โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

วิกฤตในวิกฤต: รอยแผลจากโควิด-19 ทำให้เด็กหลายแสนชีวิตต้องอดมื้อกินมื้อ

The MATTER

เผยแพร่ 25 พ.ค. 2563 เวลา 04.50 น. • Branded Content

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังคงสร้างความหวาดหวั่นให้กับผู้คนทั่วโลก ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ข่าวสารที่หลายคนเลือกเสพอาจจะเทน้ำหนักไปทางเศรษฐกิจ สังคม และการต่อสู้ทางการแพทย์เป็นส่วนใหญ่ จนบางครั้งทำให้หลงลืมไปว่า ระบบการศึกษาก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักไม่แพ้กัน

 

หลายคนอาจคิดว่า การปิดเทอมที่ยาวนานขึ้นไม่น่าจะส่งผลกระทบอะไรมากนัก เด็กๆ น่าจะชอบเสียอีกที่ได้มีเวลาทำกิจกรรมต่างๆ มากกว่าเดิม ซึ่งความจริงแล้วอาจไม่ได้เป็นเช่นนั้นกับเด็กทุกคน เพราะโรงเรียนสำหรับเด็กอีกหลายแสนคนไม่ได้เป็นแค่ที่ให้ความรู้เท่านั้น แต่โรงเรียนยังเป็นพื้นที่ในการใช้ชีวิต และยังเป็นโรงอาหารที่ช่วยให้ท้องอิ่มอีกด้วย

การไม่ได้ไปโรงเรียนจึงไม่ได้หมายถึงการถูกปิดกั้นการศึกษาเท่านั้น หากแต่ยังเป็นการปิดกั้นไม่ให้เด็กๆ ได้กินอิ่มนอนหลับเหมือนเช่นเคย

พิษโควิด-19 สู่ช่องว่างทางการศึกษา

การปิดเทอมที่ยืดระยะเวลาออกไปส่งผลในวงกว้างต่อชีวิตเด็กอย่างมหาศาล ช่องว่างที่ใหญ่ที่สุดคือปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งหากมองภาพรวมจะเห็นได้ว่าปัญหานี้สามารถส่งผลระยะยาวไปยังอนาคตเศรษฐกิจของประเทศด้วยเช่นกัน โดยหลักๆ แล้วประเด็นความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาแบ่งออกเป็น 3 ประเด็นใหญ่ๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นอุปสรรคที่ก่อความทุกข์ยากลำบากให้แก่เด็กอีกเกือบล้านคน

1.ผลกระทบจากการปิดเทอมที่นานขึ้น ทำให้การเรียนรู้ของนักเรียนถดถอยลง โดยเฉพาะกลุ่มเด็กยากจนที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้นอกโรงเรียนได้

2.ผลกระทบต่อโภชนาการ สำหรับเด็กด้อยโอกาส การไม่ได้ไปโรงเรียนก็เท่ากับการไม่ได้เข้าถึงอาหารที่จำเป็น บางครั้งต้องอดมื้อกินมื้อ หรืออย่างมากก็กินข้าวเปล่ากับน้ำแกงใส เด็กๆ จึงไม่ได้รับคุณค่าทางโภชนาการที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต

3.เด็กเสี่ยงต่อการหลุดออกนอกระบบการศึกษามากขึ้น เพราะสถานะครอบครัวที่ย่ำแย่ลง อาจทำให้เด็กต้องออกจากโรงเรียนก่อนวัยอันควร หรือแม้แต่การไม่ได้เข้าถึงแหล่งเรียนรู้นอกโรงเรียนก็ทำให้เด็กเรียนไม่ทันเพื่อนคนอื่นๆ

การเข้าไปช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีจึงมีความจำเป็นอย่างมาก ไม่เช่นนั้นความเหลื่อมล้ำก็จะยิ่งรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเรื่องโภชนาการของเด็กๆ

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ซึ่งมีภารกิจในการช่วยเหลือดูแลกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ หรือด้อยโอกาสนับตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยแรงงานให้ได้รับโอกาสทางการศึกษา เพื่อบรรเทาความยากจนอันเป็นรากเหง้าของปัญหาอื่นๆ ซึ่งหากแก้ไม่ได้ ปัญหานี้จะส่งทอดวนเวียนไปข้ามชั่วคน จากพ่อแม่ ส่งต่อไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลานได้เพราะมีกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงการศึกษา หรือได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพต่างกัน กสศ. ได้ตระหนักถึงปัญหาการขาดแคลนอาหาร เพราะถือเป็นผลกระทบที่น่าเป็นห่วง กสศ. จึงได้จัดสรรช่วยเหลือเป็นเงินอุดหนุนค่าอาหารเพิ่มเติมให้กับนักเรียนยากจนพิเศษใน 3 สังกัด (สพฐ. ตชด. และ อปท) ที่ กสศ. ดูแลทั้งหมด ตั้งแต่ชั้นประถมฯ 1 – ม. 3 ทั่วประเทศ และระดับอนุบาล 10 จังหวัด จำนวน 753,997 คน ใน 25,408 โรงเรียน โดยช่วยเหลือเด็กคนละ 600 บาท สำหรับเป็นค่าอาหารเบื้องต้น 30 วัน โดยมีการคัดกรองมาแล้วอย่างทั่วถึงผ่านระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ iSEE หากเข้าไปในเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน จะปรากฏข้อมูลของเด็กยากจนทั้งหมด ว่าแต่ละพื้นที่มีเด็กที่กำลังประสบปัญหามากน้อยแค่ไหน ข้อมูลที่น่าตกใจคือบางครอบครัวมีรายได้เฉลี่ย 279 - 1,254 บาทต่อคนต่อเดือน หรือเพียง 9 บาทต่อวันเท่านั้น

ภาพความจริงที่เด็กและครอบครัวต้องเผชิญ

ในการลงพื้นที่ของคุณครูบางส่วน ทำให้พบว่าความเป็นอยู่ของนักเรียนนั้นยากลำบากมากๆ อย่างครอบครัวหนึ่งในจังหวัดนราธิวาส มีลูกทั้งหมด 4 คน สภาพบ้านที่อยู่อาศัยทรุดโทรม พื้นบ้านเป็นไม้ไผ่ หลังคาหรือฝาบ้านบางแห่งมีรอยรั่ว แต่ก็ไม่สามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ พ่อแม่จึงตัดสินใจให้ลูกคนโตย้ายไปเรียนบ้านยะบะ ที่มีระยะทางห่างจากบ้าน 6 กิโลเมตร แต่มีหอพักประชารัฐให้ลูกได้พักฟรี แล้วให้กลับมาบ้านในช่วงสุดสัปดาห์แทน ส่วนพี่น้องอีก 3 คน ทางโรงเรียนก็ได้มีการยื่นให้ได้รับทุนเสมอภาคจาก กสศ. ทำให้ช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัวไปได้มาก เพราะโรงเรียนจะมีทุนให้เด็ก รวมถึงมื้ออาหารที่ถูกหลักโภชนาการด้วย แต่เมื่อต้องหยุดเรียน เด็กๆ ทั้งหมดจึงต้องกลับมาพึ่งพารายได้จากครอบครัว โดยเฉพาะค่าอาหาร ส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น แต่ประเด็นสำคัญคือรายได้ของพ่อแม่นั้นไม่เพียงพอต่อความเป็นอยู่ ทำให้เด็กบางคนจำเป็นต้องกินอาหารเท่าที่มี หรือบางมื้อก็แทบไม่มีอะไรกินเลยนอกจากข้าวเปล่าเท่านั้น

อีกตัวอย่างคือเคสของเด็กชายณรงค์ จากจังหวัดเพชรบุรี หนึ่งในนักเรียนจาก ‘โครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษอย่างมีเงื่อนไข’ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เขาเป็นลูกคนสุดท้องจากจำนวนพี่น้อง 8 คน เพิ่งเรียนจบชั้น ป.5 แต่ต้องเป็นเด็กคนเดียวที่ยังอยู่กับครอบครัว และต้องเป็นเสาหลักของบ้าน เพราะพี่ๆ ส่วนหนึ่งออกไปมีครอบครัวแล้ว และอีกส่วนก็ย้ายไปเรียนหนังสือในตัวอำเภอ บ้านของเขาตั้งอยู่ห่างจากโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านโป่งลึก กว่า 5 กิโลเมตร แต่เขากลับเลือกที่จะเดินไปกลับทุกวัน เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย และยังต้องดูแลพ่อที่แก่ชราและแม่ที่เป็นผู้ป่วยติดเตียงอีกด้วย

แต่หลังจากที่โรงเรียนปิดเทอม ภาระของณรงค์ก็ดูจะหนักหนาขึ้น เขาต้องไปหาอาหารมาทำเอง บางครั้งต้องถ่อแพล่องไปไกลจากบ้านเพื่อทอดแหจับปลา บางวันโชคดีจับได้กลับมาบ้าง แต่ก็ไม่พอให้กินได้หลายมื้อ ส่วนใหญ่อาหารที่บ้านจึงเป็นข้าวเปล่ากับต้นข่าอ่อนจิ้มน้ำพริก ถึงจะมีกินครบสามมื้อ ก็ไม่ได้หมายความว่าณรงค์จะได้กินอาหารครบตามโภชนาการตามที่ควรจะได้รับ

อย่าให้การหยุดเชื้อมาหยุดการเจริญเติบโตของเด็กๆ

จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 กำลังกลืนกินอนาคต และฝากรอยแผลขั้นวิกฤตให้กับเด็กยากจนจำนวนมาก การไม่ได้ไปโรงเรียนเหมือนกับการพรากความฝันไปจากมือเล็กๆ เด็กหลายแสนชีวิตไม่มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ ความรู้ไม่ได้รับการเติมเต็ม กินอาหารไม่ครบหมู่ ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ไม่มีทางเลยที่พวกเขาจะเติบโตไปสู่สิ่งที่ฝันได้

กสศ. ได้มีการปรับแนวทางการทำงาน เพื่อแก้ไขปัญหาที่กำลังวิกฤตนี้แล้ว แต่ไม่ว่าอย่างไร แรงสนับสนุนและการช่วยเหลือจากภายนอกก็ยังเป็นสิ่งที่จำเป็น จึงได้ริเริ่มโครงการ ‘สู้วิกฤตให้น้องอิ่ม คนละมือ เพื่อมื้อน้อง’ ชักชวนให้ทุกคนร่วมบริจาคเงินสมทบทุนโครงการ เพื่อเติมเต็มอาหารให้น้องๆ ได้อิ่มท้อง จนกว่าโรงเรียนจะกลับมาเปิดเทอมอีกครั้ง

ร่วมสมทบทุนได้ที่ www.eef.or.th/donate-covid/ หรือธนาคารกรุงไทย ชื่อบัญชี กสศ.มาตรา 6(6) - เงินบริจาค เลขที่บัญชี 1720300216 สามารถนำหลักฐานการบริจาคไปลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า

 

ดูคลิป/โพสท์ คลิ๊กที่นี่

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ หรือการลดหย่อนภาษีได้ที่ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา โทร. 02-079-5475

หากอยากให้น้องอิ่มท้อง มาร่วม #สู้วิกฤตให้น้องอิ่ม กัน

Content by Wichapol Polpitakchai

Illustration by Suthawee Chotrattanasak

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0