โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

วาง 12 มาตรการเข้ม ลดฝุ่นพิษเมืองกรุง

Thairath - ไทยรัฐออนไลน์

อัพเดต 17 ม.ค. 2563 เวลา 16.44 น. • เผยแพร่ 17 ม.ค. 2563 เวลา 22.35 น.
ภาพไฮไลต์
ภาพไฮไลต์

วิกฤติแล้ง ชาวนา จ.นครสวรรค์ ระทมต้นข้าวยืนต้นตายกว่า 500 ไร่ น้ำทะเลหนุนสูงทะลักแม่น้ำปราจีนบุรีและแม่น้ำบางปะกง เกษตรกรเลี้ยงปลาเร่งจับปลาขายหวั่นขาดทุน ส่วนนายกฯเร่งรัดโครงการแก้ปัญหาแล้ง จ.ลำปาง หมอกควันสีแดงสลัว พ่อเมืองยอมรับแก้ยาก ชาวบ้านเร่งเผาก่อนประกาศงดเผา ขณะที่อธิบดีกรมควบคุมมลพิษเตรียมเสนอ ครม. 12 มาตรการลดฝุ่น

หลายฝ่ายเร่งระดมช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งอย่างเร่งด่วน โดยเมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 17 ม.ค.นายปัญญา วงศ์ศรีแก้ว รอง ผวจ.เลย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกัน หรือยับยั้งภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินจังหวัดเลย ครั้งที่ 1/2563 ณ ห้องประชุมสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.เลย ภายหลังการประชุม นายปัญญากล่าวว่า การประชุมเป็นมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งปี 2563 จ.เลย ประสบภัยแล้งรุนแรงเป็นบริเวณกว้าง ประกาศเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ขออนุมัติปรับลดโครงการจัดทำฝายกระสอบทรายปิดกั้นลำน้ำชั่วคราว 2 อำเภอ เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนไม่เหมาะสม ประกอบด้วยโครงการจัดทำฝายกระสอบทรายปิดกั้นลำน้ำชั่วคราว อ.ปากชม จำนวน 17 โครงการ งบประมาณ 209,250 บาท และโครงการจัดทำฝายกระสอบทรายปิดกั้นลำน้ำชั่วคราว อ.ผาขาว จำนวน 6 โครงการ งบประมาณ 163,100 บาท ประชาชนได้รับประโยชน์ 2,800 ครัวเรือน 12,300 คน

จ.นครสวรรค์ ชาวนา ต.เนินศาลา และ ต.เนินกว้าว อ.โกรกพระ อยู่ในพื้นที่ต้องใช้น้ำจากเขื่อนวังร่มเกล้า จ.อุทัยธานี ขณะนี้ได้รับผลกระทบจากการใช้น้ำท้ายเขื่อนแห้งขอด ไม่มีน้ำไหลลงคลองชลประทานไปยังนาข้าวทำให้ต้นข้าวแห้งไม่มีน้ำเลี้ยงยืนต้นตายกว่า 500 ไร่ ชาวนาต้องยอมขาดทุน

นายประดับ กลัดเข็มเพชร รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พร้อมคณะลงพื้นที่อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา ต.แก่งดินสอ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี มีนายวิเชียร เหลืองอ่อน ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานฤบดินทรจินดา บรรยายสรุปถึงการบริหารจัดการน้ำว่า อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา มีความจุ 295 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) มีแผนการระบายน้ำในฤดูแล้งปี 62/63 ตั้งแต่เดือน พ.ย.2562 ถึง เม.ย.2563 ระยะเวลา 6 เดือน แผนระบายน้ำอยู่ที่ 217 ล้าน ลบ.ม. เพื่อควบคุมความเค็มในแม่น้ำปราจีนบุรี ขณะนี้ระบายน้ำไปแล้ว 68 ล้าน ลบ.ม. เป็นผลทำให้ความเค็มในแม่น้ำปราจีนบุรีบรรเทาลง มีเป้าในการควบคุมความเค็มบริเวณ อ.เมืองปราจีนบุรี ไม่ให้เกิน 1 กรัมต่อลิตร ภายในวันที่ 30 เม.ย.นี้

ด้านนายประดับ กลัดเข็มเพชร เปิดเผยว่า ลุ่มน้ำปราจีนบุรีมีเนื้อที่ 12 ล้านไร่ หรือ 2 หมื่นตารางกิโลเมตร มีศักยภาพที่เป็นน้ำต้นทุนถึง 9,000 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี ขณะที่ความต้องการใช้น้ำในการอุปโภคบริโภค การเกษตรและอุตสาหกรรม 3,000 ล้าน ลบ.ม. เมื่อรวมแหล่งน้ำที่มีในพื้นที่ประมาณ 1,300 ล้าน ลบ.ม. นั่นหมายถึงในพื้นที่ลุ่มน้ำบางปะกงถ้าจะให้มีน้ำพอใช้ในพื้นที่นี้แล้ว ต้องหาน้ำอีกประมาณ 2,000 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำปราจีน เป็นพื้นที่ที่มีความลาดชันสูง เมื่อฝนตกน้ำจะไหลหลากลงไปรวมอยู่ด้านล่าง อ.ประจันตคาม และ อ.กบินทร์บุรี น้ำไปท่วมอยู่บริเวณนั้น และที่บริเวณตอนกลางเป็นรอยต่อของแม่น้ำปราจีนบุรี รวมกับแม่น้ำนครนายกเป็นแม่น้ำบางปะกง จะเกิดน้ำท่วมบริเวณนั้น ส่วนช่วงท้ายน้ำจะมีการรุกตัวของน้ำทะเลเข้ามากว่า 100 กม. รวมทั้งบริเวณปากน้ำบางปะกง จะมีปัญหาเรื่องคุณภาพน้ำที่เป็นน้ำเสียด้วย ขณะนี้เร่งหาทางแก้ไขไม่ให้น้ำเค็มรุกมาถึง จ.ปราจีนบุรี เป็นระยะทางกว่า 100 กม.

จ.ฉะเชิงเทรา น้ำทะเลหนุนสูงทะลักเข้าสู่แม่น้ำบางปะกงจนดันไปถึง จ.ปราจีนบุรี ทำให้ประตูระบายน้ำในพื้นที่ อ.บางปะกง และภายในจังหวัดทั้งหมด ไม่สามารถเปิดประตูระบายน้ำ เพื่อรับน้ำเข้าสู่คลองสาขาได้ ส่งผลทำให้ไม่มีน้ำทำการเกษตร และเกษตรกรที่เลี้ยงปลาต้องรีบจับปลาขาย ด้านนายบุญเหลือ โทนลูกจันทร์ อายุ 67 ปี เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาสลิด เปิดเผยว่า ปีนี้จะต้องเร่งช่วยกันจับปลาสลิด และปลาเบญจพรรณที่เลี้ยงไว้ หลังสภาพอากาศเริ่มแปรปรวน เกรงว่าช่วยฤดูแล้งไม่มีน้ำจะเติมเข้าบ่อปลา เพื่อหมุนเวียนน้ำเพิ่มออกซิเจนภายในบ่อ อีกทั้งน้ำในคลองถูกน้ำทะเลหนุน ไม่สามารถสูบน้ำเข้ามาใช้ได้และเริ่มเน่าเสีย หากปล่อยเลี้ยงปลาต่อจะทำให้ขาดทุน

นายสมชาย ตันฑุลวาณิช ผู้จัดการประปาส่วนภูมิภาค สาขาบางปะกง ออกประกาศเตือนให้กับ ผู้นำชุมชน ท้องถิ่น รวมถึงสื่อสังคมออนไลน์ ให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบในเรื่องการประปาส่วน ภูมิภาค สาขาบางปะกง ปรับลดแรงดันการจ่ายน้ำ ในพื้นที่ อ.บางปะกง เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำดิบที่จะนำมาผลิตน้ำประปา มีปริมาณน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง

นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล (ทบ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า ตามที่มีปรากฏเป็นข่าวการขอใช้งบกลางปี 2563 บ่อบาดาลมีราคาแพงนั้น กรมทรัพยากรน้ำบาดาลขอชี้แจงว่า ในการอนุมัติงบประมาณจำนวน 3,079 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนด้านน้ำอุปโภคบริโภค เป็นการจัดสรร ให้กับหน่วยงานรวมทั้งสิ้น 6 หน่วยงาน ได้แก่

1.การประปานครหลวง 2.การประปาส่วนภูมิภาค 3.หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา 4.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 5.กองทัพบก 6.กรมทรัพยากรน้ำบาดาล รวมงบประมาณ 3,079 ล้านบาท สำหรับการดำเนินการขุดเจาะบ่อบาดาลที่ดำเนินการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ประกอบด้วย 3 หน่วยงาน คือ 1.หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา 2.กองทัพบก 3.กรมทรัพยากรน้ำบาดาล มีจำนวนบ่อรวมกันทั้งสิ้น 1,103 บ่อ งบประมาณที่ได้รับ 1,301 ล้านบาท เป็นการขุดบ่อบาดาลที่มีความลึกมากกว่า 100 เมตร และในบางบ่อมีความลึกมากกว่า 350 เมตร แต่ละบ่อผลิตน้ำเดือนละ 53,760 ลบ.ม. มีขนาดบ่อบาดาลตั้งแต่ขนาด 6 นิ้ว 8 นิ้ว และ 10 นิ้ว สำหรับงบประมาณ 3,079 ล้าน บาทนั้น ครอบคลุมโครงการสำหรับการแก้ปัญหาภัยแล้ง จำนวน 2,041 โครงการ ดังนั้นงบประมาณที่ใช้ขุดเจาะบ่อบาดาลไม่ใช่ราคาบ่อละ 6 ล้านบาท

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีสถานการณ์ภัยแล้งว่า รัฐบาลทำโครงสร้างเรื่องนี้มานานแล้ว บางส่วนสามารถทำได้ บางส่วนติดขัดและติดปัญหาอีไอเอ สั่งให้นำโครงการทั้งหมดในปี 58-62 ลงโซเชียลและเว็บไซต์ไทยคู่ฟ้า ต่อไปจะมีโครงการปี 63-65 และปี 65-70 ให้ดูว่า จะขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่ได้อย่างไรบ้าง เช่น การปันน้ำจากแม่น้ำโขง แม่น้ำชี แม่น้ำมูล เส้นทางน้ำก่อนลงสาละวิน ทางระบายน้ำภาคกลาง จ.พระนครศรีอยุธยา ทางระบายน้ำภาคใต้ จ.นครศรีธรรมราช ถ้าไม่มีรัฐบาลนี้โครงการจะไม่เกิด เช่น เขื่อนชัยภูมิ เมื่อ 30 ปีทีี่ผ่านมาทำไม่ได้ แต่เพิ่งจะมาทำได้ในรัฐบาลชุดนี้

นอกจากภัยแล้งคุกคามแล้ว ผลกระทบค่าฝุ่น PM2.5 พุ่งสูงขึ้นหลายจังหวัด ที่ จ.ลำปาง ปัญหาเรื่องฝุ่นยังน่าเป็นห่วง ชาวบ้านเริ่มหวั่นเรื่องสุขภาพ โดยเฉพาะในพื้นที่สีแดงในเขตดอยพระบาท ต.พระบาท อ.เมือง เป็นภูเขาใจกลางเมืองมีค่า PM 2.5 สูงเกินมาตรฐาน ที่สถานีอุตุนิยมวิทยาลำปาง ตรวจพบค่า PM 2.5 เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 17 ม.ค.อยู่ที่ 59 มคก.ต่อ ลบ.ม. โดยเฉพาะดอยพระบาทจะมองไม่เห็นเลย เพราะปกคลุมด้วยหมอกควันคล้ายสีแดงสลัว ขณะที่นายอรรถพร สิงหวิชัย ผวจ.นครสวรรค์ เป็นประธานการประชุมเพื่อหาแนวทางป้องกันค่าฝุ่นละออง PM 2.5 มีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องรวม 24 หน่วยงานเข้าร่วมประชุม จากนั้นนายอรรถพรกล่าวว่า กำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและทุกพื้นที่ใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเด็ดขาด และขอให้เจ้าหน้าที่ลงสำรวจตรวจสอบพื้นที่เป็นประจำทุกวัน

ที่หน้าอาคารสำนักงาน มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ในฐานะนายกมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ พล.ร.อ.พงษ์เทพ หนูเทพ องคมนตรี ในฐานะประธานกรรมการบริหารมูลนิธิ ตรวจสอบการสาธิตการทดสอบเครื่องบำบัดอากาศที่มีมลพิษและฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 ต้นแบบ จำนวน 4 เครื่อง ในพื้นที่เปิดเป็นครั้งแรก เพื่อเตรียมเผยแพร่ให้หน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน ตลอดจนประชาชนทั่วไป สามารถนำไปต่อยอดในการจัดสร้าง

นายพลากรกล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัวทรงมีความห่วงใยในปัญหาสุขภาพของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ทรงโปรดเกล้าฯให้มูลนิธิฯคิดหาแนวทางช่วยเหลือควบคู่กับการแก้ปัญหาของรัฐบาล เป็นที่มาในการดำเนินการจัดสร้างเครื่องบำบัดอากาศที่มีมลพิษและฝุ่นขนาดเล็ก ใช้อุปกรณ์ที่มีอยู่ในประเทศ และผลิตโดยช่างไทย ใช้งบประมาณไม่เกิน 3 แสนบาทต่อเครื่อง หากสามารถกระจายเครื่องบำบัดอากาศนี้ไปทั่วประเทศ จะสามารถช่วยเหลือประชาชนได้

ด้านนายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า 12 มาตรการแก้ปัญหาฝุ่นละอองจะเสนอ ครม. ประกอบด้วย 1.ขยายเขตพื้นที่จำกัดรถบรรทุกเข้า กทม.จากวงแหวนรัชดาภิเษกเป็นวงแหวนกาญจนาภิเษก 2.ห้ามรถบรรทุกเข้าพื้นที่ชั้นในของ กทม.ในวันคี่ เวลา 06.00-21.00 น.ในเดือน ม.ค.-ก.พ.63 3.ตรวจวัดควันดำรถโดยสาร (ไม่ประจำทาง) ทุกคัน เพิ่มชุดตรวจเป็น 50 ชุด ครบทั้ง 50 เขต 4.กรมการขนส่งทางบกปฏิบัติการร่วมกับ บก.จร.ตรวจจับรถควันดำรถโดยสารและรถบรรทุก 5.ตรวจสอบโรงงานไม่เป็นไปตามมาตรฐานให้สั่งปรับปรุงแก้ไขหรือสั่งหยุดการประกอบกิจการ

6.กำกับให้กิจกรรมการก่อสร้างรถไฟฟ้า และก่อสร้างอื่นๆเป็นไปตามข้อกำหนดไม่ทำให้เกิดฝุ่นและปัญหาจราจร 7.ไม่ให้มีการเผาในที่โล่งใน กทม.และปริมณฑล และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับผู้ที่เผา 8.จังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาศัยอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมายควบคุมการเผาในที่โล่ง 9.ลดราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีปริมาณกำมะถันไม่เกิน 10 PPM 10.ขอความร่วมมือลดการ ใช้รถยนต์ส่วนตัวมาทำงาน และรถส่วนราชการต้องผ่านมาตรฐานควันดำทุกคัน 11.ให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และสถานศึกษาสนับสนุนการจัดโครงการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องสำหรับรถยนต์ดีเซลที่มีอายุเกิน 5 ปี และ 12.สร้างการรับรู้และเข้าใจแก่ประชาชน เกี่ยวกับปัญหาฝุ่น

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง

ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : www.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0