โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ลาวเผชิญวิกฤตภัยแล้ง หลังระดับน้ำแม่น้ำโขงลดต่ำ กระทบวิถีชีวิตผู้คนและการเกษตร

THE STANDARD

อัพเดต 23 ก.ค. 2562 เวลา 03.56 น. • เผยแพร่ 23 ก.ค. 2562 เวลา 03.56 น. • thestandard.co
ลาวเผชิญวิกฤตภัยแล้ง หลังระดับน้ำแม่น้ำโขงลดต่ำ กระทบวิถีชีวิตผู้คนและการเกษตร
ลาวเผชิญวิกฤตภัยแล้ง หลังระดับน้ำแม่น้ำโขงลดต่ำ กระทบวิถีชีวิตผู้คนและการเกษตร

ลาวเป็นอีกหนึ่งประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กำลังเผชิญวิกฤตภัยแล้งครั้งรุนแรง สืบเนื่องจากปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าปีก่อนๆ ประกอบกับจีนควบคุมน้ำในเขื่อนทางใต้ของประเทศ ซึ่งเป็นต้นน้ำแม่น้ำโขง 

 

เจ้าหน้าที่จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของลาวเปิดเผยกับสำนักข่าว RFA ว่า สถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้รุนแรงกว่าปีที่แล้ว เพราะฝนตกน้อยจนระดับน้ำในแม่น้ำโขงต่ำมาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนที่พึ่งพาแม่น้ำโขงและแม่น้ำสายย่อยเป็นหลัก โดยเฉพาะพื้นที่การเกษตรและหมู่บ้านชาวประมง

 

นอกจากปริมาณน้ำฝนต่ำแล้ว เจ้าหน้าที่ลาวระบุด้วยว่า อีกหนึ่งสาเหตุสำคัญมาจากจีนที่ปิดประตูเขื่อนจิ่งหง หลังปริมาณน้ำในอ่างกักเก็บน้ำลดต่ำลงอย่างมากเช่นกัน 

 

ปัจจุบันระดับน้ำแม่น้ำโขงในกรุงเวียงจันทน์สูงไม่ถึง 1 เมตร ซึ่งต่ำกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนๆ ถึงประมาณ 7 เมตร โดยบางจุดเกิดเป็นแอ่งน้ำตื้นๆ ซึ่งเด็กๆ สามารถลงไปว่ายน้ำได้อย่างง่ายดาย นอกจากนี้ยังพบเห็นโขดหินหรือเนินทรายที่โผล่ขึ้นเหนือผิวน้ำ โดยเจ้าหน้าที่คาดว่า ปัญหาภัยแล้งจะดำเนินต่อเนื่องไปจนถึงปลายเดือนนี้

 

นอกจากเมืองหลวงแล้ว พื้นที่อื่นๆ ก็ประสบภัยแล้งเช่นกัน โดยเกษตรกรในแขวงไชยบุรีเปิดเผยว่า พวกเขาไม่สามารถปลูกข้าวในฤดูนี้ได้ เพราะขาดน้ำ

 

“มันแห้งมาก ผู้คนต่างบ่นว่าไม่มีน้ำสำหรับปลูกข้าวเลย” ชาวนาคนหนึ่งในหมู่บ้านนาบนให้สัมภาษณ์กับ RFA “ปีที่แล้วมันไม่แห้งขนาดนี้ แต่ปีนี้เป็นเพราะฝนไม่ตกเลย ทุ่งนาทั้งหมดจึงแห้งแล้งมาก”

 

ชาวนาคนดังกล่าวประมาณการด้วยว่า วิกฤตภัยแล้งครั้งนี้อาจส่งผลกระทบกับครอบครัวในหมู่บ้านอย่างน้อย 300 ครัวเรือน เพราะไม่สามารถทดน้ำมาใช้อุปโภคบริโภคในหมู่บ้านได้

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0