โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ | คนที่ต้องหัดอยู่กับคนอื่นให้เป็นคือคนต้านอนาคตใหม่

มติชนสุดสัปดาห์

อัพเดต 17 พ.ย. 2562 เวลา 04.33 น. • เผยแพร่ 17 พ.ย. 2562 เวลา 04.13 น.
ศิโรตม์2048

คดีซึ่งธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ถูกกล่าวหาว่าถือหุ้นสื่อเป็นคดีการเมืองที่คนจำนวนมากเห็นว่าสำคัญที่สุดในสังคมไทย

และถึงแม้ธนาธรจะไม่ใช่นักการเมืองคนแรกที่โดนยื่นคำร้องแบบนี้ แต่ธนาธรน่าจะเป็นนักการเมืองคนแรกที่ กกต.ยื่นคำร้องจนศาลรัฐธรรมนูญระงับการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ทั้งที่ยังไม่ได้ทำหน้าที่อะไรเลย

จริงอยู่ว่าองค์กรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ล้วนมีอำนาจตามกฎหมายที่จะพิจารณาข้อกล่าวหาของธนาธร

แต่ในแง่ความรู้สึกนึกคิดทางการเมือง คนจำนวนมากเชื่อว่าข้อกล่าวหานี้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่หลายฝ่ายรวมตัวเป็น “เครือข่าย” เพื่อกำจัดธนาธรอย่างเป็นระบบ แบบที่แทบไม่เคยเกิดกับนักการเมืองคนใด

ดร.ทักษิณและคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกฝ่ายตรงข้ามต่อต้านไม่น้อยกว่าธนาธร แต่กว่าที่อดีตนายกฯ ทั้งสองท่านจะถูกฝ่ายตรงข้ามโจมตีก็เป็นเวลาที่ปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.และประมุขฝ่ายบริหารไปแล้ว

ส่วนธนาธรโดนแบบนี้ตั้งแต่วันที่ยังไม่มีการเลือกตั้ง และทันทีที่ผลเลือกตั้งปรากฏ ทุกอย่างก็ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นไป

ด้วยความเชื่อว่าฝ่ายต่อต้านอนาคตใหม่เป็น “เครือข่าย” ซึ่งร่วมมือกันอย่างเป็นระบบเพื่อกำจัดธนาธร คนบางส่วนจึงเชื่อว่าคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญจะส่งผลให้พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบตามไปด้วยแน่ๆ ถึงแม้ข้อกล่าวหาเรื่องหุ้นจะมีผลแค่ต่อตัวบุคคลจนไม่กระทบพรรคในฐานะกลุ่มตามรัฐธรรมนูญก็ตาม

ไม่มีใครพูดชัดๆ ว่า “เครือข่าย” ที่ต่อต้านอนาคตใหม่นั้นคือใคร แต่ความเชื่อที่แพร่ระบาดในสังคมคือ “เครือข่าย” ไม่พอใจอนาคตใหม่ที่กระทำการหลายอย่างจนขัดหูขัดตา “เครือข่าย” อย่างแรงกล้า ผู้มีอำนาจในองค์กรต่างๆ จึงต้องกำจัดธนาธรเพื่อปูทางการกวาดล้างอนาคตใหม่ให้สิ้นซากในบั้นปลาย

ไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำตัดสินคำร้องเรื่อง “ถือหุ้นสื่อ” โดยฟังคำชี้แจงของธนาธรว่าเลิกผลิตสื่อนั้นไปก่อนสมัครรับเลือกตั้งนานแล้วหรือไม่ มุมมองที่คนจำนวนมากมีต่อเรื่องนี้สะท้อนว่าเราเป็นสังคมที่คนเชื่อว่ามี “เครือข่าย” ซึ่งมีอิทธิฤทธิ์เหนือประเทศมากจนสามารถกำจัดใครก็ตามได้ตลอดเวลา

“เครือข่าย” จะมีจริงหรือไม่เป็นเรื่องที่แล้วแต่คนประเมิน แต่ที่ชัดเจนจนไม่ต้องประเมินคืออนาคตใหม่ถูกโจมตีด้วยวาทกรรมต่างๆ มานานมาก ยิ่งไปกว่านั้นคือ วาทกรรมเหล่านี้ล้วนเป็นวาทกรรมที่เคยถูกปลุกระดมเพื่อปราบปรามประชาชนทั้งสิ้น แต่ในที่สุดแล้วการโจมตีนี้แทบไม่มีผลต่ออนาคตใหม่อย่างใดเลย

ก่อนการเลือกตั้งเดือนมีนาคม สื่อและพรรคการเมืองซึ่งคนเชื่อว่าเป็นส่วนหนึ่งของ “เครือข่าย” พยายามปลุกปั่นว่าอนาคตใหม่ทำลายศาสนา, ล้มล้างระบบครอบครัว, ต่อต้านประเพณี, ชังชาติ ฯลฯ

แต่ผลเลือกตั้งที่มีคนเลือกอนาคตใหม่เกือบ 6 ล้าน แสดงว่ามีคนไม่เชื่อหรือกระทั่งไม่สนเรื่องปลุกปั่นนี้นับล้านคน

หากประเทศนี้มี “เครือข่าย” ซึ่งพร้อมทำทุกวิถีทางเพื่อกำจัดคนที่คิดต่างกัน การเลือกตั้งเดือนมีนาคม 2562 ก็คือหลักฐานว่า “เครือข่าย” เป็นคนกลุ่มน้อยที่มีอิทธิพลต่อสังคมน้อยลงไปอีก

การปลุกปั่นทำอะไรอนาคตใหม่ไม่ได้ ซ้ำพรรคซึ่งมีแต่ผู้สมัครหน้าใหม่และไม่ใช้หัวคะแนน กลับได้ ส.ส.มาเกือบ 80 คน

ถ้าเป้าหมายของ “เครือข่าย” อยู่ที่การกำจัดธนาธรเพื่อกวาดล้างอนาคตใหม่ ในที่สุด “เครือข่าย” ก็จะผลักตัวเองไปสู่จุดที่เห็นว่าประชาชนหลายล้านเป็น “ฝ่ายตรงข้าม” ที่ต้องกำจัดให้หมด

หรืออย่างน้อยก็คือทำให้คนร้อยละ 10 ของประเทศเป็นพลเมืองที่ไม่มีปากเสียงเท่าคนกลุ่มอื่นๆ ซึ่งไม่มีทางทำได้เลย

หากธนาธรเป็นต้นตอของปัญหาอนาคตใหม่ก็ไม่เป็นไร แต่ที่จริงความสำเร็จของธนาธรเป็นเพราะธนาธรพูดเรื่องที่ตรงความต้องการของคนจำนวนมาก ชัยชนะของธนาธรเป็นสัญลักษณ์ว่าประเทศนี้มีคนนับล้านที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมที่ดีขึ้น แต่ไม่เชื่อว่าผู้มีอำนาจหน้าเดิมจะทำให้ประเทศดีขึ้นได้เลย

ธนาธรมักปราศรัยโดยพูดถึง “ความฝัน” ของสังคม สารที่ธนาธรเสนอจึงได้แก่ความเป็นไปได้ในการสร้างสังคมในอนาคตที่ดีกว่าตอนนี้ คนขานรับธนาธรเพราะเชื่อว่าธนาธรมีศักยภาพจะเปลี่ยน “ความฝัน” ให้เป็น “ความหวัง” ซึ่งในที่สุดจะนำไปสู่พัฒนาการของสังคมได้จริงๆ ไม่ใช่เพราะธนาธรคือธนาธร

คนบางกลุ่มคิดว่า “เครือข่าย” เหม็นหน้าอนาคตใหม่เพราะพรรคแสดงพฤติกรรม “อยู่ไม่เป็น” แต่ที่จริงความรู้สึกว่าอนาคตใหม่ “อยู่ไม่เป็น” มาจากการตระหนักว่าอนาคตใหม่เป็นตัวแทนความคิดบางอย่างมากกว่าจะเป็นการกระทำของพรรคซึ่งไม่ได้มีอะไรผิดกฎหมายหรืออยู่นอกกรอบการตั้งพรรคการเมือง

แม้อนาคตใหม่จะประกอบด้วยคนจำนวนมากซึ่งไม่เคยมีความเชื่อมโยงกับชนชั้นนำทางการเมืองหรือเศรษฐกิจกลุ่มใดๆ เลย

เกือบครึ่งปีที่อนาคตใหม่เข้าไปทำงานสภาก็แสดงให้เห็นว่าอนาคตใหม่ไม่ต่างกับเพื่อไทย, ประชาธิปัตย์, ภูมิใจไทย, ประชาชาติ ฯลฯ

นั่นคือตั้งพรรคเพื่อผลักดันกฎหมายและนโยบาย

อนาคตใหม่จัดงาน #อยู่ไม่เป็น โดยพูดถึงสวัสดิการสังคม, การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ , ปัญหาประมงรายย่อย, คนถูกไล่ออกจากป่า ฯลฯ ซึ่งแสดงให้เห็นความมุ่งมั่นสร้่างพรรคเพื่อคนกลุ่มที่อำนาจรัฐไม่เห็นหัว แต่สำหรับผู้มีอำนาจ สารของอนาคตใหม่คือคำประกาศความเป็น “คนนอก” จากเครือข่ายคนหน้าเก่าๆ โดยตรง

ในสังคมที่ชนชั้นนำใช้ “คอนเน็กชั่น” เพื่อสร้าง “เครือข่าย” ของผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมือง มุมมองของหัวหน้าทำให้พรรคดูไม่เข้าพวกจนง่ายที่อาจจะถูกระแวงว่า “เป็นอื่น”

แต่อนาคตใหม่มีคนอย่างศิริกัญญา, พล.ท.พงศกร, ณัฐพงษ์ ฯลฯ ซึ่งทำหน้าที่จนควรเห็นแล้วว่าความระแวงเป็นผลจากการคิดไปเอง

องค์ประกอบทุกอย่างของอนาคตใหม่ทำให้อนาคตใหม่ดูเป็น “คนนอก” ของสังคมชนชั้นนำ แต่ที่จริง “คนนอก” เหล่านี้คือตัวแทนของคนรุ่นที่เติบโตมากับเศรษฐกิจดิจิตอล, สังคมข้อมูลข่าวสาร, โลกยุคมิลเลนเนียม, เครือข่ายออนไลน์, บิตคอยน์ ฯลฯ ซึ่งจะเป็นทิศทางของโลกปัจจุบันและอนาคตอีกหลายสิบปี

ในประเทศที่โครงสร้างชนชั้นเปิดกว้างจนชนชั้นนำไม่ถูกผูกขาดเป็น “เครือข่าย” ที่เรียวแคบ คนเหล่านี้คือว่าที่เสาหลักของสังคมที่ต้องวิวัฒนาการสู่อนาคต

สังคมที่ปกติคือสังคมที่เปิดกว้างให้คนเหล่านี้บูรณาการสู่โครงสร้างหลักของประเทศ

ส่วนสังคมที่ผิดปกติคือสังคมที่ผลักดันคนกลุ่มนี้ออกไปตลอดเวลา

อนาคตใหม่ดูเป็นคนนอกวง “เครือข่าย” ของชนชั้นนำเพราะชนชั้นนำในสังคมไทยสัมพันธ์กันผ่าน “ระบบอุปถัมภ์” ที่ปัจเจกต้องสังกัด “มุ้ง” ซึ่งมีนายที่อยู่ใต้อาณัติชนชั้นนำหน้าเก่าๆ จนความเป็นผู้นำมาจากการทำให้ชนชั้นนำพอใจที่สุด ไม่ได้มาจากประชาชน และยิ่งไม่ได้ขึ้นอยู่กับความสามารถของบุคคลสำหรับคนที่เชื่อว่าประเทศจะเป็นแบบนี้ต่อไป

ปัญหาของอนาคตใหม่เกิดขึ้นเพราะอนาคตใหม่ในฐานะพรรคการเมือง “อยู่ไม่เป็น” ในแง่ไม่พินอบพิเทากับผู้มีอำนาจ ถึงแม้ในความจริงแล้วพรรคอนาคตใหม่จะยังไม่ได้ผลักกฎหมายหรือนโยบายอะไรที่ท้าทายหรือเผชิญหน้าโดยตรงกับใครเลยก็ตาม

อนาคตใหม่ไม่ใช่พรรคการเมืองที่ “อยู่ไม่เป็น” จนเกิดความขัดแย้งในสังคม

ชนชั้นนำต่างหากที่อยู่ไม่เป็นจนมองเห็น “คนนอก” เครือข่ายเป็นภัยไปหมด

โลกทัศน์ของชนชั้นนำทำให้ชนชั้นนำยืนอยู่ตรงข้ามคนรุ่นที่เป็นอนาคตของประเทศ ในที่สุดคนกลุ่มนี้จะเห็นว่าชนชั้นนำคืออุปสรรคของการสร้างประเทศที่ดี

ระบบกฎหมายทุกวันนี้ไม่อนุญาตให้ชนชั้นนำและ “เครือข่าย” กำจัดอนาคตใหม่หรือธนาธร แต่ต่อให้มีคนใช้ “อภินิหารทางกฎหมาย” ทำเรื่องละเมิดกฎหมาย

ชนชั้นนำก็จะเป็นฝ่ายที่สร้างเงื่อนไขให้ตัวเองเกิดความขัดแย้งกับคนรุ่นใหม่แทบทั้งหมด ทั้งที่มูลเหตุของเรื่องนี้มาจากการไม่ยอมปรับตัวของคนไม่กี่คน

อนาคตใหม่พูดหลายเรื่องที่ต้องใช้ความร่วมมือจากคนจำนวนมากเพื่อจะปฏิบัติจริง ยุทธศาสตร์ทางการเมืองของอนาคตใหม่จึงได้แก่การต่อสู้เพื่อเอาชนะทางความคิดในสังคม แหล่งที่มาทางอำนาจของอนาคตใหม่คือคนที่ต้องการเห็นประเทศเปิดกว้างและดีงามขึ้น แต่ชนชั้นนำไม่เคยเห็นคนกลุ่มนี้มีความสำคัญ

สำหรับชนชั้นนำซึ่งรักประเทศนี้มากกว่าการปกป้องอภิสิทธิ์ของตัวเอง สิ่งที่จำเป็นต้องทำคือการพิสูจน์ให้คนรุ่นใหม่เห็นว่าชนชั้นนำมีศักยภาพจะทำให้ประเทศดีขึ้น ความนิยมธนาธรเป็นปฏิกิริยาต่อความห่วยของผู้มีอำนาจ ทางแก้จึงได้แก่การเพิ่มประสิทธิภาพและสมรรถนะของผู้มีอำนาจ ไม่ใช่กำจัดธนาธร

อนาคตใหม่ไม่ได้มีปัญหาเพราะ “อยู่ไม่เป็น” อย่างที่คนบางกลุ่มคิด อนาคตใหม่กลายเป็นปัญหาเพราะถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของการปฏิเสธผู้มีอำนาจ คนที่อยู่ไม่เป็นจนควรต้องปรับตัวจึงได้แก่ผู้มีอำนาจและเครือข่ายทั้งหมด

ไม่ใช่อนาคตใหม่ ซึ่งจนถึงวันนี้ก็ยังไม่ได้ทำอะไรคุกคามชนชั้นนำและเครือข่ายเลย

ถ้าอยู่เป็นคือการตระหนักถึงความจำเป็นต้องปรับตัว สังคมไทยตอนนี้เปลี่ยนแปลงจนทุกกลุ่มต้องปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกับคนกลุ่มอื่นทั้งสิ้น คนที่ต้องการเห็นประเทศดีขึ้นควรเข้าใจว่าเราอยู่ในยุคที่ผู้มีอำนาจกลัวความเปลี่ยนแปลงมาก ส่วนผู้มีอำนาจก็พึงตระหนักถึงพลังคนที่อยากเปลี่ยนประเทศด้วยเช่นกัน

คนที่ต้องปรับตัวในประเทศและหัดอยู่ให้เป็นไม่ได้มีแค่อนาคตใหม่และความคิดที่ให้กำเนิดอนาคตใหม่อย่างเดียว

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0