โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ศาสนากับสังคมไทยสมัยใหม่ กับ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

The101.world

เผยแพร่ 19 พ.ย. 2562 เวลา 12.50 น. • The 101 World
ศาสนากับสังคมไทยสมัยใหม่ กับ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ศาสนา เป็นสถาบันที่ได้ชื่อว่า ‘อนุรักษนิยม’ ที่สุด ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดในโลก แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า ศาสนามิได้ปรับตัวตามสังคมเลย การยังคงดำรงอยู่ต่อเนื่องมาหลายพันปีคือหลักฐานอย่างดีของการเปลี่ยนแปลง

กระนั้น การปรับตัวของศาสนาในแต่ละที่ก็ไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับว่าเงื่อนไขในแต่ละสังคมเป็นอย่างไร

คำถามใหญ่คือ ในสังคมไทยสมัยใหม่ ศาสนามีตำแหน่งแห่งที่อย่างไร ทำไมจึงยังตอบโจทย์ของผู้คนจำนวนมาก แม้ในวันที่เรากำลังใช้ 4G

101 ถอดทัศนะบางส่วนของ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ว่าด้วยสิ่งที่ต้องจับตามองในการเยือนประเทศไทยของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส การปรับตัวของศาสนจักรโรมันคาทอลิก และองค์กรศาสนาในประเทศไทย ไปจนถึงกระแสความนิยมเครื่องราง ‘สายมู’ ในปัจจุบัน

 

:: เราควรจับตาอะไรจากการมาเยือนไทยของพระสันตะปาปาฟรังซิส ::

 

 

พระสันตะปาปาฟรังซิสเป็นคนอาร์เจนตินา ซึ่งมาจากลาตินอเมริกา ที่ที่มีปัญหาความยากจน ปัญหาทางสังคมเศรษฐกิจ การเติบโตในสังคมแบบนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พระองค์ติดดิน และเข้าใจคนยากจน

พระองค์มีความน่าสนใจหลายอย่าง จากการที่พระองค์ปรับเปลี่ยนธรรมเนียมปฏิบัติ และจารีตในพระศาสนจักรให้เข้าถึงคนทั่วไปมากขึ้น  เช่น ปกติหลังจากการเลือกพระสันตะปาปาเสร็จสิ้น สันตะปาปาองค์ใหม่จะออกมายืนตรงระเบียงที่วาติกันเพื่ออวยพรให้กับประชาชน แต่สิ่งที่พระสันตะปาปาองค์นี้ทำคือ ขอให้ทุกคนอวยพรให้พระองค์ แล้วก้มพระเศียรรับคำอวยพร ซึ่งเปลี่ยนแปลงวิธีคิดจากที่พระสันตะปาปาเป็นคนที่ใหญ่ที่สุดในศาสนจักร กลายเป็นทุกคนสามารถอวยพรให้พระองค์ได้ หรือ การที่พระองค์ทรงพักที่หอพักแทนที่จะเป็นวัง การที่พระองค์ใช้กางเขนที่ทำจากโลหะธรรมดาแทนที่จะเป็นทองคำ รวมทั้งการที่พระองค์ให้ความสำคัญกับคนยากคนจน ให้เกียรติกับสตรี และทรงนำประเด็นเพศทางเลือกมาพูดถึง ทำให้พระองค์เป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก

การที่พระองค์เสด็จเยือนประเทศไทยครั้งนี้มี Motto หลักว่า ‘ศิษย์พระคริสต์ ศิษย์ธรรมทูต’ (Christ’s disciples, Missionary disciples) คือในแง่นึงพระองค์ก็เป็นพระธรรมทูต เหมือนอัครสาวกของพระเยซู เหมือนมิชชันนารีต่างๆ ที่มีหน้าที่การไปเยี่ยมเยือนให้กำลังใจชาวโรมันคาทอลิกทั่วโลก

เวลาพระองค์ไปเยือนประเทศไหนก็มักจะไปพร้อมสปีชที่ส่งสารหรือข้อความบางอย่าง โดยจะมีวิดีโอทางการจากวาติกัน เพื่อบอกว่าพระองค์จะไปเยี่ยมแต่ละที่ด้วยประเด็นอะไร วิดีโอของการมาเยือนไทยครั้งนี้ก็ออกมาแล้ว เนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องความแตกต่างหลากหลาย (Diversity) พระสันตะปาปาทรงตรัสว่า ชาวคริสต์ในประเทศไทยไม่ได้เป็นประชากรส่วนใหญ่ แต่เป็นผู้ที่อยู่ร่วมกับศาสนาอื่นๆ สิ่งที่พระองค์ต้องการจากศาสนิกชนคือความอดทนอดกลั้น และความเข้าใจซึ่งกันและกัน ในกำหนดการเยือนไทยจึงมีวันที่พระองค์จะพบกับผู้นำศาสนาต่างๆ ในประเทศไทย รวมถึงเสด็จพบพระสังฆราชของไทยด้วย

 

:: ศาสนจักรโรมันคาทอลิกปรับตัวอย่างไรในยุคนี้ ::

 

 

พระศาสนจักรโรมันคาทอลิกเป็นองค์กรศาสนาที่ปรับเปลี่ยนตัวเองตลอดเวลา ครอบงำวิธีคิดในตะวันตกมายาวนาน ในอดีตเมื่อเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมทำให้ศาสนาถูกแยกจากวิถีชีวิตและรัฐ ศาสนาก็ต้องตั้งคำถามว่าจะอยู่ต่ออย่างไร เลยเกิดการสังคยานาวาติกันครั้งที่ 2 หลังจากนั้นไม่นานศาสนจักรก็ปรับมาสู่แนวทางอนุรักษอีก จนกระทั่งสมัยปัจจุบัน พระสันตะปาปาฟรังซิสอาจมองว่าอนุรักษมากไปก็ไม่ไหว จึงมีการปรับเปลี่ยนในหลายด้าน LGBT และ สิ่งแวดล้อมกลายเป็นประเด็นสำคัญในสมัยของพระองค์

อย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือ ตัวแกนคำสอนของโรมันคาทอลิกยังอยู่เหมือนเดิม แต่เขาปรับท่าที คุณพ่ออนุชา ไชยเดช ผู้ช่วยเลขาธิการสภาพระสังฆราชฯ ฝ่ายสื่อสารสังคม และเลขาธิการคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อสื่อมวลชน เคยกล่าวไว้ว่า “ศาสนจักรปรับนะ แต่ไม่ได้เปลี่ยน” ดังนั้นถ้าบางแก่นของศาสนาถูกบอกว่าเป็นอนุรักษนิยม ก็คือเป็นอนุรักษนิยม

ตัวอย่างง่ายๆ คือ ศาสนจักรปัจจุบันมีท่าทีที่ดีขึ้นต่อ LGBT จากที่ประวัติศาสตร์ของศาสนาสมัยก่อนบอกว่าการเป็น LGBT คือความผิด เป็นบาป ต้องโดนลงโทษ ในปัจจุบันศาสนจักรไม่ชี้หน้าว่าคุณเป็นบาปอีกต่อไป คุณเป็น LGBT ได้เพราะคุณคือเพื่อนมนุษย์ที่ต้องให้ความเคารพ แต่ถามว่าให้ทำพิธีสมรสในนามพระศาสนจักรได้ไหม ก็ยังไม่ได้ นี่คือการปรับท่าที แต่ยังคงแก่นบางอย่างไว้อยู่

ขณะเดียวกันในมุมของคนนอกศาสนา LGBT หรือแม้แต่ศาสนิกชนในศาสนาเอง อาจตั้งคำถามว่า ตกลงการ ‘ปรับแต่ไม่เปลี่ยน’ มันพอหรือยัง หรือเราควรตั้งคำถามต่อไป

 

:: เครื่องรางที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน ต่างจากอดีตอย่างไร ::

 

 

สังคมไทยน่าสนใจมาก ถ้ามองไปในประเทศต่างๆ ในเอเชียซึ่งมีความเชื่อคล้ายๆ เรา เราเป็นประเทศเดียวที่ผลิตและส่งออกเครื่องรางของขลังมากที่สุด และมีเครื่องรางใหม่ๆ ออกมามากมาย ที่เราเรียกว่าสายมู ผมคิดว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะรากฐานความเชื่อของเราเอง

อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยบอกว่าเรานับถือศาสนาผสมประกอบด้วย ผี พราหมณ์ และพุทธ แล้วศาสนาผสมมันก็มีวัฒนธรรมการใช้เครื่องรางของขลังมาตั้งแต่โบราณ ในยุคที่โลกเปลี่ยนไป ความเชื่อเรื่องเครื่องรางมันก็ยังอยู่ แต่รูปแบบเดิมๆ ในแง่การตลาดมันไม่สอดรับกับความนิยม กระแส หรือกับแฟชั่นแล้ว ดังนั้นคนที่อยู่ในภาคผลิตเครื่องรางเขาก็เลยต้องปรับมาเป็นเครื่องรางสายมูต่างๆ ที่มีแก่นความเชื่อไม่ต่างจากอดีต แต่รูปแบบสวยงามขึ้น

อีกสิ่งหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้คือการเปลี่ยนแปลงทางเพศวิถีสัมพันธ์กับเครื่องรางเหล่านี้ด้วย แต่เดิมวิถีของเครื่องรางของขลังเป็นของผู้ชาย แต่ปัจจุบันลูกค้าส่วนใหญ่ของเครื่องรางเป็นผู้หญิง

เวลาเรามองเครื่องรางมันมีสองลักษณะใหญ่ๆ 1. เครื่องรางที่ตั้งอยู่บนความเชื่อของศาสนา ดึงระบบศีลธรรมเข้ามากำกับ เช่น ในสมัยโบราณถ้าคุณจะไปสักยันต์ ศาสนาจะกำกับว่าถ้าสักลายนี้ห้ามด่าพ่อแม่ ห้ามเป็นชู้ 2. เครื่องรางที่อิงความเชื่อทางศาสนาแต่ไม่เอาศาสนามากำกับ คือเป็นเครื่องรางที่คุณสามารถใช้มันได้ร้อยพันประการโดยศาสนาไม่เกี่ยวข้อง ผมคิดว่าเครื่องรางส่วนใหญ่ในปัจจุบันเป็นแบบที่สอง แม้กระทั่งเครื่องรางที่ออกจากวัดก็มีน้อยมากที่มีศาสนามากำกับ แล้วก็เคลื่อนย้ายศูนย์กลางเครื่องรางของขลัง จากวัดมาเป็นเอกชน เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็เป็นอาจารย์ดังได้หมด

 

:: สังคมไทยมีผีที่เข้มแข็ง และเป็นสังคมอุดมผี ::

 

 

เครื่องรางมีความหลากหลายทางการตลาดมาก เหมือนที่เขาทำนายในเชิงเศรษฐกิจเลยว่า สินค้าที่ผลิตแบบ Mass มักจะไม่ได้รับความนิยม แต่สินค้าที่ Niche ถูกผลิตแบบจำกัด หรือเป็นแฮนด์เมด จะได้รับความนิยมมาก แล้วเครื่องรางก็เป็นสินค้าประเภทแรกๆ เลยที่เป็น Niche Market

จริงๆ เรามีตลาดใหญ่ๆ ที่รับสินค้าเครื่องรางของเรา เช่น มาเลเซีย ไต้หวัน  ถามว่าทำไมไม่ผลิตเอง ก็เพราะเรานับถือศาสนาผสม ผี พราหมณ์ พุทธ แล้วรากฐานของผี คือที่มาของเครื่องรางของขลัง แต่ถ้าเราไปดูสังคมประเทศอื่น ผีเหล่านั้นไม่เข้มแข็งเท่าผีเรา แต่อิทธิพลของศาสนาที่เกิดขึ้นทีหลังอาจจะมากเสียจนพื้นที่ของผีลดลง แต่เราไม่ใช่แบบนั้น เราดูเหมือนสังคมพุทธ แต่ในระดับชาวบ้านผียังครองอำนาจอยู่ มีความศักดิ์สิทธิ์มากมาย จนผลิตเครื่องรางได้มหาศาล

พูดในแง่จิตวิเคราะห์ ความคิดเรื่องผีวิญญานเป็นสิ่งที่สั่งสมมาตั้งแต่บรรพบุรุษ และอยู่ในจิตใต้สำนึกของเราโดยไม่รู้ตัว เราจึงมีประเพณีปฏิบัติที่มาจากจิตใต้สำนึกเหล่านี้ ถึงเราจะไม่เชื่อเรื่องผี เราก็ยังชอบหนังผี เรายังกลัวผี ในสังคมอุดมผีจะเป็นสังคมที่ไม่ค่อยมีช่องทางเลือกในการเข้าใจหรือหาคำตอบ ยกตัวอย่างเช่น หนังไทย ในระยะหลังๆ มีเนื้อหาวนเวียนอยู่ไม่กี่อย่าง คือ ตลก รัก ผี หรือในเรื่องเดียวก็มีทั้งสามอย่าง แต่มีผีเป็นองค์ประกอบเสมอ

บางคนบอกว่าที่ไม่มีหนังประเภทอื่นเพราะขายไม่ได้ แต่ผมว่าไม่ใช่ จริงๆ มันมาจากรากความเชื่อทางวัฒนธรรม และสภาพสังคมที่เป็นอยู่ ในสังคมที่วิจารณ์อะไรไม่ได้มาก คุณก็จะทำได้แค่เนื้อหาประเภทนี้เท่านั้น คุณจะไม่สามารถทำหนังการเมือง หนังศาสนาในเชิงวิพากษ์ เพราะจะมีอำนาจบางอย่างอุดปากไม่ให้พูดเรื่องนี้ ผีก็กลายเป็นคอนเทนต์ที่ปลอดภัยมากที่สุด และพอสังคมปิดแบบนี้ คุณก็ไม่เหลือความหวังอะไรในชีวิต นอกจากเอาตัวรอด

 

:: องค์กรทางศาสนาในไทยเดินสวนทางการปรับตัว ::

 

 

ผมยังไม่เห็นองค์กรทางศาสนาในสังคมไทยเริ่มปรับตัว แล้วเผลอๆ จะมีแนวโน้มที่เดินสวนทางกับการปรับตัวด้วย เช่น ปัจจุบันเราพูดถึงความเท่าเทียมทางเพศ พูดถึงโอกาสและบทบาทของสตรี แต่องค์กรสงฆ์ยังไม่ยอมรับภิกษุณีทางกฎหมาย ทั้งที่ตอนนี้มีภิกษุณีกว่า 300 รูปแล้วในบ้านเรา เขาบวชกันเองดูแลกันเอง

ขณะที่พุทธในพื้นที่อื่นเช่น ไต้หวัน ปัจจุบันมีภิกษุณีมากกว่าภิกษุ ภิกษุณีเหล่านี้ทำงานดีด้วย เช่น ทำงานสังคมสงเคราะห์ เข้าไปดูแลผู้หญิงและเด็กในชนบท ผมคิดว่านี่ต่างหากคือการปรับตัวจริงๆ แต่ของนอกจากไม่ปรับตัวแล้วยังเดินสวนกับสิ่งที่เกิดขึ้น แล้วยังใช้อำนาจในทางที่ไม่ถูกต้องด้วย เช่น หมายหัวพระสงฆ์ที่ไปยุ่งกับภิกษุณี ไปบวชให้ หรือให้คำสอน

การคิดว่าจะอยู่รอดอย่างไรทำได้สองแบบ คือ ปรับให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงของโลก แต่วิธีคิดอีกแบบคือ ทำให้มันแข็งแรงยิ่งขึ้น ซึ่งองค์กรศาสนาในบ้านเราดันเลือกแบบที่สอง แข็งกว่าเดิม เข้มงวดกว่าเดิม นอกจากนี้ก็มีโครงข่ายของความสัมพันธ์กับองค์กรต่างๆ ในทางอำนาจ เช่น คณะสงฆ์เกี่ยวพันกับรัฐ ดังนั้นหากองค์กรนึงจะปรับ ก็ต้องปรับทั้งหมด

ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนาเหนียวแน่นมากในแง่ที่ใช้เป็นเครื่องมือของกันและกัน รัฐใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือ เป็นความชอบธรรมในการคงไว้ซึ่งอำนาจบางอย่าง ในขณะที่ตัวองค์กรศาสนาเองก็ได้รับประโยชน์จากรัฐ ฉะนั้นเมื่อต่างคนต่างเอื้อต่อกัน มันถึงแก้ยาก นักวิชาการหลายคนจึงเสนอว่าต้องแยกศาสนาออกจากรัฐ (secularization) ดังที่เกิดกับโลกตะวันตก

ผมพูดด้วยความหวังเลยว่ามันเป็นไปได้ เพียงแต่ต้องใช้เวลา บางทีคนฟังคำว่า ‘แยกศาสนาออกจากรัฐ’ แล้วรู้สึกกลัวว่าจะทำให้ศาสนาเสื่อม คำตอบคือ ไม่ครับ แต่จะทำให้ศาสนาอยู่รอดมากขึ้นในโลกสมัยใหม่ เพราะจะทำให้ศาสนาบริหารในรูปแบบเอกชน มีอิสระในการดำเนินการ มีเสรีภาพในการเผยแพร่คำสอน และจะเกิดความหลากหลาย

แต่ Secularization จะเกิดขึ้นได้ รัฐต้องเป็นประชาธิปไตยเสียก่อน ศาสนาต้องแชร์คุณค่าร่วมกับโลกร่วมสมัย เช่น ความเท่าเทียม ความหลากหลายทางเพศ ต้องถามตัวเองว่าคุณจะไปกับคุณค่าเหล่านี้ยังไง หรือจะขวางไว้

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0