โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ศาลยกฟ้องคดี นปช. ทุกข้อหา ชี้เป็นการต่อสู้ทางการเมืองไม่ใช่เป็นการก่อการร้าย

The Momentum

อัพเดต 14 ส.ค. 2562 เวลา 14.25 น. • เผยแพร่ 14 ส.ค. 2562 เวลา 12.05 น. • สุทธิพัฒน์ กนิษฐกุล

หลังเกิดเหตุมา 9 ปี ในวันนี้ (14 สิงหาคม 2562) ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ก็มีคำพิพากษาชั้นต้น ให้ยกฟ้องอดีตแกนนำ นปช. ในคดีก่อการร้าย จากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองในปี 2553

คดีนี้ อัยการฟ้องว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ในข้อหาการก่อการร้าย มาตรา 135/1, 135/2, และ ข้อหาร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ตามมาตรา 116, 215, 216 และร่วมกันชุมนุมฝ่าฝืนพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมทั้งหมดหกข้อหา

ทั้งนี้ อดีตแกนนำนปช.ที่เป็นจำเลยในคดีนี้ได้แก่ นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.), นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช., นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช., นพ.เหวง โตจิราการ, นายก่อแก้ว พิกุลทอง, นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง แกนนำ นปช. พร้อมพวกรวม 24 คน

ซึ่งแกนนำเหล่านี้ ถูกกล่าวหาในความผิดฐานร่วมกันในข้อหาก่อการร้ายและชุมนุมมั่วสุม จากการชุมนุมตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553 ถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2553 กรณีชุมนุมต่อต้านและเรียกร้องให้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นยุบสภา

โดยศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า การชุมนุมดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ การเรียกร้องให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ลาออกเป็นการเรียกร้องทางการเมือง การปราศรัยเรียกร้องให้ประชาชนต่อต้านการรัฐประหารเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่สามารถกระทำได้ และในการชุมนุม แกนนำได้ประกาศแนวทางการต่อสู้มาโดยตลอดว่า เป็นการชุมนุมโดยสันติ สงบและปราศจากอาวุธ ไม่เข้าองค์ประกอบการก่อการร้าย พิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งหมดทุกข้อหา

……………………………………………

 

ลำดับเหตุการณ์และการพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์การชุมนุมปี 2553

กุมภาพันธ์ 2553 

กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือ คนเสื้อแดง ชุมนุมต่อเนื่องทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและทั่วประเทศ เพื่อเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นลาออกจากตำแหน่ง และจัดการเลือกตั้งขึ้นใหม่

7 เมษายน 2553 

ผู้ชุมนุม นปช. เคลื่อนขบวนไปบุกรัฐสภา ทำให้คณะรัฐมนตรีและสมาชิกรัฐสภาต้องหนีออกจากอาคาร นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และจัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานเฉพาะกิจที่ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนและทหารขึ้นเพื่อควบคุมสถานการณ์ และบังคับใช้อำนาจฉุกเฉิน

10 เมษายน 2553 

ศอฉ.เริ่มสลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช. บริเวณสะพานผ่านฟ้า ในช่วงบ่าย มีรายงานว่ามีผู้ชุมนุมเสียชีวิต 1 ราย ตกกลางคืน มีกองกำลังติดอาวุธที่เรียกว่า “คนชุดดำ” ซุ่มโจมตีทหารด้วยอาวุธสงคราม ขณะเดียวกันก็มีการ์ด นปช. และผู้ประท้วงบางคนใช้อาวุธ เช่น ปืนพก วัตถุระเบิดที่ทำขึ้นเอง ระเบิดเพลิง และหนังสติ๊กโจมตีไปทางฝ่ายทหาร ในระหว่างนั้น ทหารได้ยิงกระสุนจริงเข้าใส่ผู้ประท้วง รัฐบาลรายงานว่า มีผู้เสียชีวิต 26 คน (รวมทั้งทหารห้าคน) และมีผู้บาดเจ็บอย่างน้อย 960 คน (รวมทั้งทหาร 350 คน) ในเหตุการณ์ครั้งนี้

23 และ 29 เมษายน 2553

กลุ่มการ์ดติดอาวุธของ นปช. บุกเข้าค้นโรงพยาบาลจุฬาฯ ทุกคืน โดยอ้างว่าเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลบางคนยินยอมให้ทหารและผู้สนับสนุนรัฐบาลเข้ามาใช้โรงพยาบาลเป็นสถานที่หลบซ่อนตัว ทำให้โรงพยาบาลต้องย้ายคนไข้ออกไป และปิดการให้บริการเกือบทั้งหมดเป็นการชั่วคราว

12 พฤษภาคม 2553  

นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ประกาศเตือนว่า รัฐบาลวางแผนจะสลายการชุมนุมของ นปช. ที่บริเวณแยกราชประสงค์

13 พฤษภาคม 2553  

มือปืนปริศนาลอบยิงพลตรี ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง ซึ่งเขาเสียชีวิตในอีกสี่วันต่อมา ต่อมาศอฉ. ประกาศกฎการปะทะ ซึ่งอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงใช้กระสุนจริงได้

19 พฤษภาคม 2553 

รัฐบาลเริ่มปฏิบัติการทางทหารเพื่อยึดพื้นที่คืนรอบบริเวณแยกราชประสงค์ ซึ่งนำไปสู่การสู้รบกันบนท้องถนนอีกครั้งหนึ่ง โดยทหารใช้กระสุนจริง ขณะที่ผู้ประท้วงฝ่าย นปช. บางส่วน และกองกำลัง “คนชุดดำ” ก็ยิงต่อสู้กับทหาร 

จากการชุมนุมและการกระชับพื้นที่โดยใช้กระสุนจริงในครั้งนี้ มีผู้เสียชีวิตทั้งผู้ชุมนุม นักข่าว หน่วยแพทย์ ตลอดจนเจ้าหน้าที่รัฐ รวม 94 คน บาดเจ็บอีกกว่า 1,400 คน 

เวลา 12.00 น. 19 พฤษภาคม 2553

แกนนำนปช. ประกาศ “ยุติการชุมนุม”  และเข้ามอบตัว ภายหลังจากการเข้ามอบตัว ถัดจากนั้น ก็เกิดเหตุวางเพลิงเผาศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ และสถานที่อื่นๆ ในกรุงเทพฯ

11 สิงหาคม 2553  

อัยการสำนักงานคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง แกนนำ นปช. เช่น นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์, นายจตุพร พรหมพันธุ์, นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, นายแพทย์เหวง โตจิราการ และแนวร่วม นปช. บางส่วน รวมทั้งหมด 24 คน ทั้งหมด 6 ข้อหา ต่อศาลอาญา

16 สิงหาคม 2553 

ศาลอาญาไต่สวนหาข้อเท็จจริงตามกระบวนการของศาล

14 สิงหาคม 2562

เวลาผ่านไป 9 ปี ศาลชั้นต้นมีคำตัดสินยกฟ้องจำเลยกลุ่มแกนนำนปช. พร้อมพวกรวม 24 คน ในความผิดฐานร่วมกันก่อการร้ายตามกฎหมายอาญามาตรา 135/,135/2, ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ตามมาตรา 116, 215, 216 และร่วมกันชุมนุมฝ่าฝืน พรก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมทั้งหมด 6 ข้อหา โดยศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นการต่อสู้ทางการเมืองไม่ใช่เป็นการก่อการร้าย รวมระยะเวลาในการดำเนินการทั้งสิ้น 9 ปี 3 วัน

 

คดีอื่นๆ ที่สืบเนื่องจากการชุมนุมในปี 2553

 

สำหรับเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองช่วงปี 2553 นำมาสู่การฟ้องคดีอีกหลายคดี ซึ่งจนเวลานี้ 

 

1. การไต่สวนการตาย 12 กรณีพบกระสุนมาจากฝั่งทหาร

 

สำนักข่าวประชาไทเคยรวบรวมผลการวินิจฉัยของศาลในการไต่สวนการตายของพลเรือนตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน – 19 พฤษภาคม 2553 และพบว่า มีคำวินิจฉัยอย่างน้อย 12 กรณีที่ศาลระบุว่า ผู้ตายเสียชีวิตด้วยกระสุนที่มาจากฝั่งเจ้าหน้าที่ทหารที่กำลังปฎิบัติการอยู่ และอย่างน้อย 4 คำวินิจฉัยที่ระบุว่า ผู้ตายเสียชีวิตจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ 

2. คดีเผาอาคารเซ็นทรัลเวิลด์ ยกฟ้องจำเลย

เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2557 ศาลอุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้น ให้ยกฟ้องนายสายชล แพบัว และนายพินิจ จันทร์ณรงค์ แนวร่วมนปช. ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นเผาอาคารเซ็นทรัลเวิลด์ เนื่องจากพยานหลักฐานแวดล้อมบ่งชี้ว่า คนทั้งคู่ไม่สามารถกระทำการวางเพลิงได้ 

อย่างไรก็ตาม ตัวผู้กระทำการก่อเหตุที่แท้จริงยังคงเป็นปริศนามาถึงทุกวันนี้

3. คดีเผาศาลากลาง จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดมุกดาหาร

เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2558 ศาลจังหวัดอุบลราชธานีอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ในคดีเผาศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานีในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ผู้ต้องหาจำนวนหนึ่งได้รับการยกฟ้อง แต่อีกจำนวนหนึ่งถูกเพิ่มโทษถึงขั้นจำคุกตลอดชีวิตในชั้นฏีกา 

คดีดังกล่าว อัยการจังหวัดฯ ยื่นฟ้องในคดีความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ การก่อการร้าย ความผิดต่อเจ้าพนักงาน ความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตราย มีผู้ต้องหาถูกดำเนินคดี 21 คน แต่มีการยกฟ้องและไม่ติดใจยื่นฎีกา 8 คน คงเหลือจำเลยที่มาฟังคำตัดสินของศาลฎีกา 13 คน โดยดีเจต้อย พิเชษฐ์ ทาบุดา ดีเจและแกนนำกลุ่มชักธงรบ ถูกพิพากษาให้ได้รับโทษจำคุกตลอดชีวิต ขณะที่จำเลยร่วมอีก 12 คน ส่วนใหญ่ได้รับโทษเพิ่มขึ้น

ในอีกคดีหนึ่ง เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2562 ศาลจังหวัดมุกดาหาร อ่านคำพิพากษาคดีเผาศาลากลางจังหวัดเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 โดยศาลยกฟ้องจำเลยทั้ง 7 คน เนื่องจากพยานหลักฐานโจทก์ยังไม่มีน้ำหนักรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันกระทำความผิด 

4. คดีสินไหมประกันภัยจากการเผาเซ็นทรัลเวิลด์ ศาลให้ประกันชดใช้เพราะไม่นับเป็นการก่อการร้าย

เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 ศาลฎีกาตัดสินกรณีวางเพลิงเผาศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ให้โจทย์ทั้งชดใช้ค่าเสียหาย จำนวน 8.9 ล้านบาท ถึง 26.7 ล้านบาท เพราะถือเป็นภัยจากเจตนาร้าย แต่ไม่ใช่จากการชุมนุม และไม่ใช่การก่อการร้าย 

ศาลจึงมีคำสั่งให้จำเลยทั้งหก ได้แก่ บริษัทนิวแฮมพ์เชอร์อินชัวรันส์, บริษัททิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน), บริษัทฟอลคอลประกันภัย จำกัด(มหาชน), บริษัทกรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน),บริษัทเทเวศประกันภัย จำกัด (มหาชน), บริษัทเมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสาม ได้แก่ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บริษัทศูนย์รับฝากทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทแฟมิลี่ โนฮาว จำกัด ชดใช้ค่าเสียหาย เพราะความเสียหายดังกล่าวเป็นภัยที่เกิดจากเหตุเพลิงไหม้และการกระทำด้วยเจตนาร้ายซึ่งเป็นภัยที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน มิใช่เกิดจากการชุมนุมของประชาชน และไม่ใช่ก่อการร้ายเพื่อหวังผลทางการเมืองตามที่จำเลยทั้งหกอ้าง

 

 

อ้างอิง:

https://deepsouthwatch.org/th/node/1295

https://prachatai.com/journal/2019/05/82290

https://prachatai.com/journal/2013/01/45013

 

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0