โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ศาล รธน.มีมติ เสียงข้างมาก 7-2 ฟัน "ธนาธร" พ้นสภาพ ส.ส. (ฉบับสมบูรณ์)

ไทยรัฐออนไลน์ - Politics

อัพเดต 20 พ.ย. 2562 เวลา 12.47 น. • เผยแพร่ 20 พ.ย. 2562 เวลา 10.12 น.
ภาพไฮไลต์
ภาพไฮไลต์

ศาล รธน.มีมติเสียงข้างมาก 7-2 ฟัน "ธนาธร" พ้นสภาพ ส.ส. ชี้ ยังถือหุ้นอยู่จนถึงวันที่อนาคตใหม่ ส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัคร ส.ส. 6 ก.พ. 2562 (คำพิพากษาฉบับสมบูรณ์) 

วันที่ 20 พ.ย. ศาลรัฐธรรมนูญ ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยเรื่องที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพความเป็น ส.ส.ของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ สิ้นสุดหรือไม่ กรณีถือหุ้นสื่อมวลชนใน บริษัท วี ลัค มีเดีย จำกัด โดยศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของ นายธนาธร สิ้นสุดลงจากกรณีการถือหุ้นใน บ.วีลัค มีเดีย จำกัด เนื่องจากยังเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทดังกล่าวในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่พรรคอนาคตใหม่ส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อต่อ กกต.

ศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า การที่รัฐธรรมนูญบัญญัติลักษณะต้องห้ามกรณีถือครองหุ้นสื่อมวลชน มาใช้เป็นเหตุการสิ้นสุดสมาชิกภาพของส.ส. นั้น เพื่อไม่ให้ผู้ที่ถือหุ้นในกิจการสื่อมวลชนอาศัยความได้เปรียบในการเป็นเจ้าของ เผยแพร่ข้อมูลความสารที่เป็นประโยชน์ หรือเป็นโทษ หรือ ครอบงำสื่อมวลชนไม่ให้เป็นกลาง ในการเลือกตั้ง

สำหรับข้อโต้แย้งของนายธนาธร ว่ากระบวนการไต่สวนของ กกต. ซึ่งเป็นยื่นคำร้องต่อศ่าลรัฐธรรมนูญ ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ศาลเห็นว่า มาตรา 82 วรรคสี่ ให้กกต. มีอำนาจหน้าที่ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้นการยื่นคำร้องนี้ของ กกต.ชอบแล้ว

ส่วนข้อโต้แย้งที่ว่า บ.วีลัค มีเดีย จำกัด ไม่ได้ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ ศาลเห็นว่า ใน พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ ได้กำหนดไว้ว่า สื่อมวลชนให้หมายความรวมถึงนิตยสาร วารสาร สื่ออื่น หนังสื่อพิมพ์ ในราชอาณาจักร นอกจากนี้ ยังบัญญัติให้ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา จะต้องแจ้งเจ้าพนักงานทราบ หากเลิกกิจการภายใน 30 วัน แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏหลักฐานว่า บ.วีลัคฯ ไม่ได้แจ้งการยกเลิกกิจการ ก่อนวันที่ 16 มกราคม 2562 ซึ่งเป็นวันก่อนที่พรรคอนาคตใหม่ ส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัคร ส.ส. แม้นายธนาธร จะอ้างว่า บ.วีลัคฯ ยุติการดำเนินกิจการ และเลิกจ้างไปแล้ววันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 เป็นต้นมา รวมทั้งแจ้งการเปลี่ยนแปลง นายจ้าง กิจการชั่วคราว ที่สำนักงานประกันสังคม แต่ในข้อเท็จจริง บ.วีลัคฯ สามารถที่จะกลับมาประกอบกิจการเมื่อใดก็ได้ ตราบใดที่ไม่แจ้งยกเลิกกิจการ ดังนั้นจึงถือว่า บ.วีลัคฯ ยังเป็น บ.ที่ประกอบกิจการสื่อมวลชน อยู่ในวันที่ส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัคร

ศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า ข้อโต้แย้งของนายธนาธร ที่ว่า ได้ขายและโอนหุ้นให้นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดาใน วันที่ 8 มกราคม 2562 นั้น ศาลเห็นว่าทุกครั้งที่ บ.วีลัคฯ โอนหุ้น จะมีการทำหนังสือแจ้งนายทะเบียนหุ้นส่วนกรุงเทพมหานคร แบบบอจ.5 โดยเร็วทุกครั้ง แต่การโอนหุ้นครั้งนี้ กลับไม่ปรากฏการส่งสำเนาบัญชีผู้ถือหุ้นที่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด ทั้งที่สำเนาดังกล่าวจะเป็นหลักฐานสำคัญที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการลงสมัคร ส.ส. ของนายธนาธร และผิดปกติจากทุกครั้งที่ผ่านมา

ส่วนที่โต้แย้งว่า ช่วงเวลาในการโอนหุ้นนั้น บ.วีลัคฯ ได้เลิกจ้างพนักงานทั้งหมด ทำให้ไม่มีนักบัญชีดำเนินการ อีกทั้งเป็นการโอนในครอบครัวนั้น ขัดแย้งกับนักบัญชี บ.วีลัคฯ พยานของผู้ถูกร้องที่มาให้ถ้อยคำกับศาลรัฐธรรมนูญ ว่า หากรับคำสั่งให้ทำก็สามารถทำได้ นอกจากนี้ การส่ง บอจ. 5 ของบ.วีลัคฯ ก็ไม่ได้ยุ่งบยากแต่อย่างใด เพราะเป็นการส่งทางอิเล็กทรอนิกส์

ศาลรัฐธรรมนูญ ยังระบุถึงการสั่งจ่ายเช็คของนางสมพร ให้กับ นายธนาธร ที่ ปรากฏว่า มีการนำฝากเข้าบัญชีในวันที่ 16 พฤษภาคม นั้น วันดังกล่าวเป็นวันเดียวกับวันที่ กกต.ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในคดีนี้ ซึ่งรวมระยะเวลานับตั้งแต่ได้รับเช็คนานถึง 128 วัน ทั้งที่ กฎหมายที่เกี่ยวกับเช็ค ผู้รับจะต้องไปยื่นต่อธนาคาร ให้มีการใช้เงินภายใน 1 เดือน หากสถานที่ออกเช็ค และธนาคารตามเช็คอยู่พื้นที่เดียวกัน ซึ่งธนาคารที่มีหน้าที่จ่ายเงิน สาขาบางนาตราด ในกทม. เมื่อไม่ระบุสถานที่ออกเช็ค ถือว่าออกโดยภูมิลำเนาของผู้สั่งจ่าย ก็คือนางสมพร ดังนั้นผู้ถูกร้องมีหน้าที่นำเช็คไปเรียกเก็บเงินภายใน 30 วัน

นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบรายละเอียดย้อนหลังไปสามปี ของนายธนาธร พบว่า การนำเช็คเข้าบัญชีที่มี 2 ล้านบาทขึ้นไป มีการเรียกเก็บเงินตามเช็คหลังจากวันที่ลงในเช็คประมาณ 42-45 วัน แสดงให้เห็นว่าการนำเช็คจากการขายหุ้น ไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารมีความแตกต่างที่ผ่านมา

ส่วนข้อโต้แย้งของนางรวิพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ ภรรยา ที่ เบิกความว่าไม่สะดวกนำเช็คไปเรียกเก็บเงิน เพราะต้องดูแลบุตร ที่เป็นเด็กทารก และเป็นเช็คที่ผู้สั่งจ่ายน่าเชื่อถือนั้น ถ้อยคำดังกล่าวขัดแย้งกับหนังสือผู้ถูกร้องที่ชี้แจงต่อกกต. ซึ่งส่งสำเนาเช็คมาให้ กกต. แต่ ไม่ได้ส่งต้นฉบับให้ผู้ร้องแต่อย่างใด ดังนั้นข้ออ้าง ที่ไม่นำเช็คไปขึ้น เป็นเรื่องที่เชื่อถือไม่ได้ เพราะเป็นเช็คขีดคร่อม สั่งจ่ายเข้าบัญชีนายธนาธร ซึ่งนายธนาธร มอบอำนาจให้ผู้อื่นดำเนินการแทนได้ ไม่จำเป็นต้องให้เฉพาะภรรยาเท่านั้น อีกทั้งภรรยาก็ไม่ได้มีชื่อตามที่เช็คระบุไว้ ดังนั้นนางรวิพรรณ ไม่จำเป็นต้องนำเช็คนี้ไปขึ้นเงินด้วยตัวเอง

ส่วนการที่นางสมพร โอนหุ้นให้หลานชาย และหลานชายโอนหุ้นกลับคืนให้นางสมพรนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงที่ได้จากการไต่สวน การโอนหุ้นให้และการโอนหุ้นคืนไม่มีค่าตอบแทน โดยอ้างความสัมพันธ์ในครอบครัว ซึ่งย้อนแย้งแตกต่างจากที่นายธนาธร โอนให้นางสมพร ซึ่งมีฐานะเป็นมารดา กับบุตร กลับมีการสั่งจ่ายเช็ค แม้นางสมพร จะเบิกความว่า ต้องการให้ฟื้นฟูบริษัทนั้น เห็นว่าการโอนหุ้นไม่มีค่าตอบแทน ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า มีการโอนหุ้นกันจริงหรือไม่ ซึ่งข้อเท็จจริงในส่วนนี้ขัดกับปกติวิสัยของนักลงทุนทั่วไป ที่มีจุดประสงค์ที่จะฟื้นฟูบริษัท และหากเทียบกับฐานะทางเศรษฐกิจของนางสมพรแล้ว ถือเป็นจำนวนเงินเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แตกต่างจากที่นายธนาธร อ้างว่า มียอดหนี้กว่า 11 ล้านบาท แต่ข้อมูลจากส่วนอื่นพบว่า มียอดหนี้เพียง 2 ล้านบาท ซึ่งจำนวนเงินไม่ตรงกัน

ศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า ส่วนการที่ผู้ร้องชี้แจงข้อแก้ข้อกล่าวหา ว่า ในวันที่ 8 มกราคม 2562 ซึ่งเป็นวันโอนหุ้นนั้น ได้เดินทางกลับจากการปราศัย ที่ อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ เห็นว่าแม้ฟังว่านายธนาธร จะเดินทางกลับจริง รับฟังได้ว่า อยู่กทม. แต่ไม่ได้หมายความว่ามีการโอนหุ้นในวันที่ 8 มกราคมจริง ศาลจึงเห็นว่าสมาชิกภาพของนายธนาธร สิ้นสุดลงตามคำร้องของ กกต. โดยให้นับการสิ้นสมาชิกภาพการเป็นส.ส.ตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันที่ศาลสั่งยุติปฏิบัติหน้าที่ และให้ถือว่าวันที่ศาลอ่านคำวินิจฉัยในวันนี้ เป็นวันที่ตำแหน่ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ว่างลง ให้ผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อในลำดับถัดไปของพรรคอนาคตใหม่ขึ้นมาปฏิบัติหน้าที่แทน

อย่างไรก็ตาม การอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เริ่มขึ้นในเวลา 14.28 น. จากเดิมที่นัดอ่านคำวินิจฉัยในเวลา 14.00 น. โดยใช้เวลา 41 นาที

ทั้งนี้ภายหลัง ศาลรัฐธรรมนูญ ออกเอกสารคำวินิจฉัยคดีถือหุ้นสื่อนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ โดยมีมติเสียงข้างมาก 7-2 ให้ นายธนาธร "พ้นสภาพการเป็น ส.ส.เหตุผู้ถูกร้องเป็นเป็นผู้ถือหุ้น บริษัทวีลัค มีเดีย จำกัด ประกอบกิจการสื่อมวลชน อยู่ในวันที่ 6 ก.พ. 2562 ซึ่งเป็นวันที่พรรคอนาคตใหม่ยื่นบัญชีรายบชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อต่อผู้ร้องอันเป็นลักษณ์ต้องห้ามมิให้ผู้ร้องใช้สิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98(3) ทำให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(3) นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผู้ร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง คือวันที่ 23 พ.ค. 2562 และให้ถือว่าวันที่ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่างลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 105 วรรคหนึ่ง(2) คือ วันที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยให้แก่คู่กรณีฟังโดยชอบตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 76 วรรคหนึ่ง วันที่ 20 พ.ย. 2562 

เอกสารคำวินิจฉัย คดีถือหุ้นสื่อ"ธนาธร"

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องกับ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ"

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง

ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : www.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0