โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

วิเคราะห์บทบาท-ท่าที ส.ส.ปารีณา จากสายตานักรัฐศาสตร์ ทำไมได้เป็นผู้แทนฯ หลายสมัย? แม้จะถูกกระหน่ำวิจารณ์

มติชนสุดสัปดาห์

อัพเดต 09 ธ.ค. 2562 เวลา 05.12 น. • เผยแพร่ 09 ธ.ค. 2562 เวลา 05.12 น.
ปกยุทธ

วิเคราะห์บทบาท-ท่าที ส.ส.ปารีณา จากสายตานักรัฐศาสตร์ ทำไมได้เป็นผู้แทนฯ หลายสมัย? แม้จะถูกกระหน่ำวิจารณ์

ยังคงอยู่ในความสนใจของสังคมต่อเนื่อง สำหรับคดีความของ ส.ส.ชื่อดังของพลังประชารัฐ นามว่า ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี ที่มักมีประเด็นใหม่ๆ ร้อนๆ และมีการฟ้องร้องกันไปมาอย่างมหาศาล ยังไม่รวมถึงกระแสดราม่า และการวิพากษ์วิจารณ์กันในสังคม (ออนไลน์) กันอย่างดุเดือด

รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) มอง น.ส.ปารีณาผ่านม่านตาทางรัฐศาสตร์ ถึงบทบาทและวาระทางการเมืองว่าเรื่องไหนที่ ส.ส.ควรพึงกระทำ และอะไรที่สังคมต้องการคำตอบจากทุกๆ ท่าทีที่ปรากฏขึ้นในรอบหลายๆ สัปดาห์ที่ผ่านมา

ประการแรก อ.ยุทธพรชี้ให้เห็นว่า กรณีคดีความของคุณปารีณานี้หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกเปรียบเทียบกับคดีต่างๆ ก่อนหน้านี้หลายคดีที่มีตัวละครของพรรคร่วมฝ่ายค้านถูกดำเนินคดีในหลายๆ เรื่อง แม้กระทั่งเรื่องการถือหุ้นสื่อของคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ก็มีคนเอามาคิดเปรียบเทียบ และตั้งคำถามถึง “กระบวนการในการดำเนินคดี” กับท่าทีที่เกิดขึ้นกับคนฝั่งรัฐบาล

แน่นอนว่าจะต้องถูกจับตามองว่ากระบวนการตรงนี้ สองมาตรฐานหรือไม่

ความเป็นธรรม-ความยุติธรรมจะเกิดขึ้นจริงหรือเปล่า

ส่วนที่มีคนวิจารณ์และตั้งข้อสังเกตว่ามีความพยายามช่วยเหลือคุณปารีณา หรือช่วยอุ้มกันนั้นต้องดูว่าหลังจากนี้ไปกระบวนการในการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐจะเป็นไปในทิศทางไหน

แต่แน่นอนที่สุดว่า นาทีนี้ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามถูกดำเนินคดี กระบวนการที่บังคับใช้กฎหมายภายใต้หลักนิติธรรม ความเสมอภาคทางกฎหมายมันต้องเกิด รวมถึงความเสมอภาคทางข้อเท็จจริงต้องทำให้ปรากฏขึ้น

เพราะในสังคมมีคนที่สัมผัสได้ว่ากฎหมายเข้าไปไม่ถึงอย่างไม่เท่าเทียมทุกคน

เช่น พฤตินัยของ ส.ส.หลายๆ คนในฝั่งรัฐบาลที่มีการถือครองหุ้นสื่อที่มีลักษณะใกล้เคียงกับกรณีคุณธนาธร แต่กระบวนการพิจารณาทางกฎหมายกลับยังเข้าไปไม่ถึงกลุ่มคนเหล่านี้

นี่จึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่จะทำให้สังคมหรือบ้านเมืองมันเดินหน้าได้ จำเป็นต้องมีหลักการเหล่านี้

ในทางกลับกันถ้าประชาชนสัมผัสได้ว่าหากมีการเลือกปฏิบัติหรือกระทำแบบสองมาตรฐานหรือถึงขั้นไม่มีมาตรฐานเลย สุดท้ายแล้วมันจะนำไปสู่ชนวนใหม่แห่งความขัดแย้งได้เพิ่มเติมอีกครั้ง

กลับกลายเป็นประเด็นใหม่ที่จะถูกหยิบยกขึ้นมาพูดอ้างถึง เพื่อเพิ่มปมความขัดแย้งในทางการเมืองมากขึ้นไปอีก

ซึ่งเราต้องไม่ลืมว่าความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมายังไม่เคยได้รับการแก้ไขเลยด้วยซ้ำ

ดังนั้น ถ้ามีการเติมเชื้อเพลิงตรงนี้เข้าไปอีกเป็นประเด็นสะสมเพิ่มความขัดแย้งให้ยิ่งซับซ้อนยากขึ้นไปอีกก็จะยิ่งแก้ไขได้ยาก

จากสภาพทั้งหมดนี้ประกอบกับบทบาทของคุณปารีณาที่ร้อนแรงอยู่เสมอ ทั้งภายในสภาและที่ประชุมคณะกรรมาธิการ รวมถึงการที่จะต้องเผชิญหน้ากับฝ่ายค้านอีกหลายหน ถ้ากระบวนการต่างๆ ในคดีความของคุณปารีณานั้นไม่สามารถอธิบายให้สังคมได้รับรู้และเข้าใจเรื่องของหลักธรรมาภิบาล มาตรฐานต่างๆ ได้นั้น จะทำให้ยิ่งเกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์มากยิ่งขึ้น

ส่งผลต่อตัวสถานะและความเชื่อมั่นของรัฐบาลไปอีก

: มองท่าทีการแสดงออกของ ส.ส.ชื่อดังท่านนี้อย่างไร?

จากท่าทีการแสดงออกต่างๆ ของคุณปารีณา ในความเป็นจริงแล้ว เขาต้องคำนึงถึงความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วย และส่วนตัวผมเองยืนยันว่าการที่ฝ่ายค้านจะตรวจสอบรัฐบาลนั้นเป็นเรื่องปกติ แล้ววันนี้บทบาทของ ส.ส.นั้นมิได้มีหน้าที่เป็นองครักษ์พิทักษ์รัฐบาล แต่ต้องทำหน้าที่ในการเป็นตัวแทนของพี่น้องประชาชนในการเข้าตรวจสอบและดำเนินการในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ ผ่านกลไกของรัฐสภาให้เกิดประสิทธิผลมากที่สุด อาทิ การตั้งกระทู้ถาม ตั้งญัตติ บทบาทภายในคณะกรรมาธิการ ต้องไม่ทำให้ประชาชนรู้สึกว่า สภากลายเป็นที่ของพวกมากลากไป ไม่ได้สนใจยึดประโยชน์ประชาชน

ถ้า ส.ส.คิดโดยเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง ต้องใช้กลไกรัฐสภาให้เกิดประสิทธิผล

แต่ถ้า ส.ส.ยังตั้งต้นคิดว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาล ต้องทำหน้าที่เป็นองครักษ์พิทักษ์อยู่ ผมคิดว่ากลไกเหล่านี้มันจะไม่สามารถบังคับใช้ได้ และหลักการในการตรวจสอบถ่วงดุลทั้ง 3 ส่วนมันจะหายไปทันที คือ ฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ

ที่ผ่านมาเราอาจจะไม่เห็นความดุเดือดในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) แต่ละชุดเท่าไหร่นัก การจะแต่งตั้งประธานหรือวางสัดส่วนที่นั่งตำแหน่งภายใน กมธ.ทุกอย่างมีข้อบังคับและเป็นการตกลงกันของ “วิป” ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล ในการตั้งกรรมการแต่ละชุดขึ้นมาเพื่อทำงานคู่ขนาน ในอดีตที่ผ่านมาก็จะมีการตกลงกันลงตัวไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไหร่

แต่ปัจจุบันภาพที่สังคมได้เห็นคือ ที่ประชุมกรรมาธิการ (โดยเฉพาะชุดนี้) กลายเป็นการจำลองภาพความขัดแย้งจากสภาใหญ่ลงไปสู่โต๊ะกรรมาธิการ

เราจึงเห็นได้ว่ากรรมาธิการ ป.ป.ช.จะมีความโดดเด่นเป็นพิเศษและมีปัจจัยส่วนบุคคลเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

ซึ่งถ้าภาพแบบนี้ออกมาบ่อยๆ ความเชื่อมั่นเชื่อถือศรัทธาจากพี่น้องประชาชนต่อการทำงานในระบบรัฐสภามันจะเกิดคำถามได้ว่า ลำพังเฉพาะความขัดแย้งทางการเมืองข้างนอกก็มากอยู่แล้ว เมื่อเข้าไปอยู่ในสภาและในที่สุดเข้าไปสู่โต๊ะกรรมาธิการอีก

มันสะท้อนว่าความขัดแย้งมันฝังรากลึกมันไม่ได้หายไปไหนเลย ความขัดแย้งทั้งหมดถูกถ่ายทอดผ่านกระบวนการเลือกตั้ง ฉะนั้น ก็ต้องเรียกร้องให้กรรมาธิการยึดหลักการรับผลประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้งในการทำงาน

อย่างไรก็ตาม ก็มองว่าพรรคพลังประชารัฐไม่ได้วางเกมนี้ไว้แต่ต้นในการเดินเกมกรรมาธิการชุดนี้ เดิมทีเป็นสัดส่วนของ ส.ส.สงขลา แต่พอมีเรื่องของการที่ ประธาน กมธ.ชุดนี้ที่มีหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทยเป็นประธานหัวโต๊ะ ยังคงเรียก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไปชี้แจงประเด็นการถวายสัตย์ ที่ฟากฝั่งรัฐบาลมองว่าเป็นการเรียกที่ไม่เหมาะสมหรือไม่ ทำให้มีการเปลี่ยนตัวและให้ ส.ส.ชื่อดังทั้งคุณปารีณา และคุณสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. ผู้มีบทบาทที่ดุเดือดภายนอกสภาไม่แพ้กันเข้าไปนั่งในสัดส่วนตรงนี้

ทำให้ภาพที่เห็นทั้งการยกมือประท้วงและมีประเด็นการตั้งคนนอกเป็นที่ปรึกษา กมธ.ที่มองว่า คุณสมบัติไม่เหมาะ หรือดราม่าล่าสุดที่คุณปารีณาพยายามยกเก้าอี้ไปวางนั่งข้างๆ ประธาน ที่นำมาสู่การวิพากษ์กันกระหน่ำกันมากมาย

ซึ่งสุดท้ายก็นำมาสู่ผลพลอยได้ประการหนึ่งคือการลดเป้า-แรงที่พยายามจะมุ่งไปสู่ตัว พล.อ.ประยุทธ์ ในสถานะที่ถูกเชิญมาชี้แจงใน กมธ.ชุดนี้

: จากพฤติกรรมทั้งหมด คนตั้งข้อสงสัย ชาวบ้านจะไว้วางใจ-ให้โอกาส ส.ส.เหล่านี้เป็นผู้แทนของเขา(อีก)?

จริงๆ แล้วบทบาทในพื้นที่กับการทำงานในสภาปัจจัยที่เกี่ยวข้องบางครั้งมันต่างกัน

เราจะเห็นได้ว่าในการเมืองไทย ส.ส.เขตกับ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่ถูกกำหนดขึ้นมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 เกิดจากทัศนคติค่านิยมความเชื่อที่แตกต่างกัน

คนในพื้นที่เขตเมืองอาจจะต้องการนักการเมืองที่มีคุณภาพต้องยึดประโยชน์ประชาชน ไม่คิดแต่จะเล่นการเมืองเพียงอย่างเดียว ทำงานก็ต้องทำงานที่อยู่ในกฎเกณฑ์ มีประวัติและโปรไฟล์การทำงานที่โอเค

แต่กลุ่มคนอีกส่วนหนึ่งที่เป็นคนในพื้นที่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในต่างจังหวัดเขาไม่ได้มองการเมืองแบบนั้น

เพราะการเมืองในมิติของคนอีกกลุ่มหนึ่งเขามองว่าผู้แทนฯ ที่ดีคือผู้แทนฯ ที่สามารถพบได้ง่ายที่เข้าไปเป็นปากเสียงของประชาชนในพื้นที่ได้ ไม่เคยลืมสัญญาที่เคยให้ไว้กับสังคม

เมื่อมีปัญหาเดือดร้อน พึ่งพาอาศัยได้ เพราะนั่นคือช่องทางเดียวในการเข้าถึงบริการสาธารณะ ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือปัญหาจากกลไกที่เกิดขึ้นจากระบบอุปถัมภ์แบบนี้ ก็สะท้อนให้เห็นว่ามุมมองต่อการเลือก ส.ส.แต่ละพื้นที่ต่างกัน

ดังนั้น แม้แต่บางผู้คนดูในสภา ว่าคนแบบนั้นแบบนี้ไม่น่าจะได้รับเลือก แต่คนในพื้นที่เขาชื่นชอบเพราะเป็นคนที่พึ่งพาอาศัยได้ ไปงานบวช งานบุญ งานแต่ง งานศพ พบปะได้เสมอและสามารถที่จะทำตามสัญญาได้ดี ดูแลชุมชนได้และเรียกหาได้ตลอด

กลายเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความประทับใจ ที่แตกต่างกันชัดเจนกับคนที่เฝ้ามองการเมืองเฉพาะในสภาเท่านั้น เพราะเป็นเพียงส่วนหนึ่งในหน้าที่แม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์แต่งานในพื้นที่จะเป็นคนละแบบ คนละมิติ คนละมุมมองกัน ทำให้เขาเหล่านั้นยังคงได้รับเลือกจากชาวบ้านอยู่เสมอ

แม้ว่าสังคมอีกค่อนประเทศจะวิจารณ์ จะกระหน่ำความเห็น ไม่นิยมชมชอบ ส.ส.คนใดคนหนึ่ง แต่คงเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งเท่านั้นที่สิ่งจากข้างนอกพฤติกรรมจากภายนอกที่เราเห็นแล้วจะส่งผลถึงชาวบ้านในพื้นที่จริงๆ ซึ่งมันมีเรื่องของฐานเสียง ระบบหัวคะแนน กระบวนการจัดทำบริการสาธารณะที่ลงไปกระจายถึงคนในพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ และการผลักดันปัญหาชาวบ้าน ดำเนินการให้ในสภาและคณะทำงานต่างๆ แล้วเอาไปสื่อสารกับชาวบ้าน ทำให้เขายังสามารถครองใจประชาชนในพื้นที่

และก็ยังต้องพึ่งพาอาศัยกันอยู่

ชมคลิป

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0