โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

วิกฤตินิเวศ สงครามและการยับยั้งสงคราม | การทำให้เส้นโค้งการระบาดแบนลง

มติชนสุดสัปดาห์

อัพเดต 05 มิ.ย. 2563 เวลา 16.15 น. • เผยแพร่ 05 มิ.ย. 2563 เวลา 16.15 น.
ROT-COVID-ADR-KFMK-Mar2020

วิกฤตินิเวศ สงครามและการยับยั้งสงคราม (7)

“การทำให้เส้นโค้งการระบาดแบนลง” (Flatten the curve) เป็นศัพท์ทางการแพทย์ด้านโรคระบาด

หมายถึง การแทรกแซงด้านสาธารณสุขด้วยมาตรการที่ไม่ใช่เชิงเภสัชกรรม

นำโดยรัฐบาล ประกอบด้วยมาตรการล้างมือ การรักษาระยะห่างทางสังคม การบังคับกักโรค ปิดโรงเรียน ห้ามการชุมนุม การแยกผู้ป่วย การฆ่าเชื้อ (ในการนี้ยังรวมถึงการใช้เงินฉุกเฉินปริมาณมหาศาล เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจแก่สาธารณชน)

ซึ่งต้องทำอย่างมีระบบ เป็นขั้นตอน ไม่เช่นนั้นจะเกิดผลด้านลบ เช่น นำพาผู้คนมาชุมนุมกันทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ

มาตรการดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อให้ระบบสาธารณสุขยังปฏิบัติการอยู่ได้ ไม่ล่มสลาย สามารถรับมือกับปริมาณคนไข้ที่ทะลักเข้ามา มีเครื่องมือ อุปกรณ์ เตียงผู้ป่วยพอเพียง รวมทั้งการพัฒนาวิธีการรักษาด้วย

ดังนั้น มันจึงเป็นการซื้อเวลาเพื่อช่วยทุกคน จนกว่าจะสามารถพัฒนายารักษาและวัคซีนขึ้นสำเร็จ

คําศัพท์นี้ใช้ในวงนักวิชาการด้านระบาดวิทยามานานพอสมควร เพิ่งมาใช้แพร่หลายในช่วงต้นเดือนมีนาคม 2020 ที่โควิด-19 ระบาดอย่างรวดเร็ว จนระบบสาธารณสุขบางประเทศมีอิตาลีเป็นต้นรับมือไม่ไหว

รัฐบาลต่างๆ เห็นพ้องกันว่า เฉพาะหน้านี้ต้องมีการแทรกแซงอย่างเข้มงวด เพราะว่าเมื่อมีการระบาดรุนแรง เช่น จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเท่าตัวทุกสามวัน ในเวลาไม่กี่เดือนก็จะมีผู้ติดเชื้อนับล้านคน ไม่มีระบบสาธารณสุขใดจะรับมือได้

จีนที่ประสบภัยโควิด-19 ระบาดรุนแรงเป็นชาติแรก ได้ใช้มาตรการปิดพื้นที่ ได้แก่ ปิดเมืองอู่ฮั่นที่เป็นศูนย์การระบาด ต่อมาขยายไปยังมณฑลหูเป่ย มีการสร้างโรงพยาบาลสนามใหม่นับพันเตียง

เมื่อสถานการณ์คลี่คลายลง ก็ได้เริ่มเปิดมณฑลหูเป่ยก่อนในปลายเดือนมีนาคม 2020 และเปิดเมืองอู่ฮั่นในต้นเดือนเมษายน

แต่ในกลางเดือนพฤษภาคม พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ใหม่ที่เมืองอู่ฮั่น 6 ราย มีข่าวว่าทางการจีนทุ่มเทต่อสู้ ด้วยการสั่งให้มีการตรวจเชื้อแก่ชาวเมืองอู่ฮั่นทั้งหมด 11 ล้านคน (เรียกว่าการตรวจแบบ NAT – Nucleic Acid Test)

ในจำนวนนี้มีการตรวจไปแล้วราว 3 ล้านคน ยังเหลืออีก 8 ล้านคนที่จะต้องตรวจเชื้อ เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดระลอกสองขึ้น อย่างที่เคยเกิดขึ้นในการระบาดไข้หวัดใหญ่สเปนในปี 1918-1919 (ความจริงเกิดระบาดครั้งแรกในค่ายทหารสหรัฐ)

ปฏิบัติการของจีนครั้งนี้วิเคราะห์กันว่ามุ่งผลระยะยาว และใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในการแก้ปัญหาการระบาด

นายแพทย์สหรัฐผู้หนึ่ง เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์การแพทย์ คือ โฮเวิร์ด มาร์เกิล (เกิด 1960) เป็นคนหนึ่งที่มีส่วนสร้างคำว่า “การทำให้เส้นโค้งการระบาดแบนลง” เขาและคณะได้ศึกษาการระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปน โดยประมวล วิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูลจำนวนมากจากเมืองและรัฐต่างๆ ว่ามีการปฏิบัติตอบโต้กับการระบาดใหญ่ที่ยาวนานครั้งนี้อย่างไร

ซึ่งมีผลให้มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกอย่างน้อย 40 ล้านราย เฉพาะชาวอเมริกันเสียชีวิตระหว่าง 500,000-700,000 คน

จากการศึกษาของเขาในกรณีไข้หวัดสเปน และการระบาดของไวรัสอื่นเป็นเวลา 20 ปี เขาได้ให้สัมภาษณ์ สรุปความได้ว่า

ก) เมืองที่มีการปฏิบัติป้องกันอย่างเร็วทันกาลและต่อเนื่องยาวนานในการระบาดใหญ่ปี 1918 ใช้การแทรกแซงที่ไม่เป็นเชิงเภสัชกรรมเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้มีอัตราการติดเชื้อและการตายต่ำกว่าเมืองที่ไม่ได้มีการปฏิบัติเช่นนั้นหรือปฏิบัติช้า

การปฏิบัติดังกล่าวได้แก่ การแยกผู้ป่วยหรือผู้สงสัยติดเชื้อในโรงพยาบาลหรือที่บ้าน ห้ามการ ชุมนุมในที่สาธารณะ บางกรณีปิดถนนและทางรถไฟ และการปิดโรงเรียน

ข) เขาไม่เชื่อว่าการปล่อยให้ไวรัสระบาดไปโดยไม่เข้าไปแทรกแซงอย่างแข็งขัน จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้น โดยทำให้เชื้อไวรัสหมดพลังในการแพร่ระบาด และหายไปเอง

เพราะว่าเรายังเข้าใจเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันนี้น้อยมาก เช่น มันเกิดแก่ทุกคนหรือไม่ และสมมุติว่าเกิดขึ้นจริงจะคุ้มครองไปได้นานเท่าใด กรณีไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดเป็นฤดูกาล ต้องฉีดวัคซีนคุ้มกันทุกปี

นอกจากนี้ เขาไม่เห็นด้วยกับการปฏิบัติที่ไม่เข้มงวดของสวีเดน ที่ห้ามเพียงการชุมนุมจับกลุ่มที่มีจำนวนเกิน 50 คน และให้สาธารณชนระวังรักษาระยะห่างทางสังคมกันเอง ขณะที่เปิดให้สถานประกอบการและโรงเรียนทำกิจกรรมคล้ายเดิมว่าเป็นสิ่งที่ดี

อนึ่ง มีรายงานกลางเดือนพฤษภาคม ว่า สวีเดนที่มีประชากร 10 ล้านคนเศษ มีตัวเลขทางการของผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ถึงกว่า 3,500 ราย ถ้าคิดเป็นจำนวนการตายต่อจำนวนประชากร 100,000 คน เปรียบเทียบกับประเทศที่มีการตายสูง สวีเดนจะติดอันดับที่ 5 มีผู้เสียชีวิตจำนวน 34 รายต่อประชากร 100,000 รองจากสเปน (57 ราย) อิตาลี (41 ราย) อังกฤษ (50 ราย) และฝรั่งเศส (40 ราย) นอกจากนี้ จำนวนผู้ติดเชื้อของสวีเดนต่อประชากร 100,000 ก็ยังสูงติดอันดับโลก เป็นสัญญาณว่าตัวแบบสวีเดนที่เลี่ยงการกักพื้นที่อาจไม่ได้ผล (ดูบทรายงานของ Aria Bendix และเพื่อน ชื่อ Sweden”s per capita coronavirus death toll is among the highest in the world – a sign its decision to avoid a lockdown may not be working ใน businessinsider.com 15/05/2020)

ค) นายเพทย์มาร์เกิลเห็นว่า การต่อสู้กับเชื้อไวรัสไม่ต่างกับการทำสงคราม ซึ่งเป็นการยากที่จะได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง เขาย้ำว่า “ในหมอกแห่งสงครามย่อมยากที่จะเก็บข้อมูลที่ดี”

ง) ในสถานการณ์สู้รบ เขากล่าวถึงผู้ปฏิบัติงานว่า “เราต้องนำทางตัวเราเอง และพยายามทำนายให้แม่นยำที่สุด”

จ) ท้ายสุดเขาเห็นว่า “สหรัฐในขณะนี้ เราไม่ควรด่วนเลิกการปิดเมืองที่ได้กระทำอย่างกว้างขวาง” “ผมเกรงว่าโควิด-19 จะเลวร้ายกว่าไข้หวัดใหญ่ปี 1928” (ดูบทสัมภาษณ์ของ Howard Markel ใน glabor.org 20/04/2020)

ในการให้สัมภาษณ์ที่อื่น เขากล่าวสรุปความคิดและแนวทางการต่อสู้กับโรคระบาดไวรัสว่า “การระบาดในที่หนึ่งสามารถกระจายไปทั่วโลก เราต้องป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อทั้งในตัวเราและชุมชนของเรา”

และว่า “การแบ่งฝ่ายทางการเมืองจะต้องยุติลง ตอนนี้ไม่ใช่เวลาของการเล่นเกมจับตัวได้แล้ว แต่เป็นเวลาที่ผู้แทนของประชาชนจะต้องร่วมมือกันปกครอง ไม่ใช่ชี้หน้าด่ากัน”

(ดูบทความของ John Kruzel ชื่อ Doctor behind “flatten the curve” urges bipartisan response to outbreak ใน thehill.com 20/03/2020)

การเมืองเรื่องการเปิดเมืองเปิดประเทศ

เมื่อถึงเดือนพฤษภาคม 2020 สถานการณ์โควิด-19 ได้พลิกมาเป็นอีกแบบหนึ่ง นั่นคือเน้นในเรื่องการเปิดเมือง เปิดประทศ เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ-สังคมทั้งหลายฟื้นกลับคืนเป็นปกติ แม้ว่าจะเป็นความปกติแบบใหม่ ก็ยังดีกว่าปล่อยให้เมืองและประเทศเหมือนร้างผู้คน

เหตุปัจจัยให้เกิดสถานการณ์ใหม่มีสองประการใหญ่

ประการแรก เนื่องจากภาครัฐ ธุรกิจเอกชนและประชาชน ครัวเรือน สุดจะทนแบกภาระมาตรการแทรกแซงเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างเข้มงวดต่อไปได้

ในด้านรัฐบาลและธนาคารกลางชาติต่างๆ ตั้งแต่โควิด-19 ระบาด ได้ทุ่มเทเงินมหาศาลอย่างเร่งด่วนเพื่อการเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจ-สังคม ยิ่งกว่าเมื่อเกิดวิกฤตการเงินใหญ่ในปี 2008 เช่น ในสหรัฐได้มีการออกกฎหมายหลายฉบับ ใช้จ่ายเงินไปกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์แล้วก็ยังไม่พอ ถึงกลางเดือนพฤษภาคม สภาคองเกรสโดยการนำของพรรคเดโมแครตได้ผ่านกฎหมายใช้เงินอีก 3 ล้านล้านดอลลาร์ รัฐบาลไทยก็ต้องใช้เงินเพื่อการนี้เช่นกัน ต้องออกพระราชกำหนดกู้เงินกว่า 1 ล้านล้านบาทในกลางเดือนเมษายน

ทางด้านภาคธุรกิจเอกชน โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อชนชั้นนำและมหาเศรษฐีอย่างรุนแรง

ผลกระทบสำคัญคือบรรดาสินทรัพย์ทั้งหลาย ได้แก่ สินทรัพย์ทางการเงิน และสินทรัพย์ที่จับต้องได้ มีอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ที่กระจุกอยู่ในมือของชนชั้นนำและมหาเศรษฐีจำนวนน้อยนิด มีแนวโน้มจะเสื่อมค่าลงมาก

ก่อผลเสียสองด้านคือ

ด้านหนึ่ง ความมั่งคั่งของพวกเขาหดหายไปมหาศาล

อีกด้านหนึ่ง ระบบเศรษฐกิจ-สังคมและองค์กรที่เขาสร้างขึ้นและธำรงรักษาไว้ถูกสงสัยไม่ไว้วางใจ สำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กเสี่ยงต่อการล้มละลาย

ทางด้านภาคสาธารณชนคนงานลูกจ้าง ต้องเผชิญกับภาวะรายได้หดหาย หรือถูกเลิกจ้างจำนวนมาก อนาคตที่มีงานทำ มีรายได้ดีเหมือนเดิมมืดมน ต้องถูกกักพื้นที่ในที่พักอันคับแคบ ชีวิตขาดความสำราญและความสุขเล็กๆ น้อยๆ ผู้มีทรัพย์สินอยู่บ้างเสี่ยงต่อการถูกยึดบ้านยึดรถ ในเมืองใหญ่ยังเสี่ยงต่อการเป็นผู้ไร้บ้าน

เหตุผลที่ต้องการเปิดเมืองเปิดประเทศอีกอย่างหนึ่ง สืบเนื่องจากที่จีนสามารถควบคุมสถานการณ์โควิดได้โดยลำดับ ได้เริ่มเปิดเมืองตั้งแต่เดือนเมษายน ฟื้นชีวิตทางเศรษฐกิจ-สังคมขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่สหรัฐและตะวันตกไม่อาจทนงอมืองอเท้าได้อีกต่อไป

เพราะว่าการพ่ายแพ้ครั้งนี้อาจเป็นการพ่ายแพ้ครั้งสุดท้าย คาดหมายว่าสงครามการค้า และสงครามด้านอื่นระหว่างสหรัฐ-จีนจะทวีความเข้มข้นขึ้น

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงโควิด-19 กับความเหลื่อมล้ำ

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0