โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

วางแผนการเงินอย่างไร...ให้มั่นคง

Finnomena

อัพเดต 08 ม.ค. 2563 เวลา 08.22 น. • เผยแพร่ 20 มิ.ย. 2562 เวลา 03.17 น. • AddMoney

หากพูดถึง “ความมั่นคงทางการเงิน”  คือ สิ่งที่หลาย ๆ คนปรารถนา  เพื่อชีวิตที่ดีทั้งในปัจจุบันและอนาคต  เราต่างก็อยากจะมีงานหรือธุรกิจที่ทำมีความมั่นคง  มีรายได้ที่ดี  และสามารถต่อยอดรายได้ที่มีให้เติบโตได้ด้วยการลงทุนหรือการทำธุรกิจที่สามารถสร้าง Passive Income ให้กับเราได้ไปตลอด  ซึ่งวันนี้เรามีแนวทางในการวางแผนการเงิน…ให้มีความมั่นคงกันค่ะ

การสร้างความมั่นคงทางการเงิน คือ การวางแผนการใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพ และ วางแผนเพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้  ก่อนอื่น  เรามาเช็คสถานะทางการเงินของเรา ด้วยการตั้งคำถามเหล่านี้กับตัวเองดูนะคะ ว่า ณ ปัจจุบันเรามีสถานะการเงินเป็นอย่างไร มีความมั่นคงทางการเงินแล้วหรือไม่

วางแผนการเงินอย่างไร…ให้มั่นคง
วางแผนการเงินอย่างไร…ให้มั่นคง

1. วันนี้รายได้ / อาชีพ / ธุรกิจ ที่คุณทำมีความมั่นคง  ใช่ หรือ ไม่ 2. นอกจากรายได้หลัก  คุณมีรายได้จากแหล่งอื่นอีก ใช่ หรือ ไม่ 3. ปัจจุบันคุณมีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว ใช่ หรือ ไม่ 4. ทุกวันนี้คุณมีการออมหรือลงทุน  10 % - 30% ของรายได้ ใช่ หรือ ไม่ 5. วันนี้คุณมีเงินสำรองไว้สำหรับครอบครัวขั้นต่ำ  3 – 6  เท่าของค่าใช้จ่าย ใช่ หรือ ไม่ 6. หนี้สินที่ผ่อนชำระในปัจจุบันของคุณ  น้อยกว่า 35% ของรายได้ต่อเดือน ใช่ หรือ ไม่ 7. หากครอบครัวของคุณต้องสูญเสียผู้ที่มีรายได้หลัก ครอบครัวคุณได้มีแหล่งเงินได้  หรือทรัพย์สิน  เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิตต่อไปได้  ใช่ หรือ ไม่ 8. หากคนในครอบครัวเกิดเจ็บป่วย หรือประสบอุบัติเหตุ ครอบครัวของคุณมีสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลที่เพียงพอ หรือมีเงินสำรองสำหรับค่าใช้จ่ายเหล่านี้  ใช่ หรือ ไม่ 9. หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน  กรณีประสบอุบัติเหตุ  อัคคีภัย  ทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สิน คุณมีประกันภัยเพื่อคุ้มครองทรัพย์ หรือมีเงินสำรองเพียงพอ สำหรับค่าใช้จ่ายเหล่านี้ ใช่ หรือ ไม่ 10. ทุกวันนี้ คุณได้เตรียมทุนการศึกษาบุตร หรือวางแผนเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการเล่าเรียนบุตรแล้ว  ใช่ หรือ ไม่

จากคำถาม  10 ข้อข้างต้นนี้  คำตอบส่วนใหญ่ของคุณคืออะไรคะ  สำหรับท่านที่คำตอบส่วนใหญ่มากกว่า 7  ข้อขึ้นไป  ตอบว่า "ใช่"  ถือว่าความมั่นคงทางการเงินอยู่ในเกณฑ์ที่ดี  อาจจะมีบางข้อ  ที่ยังไม่ได้วางแผนแต่อย่างไรแล้ว  ก็ไม่ควรประมาท  แนะนำวางแผนเพิ่มเติมในส่วนที่ยังไม่ได้วางแผนกันด้วยนะคะ

และหากคำตอบส่วนใหญ่มากกว่า 7  ข้อขึ้นไป  ตอบว่า  "ไม่"  นั่นหมายถึง  คุณต้องรีบวางแผนทางการเงินกันแล้วนะคะ  เพราะสถานะทางการเงินถือว่า “ไม่มีความมั่นคง"   อาการค่อนข้างน่าเป็นห่วงเลยทีเดียว   แนะนำ   ให้ท่านเรียงความสำคัญตามลำดับก่อน หลัง   วางแผนเรื่องที่มีความสำคัญที่สุดก่อนเป็นอันดับแรกนะคะ

การสร้างความมั่นคงทางการเงินนั้น  หากท่านไม่รู้จะเริ่มต้นจากตรงไหน  เรามาดูแนวทางการวางแผนกันเลยค่ะ

*1. วิเคราะห์แหล่งเงินได้  *

รายได้หลักนั้น  สามารถสร้างรายได้ให้กับเราได้นานแค่ไหน  อนาคตเทคโนโลยีสามารถเข้ามาเปลี่ยนหรือทำลาย อาชีพ หรือธุรกิจของเราได้หรือไม่  มีแหล่งได้อื่นที่เป็นรายได้พิเศษ หรืออีกช่องทางหรือไม่ (การมีรายได้ทางเดียว เสี่ยงที่สุด )

*2. ตรวจเช็กสุขภาพประจำปี  *

ดูแลสุขภาพ  ออกกำลังกายสม่ำเสมอ  เพราะสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญ  หากสุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง มีโรคประจำตัว  ก็จะมีผลกระทบต่อการทำงาน มีผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายในครอบครัว

*3. เริ่มต้นด้วยการเขียน รายรับ รายจ่าย ทั้งหมดที่มี *

แยก “รายจ่ายคงที่" ซึ่งรายจ่ายคงที่ไม่ควรเกิน 35% ของรายได้ เช่น  ค่าบ้าน  ค่ารถ

“รายจ่ายผันแปร”  เช่น  ค่ากิน  ค่าน้ำค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าเดินทาง

“รายจ่ายเพื่อการออมหรือลงทุน”  เช่น เงินฝากประจำ  กองทุนรวม ประกันออมทรัพย์

แล้วนำรายรับ – รายจ่าย  =  คงเหลือ ?  ระวังอย่าให้ติดลบ

*4. บันทึกรายรับ รายจ่ายประจำวัน  *

ตั้งเป้าหมายการใช้จ่าย เช่น ค่ากิน ในแต่ละวัน ว่าไม่เกินเท่าไหร่   และมีรายจ่ายตัวไหนที่สามารถลด หรือประหยัดได้

5. สำรวจทรัพย์สิน  หนี้สิน  ทั้งหมดที่มี

สินทรัพย์ แบ่งเป็น 3 ประเภท

-สินทรัพย์สภาพคล่อง (เพื่อเป็นเงินสำรองหมุนเวียน)  เช่น  เงินสด  เงินฝากธนาคาร -สินทรัพย์ส่วนตัว (ทรัพย์สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้)  เช่น  บ้านที่อยู่อาศัย  รถ เครื่องประดับ -สินทรัพย์เพื่อการลงทุน (ทรัพย์สินที่ก่อให้เกิดรายได้) เช่น ที่ดิน กองทุนรวม  หุ้น ทองคำ

ในส่วนของสินทรัพย์เพื่อการลงทุน ควรมี

หนี้สิน แบ่งเป็น 2  ประเภท

-หนี้สินระยะสั้น ( ไม่เกิน 1 – 3  ปี )  เช่น  หนี้บัตรเครดิต  หนี้ผ่อนสินค้า -หนี้สินระยะยาว ( มากกว่า 3  ปี )  เช่น  ผ่อนบ้าน  ผ่อนรถ

*ทรัพย์สิน /  หนี้สิน  = ?

ประเมินทรัพย์สิน และ หนี้สิน  อย่าให้มีหนี้สินเกิน 50% ของทรัพย์สินนะคะ

6. สำรวจกรมธรรม์ประกันภัยและประกันชีวิต ที่มีอยู่

สรุปผลประโยชน์แต่ละกรมธรรม์ที่มี สัญญาครบหรือสิ้นสุดเมื่อไหร่ คุ้มครองและครอบคลุมอะไรบ้างในแต่ละกรมธรรม์

ด้านประกันทรัพย์สิน  เช่น  ประกันอัคคีภัยบ้านที่อยู่อาศัย   ประกันภัยรถ

ด้านประกันชีวิต  เช่น วงเงินประกันคุ้มครองมีเท่าไหร่  เงินออม / ทุนประกันที่เตรียมไว้ - ภาระหนี้สิน ค่าใช้จ่ายสำหรับครอบครัว ทุนการศึกษาบุตร เป็นต้น  =  ?

ประกันสุขภาพแผนที่ทำ  กับ ค่ารักษาพยาบาล ณ ปัจจุบัน วงเงินเพียงพอหรือไม่ เพื่อวางแผนเพิ่มเติมในส่วนที่ยังไม่ครอบคลุม

จากแนวทางปฏิบัติทั้ง  6  ข้อ นี้  คงพอเป็นแนวทางในการสร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับทุกท่านได้นะคะ  การวางแผนการเงินไม่ใช่เรื่องยาก  แต่การลงมือทำต่างหากที่ยากกว่า  ไม่ว่าสถานะทางการเงินของคุณ ณ ปัจจุบันจะเป็นอย่างไร  ก็สามารถสร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับตนเองและครอบครัวได้  หากตั้งใจที่วางแผน พร้อมลงมือที่จะปฏิบัติ  และหาความรู้ทางด้านการเงินอยู่เสมอ  คุณก็สามารถที่จะมีความมั่นคงทางการเงินได้เช่นกันค่ะ

By Thidarat Keereeta, Finance Coach. Add Money.

ที่มาบทความ: http://www.add-money.net/th/detail.php?id=190

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0