โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ศัลยา ประชาชาติ : ขึ้นค่าแรง 425 บาทได้แค่ฝัน? ลูกจ้างช็อก เพิ่ม 5-6 บาททั่ว ปท.

มติชนสุดสัปดาห์

อัพเดต 14 ธ.ค. 2562 เวลา 16.13 น. • เผยแพร่ 14 ธ.ค. 2562 เวลา 16.13 น.
ศัลยา 2052

ระยะเวลากว่า 1 ปีที่ “คณะกรรมการค่าจ้าง” หรือ “บอร์ดไตรภาคี” ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนภาครัฐ ตัวแทนนายจ้างและลูกจ้าง ใช้เวลาพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรอบใหม่ เพราะถูก “ชักเข้าชักออก” จากวาระการประชุมยืดเยื้อยาวนาน ทั้งที่ค่าจ้างขั้นต่ำรอบบัญชีในปัจจุบันประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 ไม่ได้ช่วยให้ผลลัพธ์ในท้ายที่สุดเป็นอย่างที่ฝั่งลูกจ้างพากันฝันเอาไว้

ล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 20 ที่มี “นายสุทธิ สุโกศล” ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธาน เมื่อ 6 ธันวาคมที่ผ่านมา มีมติให้ปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2563 แบ่งเป็น 10 ระดับ ในอัตรา 5-6 บาท/วัน

โดยจังหวัดชลบุรีและภูเก็ตได้ปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสูงสุดจาก 330 บาท/วัน เป็น 336 บาท/วัน ส่วนระยอง ปรับขึ้นจาก 330 บาท/วัน เป็น 335 บาท/วัน ขณะที่กรุงเทพมหานคร, นครปฐม, นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ และสมุทรสาคร ปรับขึ้น 331 บาท ฉะเชิงเทรา ปรับขึ้น 330 บาท ฯลฯ

ส่งผลให้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ที่ 321.09 บาท และอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่นี้จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2563 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับผู้ใช้แรงงาน

 

กระนั้น การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในรอบนี้ดูเหมือนจะมีเสียงเรียกร้อง เสียงคัดค้าน จากทั้งฝั่งลูกจ้างและนายจ้าง ในส่วนของนายจ้างกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว กระทบความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการภาคธุรกิจ

ขณะที่ฝั่งลูกจ้างได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น รายได้แต่ละวันไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต

ทั้งๆ ที่ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา พรรคการเมืองซึ่งเป็นพรรคแกนนำในรัฐบาลชุดปัจจุบันเคยประกาศนโยบายจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 425 บาท/วัน นี่จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยทำให้ภาคแรงงานเรียกร้องให้รัฐบาลทำตามสัญญาที่ได้หาเสียงไว้

“น.ส.ธนพร วิจันทร์” รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) มองว่าปัจจุบันกลุ่มลูกจ้างได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเพียงแค่ 5-6 บาท ถือว่าไม่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลมีมาตรการเข้ามาช่วยเหลือกลุ่มลูกจ้าง อาทิ เงินอุดหนุนค่าเล่าเรียนของบุตร สวัสดิการช่วยเหลือครอบครัว ตลอดจนสวัสดิการรูปแบบต่างๆ

ที่ผ่านมาแม้รัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือสวัสดิการช่วยเหลือต่างๆ แต่เนื่องด้วยข้อกำหนด หรือเงื่อนไข ทำให้กลุ่มลูกจ้างที่หาเช้ากินค่ำไม่สามารถเข้าถึงการช่วยเหลือดังกล่าวได้ และการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจึงต้องให้เท่ากันทั่วประเทศ เพื่อช่วยเหลือกลุ่มลูกจ้างทั่วประเทศอย่างเท่าเทียมกัน

“นอกจากนี้ อยากทวงถามรัฐบาลว่าวันนี้นโยบายที่ได้หาเสียงไว้เมื่อก่อนการเลือกตั้งที่จะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 425 บาท ตอนนี้มีความคืบหน้าอย่างไร การคิดตัวเลขค่าจ้างอัตราดังกล่าวมาจากฐานอะไร และมีความเป็นได้มากน้อยแค่ไหน เพราะตอนนี้ไม่มีการพูดถึงเรื่องเหล่านี้เลย จึงขอให้รัฐบาลชี้แจงประเด็นนี้ และอยากให้ทำตามที่ได้หาเสียงไว้กับผู้ใช้แรงงานโดยเร็วที่สุด”

 

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ “นายกลินท์ สารสิน” ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะตัวแทนนายจ้างเคยระบุว่า ขณะนี้ยังไม่ใช่จังหวะเวลาเหมาะสมที่จะพิจารณาขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอ การส่งออกหดตัวจากเงินบาทที่แข็งค่า กระทบขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน หากรัฐขึ้นค่าแรงงานไม่ว่าจะอัตราเท่าใดจะกระทบผู้ประกอบการซึ่งปัจจุบันขาดทุนอยู่แล้ว ถ้าเป็นไปได้ ควรชะลอขึ้นค่าแรงงานออกไปอย่างน้อย 6 เดือน แล้วค่อยนำกลับมาทบทวนใหม่

ด้าน “นายสุทธิ สุโกศล” ปลัดกระทรวงแรงงาน ประธานในที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 20 กล่าวว่า บอร์ดค่าจ้างพิจารณาปัจจัยทั้งบวกและลบก่อนมีมติให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 6 บาท/วัน ใน 9 จังหวัด คือ ชลบุรี ภูเก็ต ปราจีนบุรี กทม. นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร ส่วนที่เหลืออีก 68 จังหวัด ปรับขึ้น 5 บาท/วัน ทำให้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทยแบ่งเป็น 10 ระดับ สูงสุดอยู่ที่ 336 บาท/วัน ได้แก่ ชลบุรีและภูเก็ต ต่ำสุดอยู่ที่ 313 บาท/วัน ได้แก่ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานได้นำผลสรุปเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ ในวันพุธที่ 11 ธันวาคม 2562 และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้ทันบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2563

“การพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้ ได้พิจารณาอย่างกว้างขวางและรอบคอบ เชื่อว่าจะเป็นผลดีต่อการเจริญเติบโตต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน ภาวะเงินเฟ้อ และขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ” นายสุทธิกล่าว

ส่วนมาตรการลดผลกระทบนั้น กระทรวงพาณิชย์ได้เข้ามาดูแลในเรื่องการควบคุมราคาสินค้า เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชน รวมทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงแรงงาน ได้ดูแลในเรื่องผลกระทบด้วยการประกันการว่างงาน และการเพิ่มทักษะฝีมือให้แรงงานมีทักษะที่สูงขึ้นอีกด้วย

แหล่งข่าวในที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำ เปิดเผยว่า ตัวเลขการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้ ลูกจ้างน่าจะพอใจ นายจ้างคงจะเห็นสมควร ทั้งนี้ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับผู้ใช้แรงงาน ซึ่งการคำนวณตัวเลขการปรับขึ้นในครั้งนี้ถือว่าไม่ได้มีความแตกต่างจากครั้งก่อนๆ อาจจะมีบางจังหวัดที่ขอปรับขึ้นสูงกว่าอัตราดังกล่าว และบางจังหวัดขอให้มีปรับขึ้นน้อยกว่า หรือไม่ปรับขึ้นเลย ทำให้ภาพรวมของการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศในครั้งนี้อยู่ที่ 1.6% หรืออยู่ที่ 321.09 บาท

ผลของการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้ จะทำให้เกิดการกระตุ้นการใช้จ่ายของประเทศไทยในช่วงต้นปี 2563 และจะทำให้แรงงานที่มีค่าจ้างน้อยกว่าถูกปรับเพิ่มให้สูงขึ้น ขณะที่แรงงานที่มีอัตราค่าจ้างสูงจะได้รับอานิสงส์ในการปรับขึ้นค่าจ้างในครั้งนี้จนทำให้มีรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งยังเป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม อาจมีบางพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างในอัตราที่สูงขึ้น โดยเฉพาะเรื่องเงินเฟ้อ ซึ่งต่อไปกระทรวงพาณิชย์จะเข้ามาดูแลและควบคุมราคาสินค้า ส่วนการช่วยเหลือด้านอื่นๆ นั้น ที่ผ่านมารัฐบาลมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ดูแลค่าครองชีพ ทั้งชิม ช้อป ใช้ และบัตรสวัสดิการต่างๆ ให้กับลูกจ้างและประชาชนทั่วไป ส่วนผู้ประกอบการ อาจจะมีการปล่อยเงินกู้ช่วยเหลือดอกเบี้ยถูก เพื่อดูแลนายจ้างขนาดกลาง ขนาดเล็ก ที่จะได้รับผลกระทบ

เป็นอีกครั้งหนึ่งที่มุมมองของฝั่งนายจ้างกับลูกจ้างค่อนข้างสวนทาง ขณะที่โจทย์ใหญ่นโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 425 บาท เป็นทั้ง “ตัวแปร” และ “เผือกร้อน” ในมือ ที่รัฐบาลต้องตอบให้ชัดว่าจะทำฝันให้เป็นจริง หรือแค่ขายฝัน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0