โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ศาลรัฐธรรมนูญชี้ชะตา “ธนาธร” พักการเมือง-ติดคุก?

ฐานเศรษฐกิจ

เผยแพร่ 20 พ.ค. 2562 เวลา 12.22 น.

คอลัมน์ฐานโซไซตี ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3471 หน้า 4 ระหว่างวันที่ 19-22 พ.ค.2562 โดย… ว.เชิงดอย

 

ศาลรัฐธรรมนูญ

ชี้ชะตา “ธนาธร”

พักการเมือง-ติดคุก?

 

          หลัง “ปล่อยผี” ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 1 พรรคอนาคตใหม่ ด้วยการรับรองให้ได้เป็น ส.ส.ไปก่อน ล่าสุดเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม ที่ผ่านมา คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ก็มีมติเป็น “เอกฉันท์” ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการขาดคุณสมบัติการเป็นส.ส.หรือไม่ เนื่องจากปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าขณะลงสมัครรับเลือกตั้งยังถือหุ้นสื่อใน บริษัทวี-ลัค มีเดีย จำกัด ซึ่งเข้าลักษณะต้องห้ามใช้สิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98(3) อันจะส่งผลให้สมาชิกภาพส.ส.สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6 ) ประกอบมาตรา 98 (3) ซึ่งคำร้องดังกล่าวก็ได้ส่งถึง “ศาลรัฐธรรมนูญ” เป็นที่เรียบร้อยแล้วในวันเดียวกัน

          มีรายงานว่า ก่อนที่ กกต.จะมีมติดังกล่าวออกมา ได้ซุ่มใช้เวลา 2-3 วัน เพื่อพิจารณาเรื่องของ “ธนาธร” เพื่อให้เกิดความรอบคอบ ก่อนได้ข้อสรุปและลงมติเป็นเอกฉันท์ โดยเห็นว่า จากพยานหลักฐาน บริษัทวี-ลัค มีเดีย จำกัด เป็นบริษัท ที่ระบุวัตถุประสงค์ในการยื่นจดทะเบียนต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ว่า ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์และสื่อมวลชน อีกทั้งเมื่อพิจารณาจากงบการเงินของบริษัท พบว่ามีรายได้จากการขายนิตยสาร ให้บริการโฆษณา ซึ่งถือเป็นการประกอบธุรกิจสื่อสารมวลชน และยังคงประกอบกิจการอยู่ ไม่มีการจดทะเบียนยกเลิกบริษัทหรือเสร็จการชำระบัญชีแต่อย่างใด ขณะที่สำเนาบัญชีผู้ถือหุ้น หรือ บอจ. 5 ที่กกต.ได้รับจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ก็ยังปรากฏชื่อ “ธนาธร” เป็นผู้ถือหุ้นตั้งแต่ปี 2558 จนถึงวันที่ 21 มีนาคม 2562 ดังนั้นเมื่อกกต.ประกาศเปิดสมัครรับเลือกตั้งส.ส.วันที่ 4-8 กุมภาพันธ์ จึงเท่ากับว่าขณะที่ “ธนาธร” ยื่นใบสมัครส.ส.ยังถือหุ้น บริษัทวี-ลัค มีเดีย จำกัด อยู่ จึงเข้าข่ายขาดคุณสมบัติ เนื่องจากเป็นบุคคลที่ห้ามใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98(3) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2561 มาตรา 42(3)

          สำหรับกระบวนการพิจารณาของ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง กำหนดว่าเมื่อศาลรัฐธรรมนูญ ได้รับเรื่องไว้พิจารณาแล้ว หากปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่า ส.ส.ซึ่งถูกร้อง มีกรณีตามที่ถูกร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ส.ส. ซึ่งถูกร้อง “หยุดปฏิบัติหน้าที่” จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยแล้วให้ศาลรัฐธรรมนูญแจ้งคำวินิจฉัยนั้นไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎร ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของส.ส.ผู้ถูกร้องสิ้นสุดลง ให้ถือว่าผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ไม่กระทบต่อกิจการที่ผู้นั้นได้กระทำไปก่อนพ้นจากตำแหน่ง

          คำร้องของ กกต.ดังกล่าว ได้ถูกส่งถึงศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 16 พฤษภาคม ที่ผ่านมา คาดว่าสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจะนำเสนอให้ “9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” พิจารณาได้ในวันที่ 22 พฤษภาคมนี้ ซึ่งเป็นวันที่ตุลาการฯ ประชุมกันปกติทุกสัปดาห์อยู่แล้ว หากศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องไว้พิจารณา ต้องรอดูว่าศาลจะมีคำสั่งให้ “ธนาธร” หยุดปฏิบัติหน้าที่ตามมาด้วยหรือไม่ ซึ่งต้องรอดูว่า “ธนาธร”ยังจะมีโอกาสเข้าร่วม “รัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา” ซึ่งก่อนหน้านี้ วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ แย้มว่าอาจจะเป็นวันที่ 24 พฤษภาคมนี้

          บทสรุปของ ธนาธร เกี่ยวกับกรณี “ถือครองหุ้นสื่อ” หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีความผิดจริง ก็จะมีบทลงโทษตามพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. มาตรา 151 คือ หากรู้อยู่แล้วว่า “ขาดคุณสมบัติ” แต่ยังกระทำผิด มีโทษหนักทางอาญา คือ จำคุก 1-10 ปี ปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท รวมทั้งถูก “เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง” เป็นเวลา 20 ปี… “ไม่ได้เป็นส.ส.-ถูกจำคุก-ถูกปรับเงิน-เว้นวรรคการเมือง” คือ “วิบากกรรม” ที่ต้องเผชิญ อย่างหลีกเลี่ยงมิได้ อนาคตของ “ธนาธร” อยู่ในกำมือของ “ศาลรัฐธรรมนูญ” แล้ว เวลานี้

          หันไปดูอีกเรื่อง ภายหลัง จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ ต่อจาก อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ปรากฏว่าวันรุ่งขึ้น อุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ก็ได้โทรศัพท์ติดต่อทาบทามประชาธิปัตย์ อย่างเป็นทางการ เพื่อให้เข้าร่วมรัฐบาล ที่มี บิ๊กตู่-พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ แล้ว ซึ่ง “อุตตม” ได้โทรศัพท์หารือกับ “จุรินทร์” โดยตรง และได้คำตอบจากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ว่า จะได้นำเรื่องดังกล่าวไปหารือในคณะกรรมการบริหาร ตามขั้นตอนของพรรค และจะให้คำตอบกับพรรคพลังประชารัฐในสัปดาห์หน้า คาดว่าเป็นก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม ก่อนจะเริ่มเปิดสมัยประชุมรัฐสภา …ต้องรอลุ้นกันว่า ในที่สุดแล้ว “ประชาธิปัตย์” ยุค “จุรินทร์” เป็นแม่ทัพใหญ่ จะตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐ หรือ จะตอบรับเข้าร่วมรัฐบาลกับ“ขั้วเพื่อไทย” หรือ จะทำตัวเป็น “ฝ่ายค้านอิสระ” ทั้งหมดไม่ว่าจะตัดสินใจทางใด ล้วนมีความหมายต่อ “อนาคต” ของพรรคประชาธิปัตย์ทั้งสิ้น… เร็วๆ นี้คงได้รู้กัน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0