัน โดยมีสาเหตุมาจากความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับพรรคฝ่ายค้านในประเด็นเรื่องงบประมาณในการสร้างกำแพงข้างต้น

– นัยทางการค้า อาจมองได้ 2 แง่มุม คือ 1) การที่สหรัฐยกเลิกการปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากเม็กซิโกในครั้งนี้ รวมถึงการยกเลิกการปรับขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมจากเม็กซิโกและแคนาดา พร้อมทั้งเลื่อนการปรับขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์จากญี่ปุ่นและยุโรปในช่วงก่อนหน้า สะท้อนได้ว่าสหรัฐเริ่มเปลี่ยนท่าทีและพยายามผูกมิตรกับคู่ค้าอื่น ๆ มากขึ้น เพื่อบรรเทาผลกระทบด้านการค้าโดยรวม หากสหรัฐจำเป็นต้องปรับขึ้นภาษีจากจีนที่เหลือทั้งหมดอีกกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังการประชุม G20 ในช่วงปลายเดือนมิถุนายนนี้ 2) เหตุการณ์ข้างต้นเป็นสิ่งยืนยันได้ว่าการลดการขาดดุลการค้าอาจไม่ใช่เหตุผลหลักของสหรัฐ ในการทำสงครามการค้ากับประเทศต่าง ๆ สังเกตได้จากกรณีเม็กซิโกที่แม้ว่าเม็กซิโกเป็นประเทศที่สหรัฐขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และมีมูลค่าขาดดุลสูงเป็นอันดับ 2 รองจากจีน แต่สหรัฐก็พร้อมยอมอ่อนข้อให้หากมีข้อแลกเปลี่ยนอื่น ๆ ที่น่าพอใจ สิ่งที่เกิดขึ้นอาจเป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ให้กับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนก็เป็นได้ หากจีนมีข้อแลกเปลี่ยนอื่น ๆ ที่ทำให้สหรัฐพอใจได้นอกเหนือจากความพยายามลดการขาดดุลการค้าซึ่งสูงถึง 4.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2561 (คิดเป็น 85% ของ GDP ไทย) ที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะลดลงเหลือศูนย์ในระยะเวลาอันสั้น แต่ข้อเสนอที่สหรัฐต้องการมากกว่าคือ การค้าแบบยุติธรรม (fair trade) โดยเฉพาะการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและการบังคับให้บริษัทสหรัฐที่ลงทุนในจีนต้องถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งหากจีนเสนอมาตรการป้องปรามที่มีประสิทธิภาพและตรงใจสหรัฐในประเด็นข้างต้นได้ ก็อาจช่วยให้สงครามการค้ายุติได้เช่นกัน

– นัยทางการเงิน ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง จนทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องสู่ระดับ 2.25-2.5% ในช่วงเดือนธันวาคม 2561 และมีการคาดการณ์ ณ ตอนนั้นว่า Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2-3 ครั้งในปี 2562 อย่างไรก็ตาม หลังจากการประกาศสงครามการค้ารอบล่าสุดกับจีนในเดือนพฤษภาคม รวมถึงการประกาศจะทำสงครามการค้ากับเม็กซิโก ทำให้หลายฝ่ายเริ่มกังวลต่อทิศทางเศรษฐกิจโลก รวมถึงเศรษฐกิจสหรัฐ ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ Fed เริ่มมีทีท่าว่าจะหันมาใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอีกครั้ง ล่าสุดผลสำรวจของ Bloomberg พบว่านักเศรษฐศาสตร์ถึง 93% เชื่อว่า Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ ซึ่งปัจจัยดังกล่าว ส่งผลให้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกอาจกลับทิศจากขาขึ้นเป็นขาลงได้

แม้สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและเม็กซิโกจะจบลงด้วยดี แต่เหตุการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงกลยุทธ์การดำเนินนโยบายในด้านต่าง ๆ ของสหรัฐที่แตกต่างจากอดีต และมีความไม่แน่นอนมากขึ้น ซึ่งผู้ส่งออกไทยจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งปรับกลยุทธ์ทั้งเชิงรับ และเชิงรุกให้ทันท่วงที ผ่านการป้องกันความเสี่ยงและการพัฒนากระบวนการผลิตเพื่อให้อยู่รอดได้ ในท่ามกลางสมรภูมิการค้าที่มีความดุเดือดและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

Disclaimer : คอลัมน์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของ EXIM BANK

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0