โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ลุงตู่ผุดไอเดียย้ายเมืองหลวง แล้วทำไม ร.1 ย้ายกรุงธนบุรี มากรุงเทพฯ

Rabbit Today

อัพเดต 19 ก.ย 2562 เวลา 11.22 น. • เผยแพร่ 19 ก.ย 2562 เวลา 11.22 น. • สุชา
ลุงตู่ผุดไอเดียย้ายเมืองหลวง

เมื่อวันพุธ (18 ก.ย. 62) ที่ผ่านมา หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผุดไอเดีย ‘ย้ายเมืองหลวง’ ขึ้นในงานเปิดประชุมประจำปีสภาพัฒน์ ที่ห้องแกรนด์ ไดมอนด์ บอลรูม อาคารอิมแพค ฟอรัม เมืองทองธานี โดยกล่าวตอนหนึ่งระหว่างเป็นประธานเปิดการประชุมประจำปี 2562 ว่า…

“ในกรุงเทพฯ สถานที่ต่างๆ ยังอยู่ในที่เดิม ทำอย่างไรให้ขยายไปรอบนอกบ้าง จะย้ายเมืองหลวงอย่างเขาไหม ก็ต้องไปคิดมา จะย้ายไปที่ไหน ใช้งบประมาณอย่างไร หรือจะขยายรอบกรุงเทพฯ ให้กว้างขึ้น จะได้เข้าพื้นที่ใจกลางเมืองให้น้อยลง เพราะวันนี้การจราจรมันติด เพราะอะไรมีสาเหตุหมด ที่สำคัญคนใจร้อน ระบบไม่พร้อม เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรลงมาแก้ปัญหาก็โดนด่าว่ารถติดมากกว่าเดิม ทำให้ไม่มีใครอยากทำงาน รัฐต้องแก้ปัญหาตรงนี้ วางระยะเวลาให้ถูกว่ากรุงเทพฯ ควรเป็นอย่างไร รัฐบาลก่อนไม่เคยทำได้เพราะเกิดความขัดแย้ง ประชาชนไม่ยอม ดังนั้น การสร้างความรับรู้กับประชาชนจึงจำเป็นให้เกิดความพอใจ 

“วันนี้เราจะต้องหากลุ่มเป้าหมายในการพัฒนาให้เจอว่าประชาชนต้องการอะไร ต้องตัดเสื้อเฉพาะตัวให้เขา มีปัญหาตรงไหนแก้ตรงนั้น จะได้เป็นกลุ่มที่น้อยลง”

นี่ไม่ใช่ไอเดียการย้ายเมืองหลวงออกจากกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก ที่ผ่านมาอดีตนายกฯ แซบๆ แสบๆ (แต่ท่านจะเป็นคนดีหรือไม่ก็แล้วแต่วิจารณญาณของแต่ละคน) เคยคิดย้ายกรุงเทพฯ มาแล้ว อาทิ จอมพล ป. ก็คิดจะย้ายไปอยู่เพชรบูรณ์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พล.อ.ชวลิต ก็คิดย้ายไปสนามชัยเขต ฉะเชิงเทรา

พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ก็คิดย้ายไปนครนายก หนีปัญหาน้ำท่วมและความแออัด แถมยังสามารถออกแบบเมืองหลวงตามใจได้อีกต่างหาก แต่สิ่งที่สำคัญสุดน่าจะเป็นชื่อที่มีคำว่า 'นายก' อยู่ในจังหวัด มันช่างบ่งบอกสถานภาพของผู้นำในขณะนั้นได้ดีที่สุด แต่จนแล้วจนรอดก็ย้ายไม่ได้สักที  

จากประวัติศาสตร์ทางความคิดนี้เอง จึงสะท้อนว่าเอาเข้าจริงแล้วการจะย้ายเมืองหลวงคงไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายๆ เพราะแม้แต่อดีตผู้นำที่มีอำนาจอย่างเต็มเปี่ยมเคยคิดเคยฝันยังทำไม่สำเร็จ และอีกเรื่องที่หลายคนสงสัยว่า ตกลงแล้วคำว่า 'ย้ายเมืองหลวง' แท้ที่จริงแล้วคืออะไรกันแน่ เพราะถ้าบอกว่าย้ายศูนย์กลางทางราชการไปอยู่ในต่างจังหวัดก็ดูกระไรอยู่ เพราะที่ผ่านมาก็เคยมีความพยายามดันให้ทั้งรัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล ไล่จนถึงกระทรวง ทบวง กรม ออกสัญจรไปอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ แต่ก็ไม่เห็นมีใครบอกว่า นั่นคือการย้ายเมืองหลวงสักคนเดียว 

กรุงเทพมหานคร ‘เอกนคร’ ที่เราภาคภูมิใจ

ย้อนไปสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ขึ้นเสวยราชย์เป็นเป็นพระเจ้าแผ่นดินไทยในปี พ.ศ.2325 ได้ทรงทำพิธีตั้งเสาหลักเมืองตามประเพณี เสาหลักเมืองได้สร้างเป็นศาลเทพารักษ์เรียกกันสามัญว่า ‘ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง’ โดยมีรับสั่งให้ย้ายเมืองหลวงมาอยู่กรุงเทพฯ ซึ่งกรุงเทพฯ ณ ตอนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของกรุงธนบุรี อยู่ฟากตะวันออก เรียกเมืองบางกอก มีพวกจีนอาศัยอยู่มาก เมื่อย้ายมาอยู่ฝั่งตะวันออกแล้วได้ทรงสร้างเป็นเมืองหลวงขึ้น เรียกว่า ‘กรุงเทพมหานครบวรรัตนโกสินทร์’ ต่อมาในรัชกาลที่ 4 จึงทรงเปลี่ยนเป็น ‘กรุงเทพพระมหานครอมรรัตนโกสินทร์’ 

ย้อนกลับไปถึงปัจจัยการย้ายเมืองหลวงในโบราณกาล นั้นมีอยู่ไม่กี่เหตุผล ตัวอย่างเช่น เกิดโรคระบาด ถูกข้าศึกโจมตีทำลายจนแทบจำไม่ได้ ส่วนเหตุที่ย้ายจากกรุงธนบุรี มากรุงเทพฯ หลังพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงปราบจลาจลภายในกรุงธนบุรี และสร้างความมั่นคงภายในประเทศแล้ว พระองค์ทรงตัดสินพระทัยย้ายราชธานีจากกรุงธนบุรีซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันตกมายังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องด้วยสาเหตุหลายประการ 

  • พระราชวังเดิมของกรุงธนบุรีคับแคบ มีวัดขนาบอยู่ทั้ง 2 ด้าน คือ วัดแจ้ง (วัดอรุณราชวราราม) และวัดท้ายตลาด (วัดโมลีโลกยาราม) ทำให้ไม่สามารถขยายอาณาเขตของพระราชวังให้กว้างขวางขึ้นได้
  • พระองค์ไม่ทรงเห็นด้วยที่จะให้พระนครแบ่งออกเป็น 2 ส่วน โดยมีแม่น้ำเจ้าพระยาผ่ากลาง เป็นเสมือนเมืองอกแตก เพราะหากข้าศึกยกทัพเข้ามาตามลำแม่น้ำ ก็สามารถบุกตีใจกลางเมืองหลวงได้ ทำให้ยากแก่การเคลื่อนพลจากฝั่งหนึ่งไปยังอีกฝั่งหนึ่ง ซึ่งเป็นการยากลำบากมาก ดังนั้น พระองค์จึงย้ายพระนครมาอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาเพียงแห่งเดียว โดยมีแม่น้ำเป็นคูเมืองทางด้านตะวันตกและใต้ ส่วนทางด้านตะวันออกและทางด้านเหนือโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองขึ้นเพื่อเป็นคูเมืองป้องกันพระนคร
  • พื้นที่ทางฝั่งตะวันออกเป็นที่ราบลุ่ม สามารถขยายเมืองให้กว้างออกไปได้เรื่อยๆ เพราะส่วนทางฝั่งตะวันออกของพื้นที่เป็นแหลม โดยมีแม่น้ำเป็นกำแพงกั้นอยู่เกือบครึ่งเมือง
  • ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่เป็นท้องคุ้ง น้ำกัดเซาะตลิ่งพังทลายอยู่เสมอ จึงไม่เหมาะแก่การสร้างอาคารหรือถาวรวัตถุใดๆ ไว้ริมฝั่งแม่น้ำ

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงให้สร้างเมืองใหม่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่บริเวณหัวโค้งแม่น้ำเจ้าพระยา คือ บริเวณพระบรมมหาราชวังในปัจจุบันและพระราชทานนามเมืองใหม่นี้ว่า ‘กรุงเทพมหานครบวรรัตนโกสินทร์ มหินทราอยุธยามหาดิลก ภพนพรัตน์ราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์ มหาสถานอมรพิมานอวตารสถิต สักกทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์’ ต่อมาในรัชกาลที่ 3 ทรงเปลี่ยนจากคำว่า ‘บวรรัตนโกสินทร์’ เป็น ‘อมรรัตนโกสินทร์’

สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าทรงเป็นผู้สามารถ ได้ทรงแก้ปัญหาต่างๆ คือ พอเสวยราชย์ขึ้นครองก็ต้องรีบสร้างเมือง ทรงใช้เวลาสร้างพระนครอยู่ 3 ปี จึงสำเร็จใน พ.ศ. 2328 พอสมโภชพระนครแล้ว ในปีนั้นเองพม่าก็ยกกองทัพใหญ่มาประชิดเมือง ก็ต้องออกศึกสู้รบและได้รับชัยชนะ

ดังนั้นแล้ว กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของคนไทย จึงเป็นเมืองที่คนไทยความภาคภูมิใจในฐานะที่เป็นเมืองหลวงชื่อยาวที่สุดในโลกแล้ว และยังมีลักษณะเฉพาะที่หลายๆ ประเทศไม่มี 

คลิกไปอ่านบทความที่ Rabbit Today เคยนำเสนอเป็นสกู๊ปประจำฉบับได้ที่นี่ คลิก

ผศ.ดร.อรทัย ก๊กผล ผู้อำนวยการวิทยาลัยพัฒนาการปกครองท้องถิ่น สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า กรุงเทพฯ ถือเป็นเมืองหลวงอย่างสมบูรณ์แบบ หรือ Primate City คือเป็นเมืองเอกนคร หรือจะเรียกว่า เป็นเมืองหลวงที่ปกติศักดิ์ศรีก็ใหญ่โตอยู่แล้ว แต่ยังเพิ่มความใหญ่ในฐานะศูนย์กลางที่ธุรกิจและการคมนาคมอีกต่างหาก ซึ่งภาพที่เกิดขึ้นนี้ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้นที่เป็น แต่ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างก็เป็น แบบนี้เหมือนกันหมด

แต่นั่นไม่ใช่การกำหนดว่า สิ่งนั้นจะเป็นเมืองหลวงหรือไม่ เพราะเอาเข้าจริงแล้ว การจะเป็นเมืองหลวงนั้นมีปัจจัยอยู่เพียงข้อเดียวเท่านั้น ก็คือ เมืองนั้นเป็นศูนย์กลางของอำนาจในการปกครองประเทศหรือไม่ ซึ่งอำนาจที่ว่านี้ก็คืออำนาจอธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ เพราะฉะนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกที่หากเมืองหลวงตั้งอยู่ไหน ที่ทำงานของส่วนราชการต่างๆ ก็มักจะไปอยู่ที่นั่นด้วย 

ทำไมจึงต้องย้ายเมืองหลวง

เมืองหลวงของประเทศมักจะเป็นเมืองที่มีประชากรมาก และส่วนใหญ่จะมีประวัติศาสตร์มากมาย ไม่รวมถึงกิจกรรมทางการเมืองและระบบเศรษฐกิจหลักที่แน่นอนว่าย่อมต้องเกิดขึ้นในเมืองหลวงเป็นหลัก แต่บางครั้งผู้นำรัฐบาลก็จำเป็นต้องตัดสินใจย้ายเมืองหลวงจากเมืองหนึ่งไปอีกเมืองหนึ่ง ด้วยเหตุผลที่ขึ้นอยู่กับปัจจัยของแต่ละประเทศ เช่น เพื่อให้ได้รับการปกป้องที่ง่ายขึ้น โดยเฉพาะช่วงเวลาการบุกรุกหรือสงคราม 

การตัดสินใจย้ายเมืองหลวง นอกจากปัญหาเรื่องความแออัด สิ่งแวดล้อม ปัจจัยทางธรรมชาติ และอื่นๆ แล้ว ยังต้องเป็นการตัดสินใจบนพื้นฐานของการกระจายความเจริญ รวมถึงศูนย์กลางการปกครองสู่ท้องถิ่น เพื่อพัฒนาให้มีความเจริญแบบรุดหน้า กับคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรของประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด เมืองหลวงใหม่บางแห่งได้รับการวางแผนและสร้างขึ้นในพื้นที่ที่ไม่ได้รับการพัฒนามาเลยในก่อนหน้านี้ ก็เพื่อกระตุ้นการพัฒนาเป็นหลัก

เมืองหลวงใหม่บางแห่งอยู่ในภูมิภาคที่ถือว่าเป็นกลางต่อกลุ่มชาติพันธุ์หรือศาสนา ก็เพื่อส่งเสริมความสามัคคี ความมั่นคง และความเจริญรุ่งเรือง ซึ่งทุกครั้งที่มีข่าวการย้ายเมืองหลวงในประเทศใดๆ ขึ้นบนแผนที่โลกใบนี้ ทุกคนจำเป็นต้องจับจ้อง เพราะนี่ละคือเครื่องมือการเคลื่อนย้ายของทุนที่โดดเด่นมาโดยตลอดของประวัติศาสตร์สมัยใหม่

DID -YOU-KNOW
DID -YOU-KNOW

หลังจากประธานาธิบดีโจโก วิโดโด แถลงการณ์ต่อประชาชนคนในชาติถึงแผนการย้ายเมืองหลวงใหม่ออกจากกรุงจาการ์ตา ปักหมุดลงเสาเข็มระหว่างเมืองปาปัน กับเมืองซามารินดา ในจังหวัดกาลิมันตันตะวันออก ทางด้านตะวันออกบนเกาะบอร์เนียว แทนที่กรุงจาการ์ตาซึ่งกำลังประสบปัญหาความแออัด มลพิษ รถติด และปัญหาด้านธรณีวิทยาจากการที่พบว่าเมืองหลวงแห่งนี้กำลังทรุดตัวในทุกๆ ปี โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2021 และตั้งเป้าเริ่มย้ายที่ทำการรัฐบาลบางส่วนไปยังเมืองหลวงแห่งใหม่ได้ในปี 2024

อินโดนีเซียไม่ใช่ชาติแรกและชาติเดียวในเอเชียที่ผุดความคิดย้ายเมืองหลวง เพราะตลอดช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา มีหลายประเทศในแถบเอเชียที่ดำเนินการย้ายเมืองหลวงไปแล้วด้วยเหตุผลแตกต่างกัน โดยความหมายของสถานะเมืองหลวงทุกประเทศคือเมืองที่ตั้งของรัฐบาลกลางประเทศนั้น
และนี่คือตัวอย่างของประเทศในแถบเอเชียดำเนินการย้ายไปแล้ว

กรุงเนปิดอว์ ประเทศเมียนมา

ปี 2001 รัฐบาลทหารเมียนมาตัดสินใจย้ายเมืองหลวงของประเทศออกจากย่างกุ้ง ไปยังเนปิดอว์ แม้จะยังไม่ทราบถึงเหตุผลที่ชัดเจนในการย้าย บ้างก็ว่าเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ของกองทัพ บ้างก็ว่าเป็นเพราะคำแนะนำของหมอดูที่แนะนำนายพลกองทัพให้ย้าย แต่ภายหลังในปี 2005 เมืองแห่งนี้ก็เต็มไปด้วยสถานที่ราชการใหญ่โตโอ่อ่า ทั้งอาคารรัฐสภา ทำเนียบประธานาธิบดี ที่ทำการรัฐบาล กระทรวงต่างๆ พร้อมกับโครงสร้างพื้นฐานอันใหญ่โตโอ่อ่า แต่เวิ้งว้าง อาทิโรงแรมหรู ถนนสายหลัก 20 เลน กระทั่งสนามบิน

เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลเองจำใจต้องละทิ้งครอบครัวเพื่อมาประจำยังต้นสังกัดที่เนปิดอว์ เนื่องจากไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการศึกษาที่ดีพอ บรรดาสถานทูตหลายประเทศยังคงเลือกอยู่ที่ย่างกุ้ง แม้ว่ารัฐบาลนางซูจีจะพยายามสนับสนุนให้ย้ายไปเนปิดอว์ มีเพียงจีนเท่านั้นไปเข้าไปเปิดสำนักผู้ประสานงานในเนปิดอว์แล้ว

กรุงนิวเดลี อินเดีย

ตลอดประวัติศาสตร์ของอินเดียผลัดเปลี่ยนเมืองหลวงมาแล้วหลายแห่ง กระทั่งช่วงที่จักรวรรดิอังกฤษเข้าครอบครองอินเดีย เมื่อ1857 ได้ย้ายเมืองหลวงไปยังกัลกัตตา แต่เดลีก็ได้กลับมาเป็นเมืองหลวงอีกครั้งในปี 1911 โดยมีการสร้างเมืองใหม่ขึ้นมาทางใต้ และใช้ชื่อว่านิวเดลี

ผังเมืองของนิวเดลีนับว่าเป็นเอกลักษณ์แบบตะวันตก รวมถึงความโอ่อ่าใหญ่โตของอาคารที่ทำการรัฐบาลด้วยฝีมือของสองสถาปนิกอังกฤษคือ Edward Lutyens และ Herbert Baker ผู้ใช้เวลานานเกือบ 20 ปีเนรมิตถนน อาคารรัฐบาล ทำเนียบผู้สำเร็จราชการฯ (ปัจจุบันคือทำเนียบประธานาธิบดี)

ส่วนหนึ่งที่อาณานิคมอังกฤษเลือกเดลีเป็นเมืองหลวงใหม่ของประเทศ เนื่องจากปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ทางภาคเหนือที่เข้าถึงในหลายส่วนของประเทศได้ง่าย

แม้ภายหลังอังกฤษจะมอบเอกราชให้อินเดียในปี 1947 รัฐบาลอินเดียก็ยังคงใช้กรุงนิวเดลีเป็นเมืองหลวงจนถึงทุกวันนี้ ท่ามกลางปัญหามลพิษที่ส่งผลให้นิวเดลีเป็นหนึ่งในเมืองที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุดในโลก

กรุงอิสลามาบัด ปากีสถาน

ปากีสถานกับอินเดียมีประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงกัน และเป็นไม้เบื่อไม้เมากันมาหลายครั้ง เช่นเดียวกับอินเดียที่หลังได้รับอิสรภาพจากอังกฤษในปี 1947 นครการาจี เมืองท่าสำคัญทางใต้ของประเทศมีสถานะเป็นเมืองหลวงแห่งแรก กระทั่งช่วงปี 1950 เกิดรัฐประหารที่นำโดยกลุ่มทหารยึดอำนาจประเทศ พร้อมประกาศย้ายเมืองหลวงไปยังกรุงอิสลามาบัด ทางตอนเหนือของประเทศ

เหตุที่รัฐบาลปากีสถานปักหมุดเมืองหลวงที่อิสลามาบัดเนื่องจาก อยู่ใกล้กับพื้นที่พิพาทแคว้นจัมมูและแคชเมียร์ อีกทั้งนครการาจีซึ่งเป็นเมืองท่านั้นเสี่ยงต่อการถูกโจมตีได้ง่าย

และเช่นเดียวกับหลายประเทศ ที่ปากีสถานใช้อิสลามาบัดเป็นที่ตั้งรัฐบาล ส่วนศูนย์กลางด้านการเงินการพาณิชย์ ธนาคารกลาง และตลาดหลักทรัพย์ยังคงอยู่ที่นครการาจี

ปุตราจายา มาเลเซีย

จะเรียกว่าเป็นเมืองหลวงได้อย่างเต็มปากก็ไม่เชิง เพราะสถานะของปุตราจายา เป็นเขตปกครองพิเศษที่เป็นศูนย์กลางของรัฐบาลกลางมาเลเซีย โดยสถานะเมืองหลวงที่แท้จริงของมาเลเซียยังคงเป็นกรุงกัวลาลัมเปอร์

ผู้ที่ผุดไอเดียการย้ายหน่วยราชการไปยังปุตราจายาก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่คือ ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด อดีต และนายกฯ คนปัจจุบัน ที่ได้เสนอแนวคิดดังกล่าวช่วงปี 1980 ปักหมุดอยู่ห่างจากกรุงกัวลาร์ลัมเปอร์ไปทางใต้ 25 กม.

ชื่อปุตราจายา ตั้งตามชื่อเต็มของนายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลย์คือ ตุนกู อับดุล เราะฮ์มัน อาคารสำนักงานรัฐบาลและพระราชวังที่สร้างขึ้นใหม่ในเมืองแห่งนี้ได้รับการออกแบบโดยบริษัทสัญชาติมาเลย์ทั้งหมด และวัตถุดิบจากมาเลย์ทั้งหมด มีเพียง 10% เท่านั้นที่ใช้วัสดุจากต่างชาติ ด้วยงบประมาณราว 8,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ปุตราจายาเริ่มก่อสร้างในปี 1995 ทว่าประสบปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเงินเอเชียในปี 1997-1998 ส่งผลให้โครงการล่าช้า 

ปุตราจายาแล้วเสร็จในปี 2003 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่นายกมหาเธร์ หมดวาระจากตำแหน่งนายกพอดี โดยกำหนดให้มีสถานะเป็นเมืองที่ตั้งรัฐบาลกลาง ส่วนกัวลาร์ลัมเปอร์ยังคงมีสถานะเป็นเมืองหลวงด้านการเงินการพาณิชย์ของประเทศ

สำหรับฟิลิปปินส์ ก่อนหน้านี้มีรายงานข่าวว่ารัฐบาลได้มองหาที่ตั้งเมืองหลวงแห่งใหม่ที่เรียกว่า New Clark City ห่างจากกรุงมะนิลาไปทางเหนือราว 100 กิโลเมตร ด้วยเหตุผลคล้ายกับกรุงจาการ์ตาคือปัญหาด้านการจราจร ความแออัดของเมือง

แต่สำหรับฟิลิปปินส์ค่อนข้างจะสับสน เนื่องจากก่อนหน้านี้เมืองเกซอนซิตี้ ถูกยกระดับให้เป็นเมืองหลวงของประเทศมาก่อน กระทั่งสมัยนายเฟอร์ดินาน มาร์กอสเป็นผู้นำฯในปี 1976 ได้ประกาศรวมมะนิลากับเกซอนซิตี้อยู่ในเขตมหานครมะนิลา (National Capital Region (NCR), Metro Manila) จึงยังไม่ชัดเจนนักว่ารัฐบาลดูเตอร์เตจะมีแนวคิดเมืองหลวงใหม่นี้อย่างไร

ขอบคุณข้อมูล: www.posttoday.com, mgronline.com

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0