โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

วิกฤติจะเกิดเมื่อไหร่…ไม่รู้ ที่รู้คือ..เราต้องพร้อมรับมืออยู่เสมอ - โค้ชหนุ่ม The Money Coach

THINK TODAY

เผยแพร่ 06 พ.ย. 2562 เวลา 17.05 น. • โค้ชหนุ่ม The Money Coach

เห็นภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่หลายคนกำลังประสบปัญหา มีทั้งถูกให้ออกจากงาน ลดโอที ลดเงินเดือนและเวลาทำงาน

ในฐานะที่เคยเป็นหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการเงินปี 2540 (ต้มยำกุ้ง) และผ่านชีวิตในช่วงนั้นมาได้ด้วยดี เลยอยากหยิบแนวทางการจัดการเงินและชีวิตของตัวเองในช่วงเวลานั้นมาเล่าสู่กันฟัง เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับหลาย ๆ คนที่กำลังประสบปัญหา รวมไปถึงกลุ่มที่มีแนวโน้มจะประสบปัญหาในอนาคตด้วย

1. ใช้ชีวิตอย่างมีสติ

ในช่วงเวลาที่ทุกอย่างอึมครึมแบบนี้ การใช้จ่ายอย่างมีสติเป็นเรื่องสำคัญมาก ทั้งนี้ควรลด-ละ-เลิก การใช้จ่ายฟุ่มเฟือย รวมไปถึงการสร้างภาระทางการเงินในระยะยาว เช่น การก่อหนี้ ควรพักหรือเบาไว้ก่อนก็จะดีครับ เพราะถ้าตกงาน ไม่มีรายได้ แถมยังเป็นหนี้ด้วย อันนี้จะหนักมาก ถ้ามีหนี้อยู่แล้วก็พยายามลด อย่าสร้างเพิ่มครับ

2. วางแผนรับมือ ในวันที่ยังไม่เกิดปัญหา

วันที่ยังไม่เกิดปัญหา คือ ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการเตรียมรับมือกับปัญหา ผมแนะนำให้คุณลองเขียนงบรายรับรายจ่าย แล้วทบทวนดูว่า รายจ่ายรายการได้สามารถลดหรือเลิกได้บ้าง และพอจะมีช่องทางใดที่จะทำให้มีเงินเหลือสะสมไว้เผื่อในวันที่รายได้ขาดหายไปได้บ้าง

ทั้งนี้ อาจลองจำลองสถานการณ์ดูว่าหากเงินเดือนถูกลดลง 30% หรือหายไปทั้งหมด จะวางแผนใช้ชีวิตอย่างไรให้รอด ต้องตัดรายจ่ายใด และต้องทำอะไรเพิ่มเติม คิดไว้ตั้งแต่วันที่ชีวิตยังดี ๆ อยู่ เวลาเกิดปัญหาขึ้นมาจะได้ไม่งง ทำอะไรไม่ถูก

3. อย่านิ่งเฉยกับสัญญาณอันตราย

หากมีสัญญาณอันตรายเกี่ยวกับหน้าที่การงานและอาชีพ ต้องตื่นตัว เช่น หากเพื่อนในแผนกงานอื่น ถูกจ้างให้ออก ก็อย่ามานั่งนึกดีใจว่า ยังดีที่ไม่ใช่เรา เพราะการที่บางแผนกถูกให้ออก หรือถูกลดโอที ลดเงินเดือน หรือเวลาทำงาน นั่นเป็นสัญญาณอันตรายของเราแล้วเหมือนกัน (บางทีคนละบริษัท แต่อุตสาหกรรมเดียวกัน ก็ไม่ควรวางใจแล้ว) ถ้าเจอสัญญาณแบบนี้ เราเองก็ควรคิดหาช่องทางใหม่เผื่อไว้ได้แล้ว

4. ปรับสู่โหมดเอาชีวิตรอด หากถูกเลิกจ้างจริง ๆ

ถ้าหากโชคร้ายมาเยือนจริง ๆ อันนี้ต้องงัดแผนที่เตรียมไว้มาใช้ได้แล้ว และถึงคราวต้องลดและเลิกรายการใช้จ่ายไม่จำเป็นจริง ๆ แล้ว เหลือแค่กินอยู่พอให้รอดแต่ละวันไปก็พอ นำเงินที่มีทั้งหมดมาประเมินเลยว่าจะกินใช้ได้กี่เดือน หนี้ที่มีถ้าไม่มีจ่าย อาจต้องเจรจาหรือบางรายการอาจหยุดจ่ายชั่วคราว ขณะเดียวกันก็พยายามหางานใหม่ ยื่นใบสมัครไปให้เยอะที่สุด อย่าเกี่ยง อย่าเลือกเยอะ ทำให้ตัวเองมีรายได้กลับเขามาให้เร็วที่สุด

5. ติดตามทุกสิทธิที่พึงมี

กรณีที่มีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน อันนี้อาจทำให้เราใช้จ่ายคล่องและมีทางเลือกมากขึ้น แต่หากไม่มีเงินเก็บหรือเก็บเงินไม่ทัน ดันตกงานเสียก่อน แบบนี้ก็ต้องติดตามสิทธิทุกอย่างที่มี ทั้งสิทธิชดเชยการเลิกจ้างจากนายจ้าง และสิทธิผู้ประกันตนประกันสังคม (มีชดเชยกรณีตกงาน) ได้มากได้น้อยอย่าไปสน ติดตามเอามาไว้สำรองจัดการชีวิตในช่วงวิกฤติก่อน

6. แปลงทรัพย์สินเป็นทุน

นอกเหนือไปจากเงินสำรอง สิทธิในฐานะลูกจ้างอันพึงมี เรายังสามารถแปลงของใช้ของสะสม ที่ไม่ได้ใช้ และไม่น่าสะสมแล้ว นำมาเปลี่ยนเป็นเงินได้ หยิบออกมาขายเป็นของมือสองผ่านเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม หรือทางช่องทางจำหน่ายออนไลน์ ช่องทางไหนก็ได้ เพื่อเปลี่ยนเป็นเงินหมุนเวียน

7. พัฒนาทักษะ สร้างรายได้เสริม

อีกช่องทางหนึ่งที่อยากแนะนำ ก็คือ การสร้างรายได้ใหม่ โดยอาศัยทักษะ ความเชี่ยวชาญ หรือประสบการณ์ของเรา นำมาพัฒนาเป็นอาชีพที่ต้นทุนต่ำ เช่น เก่งถ่ายภาพ ก็รับจ้างถ่ายภาพ หรือขายภาพถ่ายในออนไลน์ ใครเคยเรียนเก่ง ลองเป็นติวเตอร์สอนพิเศษเด็ก ๆ ใครจบบัญชี ก็อาจรับจ้างทำบัญชี ฯลฯ

มีหลายคนที่ผมรู้จัก สร้างช่องทางรายได้ใหม่ในช่วงวิกฤต สุดท้ายไม่ได้กลับไปทำงานประจำอีกเลย เพราะรายได้จากช่องทางใหม่พอเลี้ยงตัว และบางคนได้มากกว่าที่เคยได้จากงานประจำก็มี

ทั้งหมดนี้ คือ แนวทางที่ผมเคยใช้วางแผนการเงินตัวเองในช่วงพาชีวิตผ่านพ้นช่วงวิกฤติปี 2540 ก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับท่านที่กำลังกังวลกับอนาคต ทั้งเรื่องของรายได้และหน้าที่การงานกันทุกคนนะครับ

สิ่งที่อยากจะบอกคือ แม้เราจะไม่สามารถกำหนดหรือกะเกณฑ์อะไรในชีวิตได้ทั้งหมด แต่เราเรียนรู้ที่จะหาทางรับมือกับมันตามสภาพของเราได้ และหากวันหนึ่งโชคร้ายมาเยือน ก็ขอให้มีสติกับชีวิต และคิดไว้เสมอว่า โชคร้ายผ่านมาได้ ก็ผ่านไปได้ ไม่ต่างอะไรกับเรื่องดี ๆ ในชีวิต ที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไปเช่นกัน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0